สารกำจัดศัตรูพืชกับโรคสมาธิสั้น

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ผลจากการรับสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชต่อพฤติกรรมของเด็กในพื้นที่เกษตรกรรม จังหวัดปทุมธานี ประเทศไทย

อัตราการเกิดโรคสมาธิสั้นในเด็กไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอาจมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่สังคมเกษตรกรรมมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและไพรีทรอยด์อย่างกว้างขวาง ซึ่งสารเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่มีผลต่อระบบประสาทพฤติกรรมในเด็ก ซึ่งปัจจุบันยังขาดงานวิจัยทางระบาดวิทยาและงานวิจัยเชิงลึก วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างอาการสมาธิสั้นและการรับสัมผัสสารกำจัดศัตรพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและไพรีทรอยด์ในเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมนาข้าวและเลี้ยงสัตว์น้ำ งานวิจัยแบบภาคตัดขวาง โดยมีการเก็บข้อมูล 3 ครั้ง คือ (1) การทดสอบนำร่องเพื่อทดสอบเครื่องมือ (2) การเก็บตัวอย่างในช่วงที่มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชมาก (ฤดูฝน) และ (3) ช่วงที่มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชน้อย (ฤดูแล้ง) ผู้เข้าร่วมเด็กจำนวน 53 คนอายุระหว่าง 6-8 ปีถูกทดสอบสมาธิต่อเนื่องด้วยวิธี Continuous Performance Test (CPT ) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ Behavioral Assessment and Research System (BARS) ร่วมกับผู้ปกครองเด็กจะตอบแบบสอบถาม Conners Attention Deficit/Hyperactivity Disorder (ADHD) เกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็ก พร้อมเก็บตัวอย่างปัสสาวะและเลือดของเด็กเพื่อหาสารกำจัดศัตรูพืชที่ได้รับสัมผัส (dialkylphosphate; DAP, 3-phenoxybenzyl alcohol; 3-PBA, acetylcholinesterase; AChE, และ pseudocholinesterase; PChE) ผลการศึกษาพบว่าแม้จะตรวจพบความเข้มข้นของสารอนุพันธ์กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในปัสสาวะของเด็กที่อาศัยในพื้นที่นาข้าวมากกว่าเด็กที่อาศัยในพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างมีนัยสำคัญในทุกครั้งที่เก็บตัวอย่าง (Mann-Whiney U test, p<0.05) แต่ผลการทดสอบระบบประสาททางพฤติกรรมส่วนใหญ่ไม่มีความแตกต่างกันทั้งในระหว่างกลุ่มและฤดู จากการวิเคราะห์ความถดถอยโดยมีการปรับตัวแปรที่อาจมีผลร่วม ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษาของผู้ปกครอง และรายได้ของครอบครัว ไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างความเข้มข้นของสารอนุพันธ์กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในปัสสาวะและระดับคลอรีนเอสเตอเรสในเลือดของเด็กกับอาการสมาธิสั้น อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้เป็นการทดสอบนำร่องของงานวิจัยพฤติกรรมของเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมและได้ทดสอบความเที่ยงตรงของเครื่องมือทดสอบอาการสมาธิสั้นในเด็กโดยวัดจากผลของ CPT และ Conners ADHD (r=0.29, p=0.03) ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยในอนาคตที่ควรมีระยะเวลาการศึกษาที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มจำนวนกลุ่มประชากร เพื่อจะสามารถเห็นผลกระทบต่อเด็กที่รับสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชในระยะยาวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Reference: Juthasiri Rohitrattana. 2014. Behavioral health effects of pesticide exposure among children living in Pathum Thani Province, Thailand. Dissertation. College of Public Health Science, Chulalongkorn University.

เครื่องมือส่วนตัว