การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ (RBM)

ถึงแม้ชื่อของ RBM จะแตกต่างจาก BSC แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วในรายละเอียดกลับมีความเหมือนหรือใกล้เคียงกับหลักของ Balanced Scorecard ค่อนข้างมาก เมื่อทางสำนักงาน ก.พ. พัฒนาระบบ RBM ขึ้นมาก็ได้มีรากฐานมาจาก BSC เพียงแต่เป็นการปรับ BSC ให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับระบบราชการของไทยเท่านั้น แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็ยังคงมีกลิ่นอายของ Balanced Scorecard ที่ชัดเจนและรุนแรงอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วหลักการของ Balanced Scorecard เป็นแนวคิดที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับสภาพให้เหมาะสมกับลักษณะขององค์กรแต่ละประเภท โดยในภาคธุรกิจเองก็ได้มีการนำ BSC ไปใช้โดยมีการปรับให้เข้ากับองค์กรของตนเองหลายองค์กร และหลายแห่งก็มีลักษณะคล้ายกับของทางสำนักงาน ก.พ. ที่ปรับชื่อเสียงเรียงนามของแนวคิดนี้เสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับองค์กรของตนเองมากขึ้น


องค์ประกอบของ RBM

1. มุมมองด้านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายนอกองค์กร (External Perspective) ซึ่งประกอบด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการนั้น ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้มารับบริการ หน่วยราชการอื่นๆ รัฐบาล เป็นต้น

2. มุมมองด้านองค์ประกอบภายในองค์กร (Internal Perspective) ซึ่งครอบคลุมทั้งโครงสร้าง กระบวนการทำงาน ทรัพยากรบุคคล วัฒนธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากรเป็นต้น

3. มุมมองด้านนวัตกรรม (Innovation Perspective) โดยจะเป็นการพิจารณาถึงความสามารถขององค์กรในการพัฒนาและปรับปรุงการทำงาน รวมถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง

4. มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective) ซึ่งแทนที่จะพูดถึงกำไรหรือรายได้เช่น BSC ในภาคธุรกิจแล้ว จะเน้นถึงความสามารถในการบริหารทรัพยากรด้านการเงิน การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ


ความแตกต่างระหว่าง BSC และ RBM

1. ใน BSC นั้นภายใต้มุมมองแต่ละมุมมองจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์ (Objectives) ที่องค์กรต้องการที่จะบรรลุภายใต้แต่ละด้าน โดยวัตถุประสงค์เหล่านี้จะมีลักษณะเป็นคำกริยา (Verb) แต่ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จของระบบ RBM จะเป็นการเขียนในลักษณะของคำนาม (Noun) เป็นส่วนใหญ่

2. คือในปัจจุบันองค์กรธุรกิจที่ได้มีการนำเอา BSC มาใช้เป็นจำนวนมากได้นำมาใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือในการแปลงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ หรือทำให้ทุกคนในองค์กรมุ่งเน้นที่กลยุทธ์มากขึ้น ดังนั้นจึงได้เริ่มที่จะมีความพยายามที่จะเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์กับ BSC มากขึ้น ส่วนระบบ RBM นั้นไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการแปลงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติมากนัก แต่มุ่งเน้นให้ส่วนราชการต่างๆ มุ่งเน้นที่ผลผลิตและผลลัพธ์เป็นหลัก โดยในการทำงานส่วนใหญ่จะมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และมีการเปรียบเทียบระหว่างผลการปฏิบัติงานจริงกับเป้าหมายที่กำหนดขึ้น และมุ่งเน้นที่การปรับปรุงผลการปฏิบัติงานขององค์กรเป็นหลัก


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว