ปรากฏการณ์ เซนได

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

การพลิกโฉมทฤษฎีแผ่นดินไหว-สึนามิโลก

จากปรากฏการณ์แผ่นดินไหว ที่เมืองเซนได เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่นับว่ารุนแรงแห่งหนึ่ง มีลักษณะคล้ายการเกิดสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 บริเวณทะเลอันดามัน โดยเปลือกโลกจะมุดตัวซ้อนกัน พร้อมทั้งมีการดีดตัวของเปลือกโลก ส่งผลให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดินและเกิดคลื่นสึนามิ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ถือว่าเป็นการเผชิญภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุด เพราะญี่ปุ่นถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว และมีระบบเตือนภัยสึนามิที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการรองรับแผ่นดินไหว ทั้งในอาคารบ้านเรือน ระบบสาธารณะ เช่น รถไฟความเร็วสูง ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว ถือเป็นเหตุการณ์ที่พลิกโฉมทฤษฎีแผ่นดินไหว และได้มีนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ออกมาตั้งข้อสังเกตไว้หลายประเด็น


ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวของประเทศญี่ปุ่น ดร.มิชิโอะ อาชิซึเมะ


สึนามิที่เกิดขึ้นนับเป็นปรากฏการณ์ไม่ปกติ เพราะเกิดขึ้นพร้อมกันกระจายหลายจุดและไม่ได้เกิดขึ้นบริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหว เช่น แผ่นดินไหวที่เมืองชิบะขนาด 5.7 ริคเตอร์ หรือแผ่นดินไหวที่เมืองนากาโน ขนาด 6.7 ริคเตอร์ และเมืองอีวาเตะ 7.5 ริคเตอร์ อยู่ห่างไกลจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหวการเกิดแผ่นดินไหวในลักษณะกระจายเช่นนี้อาจไม่ได้เป็นผลจากอาฟเตอร์ช็อค แต่เป็นไปได้มากกว่าการเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองเซนได จะเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดแผ่นดินไหวในที่อื่นๆตามมา ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ถือเป็นทฤษฎีการเกิดแผ่นดินไหวใหม่ของโลก ทั้งนี้ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ทำให้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ถูกออกแบบรองรับคลื่นสึนามิใช้ไม่ได้ผล ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นยังคงหาคำตอบไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด คาดว่าต้องใช้เวลาหาคำตอบอีกสิบปี


ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ


แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ทำให้เปลือกโลกขยับตัวและสัณฐานโลกหรือรูปร่างเปลี่ยนแปลง โดยขยับออกจากตำแหน่งเดิมไป10 เซนติเมตร มีผลให้การหมุนของโลกเร็วขึ้น1.8 ไมโครวินาที ส่งผลให้เวลาเดินเร็วขึ้นในระยะยาว การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ไม่ได้ทำให้แกนโลกขยับตัว ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ถือเป็นกรณีศึกษาในประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีหลายหน่วยงานของภาครัฐให้ข้อมูลขัดแย้งกันทำให้ประชาชนสับสน รัฐบาลควรจัดตั้งหน่วยงานกลางเพียงแห่งเดียวในการประสานข้อมูลภัยพิบัติในประเทศ หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทำให้โลกหมุนเร็วขึ้น 1.8 ไมโครวินาที หรือเกือบ 2 ในล้านส่วนเท่านั้น และจะไม่เกิดผลกระทบต่อชีวิตในระยะสั้นๆ แต่ระยะยาวคงต้องใช้เวลาอีกราวหนึ่งล้านปีข้างหน้า เพราะว่ากว่าจะครบ 1 วินาทีก็ต้องใช้เวลาอีก 1 ล้านปี และกว่าจะครบ 1 นาทีก็ต้องอีก 60 ล้านปี


ศาสตราจารย์ ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

จากการศึกษารอยแนวเลื่อน 13 แนว ในไทยพบมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เหมือนเช่นในญี่ปุ่น ทั้งนี้ จากสถิติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในไทย อยู่ที่บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี โดยเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 วัดได้ 5.9 ริคเตอร์ นอกจากนี้ จากการสำรวจของกรมธรณีวิทยา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ยังพบว่า แนวรอยเลื่อนทรงพลังของไทย ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวนั้นมีสถิติสูงสุดไม่เกิน 6 ริคเตอร์ สรุปได้ว่าประเทศไทยจะไม่มีโอกาสพบแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเหมือนประเทศอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างรอยต่อของเปลือกโลก เช่น เกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซีย หรือที่ญี่ปุ่น

ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณรอยเลื่อนอินโดไชน่า เป็นแผ่นรอยเลื่อนปกติจะไม่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดรอยเลื่อนปกติจะไม่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ข้อมูลแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2538-2549 มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทั้งหมด 83 ครั้ง ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน มีระดับสูงกว่า 5 ริคเตอร์ จำนวน 8 ครั้ง


นายริชาร์ด กรอสส์ จากศูนย์ปฏิบัติการวิจัยแรงขับเคลื่อนพลังงานแห่งองค์การนาซา ที่เมืองพาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการส่งผ่านมวลของโลก ซึ่งนั่นทำให้โลกหมุนเร็วขึ้น และทำให้เวลาในหนึ่งวันลดลง 1.8 ไมโครวินาที จากการขยับตัวของเปลือกโลกนั้น


รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าภาควิชาธรณีวิทยา และหน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐาน ผืนแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อมูลการเคลื่อนที่ของเกาะฮอนชูอยู่ที่ประมาณ 2 เมตร โดยการเคลื่อนตัวของพื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นผลมาจากการที่รอยเลื่อนของเปลือกโลกเกิดการกระทบและเสียดสีกันมาเป็นระยะเวลานาน และได้ปลดปล่อยแรงเครียดที่ถูกสะสมไว้ออกมา ในรูปของ "พลังงานคลื่นแผ่นดินไหว" โดย แผ่นดินไหวในครั้งนี้น่าจะเกิดจากการปลดปล่อยพลังงานคลื่นแผ่นดินไหวออกมาจากรอยแตกหรือรอยปริของเปลือกโลกมากกว่า 1 แนว จึงทำให้เกิดความรุนแรงมาก ซึ่งการที่เกิดจากรอยแตกหรือรอยปริมากกว่า 1 แนวนี้ ก็ส่งผลให้เกิด "อาฟเตอร์ช็อก" ติดตามมาอีกหลายครั้ง

สำหรับเหตุการณ์ แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ เกิดจากปรากฏการณ์สำคัญถึง 3 ชนิดพร้อมกันคือ

1. รอยเลื่อนหรือเปลือกโลกเกิดการยกตัวขึ้น

2. เกิดการกดตัวลง

3. เกิดการขยับออกหรือเคลื่อนที่ออกไปในแนวข้าง ในเวลารวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวที่เกิดที่ประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลอย่างใดกับแผ่นดินบริเวณประเทศไทย เพราะญี่ปุ่นและไทยอยู่คนละแนวของรอยเลื่อน


อ้างอิง

ที่มาข้อมูล

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554


ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว