การควบคุมยาสูบ

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

การควบคุมยาสูบ

การปกป้องนโยบายสาธารณะว่าด้วยการควบคุมยาสูบจากธุรกิจยาสูบ

อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกบัญญัติว่า “ในการกำหนดและบังคับใช้นโยบายสาธารณะว่าด้วยการควบคุมยาสูบนั้น ให้ภาคีอนุสัญญาปกป้องนโยบายดังกล่าวจากการแทรกแซงของผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบ” โดยที่ได้อ้างถึงการศึกษาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเอกสารลับของบริษัทบุหรี่ ที่ระบุว่า “อุตสาหกรรมยาสูบได้ดำเนินการเป็นเวลาหลายปี ด้วยเจตนาอย่างชัดแจ้ง ที่จะล้มล้างความพยายามของรัฐบาลและองค์การอนามัยโลกที่จะบังคับใช้นโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ”


หลักในการปฏิบัติ (Guiding Principles)

หลักการที่ 1: อุตสาหกรรมยาสูบเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าก่อให้เกิดการเสพติด ก่อให้เกิดโรคและส่งผลให้เสียชีวิตรวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาสังคม และความยากจน ดังนั้น ประเทศภาคีอนุสัญญาควรปกป้องกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณสุขว่าด้วยการควบคุมยาสูบและการบังคับใช้ จากอิทธิพลของอุตสาหกรรมยาสูบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

หลักการที่ 2: ในกรณีที่ประเทศภาคีอนุสัญญาต้องประสานงานกับอุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้ที่ดูแลผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ ให้มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้

หลักการที่ 3: ประเทศภาคีอนุสัญญาต้องกำหนดให้อุตสาหกรรมยาสูบและผู้ที่ดูแลผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบดำเนินการและปฏิบัติการในลักษณะที่โปร่งใสและตรวจสอบได้

หลักการที่ 4: เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมยาสูบเป็นอันตรายต่อชีวิต อุตสาหกรรมยาสูบต้องไม่ได้รับการส่งเสริม หรือสนับสนุนในทุกรูปแบบต่อการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมยาสูบข้อควรปฏิบัติ (Recommendations)


การป้องกันมิให้อุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซงนโยบายสาธารณสุข

1. สร้างความตื่นตัวถึงอันตรายและอำนาจเสพติดของผลิตภัณฑ์ยาสูบและสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการที่อุตสาหกรรมยาสูบเข้ามาแทรกแซงนโยบายสาธารณสุขว่าด้วยการควบคุมยาสูบ โดยต้องให้ข้อมูลและจัดการอบรมให้แก่ทุกส่วนของภาครัฐและภาคประชนเกี่ยวกับอันตราย และอำนาจเสพติดของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ความจำเป็นในการปกป้องนโยบายสาธารณสุขว่าด้วยการควบคุมยาสูบจากอิทธิพลของผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้เสียภายใoอุตสาหกรรมยาสูบ รวมทั้งวิธีการและกลยุทธ์ที่อุตสาหกรรมยาสูบนำมาใช้เพื่อแทรกแซงการกำหนดและการบังคับใช้นโยบายควบคุมยาสูบ

2. กำหนดมาตรการเพื่อจำกัดการติดต่อประสานงานกับอุตสาหกรรมยาสูบ และมาตรการเพื่อให้มั่นใจว่าการติดต่อประสานงานที่อาจเกิดขึ้นเป็นไปด้วยความโปร่งใส

3. ปฏิเสธความร่วมมือใดๆ กับอุตสาหกรรมยาสูบ รวมทั้งข้อตกลงที่ไม่มีข้อผูกมัดตามกฎหมาย หรือ ข้อตกลงที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

4. หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ที่อาจเกิดขึ้นกับข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

5. กำหนดให้ข้อมูลที่ได้รับจากอุตสาหกรรมยาสูบต้องโปร่งใสและถูกต้อง

6. ไม่ยอมรับ หรือ ออกระเบียบควบคุมกิจกรรมที่อุตสาหกรรมยาสูบอ้างว่าเป็นกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงกิจกรรมที่อุตสาหกรรมยาสูบระบุว่าเป็นกิจกรรมภายใต้นโยบาย “ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ” (Corporate Social Responsibility)

7. ห้ามให้สิทธิพิเศษใด ๆ แก่อุตสาหกรรมยาสูบ

8. ให้ปฏิบัติต่ออุตสาหกรรมยาสูบของรัฐในลักษณะเดียวกับที่ปฏิบัติต่ออุตสาหกรรมยาสูบอื่น ๆ


มาตรการทั้ง 8 ข้อ พอจะแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ


ส่วนที่ 1 ประเทศภาคีอนุสัญญา จะต้องปฏิเสธความร่วมมือ หรือไม่ให้การสนับสนุน หรือเห็นชอบ ได้แก่

- กิจกรรมที่อุตสาหกรรมยาสูบเข้าไปเกี่ยวข้อง ส่งเสริม หรือมีส่วนร่วมไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการให้การศึกษาหรือ กิจกรรมอื่นๆ แก่เยาวชน หรือประชาชน ที่เชื่อมโยงกับการควบคุมยาสูบ

- แนวทางปฏิบัติที่อุตสาหกรรมยาสูบเสนอ เพื่อนำมาใช้แทนที่มาตรการควบคุมยาสูบที่รัฐกำหนดออกมา

- ข้อเสนอของอุตสาหกรรมยาสูบที่จะให้ความช่วยเหลือใด ๆ ในการร่างกฎหมาย หรือยอมรับนโยบายควบคุมยาสูบที่ได้ร่างขึ้น โดยความร่วมมือกับอุตสาหกรรมยาสูบ

- ไม่อนุญาตให้บุคคลใดที่เป็นลูกจ้างของอุตสาหกรรมยาสูบ หรือสังกัดองค์กรที่ดูแลผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ เข้าไปเป็นกรรมการ หรือกรรมการที่ปรึกษาใดๆ ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดหรือบังคับใช้นโยบายควบคุมยาสูบ

- ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือของหน่วยงานในความดูแลของรัฐรับสิ่งตอบแทน ของขวัญหรือบริการ จากอุตสาหกรรมยาสูบไม่ว่า สิ่งตอบแทนในรูปแบบใดก็ตาม


ส่วนที่ 2 เกี่ยวกับความโปร่งใส ได้แก่

- เมื่อมีความจำเป็นต้องติดต่อประสานงานกับอุตสาหกรรมยาสูบจะต้องกระทำอย่างมีความโปร่งใส โดยการติดต่อดังกล่าวเป็นการติดต่อกันในที่สาธารณะ เช่น โดยการจัดให้มีประชามติ การเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อประสานงาน และการเปิดเผยผลการติดต่อประสานงานต่อประชาชน

- กำหนดให้อุตสาหกรรมยาสูบและผู้ที่ดูแลผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการปลูก การผลิต ส่วนแบ่งตลาด ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด รายได้ และกิจกรรมอื่ รวมถึง การล็อบบี้ (Lobby) การบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือต่างๆ การบริจาคเงินให้พรรคการเมือง

- กำหนดระเบียบให้มีการเปิดเผยข้อมูลและให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กร นิติบุคคล องค์กรในเครือและบุคคลที่เป็นตัวแทนหรือดำเนินการในการพิทักษ์ประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งรวมถึงล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyists) ด้วย

- กำหนดบทลงโทษกับอุตสาหกรรมยาสูบที่มีเปิดเผยข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ภายใต้กฎหมายภายในของภาคีอนุสัญญาการบังคับใช้และการตรวจสอบ (Enforcement and Monitoring) องค์กรเอกชน และประชาสังคมต่างๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมยาสูบ สามารถมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมยาสูบ


บทบัญญัติในจรรยาบรรณหรือกฎเกณฑ์ สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกสาขาควรจะมีมาตรการคุ้มครองผู้เปิดโปง (Whistleblower) อุตสาหกรรมยาสูบตามสมควรนอกจากนี้ ภาคีอนุสัญญาต้องได้รับการสนับสนุนให้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อให้มีการบังคับใช้แนวทางปฏิบัติฉบับนี้ เช่น การฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาลและการร้องเรียนต่อกรรมาธิการพิเศษ ฯลฯ เป็นต้น


อ้างอิง

ที่มาข้อมูล

1. World Health Organization. WHO Framework Convention on Tobacco Control. WHO Document Production Services, Geneva, Switzerland; 2005.

2. World Health Organization. WHO Framework Convention on Tobacco Control: Guidelines for implementation Article 5.3; Article 8; Article 11; Article 13. WHO Document Production Services, Geneva, Switzerland; 2009.

3. องค์การอนามัยโลก. แนวทางการดำเนินการตามข้อ 5.3 ของกรอบอนุสัญญาด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (การปกป้องนโยบายสาธารณะว่าด้วยการควบคุมยาสูบจากการแทรกแซงของผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบ). แปลโดย เครือข่ายการควบคุมยาสูบแห่งอาเซียน (SEATCA). กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท., ม.ป.ป.


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ ผู้ช่วย ศาสตราจารย์ ดร.สุนิดา ปรีชาวงษ์ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว