จาก ChulaPedia
การออกแบบทางเรขาคณิตเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกแบบถนน ที่จะต้องคำนึงประสิทธิภาพในการใช้งานของยานพาหนะ ความปลอดภัย และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของชุมชน ซึ่งการออกแบบนี้จะเริ่มต้นที่การกำหนดนโยบายสำหรับประเภทถนนที่จะออกแบบ เช่น ลักษณะการใช้งาน ปริมาณการจราจรที่สามารถรองรับได้ แล้วจึงจะพิจารณาองค์ประกอบและตัวแปรในการออกแบบ โดยทั่วไปนั้น การออกแบบจะเริ่มที่การกำหนดความเร็วในการออกแบบ (Design Speed) แล้วจึงกำหนดค่าที่เหมาะสมของตัวแปรในการออกแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะของถนนประเภทนั้น เช่น จำนวนช่องจราจร ความกว้างช่องจราจร ความกว้างไหล่ทาง ต่อไป และเพื่อให้สะดวกในการออกแบบ จึงมีการรวบรวมนโยบายและวิธีการ แล้วกำหนดเป็นมาตรฐานหรือข้อกำหนดในการออกแบบขึ้น ให้มีความเหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ สังคม สิ่งแวดล้อม และนโยบายของแต่ละประเทศหรือหน่วยการปกครอง
สำหรับมาตรฐานการออกแบบทางเรขาคณิตของทางหลวงในประเทศไทย กรมทางหลวงได้กำหนดและอนุมัติมาตรฐานของทางหลวง ซึ่งมีการกำหนดชั้นทางโดยขึ้นอยู่กับปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวัน รวมทั้งมีการกำหนดความเร็วและองค์ประกอบสำคัญอื่นๆในการออกแบบทางหลวงแต่ละชั้นทาง อย่างไรก็ตามมาตรฐานนี้ได้ถูกนำมาใช้มาเป็นเวลานานแล้ว (มากกว่า 10-20 ปี) โดยไม่ได้มีการพิจารณาถึงความเหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงการใช้ทาง รูปแบบและสมรรถนะของยานพาหนะที่ใช้ในประเทศไทยปัจจุบัน จึงควรได้มีการทบทวนมาตรฐานดังกล่าว ตลอดจนเนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 และคาดว่าจะมีการใช้ยานพาหนะหรือมีผู้ขับขี่จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงควรพัฒนามาตรฐานการออกแบบทางเรขาคณิตของทางหลวงไทยให้อยู่ในระดับสากล
จากการศึกษามาตรฐานทางหลวงในประเทศไทยและประเทศอื่นๆที่น่าสนใจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐประชาชนจีน คาซักสถาน มองโกเลีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย สามารถจำแนกได้เป็น 4 วิธี คือ 1) กำหนดตามรูปแบบการใช้งาน 2) กำหนดโดยใช้ปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวัน 3) กำหนดตามลักษณะหน้าตัดของถนน และ 4) กำหนดโดยใช้มากกว่า 1 หลักเกณฑ์ประกอบกัน การกำหนดชั้นทางทั้ง 4 วิธีนี้ต่างมีลักษณะเฉพาะ ข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทย หากต้องการที่จะใช้ปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันในการกำหนดชั้นทางต่อไป การหาค่าดังกล่าวจะต้องมีความแม่นยำ จึงจะสอดคล้องกับลักษณะการใช้งานของทางหลวงและระดับการให้บริการที่กำหนดไว้ และต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการจราจรในแต่ละช่วงเวลาด้วย เช่น ช่วงเช้าและเย็นในแต่ละวัน ช่วงวันทำงานและวันหยุด เป็นต้น
เมื่อพิจารณาแต่ละองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบ ได้แก่ ความเร็วในการออกแบบ ความกว้างช่องจราจร ความกว้างไหล่ทาง และระยะความสูงใต้สะพาน ซึ่งทั้ง 4 องค์ประกอบนี้สามารถนำไปกำหนดเป็นลักษณะเฉพาะของทางหลวงในแต่ละชั้นทางได้อย่างชัดเจนทั้งในมุมมองของผู้ออกแบบและผู้ใช้ทาง พบว่าความเร็วในการออกแบบ ความกว้างช่องจราจร และความกว้างไหล่ทางสำหรับทางหลวงที่มีมาตรฐานชั้นทางสูงสุดของไทยมีค่าน้อยกว่าค่าในมาตรฐานชั้นทางสูงสุดของหลายๆประเทศ โดยเฉพาะค่าความเร็วในการออกแบบที่อาจไม่สอดคล้องกับค่าความเร็วที่ผู้ขับขี่ใช้บนท้องถนนในปัจจุบัน จึงน่าจะมีการพิจารณาปรับปรุงค่าดังกล่าว ในขณะที่การปรับเปลี่ยนความกว้างช่องจราจรจะต้องคำนึงถึงการเชื่อมต่อการเดินทางกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เนื่องจากมาเลเซียก็ใช้ค่าความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตรเช่นเดียวกัน ส่วนการปรับเปลี่ยนความกว้างไหล่ทางจะต้องคำนึงถึงโอกาสที่ผู้ใช้ทางจะใช้งานผิดวัตถุประสงค์ เช่น ใช้เป็นที่จอดรถโดยที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน ใช้เป็นช่องจราจรพิเศษ เป็นต้น