การบรรเทาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากฝนที่ตกในพื้นที่เขตบางกอกน้อยและบางกอกใหญ่

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประเมินและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในคลอง และหาแนวทางการบรรเทาน้ำท่วมในเขตบางกอกน้อยและบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร การศึกษานี้ใช้วิธีการหาแนวโน้มค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 10 ปี และวิธีแมน-เคนดอลในการหาแนวโน้มของปริมาณฝนรายปีและฝนสูงสุดรายวันในช่วงปี พ.ศ. 2525 ถึง 2553 และเปรียบเทียบปริมาณฝนสูงสุดรายวันสองช่วงเวลา โดยช่วงแรกระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2525 ถึง 2539 และช่วงที่สองระหว่างปี พ.ศ. 2540 ถึง 2553 ที่คาบอุบัติซ้ำ 2, 5, 10, 25, 50 และ 100 ปี และประยุกต์ใช้แบบจำลอง MIKE 11 ในการประเมินการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในคลองต่างๆ อันเนี่องจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝนออกแบบที่คาบอุบัติซ้ำต่างๆ พร้อมเสนอแนวทางบรรเทาน้ำท่วมโดยกำหนดปริมาณการสูบน้ำและระดับน้ำเริ่มต้นที่ค่าต่างๆ ร่วมกับการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมและประตูระบายน้ำ การศึกษานี้พบว่าปริมาณฝนรายปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นขณะที่ปริมาณฝนสูงสุดรายวันมีแนวโน้มลดลงซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำสูงสุดในคลองลดลงโดยเฉพาะสำหรับฝนที่คาบอุบัติซ้ำ 25, 50 และ 100 ปี บริเวณที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมมากที่สุดได้แก่บริเวณคลองชักพระ คลองบางขุนนนท์ และส่วนตะวันออกของคลองจักรทอง บริเวณที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมน้อยที่สุดได้แก่เขตบางกอกใหญ่ การสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมสูง 0.75 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลและการควบคุมระดับน้ำเริ่มต้นให้สูง 0.70 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลสามารถบรรเทาน้ำท่วมที่เกิดจากฝนที่คาบอุบัติซ้ำ 10 ปีได้ และจากการศึกษาพบว่าการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับเข้าคลองบริเวณคลองวัดยางสุทธารามจะสามารถบรรเทาน้ำท่วมที่เกิดจากฝนที่คาบอุบัติซ้ำ 25 ปีได้

เครื่องมือส่วนตัว