กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลา

บทคัดย่อ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลาในด้านลักษณะของกิจกรรม เนื้อหา สื่อที่ใช้ สถานที่ วันและช่วงเวลา และการเผยแพร่ข่าวสารการจัดกิจกรรม รวมทั้งปัญหาในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลา โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลา จำนวน 257 คน ผลการวิจัย พบว่า เด็กมีความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านทุกลักษณะในระดับมาก และกิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ กิจกรรมที่ใช้ทักษะการฟังและดู เนื้อหาของกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่เด็กมีความต้องการในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ศิลปะ สื่อที่ใช้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่เด็กมีความต้องการในระดับมากที่สุด และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ภาพยนตร์ สถานที่ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่เด็กมีความต้องการในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ อุทยานการเรียนรู้ยะลา วันและช่วงเวลาในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่เด็กมีความต้องการในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ วันอาทิตย์ ช่วงเวลาบ่าย (13.00-16.00) วิธีการเผยแพร่ข่าวสารการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่เด็กมีความต้องการในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ แจกใบปลิวและแผ่นพับที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา สำหรับปัญหาในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน พบว่า เด็กที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านประสบปัญหาทั้งหมดในระดับปานกลาง โดยปัญหาที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ เนื้อหาของกิจกรรมไม่หลากหลาย ABSTRACT The objectives of this research were to study children members’ needs for reading promotion activities at Thailand Knowledge Park Yala, in terms of, types of activity, subjects, reading media, place, date and time, and information dissemination on reading promotion activity; and to identify problems in participating in reading promotion activities at Thailand Knowledge Park Yala. Questionnaires were used for data collection from 257 children members of Thailand Knowledge Park Yala The research results indicate that children members need all reading promotion activities at high level. The type of reading promotion activity with the highest arithmetic mean is the activity employing listening and watching skill, while subject of reading promotion activity is Arts. The reading media with the highest arithmetic mean is movie. The place for reading promotion activity with the highest arithmetic mean is Thailand Knowledge Park Yala and the date and time for reading promotion activity is Sunday afternoon (13.00-16.00). The information dissemination on reading promotion activities with the highest arithmetic mean is providing flyers and brochures at Thailand Knowledge Park Yala. The problems in participating reading promotion activities faced by children members are at moderate level and the problem with the highest arithmetic mean is the subjects of the activities are not varied. ที่มาและความสำคัญของปัญหา การอ่านเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน และมีความสำคัญต่อการพัฒนาบุคคล สังคม และประเทศชาติ เพราะการอ่านช่วยให้เกิดการพัฒนาทางสมองและสติปัญญา นอกจากนี้ การอ่านยังมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเด็ก เนื่องจากการเรียนรู้ของเด็กนั้น ผ่านการเรียนรู้ด้วยภาษาเป็นหลัก การอ่านจึงนับเป็นทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ (อัจฉรา ประดิษฐ์ 2550: 13) อย่างไรก็ตาม ความสนใจและความต้องการในการอ่านของเด็กย่อมมีความแตกต่างกันเนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น สติปัญญา อายุ เพศ โรงเรียน เพื่อน วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา สิ่งแวดล้อมทางบ้าน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เป็นต้น (ฉวีวรรณ คูหาภินันท์ 2542: 47) คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 นับถือศาสนาอิสลาม มีการใช้ภาษามลายูท้องถิ่นในการสื่อสารเป็นหลัก และใช้ภาษาไทยเป็นอันดับรองลงมา อีกทั้งภาษาไทยยังมักจะใช้กันในเขตเมืองเท่านั้น ทำให้คนส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเด็กเล็ก เห็นได้จากการสำรวจเรื่องปัญหาการไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-6 ในเขตพื้นที่ของสำนักงานเขตการศึกษายะลา เขต 1 พบว่า ในปี 2550 มีเด็กที่ไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้จำนวน 5,300 กว่าคนจากจำนวนเด็กทั้งหมดใน 112 โรงเรียน (อับดุลการิม รามันห์สิริวงศ์ 2552) นอกจากนี้ ในการสำรวจของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เมื่อปีการศึกษา 2550 ยังพบด้วยว่า มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวนถึง 79,000 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ทั้งหมด 636,000 คน ที่ไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ตามเกณฑ์ คือ ไม่สามารถอ่านและเขียนคำศัพท์ในบัญชีคำศัพท์พื้นฐาน 3,000 คำที่จำเป็นเพื่อเลื่อนขั้นไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อีกทั้งยังพบว่า นักเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ถึง 10 เขตไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้เกินร้อยละ 25 โดยส่วนใหญ่จะเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่อยู่ชายแดน เช่น ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส (วิทยากร เชียงกูล 2552) การที่จะทำให้เด็กเห็นความสำคัญของการอ่านเพื่อแก้ไขปัญหาการไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้นั้น ผู้ปกครอง ครู บรรณารักษ์ และผู้บริหารโรงเรียน ควรเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการอ่าน และจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะทำให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน มีประสบการณ์ในการอ่านกว้างขวาง และเกิดทักษะในการอ่านมากขึ้น (ไข่มุก เหล่าสุนทร 2550: 25-30) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านต่าง ๆ จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย เช่น ครอบครัว โรงเรียน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นให้เด็กเห็นความสำคัญของการอ่าน (ไข่มุก เหล่าสุนทร 2550: 27) โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณแก่ห้องสมุดประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เพื่อช่วยแก้ปัญหาการไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ สำหรับในจังหวัดยะลามีห้องสมุดประชาชนจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดยะลา ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี และอุทยานการเรียนรู้ยะลา โดยห้องสมุดทั้ง 3 แห่งนี้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างสม่ำเสมอ อุทยานการเรียนรู้ยะลา เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักอุทยานการเรียนรู้ กรุงเทพมหานคร กับเทศบาลนครยะลา ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้าใจ และความสงบสุขของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วยให้เด็ก เยาวชนและประชาชนที่มาจากหลากหลายพื้นที่ หลากหลายวัฒนธรรมมีโอกาสทำกิจกรรม และปฏิสัมพันธ์กัน โดยทำให้เกิดการเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการกระจายโอกาสในการเข้าถึงการอ่าน และการเรียนรู้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน เพื่อกระตุ้นให้มีนิสัยรักการอ่าน การศึกษาค้นคว้า และแสวงหาความรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิต ตลอดจนเป็นต้นแบบในการดำเนินงานอุทยานการเรียนรู้ในส่วนภูมิภาคอื่น ๆ อุทยานการเรียนรู้ยะลา เปิดให้บริการทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00 –19.30 น. และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน โดยคัดเลือกกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่สอดคล้องกับกระแสสังคม เหตุการณ์หรือวันสำคัญต่าง ๆ และสอดคล้องกับหลักการสร้างองค์ความรู้ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่จัดประกอบด้วยกิจกรรมที่มีลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ กิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมส่งเสริมทักษะชีวิต กิจกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกิจกรรมเสริมสร้างความสมานฉันท์และสันติสุขบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม (3 ปี อุทยานการเรียนรู้ยะลา ก่อเกิดมิตรภาพ และความเข้าใจ 2553: 38-47) อุทยานการเรียนรู้ยะลาเล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและได้ดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างสม่ำเสมอ แต่บางกิจกรรมที่อุทยานการเรียนรู้ยะลาจัดขึ้นนั้น มีผู้สนใจไม่มากเท่าที่ควร ทำให้การใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ซึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาต่าง ๆ ในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็ก เช่น เนื้อหาของกิจกรรมไม่ตรงกับความต้องการ สื่อที่ใช้ประกอบการจัดกิจกรรมมีน้อย สถานที่ในการจัดกิจกรรมคับแคบ มีอากาศร้อน วันและช่วงเวลาในการจัดกิจกรรมไม่เหมาะสม การประชาสัมพันธ์ข่าวสารการจัดกิจกรรมไม่ทั่วถึง เป็นต้น (ไข่มุก เหล่าสุนทร 2550: 75; ชัยภพ เสรีผล 2550: 85) อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กในจังหวัดยะลา แม้ว่าจะมีการประเมินผลการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของอุทยานการเรียนรู้ยะลาอย่างสม่ำเสมอก็ตาม และบางเรื่องเป็นการสำรวจเรื่องปัญหาการไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ของนักเรียนในจังหวัดยะลา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาเรื่อง ความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของเด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลา และห้องสมุดอื่น ๆ โดยเฉพาะห้องสมุดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อศึกษา 1.ความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลาในด้านลักษณะของกิจกรรม เนื้อหา สื่อที่ใช้ สถานที่ วันและช่วงเวลา และการเผยแพร่ข่าวสารการจัดกิจกรรม 2.ปัญหาในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลา สมมติฐานของการวิจัย 1.เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในลักษณะการฉายภาพยนตร์ กิจกรรมที่มีเนื้อหาด้านศิลปะ และการเผยแพร่ข่าวสารการจัดกิจกรรมโดยการแจกใบปลิวและแผ่นพับที่โรงเรียนในระดับมาก 2.เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลาประสบปัญหาในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเรื่อง เนื้อหาของกิจกรรมไม่ตรงกับความต้องการในระดับมาก ขอบเขตและประชากรที่ใช้ในการวิจัย การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาเฉพาะความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลา โดยเลือกศึกษาเด็กที่มีอายุ 9-14 ปี แบ่งออกเป็น 2 ช่วงอายุ ได้แก่ อายุ 9-11 ปี และ 12-14 ปี จำนวน 722 คน (รตี ยะสารี, สัมภาษณ์, 9 กุมภาพันธ์ 2554) เนื่องจากช่วงอายุนี้เป็นช่วงอายุที่อยู่ในวัยศึกษา และมีความสามารถในการอ่านด้วยตนเอง ขนาดของกลุ่มตัวอย่างกำหนดโดยใช้ตารางสำเร็จรูปของ Yamane (1973) ที่ค่าความเชื่อมั่น 95% มีความคลาดเคลื่อน +/-5% ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 257 คน และใช้การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) สรุปผลการวิจัยและอภิปรายผล ความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลา ประกอบด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในด้านลักษณะของกิจกรรม เนื้อหาของกิจกรรม สื่อที่ใช้ประกอบการจัดกิจกรรม สถานที่ในการจัดกิจกรรม วันและช่วงเวลาในการจัดกิจกรรม วิธีการเผยแพร่ข่าวสารการจัดกิจกรรม และปัญหาในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็กที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา 1.ความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในด้านลักษณะของกิจกรรม เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านทุกลักษณะในระดับมาก และกิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ กิจกรรมที่ใช้ทักษะการฟังและดู (4.11) อาจเป็นเพราะกิจกรรมที่ใช้ทักษะการฟังและการดูมีความน่าสนใจสำหรับเด็กมากกว่ากิจกรรมที่ใช้ทักษะอื่น ๆ เนื่องจากมีความหลากหลาย ให้ความสนุกสนาน ให้ความรู้ หรือทั้งสองประการได้ในขณะเดียวกัน อีกทั้งยังสามารถเข้าร่วมได้ง่าย (สุพรรณี วราทร และชลทิชา สุทธินิรันดร์กุล 2549: 50) ผลการวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัยของ สุพรรณี วราทร และชลทิชา สุทธินิรันดร์กุล (2549) ที่พบว่า เยาวชนก่อนวัยรุ่นโดยรวมเห็นว่ากิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่มีความน่าสนใจและสนใจเข้าร่วมในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ กิจกรรมที่ใช้ทักษะการฟังและดูร่วมกัน 1.1 ความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ใช้ทักษะการฟัง เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ใช้ทักษะการฟัง 2 ระดับ ได้แก่ ระดับมาก และระดับปานกลาง โดยกิจกรรมที่ต้องการในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การบรรเลงดนตรี/ร้องเพลงจากบทละคร (4.01) อาจเป็นเพราะการบรรเลงดนตรี/ร้องเพลงจากบทละคร เป็นกิจกรรมที่เร้าความสนใจของเด็กได้เป็นอย่างดี โดยมีการใช้ดนตรี/เพลงเพื่อสร้างบรรยากาศในการอ่านหนังสือให้สนุกมากขึ้น เด็กจึงมีความสนใจและเรียนรู้ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน รู้สึกผ่อนคลาย ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายการอ่านหนังสือ มีความกระตือรือร้นอยากอ่านหนังสือ และยังเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ความคิดหรือจินตนาการสูง (พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร 2554) ผลการวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัยของ สุพรรณี วราทร และชลทิชา สุทธินิรันดร์กุล (2549) ที่พบว่า เยาวชนก่อนวัยรุ่นโดยรวมเห็นว่ากิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ใช้ทักษะการฟังที่มีความน่าสนใจและสนใจเข้าร่วมในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ กิจกรรมการบรรเลงดนตรี/ร้องเพลงจากบทละคร/วรรณคดี 1.2 ความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ใช้ทักษะการดู เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ใช้ทักษะการดูทุกกิจกรรมในระดับมาก และกิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การจัดแสดงหนังสือใหม่ (4.09) อาจเป็นเพราะหนังสือใหม่มีความน่าสนใจ ลักษณะรูปเล่มใหม่น่าหยิบอ่าน ซึ่งหากเป็นหนังสือเก่าอาจมีรูปเล่มเก่า กระดาษยับ รูปภาพหรือตัวพิมพ์ดูจางลง อาจไม่ดึงดูดความสนใจเด็กได้ เด็กจึงไม่อยากอ่าน (ฉวีวรรณ คูหาภินันท์ 2545) 1.3 ความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ใช้ทักษะการฟังและดู เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ใช้ทักษะการฟังและดูทุกกิจกรรมในระดับมาก และกิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การฉายภาพยนตร์ (4.32) ซึ่งผลการวิจัยนี้เป็นไปตามสมมติฐาน ข้อ 1 ในส่วนที่กำหนดว่า เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในลักษณะการฉายภาพยนตร์ ในระดับมาก อาจเป็นเพราะภาพยนตร์สามารถเร้าความสนใจและเป็นที่สนใจของเด็กช่วงอายุนี้ อีกทั้งการฉายภาพยนตร์ยังเป็นกิจกรรมที่มีเนื้อหาหลากหลายทั้งสาระความรู้และความบันเทิง มีความเคลื่อนไหว และรับรู้ได้โดยง่าย ผลการวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัยของ สุพรรณี วราทร และชลทิชา สุทธินิรันดร์กุล (2549) ที่พบว่า กิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ใช้ทักษะการฟังและดูที่เยาวชนก่อนวัยรุ่นโดยรวมเห็นว่ามีความน่าสนใจและสนใจเข้าร่วมในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การฉายภาพยนตร์ 1.4 ความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ใช้ทักษะการเขียน เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ใช้ทักษะการเขียนทุกกิจกรรมในระดับมาก และกิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การวาดภาพประกอบเรื่องที่อ่านหรือฟัง (3.95) อาจเป็นเพราะการวาดภาพประกอบเรื่องที่อ่านหรือฟังเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและส่งเสริมจินตนาการซึ่งตรงกับความสนใจของเด็ก โดยนอกจากการได้ฟังหรืออ่านหนังสือแล้ว เด็กยังสามารถวาดภาพและระบายสีตามจินตนาการของตนเอง ทำให้เด็กได้แสดงความสามารถ ความรู้สึกนึกคิด และสื่อสารความคิดของตนออกมาในรูปภาพ ให้ผู้อื่นที่อยู่รอบตัวเขาได้เข้าใจ (จักรพงศ์ สุวรรณรัศมี 2553: 4) ผลการวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัยของสุพรรณี วราทร และชลทิชา สุทธินิรันดร์กุล (2549) ที่พบว่า กิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ใช้ทักษะการเขียนที่เยาวชนก่อนวัยรุ่นโดยรวมเห็นว่ามีความน่าสนใจและสนใจเข้าร่วมในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การวาดภาพประกอบเรื่องที่อ่านหรือฟัง 1.5 ความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่เป็นกิจกรรมการประกวด/แข่งขัน เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่เป็นกิจกรรมการประกวด/แข่งขันทุกกิจกรรมในระดับมาก และกิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การประกวดวาดภาพ (4.06) อาจเป็นเพราะการประกวดวาดภาพเป็นกิจกรรมที่เด็กสามารถเข้าร่วมได้ด้วยตนเอง เป็นกิจกรรมที่สามารถใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และได้แสดงออกด้วยตนเองอย่างเต็มที่ (จักรพงศ์ สุวรรณรัศมี 2553: 4) ผลการวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัยของสุพรรณี วราทร และชลทิชา สุทธินิรันดร์กุล (2549) ที่พบว่า เยาวชนก่อนวัยรุ่นโดยรวมมีความเห็นเกี่ยวกับความน่าสนใจและสนใจเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดวาดภาพ ในระดับมาก และสอดคล้องกับผลการวิจัยของ McNicol (2003) ที่พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ชอบกิจกรรมการแข่งขันวาดภาพ ระบายสี 1.6 ความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่จัดเป็นโครงการ เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่จัดเป็นโครงการทุกกิจกรรมในระดับมาก และกิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โครงการทัศนศึกษา (4.28) อาจเป็นเพราะโครงการทัศนศึกษา เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้มีโอกาสเห็นสภาพที่เป็นจริงนอกเหนือไปจากหนังสือ ได้เรียนรู้จากแหล่งข้อมูลจริงจากการไปทัศนศึกษาเยี่ยมชม 2.ความต้องการเนื้อหาของกิจกรรม เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการเนื้อหาของกิจกรรม 2 ระดับ ได้แก่ ระดับมาก และระดับปานกลาง โดยเนื้อหาที่ต้องการในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ศิลปะ (4.32) ซึ่งผลการวิจัยนี้เป็นไปตามสมมติฐาน ข้อ 1 ในส่วนที่กำหนดว่า เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่มีเนื้อหาด้านศิลปะ ในระดับมาก อาจเป็นเพราะกิจกรรมที่มีเนื้อหาด้านศิลปะ ทำให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติจริง สามารถเรียนรู้ผ่านการสังเกต มีอิสรภาพทางความคิด และสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระโดยไม่มีแบบกำหนดที่ตายตัว โดยเด็กจะอาศัยศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ความเข้าใจ และความต้องการดังกล่าวออกมาในผลงานศิลปะ ทำให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจความหมาย ความรู้สึกนึกคิด และความต้องการของเด็กได้ เด็กจึงมีความสุข รู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลินเมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกิดจากความพึงพอใจตามความคิดของตนเอง นอกจากนั้นผลการวิจัยของไพจิตต์ สายจันทร์ (2548) ยังพบว่า เนื้อหาของหนังสือที่นักเรียนต้องการอ่านมากที่สุด ได้แก่ ด้านศิลปะ กีฬาและการละเล่นต่าง ๆ จึงกล่าวได้ว่าเด็กในวัยนี้มีความสนใจเรื่องศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาศิลปะหรือกิจกรรมที่มีเนื้อหาด้านศิลปะ 3.ความต้องการในด้านสื่อที่ใช้ประกอบการจัดกิจกรรม เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการสื่อทุกประเภทที่ใช้ประกอบการจัดกิจกรรม ในระดับมาก และสื่อประเภทที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ สื่อโสตทัศนวัสดุ (4.32) และเมื่อจำแนกประเภทของสื่อโสตทัศนวัสดุ พบว่า สื่อที่เด็กมีความต้องการในระดับมากที่สุด และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ภาพยนตร์ (4.51) อาจเป็นเพราะภาพยนตร์ เป็นสื่อเล่าเรื่องด้วยภาพ มีเสียงดนตรี เสียงพูด รวมทั้งเสียงธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความหมาย และอารมณ์ความรู้สึก ภาพยนตร์สามารถดึงอารมณ์ร่วมเข้าไปฝังในจิตใจของคนดูได้ง่ายและเร็ว มีการลำดับเรื่องราวที่สัมพันธ์ต่อเนื่อง สามารถสื่อสารความหมายให้เด็กเข้าใจได้ง่าย เข้าถึงเด็กได้อย่างลึกซึ้งกว้างขวางและต่อเนื่อง (อุรพงศ์ แพทย์คชา [ม.ป.ป.]) นอกจากนี้การนำภาพยนตร์ใหม่ ๆ ที่เข้าฉายตามโรงภาพยนตร์มาฉายที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา โดยที่เด็กไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นการตอบสนองความต้องการของเด็กได้เป็นอย่างดี 4.ความต้องการในด้านสถานที่ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการให้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านตามสถานที่ต่าง ๆ ทุกแห่งในระดับมาก และสถานที่ที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ อุทยานการเรียนรู้ยะลา (4.39) อาจเป็นเพราะอุทยานการเรียนรู้ยะลาตั้งอยู่ใจกลางเมืองยะลา ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่มีความสะดวกในการเดินทางมาใช้บริการ และยังมีลานสานฝัน ซึ่งเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ที่กว้างขวางสำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ (วัชรี ถ้วนถวิล, สัมภาษณ์, 2 กุมภาพันธ์ 2555) 5.ความต้องการในด้านวันและช่วงเวลาในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการให้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในวันและช่วงเวลาต่าง ๆ ในระดับมาก โดยวันและช่วงเวลาที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ วันอาทิตย์ ช่วงเวลาบ่าย (13.00-16.00) (3.98) 6.ความต้องการในด้านการเผยแพร่ข่าวสารการจัดกิจกรรม เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการให้เผยแพร่ข่าวสารการจัดกิจกรรมด้วยวิธีต่าง ๆ 2 ระดับ คือ ระดับมาก และระดับปานกลาง โดยวิธีการเผยแพร่ข่าวสารการจัดกิจกรรมที่ต้องการในระดับมาก เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ย 3 ลำดับแรก ดังนี้ แจกใบปลิวและแผ่นพับที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา (4.06) แจกใบปลิวและแผ่นพับที่แหล่งท่องเที่ยว (3.94) และเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต และแจกใบปลิวและแผ่นพับที่โรงเรียน (3.93 เท่ากัน)) ซึ่งผลการวิจัยนี้เป็นไปตามสมมติฐาน ข้อ 1 ในส่วนที่กำหนดว่า เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลามีความต้องการวิธีการเผยแพร่ข่าวสารการจัดกิจกรรมโดยการแจกใบปลิวและแผ่นพับที่โรงเรียน ในระดับมาก จากผลการวิจัยที่พบว่า เด็กต้องการวิธีการเผยแพร่ข่าวสารการจัดกิจกรรมโดยการแจกใบปลิวและแผ่นพับที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา โดยรวม ในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด อาจเป็นเพราะเป็นสถานที่ที่เด็กมาใช้บริการอยู่แล้ว อีกทั้งใบปลิวและแผ่นพับเป็นสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อที่ใช้สะดวก สามารถเก็บไว้ดูรายละเอียด และนำติดตัวไปได้ จึงเป็นที่ต้องการของเด็กส่วนใหญ่ (วัชรี ถ้วนถวิล, สัมภาษณ์, 2 กุมภาพันธ์ 2555) 7.ปัญหาในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็กที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่อุทยานการเรียนรู้ยะลาประสบ เด็กที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา จำนวน 150 คน ประสบปัญหาทั้งหมดในระดับปานกลาง และปัญหาที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ เนื้อหาของกิจกรรมไม่หลากหลาย (3.40) อาจเป็นเพราะกิจกรรมส่วนใหญ่ที่อุทยานการเรียนรู้ยะลาได้จัดขึ้นนั้น ได้คัดเลือกจากแบบสำรวจความคิดเห็นในการเข้าร่วมกิจกรรมที่เด็กจำนวนไม่มากนักได้เสนอไว้ ซึ่งอาจไม่หลากหลายเท่าที่ควร ผลการวิจัยดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสมมติฐาน ข้อ 2 ที่กำหนดว่า เด็กที่เป็นสมาชิกอุทยานการเรียนรู้ยะลาประสบปัญหาในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเรื่อง เนื้อหาของกิจกรรมไม่ตรงกับความต้องการในระดับมาก เนื่องจากค่าเฉลี่ยของปัญหาเรื่องเนื้อหาของกิจกรรมไม่ตรงกับความต้องการ คือ 3.06 อยู่ในระดับปานกลาง ผลการวิจัยนี้ไม่สอดคล้องกับผลการวิจัยของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2544) ที่พบว่า นักเรียนประถมศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่าการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านมีช่วงเวลาจัดไม่เหมาะสม และนักเรียนไม่มีส่วนร่วมกิจกรรม ส่วนนักเรียนมัธยมศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านไม่น่าสนใจ และช่วงเวลาจัดไม่เหมาะสม ผลการวิจัยของ ชัยภพ เสรีผล (2550) พบว่า ปัญหาและอุปสรรคในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของนักเรียนส่วนใหญ่ คือ ไม่มีของรางวัล หรือของรางวัลที่ให้ไม่จูงใจ รองลงมาคือ กิจกรรมไม่น่าสนใจ และผลการวิจัยของ ไข่มุก เหล่าสุนทร (2550) พบว่า ปัญหาในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่นักเรียนประสบในระดับมากที่สุด คือ นักเรียนไม่มีเวลาร่วมกิจกรรม รองลงมา คือ กิจกรรมไม่น่าสนใจ และห้องสมุดประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง รายการอ้างอิง ภาษาไทย กระทรวงศึกษาธิการ. กรมวิชาการ. รายงานการวิจัยเรื่อง การศึกษาสภาพการอ่านของนักเรียนและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในโรงเรียน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2544. ไข่มุก เหล่าสุนทร. “ความต้องการในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม).” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2550. จักรพงศ์ สุวรรณรัศมี. คู่มือการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ศิลปะเด็กปฐมวัย. ชลบุรี: สำนักงานเขตพื้นที่ชลบุรี, 2553. ฉวีวรรณ คูหาภินันท์. การอ่านและการส่งเสริมการอ่าน. กรุงเทพมหานคร: ศิลปาบรรณคาร, 2542. ฉวีวรรณ คูหาภินันท์. การอ่านและการส่งเสริมการอ่าน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ศิลปาบรรณคาร, 2545. ชัยภพ เสรีผล. “การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนนานาชาติเซนต์ สตีเฟ่นส์.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2550. ดวงพร พวงเพ็ชร. “การส่งเสริมนิสัยรักการอ่านจากครอบครัวของนักเรียน ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ, 2541. ดารกา ต้นครองจันทร์. “ทำอย่างไรให้เด็กไทยรักการอ่าน.” วารสารวิชาการ 5, 11 (2545): 6-10. นิตยา แฟงสวัสดิ์. “ความสัมพันธ์ระหว่างการมีส่วนร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการอ่านกับนิสัยรักการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2538. พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร. “ร้อง เต้น เล่น อ่าน ...สรรค์สร้างจินตนาการสู่ภาษา.” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://siripongschool.ning.com/forum/topics/3866508:Topic:1662 [2554]. สืบค้น 22 กุมภาพันธ์ 2555. พาณี พิทักษา. “ความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทของผู้ปกครองในการส่งเสริมการอ่านกับนิสัยใน การอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531. ไพจิตต์ สายจันทร์. “ปัจจัยที่มีผลต่อการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, 2548. มะลิวัลญ์ ศรีธวีวัตต์. “ผลของโปรแกรมส่งเสริมการอ่านภาษาไทย ตามเทคนิคเต้าเต๋อซีนซีที่มีต่อความสามารถทางการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551. แม้นมาส ชวลิต, คุณหญิง. การสร้างสังคมการอ่านและการใช้สารนิเทศ. กรุงเทพมหานคร: สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย, 2530. แม้นมาส ชวลิต, คุณหญิง. แนวทางส่งเสริมการอ่าน (ฉบับแก้ไขและเพิ่มเติม). กรุงเทพมหานคร: บรรณกิจ, 2544. รตี ยะสารี. รองผู้จัดการฝ่ายวิชาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ อุทยานการเรียนรู้ยะลา. สัมภาษณ์, 9 กุมภาพันธ์ 2554. วัชรี ถ้วนถวิล. ผู้จัดการอุทยานการเรียนรู้ยะลา. สัมภาษณ์, 31 สิงหาคม 2553. วัชรี ถ้วนถวิล. ผู้จัดการอุทยานการเรียนรู้ยะลา. สัมภาษณ์, 2 กุมภาพันธ์ 2555. วิทยากร เชียงกูล. “ปัญหาการพัฒนาคุณภาพในการจัดการการศึกษา.” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://witayakornclub.wordpress.com 2552. สืบค้น 1 กรกฎาคม 2553. ศรีรัตน์ เจิงกลิ่นจันทร์. การอ่านและการสร้างนิสัยรักการอ่าน. กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2542. ศิริไชย หงษสงวนศรี และพนม เกตุมาน. “Game Addiction: The Crisis and Solution.” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ramamental.com/medicalstudent /childandteen/ gamingaddictchild/ 2555. สืบค้น 29 กุมภาพันธ์ 2555. สุพรรณี วราทร. ชวนเด็กไทยให้เป็นนักอ่าน (2). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, 2550. สุพรรณี วราทร และชลทิชา สุทธินิรันดร์กุล. โครงการวิจัยเรื่อง กิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเยาวชนก่อนวัยรุ่น. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, 2549. อับดุลการิม รามันห์สิริวงศ์. “สพท.ยะลาเขต 1 ตะลึงปัญหาใหญ่.” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dailynews.co.th 2552. สืบค้น 30 พฤศจิกายน 2553. อิทธิเดช น้อยไม้. “การจัดทัศนศึกษาเพื่อเรียนรู้แบบบูรณาการ.” วารสารศึกษาศาสตร์ 16, 1 (2547): 2. อุรพงศ์ แพทย์คชา. “ความคาดหวังของผู้เรียนและผู้ทำงานด้านภาพยนตร์ที่มีต่อสถาบันการสอนและพัฒนาบุคลากรด้านภาพยนตร์.” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.bu.ac.th/ knowledgecenter/epaper/july_dec2010/.../P_56-65.pdf [ม.ป.ป]. สืบค้น 4 มีนาคม 2555. 3 ปี อุทยานการเรียนรู้ยะลา ก่อเกิดมิตรภาพ และความเข้าใจ. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, 2553. ภาษาอังกฤษ McNicol, Sarah. “Reading Development and Reading Promotion in School Libraries and Public Libraries.” [Online]. Available: http:// www.ebase.bcu.ac.uk/docs/Reader_ development_report.doc 2003. Retrieved September 22, 2011. Vu Duong Thuy Nga. “The development of book reading activity for promoting better life of citizen in Vietnam.” [Online]. Available: http://www.tkpark.or.th/tk/index.php?option =com_docman&task=doc_download&gid=124&Itemid=43&lang=th 2011. Retrieved June 12, 2011. Yamane, Taro. Statistics: An introductory analysis. 3rd ed. New York: Harper and Row Publication, 1973.

เครื่องมือส่วนตัว