การคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถาม
จาก ChulaPedia
การคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถาม (interrogative suggestibility) การคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถาม คือการที่เมื่อบุคคลผ่านกระบวนการซักถามหรือการสัมภาษณ์ เช่นในกรณีตำรวจสอบสวนพยาน ผู้ต้องสงสัย ฯลฯ โดยใช้คำถามชี้นำแล้วทำให้ผู้ถูกซักถามหรือผู้ถูกสัมภาษณ์นำข้อมูลชี้นำนั้นเข้าเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำ และเข้าใจภายหลังว่าข้อมูลชี้นำนั้นเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในเหตุการณ์ที่ตนได้เผชิญมา ซึ่งตามจริงแล้วไม่ได้เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงจินตนาการหรือความเชื่อตามคำถามชี้นำนั้น ในกรณีเช่นนี้อาจทำให้เกิดการสารภาพที่ผิด (false confession) ได้ การศึกษาการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถาม เริ่มต้นจาก Binet (1900) นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ริเริ่มการศึกษาและการวัดการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถามในเด็กนักเรียน Powers, Andriks, และ Loftus (1979) ให้ความหมายของการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถามว่าเป็นการที่บุคคลรับข้อมูลภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและคิดว่าเป็นข้อมูลที่ได้เกิดขึ้นจริงจากเหตุการณ์นั้นๆ
Gudjonsson และ Clark (1986) ให้ความหมายของการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการ
ซักถามว่าเป็นการที่บุคคลยอมรับข้อความที่เกิดขึ้นระหว่างการซักถามภายหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทำให้พฤติกรรมของบุคคลภายหลังการซักถามเปลี่ยนแปลงไป Gudjonsson และ Clark (1986) ระบุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถาม คือ ความไม่มั่นใจ (uncertainty) ของผู้ถูกสัมภาษณ์ ความไว้วางใจระหว่างผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ (interpersonal trust) และความคาดหวัง (expectation) ของผู้สัมภาษณ์ว่าผู้ถูกสัมภาษณ์ต้องสามารถให้คำตอบอย่างใดอย่างหนึ่งกับผู้สัมภาษณ์ และการให้ผลป้อนกลับ (feedback) ที่ทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เปลี่ยนคำตอบหลังจากการได้ผลป้อนกลับ Gudjonsson (2003) ระบุองค์ประกอบของกระบวนการการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถาม 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม 2. กระบวนการซักถาม 3. สิ่งชี้แนะ 4. การยอมรับสิ่งชี้แนะ 5. การตอบสนอง เช่น การตอบคำถาม References Binet, A. (1900). L’Interrogatoire. In La Suggestibilite [Suggestibility] (pp. 299-414). [On-Line]. Available: http://www.gutenberg.net/1/1/4/5/11453/11453-8.txt. Gudjonsson, G. H., & Clark, N. K. (1986). Suggestibility in police interrogation: a social psychological model. Social Behaviour, 1, 83-104. Gudjonsson, G. H. (2003). The Psychology of Interrogations and Confessions. West Sussex: John Wileys & Sons. Powers, P. A., Andriks, J. L., & Loftus, E. F. (1979). Eyewitness account of females and males. Journal of Applied Psychology, 64, 339-347.
อาจารย์ ดร. อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช