แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจสำคัญ
จาก ChulaPedia
แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจสำคัญ คอลัมน์ เศรษฐกิจสารสนเทศ โดย ดร.ฉวีวรรณ สายบัว
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนามากมาย ที่เป็น "เศรษฐกิจที่มีแรงงานเหลือเฟือ" (labour surplus economy) ซึ่งส่วนใหญ่หรือทั้งหมด อยู่ในภาคเกษตรกรรม ขณะที่มีความสามารถทางเศรษฐกิจต่ำ ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถดูดซับแรงงาน ที่มีอยู่ได้ทั้งหมด จึงมีปัญหาการว่างงาน และการว่างงานแอบแฝงตามมา ซึ่งเป็นลักษณะหรือปัญหาที่ยังดำรงอยู่มาโดยตลอดของเศรษฐกิจ
ถ้าไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานส่วนเกินที่มีอยู่ หรือหาประโยชน์จากการว่างงานให้เกิดขึ้น (unemployment benefits) ก็จะทำให้ต้นทุนการดำรงอยู่ของการว่างงานดังกล่าวตกอยู่แก่ประชากรทำงาน
มีแบบจำลองการเติบโต (growth model) ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา (Lewis"s model with unlimited supply of labour, 1954) ที่เสนอแนะแนวทางว่าจะใช้ประโยชน์จากแรงงานส่วนเกินในภาคเกษตรกรรม ที่มีอยู่อย่างไรที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา
โดยแนวทางที่เสนอก็คือ จะต้องพยายามโยกย้ายแรงงานในภาคเกษตรกรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไปสู่ภาคนอกเกษตรกรรม หรือภาคอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสร้างโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ หรือสามารถทำให้แรงงานส่วนเกินนี้ มีช่องทางไหลไปสู่อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งมีลักษณะของการใช้แรงงานมาก ในขั้นแรกของการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม เขาก็เห็นว่าแม้แรงงาน จะมีอยู่จำนวนมากมาย แต่แรงงานเหล่านั้นก็เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งเป็นอุปสรรค ต่อการเจริญเติบโต เพราะความก้าวหน้าทางด้านเทคนิค ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องอาศัยแรงงานที่มีฝีมือ
ซึ่งเขาให้ข้อคิดเอาไว้ว่า ให้พยายามใช้แรงงานส่วนเกินที่มีอยู่ให้มาก และใช้ทุน/ เทคโนโลยีพอประมาณ ในขณะเดียวกัน ทำให้แรงงานส่วนเกินที่ไร้ฝีมือ มีฝีมือขึ้นโดยผ่านทางการลงทุนในด้านการศึกษา และการฝึกอบรม ให้แก่แรงงานเหล่านั้น การทำเช่นนั้นการเติบโตก็สามารถเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้น ถ้าภาคอุตสาหกรรม สามารถดูดซับแรงงานส่วนเกิน ในภาคเกษตรกรรมได้สำเร็จ ก็จะทำให้ทั้งสองภาค ได้รับประโยชน์ร่วมกัน ในภาคเกษตรกรรมประชาชนจะมีงานทำมากขึ้น และลดภาระของประชาชน ที่ยึดติดกับการทำมาหากินบนที่ดิน ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตในภาคเกษตร กรรมดีขึ้น และย่อมทำให้ผลผลิตในภาคนี้เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรม ก็จะได้รับแรงงานเพิ่มขึ้น ได้ใช้แรงงาน ได้อาหาร และวัตถุดิบต่างๆ ในราคาถูกจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งช่วยเกื้อกูลต่อการประกอบกิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรม
บนพื้นฐานการเป็นเศรษฐกิจที่มีแรงงานเหลือเฟือ ของประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาดังกล่าวมาข้างต้น เพราะฉะนั้นแนว ทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจสำคัญ น่าจะโฟกัสที่จะหาช่องทาง ในการที่จะใช้ประโยชน์จากแรงงานส่วนเกินกัน จะทำอย่างไร
ตัวอย่างในประเทศพัฒนาแล้ว (ยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น) คนอยู่ในภาคเกษตร ที่ทำหน้าที่ผลิตอาหารเลี้ยงดูคนในประเทศ มีเพียง 3-5% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ทั้งนี้เพราะเขาปรับ ปรุงด้าน "ผลิตภาพ" (productivity) อย่างมากมาย จึงใช้คนเพียงไม่ต้องมากหรือเพียงเล็กน้อย ในสัดส่วนดังกล่าวก็สามารถผลิตเพียงพอ สนองความต้องการของคนในประเทศได้แล้ว ถึงขนาดนั้นรัฐบาลของประเทศยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ก็ยังต้องอุดหนุนสินค้าเกษตร/ เกษตรกรของเขาอยู่เลย (จากภาคนอกเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรม)
แล้วของไทยเรายังมีคนอยู่ในภาคเกษตรมาก มายถึงกว่า 50% อยู่เลย แม้จนถึงปัจจุบันนี้แล้ว จะแก้ปัญหา หรือหางานให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ทำกันได้อย่างไร ?
และแรงงานไทยส่วนใหญ่ก็มีแต่ "แรงกาย" จะให้ไปทำงานอะไรได้บ้างเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้
อาจจะมีงานอะไรอยู่บ้าง เป็นต้นว่าให้การฝึกอบรมแรงงานที่เรามีอยู่มาก เพื่อไปทำงานเป็นคนเลี้ยงเด็ก คนดูแลบ้าน คนทำสวน และอื่นๆ เพื่อส่งไปทำงานต่างประเทศ
แต่สภาพจริงในขณะนี้ไปทำอาชีพ "ขายส้มตำ" เปิด "ร้านอาหาร" กันหมดจนเกิดขึ้นมากมาย แล้วก็ต้องเจ๊งกันไปมากมายเพราะมันมีมากมายเกินความต้องการไปแล้ว
นอกจากนั้นแล้วก็มีปัญหาการว่างงานของคนมีการศึกษาจะทำอย่างไร ?
ต่อไปการขยายการผลิต/การลงทุนต่างๆ เพื่อขยายความสามารถในการจ้างงานของประเทศให้เพิ่มขึ้น จะต้องเป็นการขยายตัวในเชิงคุณภาพ ถึงจะมีอยู่มีกินกัน ถ้าตรงนี้ไม่ดีขึ้นก็จะลำบาก เมื่อดู "ความสามารถในการหากำไร" (profitability) และดู "ผลิตภาพ" (productivity) ในภาพรวมๆ ของกิจการของประเทศ ดูแล้วไม่ได้ดีขึ้น ที่ยังปล่อยสินเชื่อให้กันอยู่ก็เพียงยังพยุงและประคองกันอยู่เท่านั้น (เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น)
พิจารณากรณีตัวอย่างบริษัท ซี.พี.ที่เราชื่นชมว่าเป็นบริษัทไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ตอนนี้ ซี.พี.ไปลงทุนในต่างประเทศหมดแล้ว เขาแทบจะไม่ใช่บริษัทของไทยแล้ว แต่เป็นบริษัทข้ามชาติ (MNC/Global Company) ไปแล้ว เขาสนใจไปลงทุนในจีนมากมาย ลงทุนในอินเดีย และแม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ในญี่ปุ่นหรืออเมริกา
ในประเทศไทยตอนนี้ ซี.พี.ทำเฉพาะด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ทำได้ดีแล้วก็เอาไปใช้ผลิตของการลงทุนในต่างประเทศ ที่จะให้ผลตอบแทนมากกว่า
บริษัทก็ไปขยายการลงทุนที่เป็นการขยายเชิงปริมาณในประเทศที่ยังหากินได้ (green territory) ดังเช่น ในอินเดีย จีน ขณะที่ในประเทศไทยหากินในเชิงนี้ไม่ได้แล้ว เพราะทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอหมดแล้วต้องเป็นการขยายกำลังการผลิต /การลงทุนในเชิงคุณภาพไปแล้วจึงจะอยู่หรือหากินได้
ซี.พี.จึงรู้ว่าถ้าเขาหากินในประเทศไทยต่อไปซึ่งจะต้องเป็นการขยายตัวเชิงคุณภาพ ซึ่งคือมันต้องลงทุนสูงและไม่มีกำไร เขาจึงทำตรงส่วนในประเทศไทยเฉพาะที่เป็นการผลิตวัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดิบ เช่น กุ้ง ก็ทำเป็นกุ้งแช่แข็งเท่านั้น
ไม่ได้มีการแปรรูปไปไกลกว่านี้เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม (value added) เพิ่มขึ้น แล้วก็ส่งไปต่างประเทศ ไปใช้โรงงานในต่างประเทศ ในประเทศพัฒนาแล้วที่มีอุตสาหกรรมสนับสนุนพัฒนาก้าวหน้าแล้ว (sophisticated) เพราะในบ้านเรา อุตสาหกรรมสนับสนุนมันยังไม่พัฒนาก้าวหน้า ทำให้ต้นทุนสูงแล้วไปทำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในต่างประเทศ แล้วขายตรงนั้น (ที่มีอำนาจซื้อมาก) ทำให้ได้ราคาดีกว่า