ประชาพิจารณ์
จาก ChulaPedia
การประชาพิจารณ์มีแนวความคิดจากเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการควบคุมการดำเนินการของฝ่ายบริหาร แบ่งเป็น
- ก. การควบคุมก่อนการดำเนินการ - ข. การควบคุมภายหลังการดำเนินการ
Public Hearing ในประเทศสหรัฐอเมริกา (เรียก “ไต่สวนสาธารณะ”)
Public Hearing เดิมหมายถึง กระบวนการพิจารณาโดยเปิดเผยในศาลให้สาธารณชนได้รับรู้ ต่อมานำมาใช้ในกระบวนการของสภาคองเกรสสหรัฐ หมายถึง การพิจารณาพยานหลักฐานโดยเปิดเผย มีกระบวนการเคร่งครัดเช่นเดียวกับศาล ปัจจุบันหมายถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการออกกฎ หรือคำสั่ง หรือการตัดสินใจของรัฐบาล
Public Inquiry ในประเทศสหราชอาณาจักร (เรียกรับฟังความคิดเห็น)
ใช้ในความหมายของมาตรการทางปกครองของรัฐ เปิดโอกาสให้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ผู้เสียหายจากโครงการของรัฐ มีโอกาสแสดงความคิดเห็น หรือโต้แย้ง คัดค้าน ก่อนที่ผู้บริหารจะออกกฎหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ องค์คณะหรือองค์กรที่ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นต้องมีความเป็นอิสระ
Public Inquiry ในประเทศฝรั่งเศส (เรียกไต่สวนสาธารณะ)
เป็นกระบวนการไต่สวนสาธารณะก่อนที่รัฐจะดำเนินการใด ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เช่น การออกกฎหมายสิ่งแวดล้อม
การประชาพิจารณ์ในประเทศไทย
เริ่มในปี ๒๕๓๘ สมัยรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา มีสาระสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๓๙ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีการประชาพิจารณ์ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้หน่วยงานของรัฐจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานโครงการของรัฐที่สำคัญ
โดย Introduction to Mass Media Team Teaching
รศ. ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
รศ. ปัทวดี จารุวร
ผศ. ดร. พิรงรอง รามสูต
ผศ. เมธา เสรีธนาวงศ์
อ. ไศสทิพย์ จารภูมิ
รศ. ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์