ความทุกข์ใจ

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและสังเคราะห์เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์ทางใจในบริบทพุทธธรรม หรือ “ความทุกข์” โดยใช้วิธีการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic Review) ผลการศึกษาและสังเคราะห์งานวิจัยจากหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการเพื่อศึกษากรอบมโนทัศน์ของความทุกข์ทางใจในบริบทพุทธธรรม สามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้

1. นิยามและขอบเขตความทุกข์ประกอบด้วย ความหมายของทุกข์ในบริบทของหลักธรรมสำคัญ ได้แก่ หลักไตรลักษณ์อริยสัจสี่ และปฏิจจสมุปบาท ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ประเด็นแรกความทุกข์ ที่เป็นภาวะแห่งทุกข์ตามกฎธรรมชาติของสรรพสิ่งในโลกนี้ สภาพทุกข์จากความเป็นสภาพที่ทนได้ยาก หรือคงอยู่ในภาวะเดิมไม่ได้อันเป็นความทุกข์ในความหมายของไตรลักษณ์ทุกข์ในบริบทของไตรลักษณ์ เรียกว่า ทุกขตา 3 (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต), 2552) ซึ่งได้แก่ (1) ทุกขทุกขตา เป็นสภาพทุกข์ หรือความเป็นทุกข์เพราะทุกข์ (Painfulness as suffering) ได้แก่ ทุกขเวทนาทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม ซึ่งเป็นทุกข์อย่างที่เข้าใจตามสามัญ ตรงตามชื่อ ตามสภาพ (2) วิปริณามทุกขตา เป็นความเป็นทุกข์เพราะความแปรปรวน (Suffering in change) เช่นความสุข กล่าวคือ ความสุขนั้นจะกลายเป็นความทุกข์ขึ้นทันทีที่ความสุขแปรเปลี่ยน ผันแปร เพราะตามจริงแล้ว สุขนั้นก็ไม่เที่ยง เมื่อสุขแปรปรวน ก็จะเกิดทุกข์ขึ้นทันที (3) สังขารทุกขตา เป็นสังขารทุกข์ ทุกข์ตามสภาพสังขาร คงสภาพอยู่ไม่ได้ พร่องอยู่เสมอ (Suffering due to formations; Inherent liability to suffering) คือ สิ่งทั้งปวงซึ่งเกิดจากปัจจัยปรุงแต่งที่ถูกบีบคั้น ด้วยการเกิดขึ้นและสลายไป ทำให้คงอยู่ในสภาพเดิมมิได้ ไม่คงตัว และทำให้เกิดทุกข์แก่ผู้ยึดถือ ประเด็นต่อมา ความทุกข์ ที่เป็นสภาวะที่บุคคลเข้าไปยึดถือสิ่งต่างๆ หรือเรียกว่าอุปาทาน (ความยึดติด) เมื่อมีตัวตนและมีความยึดมั่นขึ้นมาย่อมก่อให้เกิดทุกข์ซึ่งเป็นความทุกข์ในความหมายของอริยสัจสี่ (ที.ม. 10/295/269-271) ดังนี้ (1) สภาวทุกข์ คือ ทุกข์ประจำสังขารหรือทุกข์ประจำ (Inevitable Suffering) ซึ่งได้แก่ • ชาติ (Birth, ความเกิด) ความตระหนักถึงความมีตัวตนว่ามี “ตัวเรา” จึงเกิดทุกข์ต่าง ๆ อีก 10 ประการที่จะตามมาได้แก่ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส การประสบสิ่งที่ไม่รักใคร่ การพลัดพรากจากสิ่งที่รักใคร่ และการปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น • ชรา (Aging, ความแก่) เนื่องจากมีตัวเราจึงมีความเสื่อม ความชำรุด ความแปรเปลี่ยนไปตามธรรมชาติซึ่งก็กินความรวมถึงความแก่ชราด้วย • มรณะ (Death, ความตาย) เนื่องจากมีตัวเรา จึงมีความเสื่อม ความแปรเปลี่ยนไปตามธรรมชาติจึงไม่มีสภาวะใดยั่งยืน คงได้ตลอดไป จึงมีความดับ ความตาย

(2) ปกิณณกทุกข์ (Miscellaneous suffering) คือ ทุกข์เบ็ดเตล็ดหรือทุกข์จร เป็นความทุกข์ที่มาจากเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมของชีวิตที่เกิดขึ้นเพียงครั้งคราว เกิดขึ้นกับบุคคลด้วยระดับที่ต่างกันออกไปตามความยึดมั่น เป็นความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจหย่อนสมรรถภาพ ไม่อาจทนต่อเหตุภายนอกที่มากระทบตัวได้ ได้แก่

• โสกะ (Sorrow, ความแห้งใจ) มีอาการโศกเศร้าเสียใจ ตรอมตรมอย่างมาก ห่อเหี่ยวใจ เศร้าโศก • ปริเทวะ (Lamentation, ความพิไรรำพัน หรือระทมใจ) มีอาการของความคร่ำครวญ พิไรรำพัน ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางใจที่เกิดจากการตัดไม่ขาด โดยอาจแสดงมาเป็นการกระทำหรือคำพูด เช่น บ่นเพ้อ พูดคร่ำครวญ • ทุกข์ (Feeling hurt or physical pain, ความไม่สบายกายและใจ) อาการอึดอัด ทรมาน ลำบากจากความเจ็บปวดทางกายหรือเป็นโรค รวมถึงความรู้สึกทางใจที่ไม่ดีอันเกิดจากร่างกาย • โทมนัส (Mental pain or grief, ช้ำใจ) มีอาการน้อยใจ ตรอมใจ ชอกช้ำใจ เจ็บปวดรวดร้าวใจ อาจแสดงออกมาด้วยการร้องไห้ • อุปายาส (Despair, ความคับแค้นใจ) มีอาการกลัดกลุ้มใจ สับสนหาทางออกไม่พบ คับแค้นใจ โกรธเคือง ประเด็นที่สาม ความทุกข์ ที่เกิดจากวงจรทุกข์โดยมีอวิชชา (คือ ความไม่รู้ในไตรลักษณ์ อริยสัจสี่ และอิทัปปัจจยตา) เป็นตัวการสำคัญ เรียกว่า ความทุกข์ในบริบทของปฏิจจสมุปบาทคำว่า “ปฏิจฺจ” แปลว่า อาศัยกัน และคำว่า “สมุปฺบาท” แปลว่า เกิดขึ้นด้วยกัน ดังนั้น ปฏิจจสมุปบาทจึงรวมความได้ว่า ธรรมที่เกิดขึ้นด้วยกัน โดยอาศัยกันโดยมิได้มีธรรมหนึ่งธรรมใดเกิดขึ้น หรือดับไปโดยอิสระ ธรรมทั้งหลายจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกันเกิดขึ้นหรือดับไป (พุทธทาส อินทปัญโญ, 2554). โดยมีองค์ธรรมทั้งสิ้น 12 องค์ ดังพุทธพจน์ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปทานจึงมี เพราะอุปทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมี” (วิ. มหา. 4/1/1) สำหรับกองทุกข์ทั้งปวงในที่นี้ คือ ทุกข์ที่เกิดจากความเข้าใจผิดว่า มีตัวตน เมื่อมีตัวตนจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา ของเรา"

2. แนวคิดหลักที่อธิบายเรื่องความทุกข์ แนวคิดทางพุทธธรรมจะอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆด้วยความเชื่อมโยงสอดคล้องตามเหตุปัจจัยที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา หรืออาจเรียกว่า ภาวะที่สัมพันธ์เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน (inter-being) ซึ่งสามารถนำมาอธิบายความทุกขืในหลักธรรมสำคัญทางพุทธศาสนาได้ โดยความทุกข์ที่อยู่ในบริบทของไตรลักษณ์ (The Three Characteristics of Universal Natural Law) เป็นทุกข์ที่แสดงลักษณะของสิ่งที่เป็นสากลสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างในโลก คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และเป็นหนึ่งในนิยาม 5 (The five aspects of natural law) คือ ธรรมนิยาม(General Law) อันเป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผล หรือความเป็นไปอันแน่นอนตามธรรมดาของทุกสรรพสิ่งและเป็นกฎที่ครอบคลุมกฎอื่นๆทั้งหมดในนิยาม 5 ความทุกข์ในบริบทของอริยสัจสี่ (The Four Noble Truths) ครอบคลุมความทุกข์ทางใจของมนุษย์ไว้ในทุกแง่มุม ได้แก่ ตัวทุกข์ (ทุกขอริยสัจ) เหตุแห่งทุกข์ (สมุทยอริยสัจ) การดับทุกข์ (นิโรธอริยสัจ) และวิธีการดับทุกข์ (มัคคอริยสัจ) สำหรับความทุกข์ในบริบทของปฏิจจสมุปบาท (The Dependent Origination) เป็นภาคขยายของอริยสัจสี่โดยละเอียด กล่าวถึง วงจรของความทุกข์ภายในจิตใจมนุษย์ที่เกิดจากอวิชชา อันเกิดจากความไม่เข้าใจโลกและชีวิตตามจริง กล่าวคือขาดปัญญาที่จะพิจารณาอิทัปปัจจยตาในสิ่งทั้งหลาย ทำให้มองไม่เห็นความจริงของไตรลักษณ์ เมื่อไม่เข้าใจความจริงที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ย่อมไม่รู้จักและเข้าใจเหตุแห่งทุกข์ในอริยสัจสี่ และเมื่อไม่เข้าใจเหตุแห่งทุกข์ทำให้บุคคลไม่สามารถใช้ชีวิตได้กลมกลืนกับเหตุการณ์หรือสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า วงล้อปฏิจจสมุปบาทจึงทำงานนำมาซึ่งความทุกข์ทางใจทั้งหลาย ทั้งนี้ ยังมีความทุกข์ในอีกลักษณะหนึ่งที่เป็นความรู้สึกของมนุษย์ คือ ทุกข์ในบริบทของเวทนา (Suffering in feeling or sensation) โดยอาศัยเหตุ คือ “ผัสสะ” ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จึงเกิด “กริยาที่รู้สึก” (เสวย) ทางอายตนะเหล่านั้น (ขนฺธ. ส◦ 17/73/114, ขนฺธ. ส◦ 17/105/159) เวทนาหรือความรู้สึกที่ปรากฏ ได้แก่ สุขเวทนา และทุกขเวทนา เวทนาเหล่านี้เป็นเวทนาอย่างหยาบที่ก่อให้เกิดความยึดติดในสิ่งที่ชอบ หรือหลีกเลี่ยงในสิ่งที่ไม่ชอบ และเวทนาอีกลักษณะหนึ่งคือ อทุกขมสุขเวทนา เรียกอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา เป็นเวทนาอันละเอียด ซึ่งมีลักษณะไม่ทุกข์ ไม่สุข รู้สึกเฉยๆ แต่อทุกขมสุขเวทนาที่มีความเฉยเพราะไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชานุสัย (สภาพที่นอนเนื่องในสันดาน เพราะความไม่รู้ตามความเป็นจริง) (ม.มู.12/511/391-392) ซึ่งเวทนาทั้งสามชนิดนี้เป็นปัจจัยการแห่งตัณหา ทุกข์ในบริบททุกข์ประจำและปกิณณกทุกข์ (Inevitable Suffering and Miscellaneous Suffering) เป็นที่ปรากฏในวงจรปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ ทุกข์ประจำ เป็นความทุกข์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และปกิณณกทุกข์เป็นอาการของความทุกข์ทางใจที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวไม่สม่ำเสมอ และเมื่อพิจารณาขันธ์ห้าเป็นตัวทุกข์ตามพระสุตตันตปิฎก ขันธ์ห้าเป็นทุกข์ใน 3 ลักษณะ คือ (1) ทุกข์ เพราะต้องทำนุบำรุงดูแลรักษารูปขันธ์ ซึ่งเป็นทุกข์โดยธรรมชาติ (สภาวทุกข์) (2) ทุกข์เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา (อนิจจังลักษณะ) (3) ทุกข์ทางใจ เพราะอวิชชา(ignorant) ตัณหา (craving) และอุปาทาน (attachment, clinging) ยิ่งมนุษย์มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสประสบพบกับความขัดเคือง(ปฏิฆะ) อันเป็นผลให้เกิดอาการทุกข์ คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ได้มากขึ้นเท่านั้น เมื่อพิจารณาขันธ์ห้าตามหลักอภิธรรม ซึ่งอธิบายถึงสภาวะของจิตไว้อย่างละเอียด พบว่า สังขาร (Mental formations) สามารถจำแนกเป็นเจตสิกในลักษณะต่างๆถึง 50 ดวง เมื่อรวมกับเวทนาเจตสิกและสัญญาเจตสิกจะมีเจตสิกรวมทั้งสิ้นถึง 52 ดวง โดยสังขาร (Mental formations)ในทางจิตวิทยาจะเป็นตัวกำหนดการกระทำของคนเรา ซึ่งเทียบได้กับแรงจูงใจ (motivates) และ แรงขับ (drives) (จำลอง ดิษยวาณิช, 2554) ดังนั้น ขณะที่จิตประกอบด้วยอกุศลเจตสิก หรือมีแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม บุคคลย่อมถูกเผาลนด้วยความเร่าร้อนภายในใจ และยังแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมด้วย

จากวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์ พบว่า มีทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับเหตุแห่งทุกข์ทางใจใน 3 ลักษณะ ลักษณะที่ 1 สาเหตุแห่งทุกข์ คือ ตัณหา (Craving) ที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ตัณหา นี้ได้แก่ (1) กามตัณหา (craving for sensual pleasures ; sensual craving) คือ ความอยากได้กามคุณ หรือสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้งห้า (2) ภวตัณหา (craving for existence) คือ ความทะยานอยากในภพ ความอยากในภาวะของตัวตนที่จะได้ จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากเป็น อยากให้คงอยู่ตลอดไป (3) วิภาวตัณหา (craving for non-existence ; craving for self-annihilation) คือ ความอยากในความพรากพ้นไปแห่งตัวตน จากความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่ปรารถนา อยากทำลาย อยากให้ดับสูญ ทั้งนี้ ตัณหาที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ย่อมก่อให้เกิดความขัดเคืองและเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ (ที.ม. 10/295/269-271)ได้แก่ (1) อัปปิเยหิ สัมปโยค (ประสบสิ่งที่ไม่รักใคร่) มีอาการของใจที่อยากหลีกหนี ไม่อยากจะเผชิญหน้าหรือประสบพบ (2)ปิเยหิ วิปปโยค (การพลัดพรากจากสิ่งที่รักใคร่) มีอาการห่วงหาอาลัยอาวรณ์ ไม่อยากพลัดพรากจากไป (3)ยัมปิจฉัง น ลภติ (การปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น) มีใจที่หม่นหมอง เสียดาย ผิดหวัง เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา

ลักษณะที่ 2 สาเหตุแห่งทุกข์ คือ กิเลสวัฏฏ์ในวัฏฏะ 3 ซึ่งมีรายละเอียด (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตตโต),2552) ดังนี้ (1) กิเลสวัฏฏ์ คือ ตัวสาเหตุผลักดันให้คิดปรุงแต่งกระทำการต่างๆ ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซึ่งถือเป็นกิเลส (2) กรรมวัฏฏ์ คือ กระบวนการกระทำ หรือกรรมทั้งหลายที่ปรุงแต่งชีวิตให้เป็นไปต่างๆ ได้แก่ สังขาร (กรรม)ภพ ซึ่งถือว่าเป็นกรรม (3) วิปากวัฏฏ์ คือ สภาพชีวิตที่เป็นผลแห่งการปรุงแต่งของกรรม และเป็นปัจจัยเสริมสร้างกิเลสต่อไปได้อีก ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ซึ่งถือว่าเป็น วิบาก

ลักษณะที่ 3 สาเหตุแห่งทุกข์ คือ กิเลส ในที่นี้กิเลส (mental defilements) หมายถึง สิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองและเร่าร้อน (จำลอง ดิษยวนิช, 2554; จำลอง ดิษยวนิช และพริ้มเพรา ดิษยวณิช, 2547) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ (1) อนุสัยกิเลส (Latent Defilements) เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่สะสมอยู่ในภวังคจิต (life-continuum) หรือจิตไร้สำนึก (the unconscious) ถ้ายังไม่มีอารมณ์ภายนอกมากระทบแล้ว กิเลสชนิดนี้จะยังนอนสงบอยู่ ไม่แสดงอาการปรากฏออกมาให้เห็น เป็นกิเลสที่ละเอียดอย่างยิ่ง และนอนเนื่องอยู่ในสันดาน จะแสดงตัวก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยมากระตุ้น (2) ปริยุฏฐานกิเลส (Internally Active Defilements) เป็นกิเลสอย่างกลาง เมื่อมีอารมณ์มากระทบ อนุสัยกิเลสที่นอนสงบอยู่ในภวังคจิตจะฟุ้งกระจาย ทำให้จิตใจขุ่นมัวและฟุ้งซ่าน ในสภาวะเช่นนี้ อนุสัยกิเลสจะเปลี่ยนเป็นปริยุฏฐานกิเลส (the thought process) ทันที กิเลสอย่างกลางนี้คือ กิเลสประเภทนิวรณ์ (hindrances) หมายถึง สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม หรือสิ่งกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี (3) วีติกกมกิเลส (Externally Active Defilements) เป็นกิเลสอย่างหยาบที่ฟุ้ง วุ่นวาย และเร่าร้อนมากจนปรากฏออกมาเป็นพฤติกรรมทางกายและทางวาจา ทำให้บุคคล ครอบครัว และสังคมเดือดร้อน


เอกสารอ้างอิง

จำลอง ดิษยวณิช และพริ้มเพรา ดิษยวณิช. (2547). แนวคิดเชิงพุทธของความวิตกกังวล. ปัญญา, 11, 60, หน้า 19-26.

จำลอง ดิษยวณิช. (2544).จิตวิทยาของความดับทุกข์. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่: กลางเวียงการพิมพ์.

พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต). (2546). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร: เอส.อาร์.พริ้นติ้ง.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตตโต). (2552). พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พุทธทาส อินทปญโญ. (2554). อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคต้น. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพมหานคร : ธรรมทานมูลนิธิ.

พุทธทาส อินทปญโญ. (2548) การเกิดและดับของกิเลส. กรุงเทพมหานคร : ไพลินบุ๊คเน็ต.

เครื่องมือส่วนตัว