Performance Prism

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

Performance Prism ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยมีสมมติฐานมาจากจุดอ่อนหรือข้อจำกัดของเครื่องมือในการประเมินผลองค์กรอื่นๆ อาทิเช่น Balanced Scorecard

Performance Prism มองว่าเครื่องมือในการประเมินผลเช่น Balanced Scorecard มุ่งเน้นแต่ Stakeholders (กลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กร) เพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น (ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ถือหุ้น ลูกค้า และพนักงาน) โดยละเลยต่อความต้องการของ Stakeholders กลุ่มอื่นๆ ยิ่งในปัจจุบันที่สภาวะการดำเนินธุรกิจเริ่มเปลี่ยนไปทำให้บทบาทของ Stakeholders กลุ่มอื่นๆ ทวีความสำคัญขึ้น ทำให้หลักการของ Performance Prism ถือกำเนิดขึ้นมาโดยมุ่งเน้นที่ Stakeholders แทนที่ Shareholders เหมือนในกรณีของ Balanced Scorecard


มุมมองของ Performance Prism

1. ความพอใจของผู้เกี่ยวข้องกับองค์กร (Stakeholder Satisfaction) โดยในมุมมองนี้จะพิจารณาว่า ใครคือ Stakeholders ที่สำคัญขององค์กร และอะไรคือสิ่งที่ Stakeholders ต้องการจากองค์กร?

2. สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับองค์กรมอบให้องค์กร (Stakeholder Contribution) โดยจะต้องตอบคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่องค์กรต้องการจาก Stakeholders หรืออีกนัยหนึ่งคือ อะไรคือสิ่งที่ Stakeholders แต่ละกลุ่มมอบให้กับองค์กร?

3. กลยุทธ์ (Strategies) เป็นการมองจากมุมมองในสองข้อแรก แล้วพิจารณาว่าอะไรคือกลยุทธ์ที่จะต้องใช้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของ Stakeholders และในขณะเดียวกันสามารถตอบสนองต่อความต้องการขององค์กรด้วย

4. กระบวนการที่สำคัญขององค์กร (Processes) จากกลยุทธ์ในมุมมองที่ผ่านมา อะไรคือกระบวนการที่องค์กรจะต้องมีเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกลยุทธ์?

5. ความสามารถ (Capabilities) สุดท้ายจากกระบวนการขององค์กร อะไรคือความสามารถที่องค์กรจะต้องมี เพื่อที่จะได้สามารถดำเนินกระบวนการข้างต้นได้?


ความแตกต่างระหว่าง Performance Prism กับ Balanced Scorecard

คือ ในการจัดทำ Balanced Scorecard นั้นจะต้องเริ่มต้นจากกลยุทธ์เสมอ หลังจากนั้นค่อยกำหนดมุมมองที่สำคัญ แต่ของ Performance Prism นั้นมองกลับกัน โดยมองว่าการเริ่มต้นจากกลยุทธ์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้เนื่องจากกลยุทธ์เป็นสิ่งที่แสดงถึงแนวทางหรือวิธีการ แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ระบุถึงผลลัพธ์หรือปลายทางที่ต้องการ ดังนั้นถึงแม้กลยุทธ์จะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ไม่ได้เป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่องค์กรต้องการ สิ่งสุดท้ายที่องค์กรควรจะมุ่งไปสู่คือการตอบสนองต่อความต้องการของ Stakeholders


นอกจากนี้ Performance Prism จะช่วยระบุองค์ประกอบที่สำคัญทั้งในด้านกลยุทธ์ กระบวนการ และความสามารถ ทั้งในด้านของการบริหารและการประเมินผล เพื่อที่จะสามารถตอบสนองต่อทั้งความต้องการของ Stakeholders และความต้องการขององค์กรเอง อีกทั้งในปัจจุบัน Balanced Scorecard ได้พัฒนาจนกลายเป็นเครื่องมือในการบริหาร (Management Systems) มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือในการประเมินผล (Measurement Systems) เพียงอย่างเดียวเหมือน Performance Prism


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว