โรคหัวใจล้มเหลว

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

โรคหัวใจล้มเหลว คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอ หรืออาจหมายถึง ภาวะที่หัวใจไม่สามารถคลายตัว หรือขยายตัว เพื่อรองรับเลือดได้ตามปกติ ทำให้เกิดความดันเลือดในช่องปอดมากขึ้นจนเกิดการคั่งของเลือดในปอด ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย และอาจก่อให้เกิดอาการบวมของร่างกายได้


สาเหตุของโรคหัวใจล้มเหลว

-สาเหตุจากโรคต่างๆ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจรูมาห์ติก หรือลิ้นหัวใจพิการ, โรคหัวใจเป็นแต่กำเนิด, โรคเยื่อหุ้มหัวใจบางชนิด, โรคไตวาย, โรคไทรอยด์เป็นพิษ, โรคโลหิตจาง, โรคข้อบางชนิด, โรคติดเชื้อไวรัสแบคทีเรีย หรือวัณโรค, โรคการนอนหลับบางชนิด

-ภาวะต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ, ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างเฉียบพลัน, ภาวะที่หัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป, ภาวะการได้รับน้ำมากเกินความต้องการ

-ได้รับยาเคมีบำบัด หรือได้รับการฉายแสง หรือได้รับสารพิษบางชนิด

-การกินอาหารเค็มมากเกินไป

-การดื่มเหล้ามาก


อาการเบื้องต้นที่ปรากฏให้สังเกตเห็น

-อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย อาจเป็นได้ในขณะพัก หรือออกแรง

-แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ใจสั่น

-นอนแนวราบไม่ได้ในเวลากลางคืน อาจจะต้องลุกขึ้นมาเพื่อช่วยหายใจ

-ที่ขา หรือในช่วงท้องมีอาการบวม

-ตับและม้ามอาจโตได้


การรักษา

1. การฝังเครื่องช็อตหัวใจ (Implantable Cardioverter Defribrillators, ICD) เป็นเครื่องมือที่ใช้ฝังเข้าไปในตัวผู้ป่วย เพื่อทำการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งมักจะพบได้ในภาวะหัวใจล้มเหลวที่เป็นรุนแรง โดยเครื่องจะวินิจฉัยลักษณะการเต้นของหัวใจ และทำการช็อตไปเองโดยอัตโนมัติ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้

2. การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ CRT (Cardiac Resynchronigation Therapy) เป็นเครื่องที่ฝังเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวที่เป็นรุนแรง ที่มีลักษณะการนำไฟฟ้าผิดปกติ ทำให้การบีบตัวของหัวใจไม่สัมพันธ์กัน เพื่อทำให้มีการนำไฟฟ้าหัวใจที่ดีขึ้น เป็นผลทำให้หัวใจทำงานบีบตัวได้ดีขึ้น สามารถทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นได้ โดยอุปกรณ์ชนิดนี้อาจมีการเสริมหน้าที่เป็นแบบช็อตไฟฟ้าหัวใจได้ด้วย เรียกว่า CRT-Defribrillator


รวบรวมและเรียบเรียงบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว