ละครการศึกษา

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ละครการศึกษา Educational Theatre

ละครการศึกษาหมายถึงละครทั้งที่เป็นกระบวนการ(Process) และผลงานละครเวที ( Product) ที่เกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กับระบบการศึกษาในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ ละครสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน ละครโรงเรียนลักษณะต่างๆในระดับประถม มัธยม จนกระทั่งการเรียนการสอน หลักสูตรการศึกษาละคร การแสดง-การกำกับการแสดงในระดับอุดมศึกษา สำหรับ ศิลปิน-นักการละคร ครูที่ต้องสอน และทำกิจกรรมด้านการละครในและนอกชั้นเรียน ละครการศึกษาเป็นละครนอกกรอบ เป็นการใช้ละครเป็นเครื่องมือในการบูรณาการกับการศึกษา เพื่อการเรียนรู้ พัฒนาความคิด (Cognitive) อารมณ์ ความรู้สึก (affective) และได้มีการฝึกฝนการใช้ร่างกาย (psychomotors) เพื่อการสื่อความคิด และ แสดงออก โดยมีเป้าหมายให้ผู้มีส่วนร่วมกิจกรรม ทั้งที่เป็นเด็ก-เยาวชนและผู้ที่ต้องการเป็นศิลปิน และครูด้านศิลปการละคร เกิดความเข้าใจตนเอง และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้ฝึกฝนและมีความเข้าใจเรื่องการใช้ศิลปะในการสร้างสรรค์งาน


ละครการศึกษาสนับสนุน การสร้างงานทดลองของนักเรียน-นักศึกษา คณาจารย์ และผู้ที่ทำงานในด้านการสร้างสรรค์และละครสำหรับผู้ชมทุกกลุ่มอายุ การสร้างสรรค์ละครนำไปสู่การพัฒนาการคิดวิเคราะห์ ความรู้จากการทำงานละครเน้น การฝึกฝนอย่างเข้าใจ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการเป็นครูในระดับก่อนวัยเรียน จนถึงการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อฝึกฝนนักการละครอาชีพ ละครการศึกษา ครอบคลุมถึงกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในรูปแบบต่างๆ อันได้แก่ ละครสร้างสรรค์ (Creative Drama) จนถึงการให้เด็กๆได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสร้างสรรค์งานละคร (play production), การใช้ละครเป็นสื่อการเรียนรู้ หัวข้อหรือประเด็นทางสังคม ที่ใช้แพร่หลายในอังกฤษ ที่เรียกว่า ละคร-ใน-การศึกษา (DIE หรือที่เป็นศัพท์เฉพาะ Drama-in-Education ) ละครประเด็นศึกษา ( TIE หรือที่เป็นศัพท์เฉพาะ Theatre-in-Education) อีกทั้ง เลยไปถึงกาเรียนการสอน วิชาการแสดง (Acting) การเขียนบทละคร (Playwriting) รวมถึงการชมและวิพากษ์วิจารณ์ ละครเวทีสำหรับเยาวชน ที่เรียกว่า ละครเวทีสำหรับเยาวชน (Children’s theatre)กิจกรรมละครที่เกิดขึ้นและสัมพันธ์กับ โรงเรียน ผู้ชมในโรงเรียน เพื่อสื่อสารข้อมูลทางสังคม เพื่อเป็นเครื่องมือการสอน หรือเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนที่เป็นเยาวชน ล้วนอยู่ภายใต้ร่มใหญ่ที่เรียกว่า ละครการศึกษาทั้งสิ้น


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ อ.พรรัตน์ (ศิลปะการละคร)

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว