การสร้างความสุข

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

การสร้างความสุขให้กับนักเรียน: วินิตา แก้วเกื้อ

การสร้างความสุขให้กับนักเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งพระราชวรมุนี(ประยูร ธม.มจต.โต อ้างถึงในกรมวิชาการ, 2541) ได้กล่าวว่า ความสุขสำคัญที่สุดในฐานะที่เป็นพื้นฐานของชีวิต ชีวิตที่มีความสุข ถือว่าเป็นชีวิตที่สมหวัง นอกจากนี้ความสุขยังเป็นพื้นฐานของความเก่งและความดี พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุต.โต อ้างถึงใน กรมวิชาการ, 2541) ยังได้กล่าวอีกว่า ความสุขกับการศึกษาที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกกันได้ ถ้าไม่สามารถทำให้คนมีความสุข การศึกษาก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นถ้าจะสร้างความสุขให้กับนักเรียนเพื่อเป็นพื้นฐานทั้งความเก่ง ความดี ตลอดจนเพื่อให้การศึกษาดำเนินไปได้อย่างดี ต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาว่าปัจจัยใดเป็นสาเหตุความสุขของนักเรียนและปัจจัยความสุขของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะแตกต่างกันหรือไม่โดยใช้โมเดลลิสเรลในการ ศึกษาตัวแปรซึ่งประกอบด้วย ตัวแปรภายนอกแฝงมี 3 ตัว ได้แก่ 1) ปัจจัยด้านตนเอง วัดจากตัวแปรสังเกตได้ 3 ตัว ได้แก่ การรู้จักปรับตัว การรับรู้ความสามารถของตนเองความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง 2)ปัจจัยด้านครอบครัว วัดจากตัวแปรสังเกตได้ 2 ตัว ได้แก่ การได้รับการยอมรับจากครอบครัว การมีสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว และ 3)ปัจจัยด้านโรงเรียน วัดจากตัวแปรสังเกตได้ 5 ตัว ได้แก่ การได้รับการยอมรับจากเพื่อน การได้รับการยอมรับจากครู การมีสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน การมีสัมพันธ์ที่ดีกับครู และคุณลักษณะของครู และตัวแปรภายในแฝงมี 1 ตัว คือ ความสุข สำหรับประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนในโรงเรียนเขตกรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาปีที่5 – 6 และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2–3 ผลการวิจัย พบว่า 1) จากโมเดลเชิงสาเหตุความสุขของนักเรียน(โมเดลภาพรวม) ปัจจัยด้านโรงเรียนส่งผลต่อความสุขของนักเรียนมากที่สุด และมีตัวแปรสังเกตได้ที่มีค่ามากที่สุด คือ คุณลักษณะครู 2) จากโมเดลเชิงสาเหตุความสุขของนักเรียนระดับประถมศึกษา พบว่า ปัจจัยด้านโรงเรียนส่งผลต่อความสุขของนักเรียนมากที่สุด โดยมีตัวแปรสังเกตได้ที่มีค่ามากที่สุด คือ ตัวแปรด้านคุณลักษณะครู และตัวแปรการมีสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน 3)จากโมเดลเชิงสาเหตุความสุขของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา พบว่า ตัวแปรปัจจัยด้านโรงเรียนส่งผลต่อความสุขของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาอย่างมีนัยสำคัญและมีตัวแปรสังเกตได้ที่มีค่ามากที่สุด คือ ตัวแปรด้านคุณลักษณะครู และตัวแปรการได้รับการยอมรับจากเพื่อน

รายการอ้างอิง

วิชาการ, กรม. 2541. ขอบฟ้าแห่งความรู้. เอกสารพัฒนากระบวนการเรียนรู้อันดับที่ 5 โครงการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนเพื่อพัฒนา

         คุณภาพการศึกษา.
เครื่องมือส่วนตัว