เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมยุคหน้า

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมยุคหน้า (Next Generation Network : NGN)

หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมากในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา คือ การสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ หรือกระทั่งสังคม และครอบครัว แล้วอีก 10 ปีต่อจากนี้ไปเรากำลังจะก้าวสู่ยุคที่การสื่อสารเป็นปัจจัยหนึ่งของการดำรงชีวิตที่ขาดไปไม่ได้ โทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นเฉกเช่นเดียวกับสาธารณูปโภคอื่น ๆ เช่น ประปา ไฟฟ้า แสงสว่าง และถนนหนทาง แนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ และหากสิ่งเหล่านี้เป็นไปตามกระแสโลกซึ่งมิอาจฝืนได้แล้วเมื่อไหร่ที่ประเทศไทยควรจะก้าวตาม หรือควรจะก้าวนำ

หากย้อนดูอดีตและสำรวจปัจจุบันสำหรับประเทศไทยนั้น การสื่อสารโทรคมนาคมที่ได้นำมาใช้แล้วสามารถแบ่งเป็น 2 ด้านหลัก ได้แก่ การสื่อสารแบบมีสาย เช่น โทรศัพท์แบบมีสาย หรือบริการอินเทอร์เน็ตผ่าน ADSL หรือที่เก่ากว่านั้นคือ modem แบบ dial-up และอีกด้านหนึ่งคือการสื่อสารแบบไร้สาย เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย wi-fi หรือ edge/GPRS เป็นต้น ซึ่งก็นับว่ายังมีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพในการใช้งานอยู่มาก จากวิสัยทัศน์ของ ITU (International Telecommunication Union) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมของโลกนั้นในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมยุคหน้า หรือที่เรียกว่า “เทคโนโลยีโครงข่ายสื่อสารยุคหน้า” กำลังจะถูกนำมาใช้งานเพื่อเสริม หรือทดแทนเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมในปัจจุบันทั้งหมด


เทคโนโลยีโครงข่ายสื่อสารยุคหน้า

Next Generation Network (NGN) คือ โครงข่ายที่สามารถให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่หลากหลาย สามารถทำงานอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายความเร็วสูงที่สนับสนุนคุณภาพของบริการ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องทั้งในสภาวะที่กำลังเคลื่อนที่หรืออยู่กับที่ จึงเป็นการประยุกต์เทคโนโลยี packet switching โดยใช้ Internet Protocol (IP) ในการสร้างโครงข่ายพื้นฐานในยุคหน้าเพื่อการหลอมรวมการให้บริการโดยไม่มีขีดจำกัดเนื่องจากสภาวะการเคลื่อนที่ของผู้ใช้ (fixed-mobile convergence) และมุ่งหวังให้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเกิดสังคมที่มีการประยุกต์การสื่อสารโทรคมนาคมอย่างกว้างขวาง (ubiquitous communication society) ทั้งนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม


เทคโนโลยีที่อาจจัดได้ว่าอยู่ในกรอบของ NGN

1. 3G, Wi-Max ที่คาดว่าจะมาทดแทนเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่ใช้กันส่วนใหญ่ในปัจจุบันของประเทศไทย ซึ่งจัดได้ว่าเป็นเทคโนโลยีแบบ wireless access

2. wired access นั้นหลายประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ก็เป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยี FTTH (Fibre to the Home) โดยเมื่อนำเข้ามาใช้งานแล้วสามารถทำให้เพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตได้มากกว่า ADSL ในปัจจุบันเป็น 100 เท่า


นอกจากนี้สำหรับเทคโนโลยีระดับ core network แล้วทุก ๆ อย่างกำลังลู่เข้าสู่อินเทอร์เน็ต แต่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตแบบปัจจุบันซึ่งไม่สามารถควบคุมระดับคุณภาพบริการ หรือ QoS (Quality of Service) ได้จนทำให้คนที่เล่น web ได้เปลี่ยนคำแปล WWW จาก world-wide web กลายเป็น world-wide wait ไป เพราะช้ามากๆ แต่ในยุค NGN นั้นอินเทอร์เน็ตจะใช้เทคโนโลยี IMS (IP Multimedia Subsystem) ประกอบเป็นส่วนสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหา QoS นี้ ด้วยศักยภาพด้านต่าง ๆ ของเทคโนโลยี NGN ทั่วโลกจึงคาดการณ์ว่า NGN จะทำให้เกิดนวัตกรรมการประยุกต์ให้บริการในรูปแบบใหม่ ๆ กับสังคม เช่น ด้าน tele-health, tele-education, e-commerce, e-government สำหรับสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ ผศ. ดร.เชาวน์ดิศ อัศวกุล

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว