พบไส้เดือนไทย 4 ชนิดใหม่ของโลก

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

จากการเก็บตัวอย่างและศึกษาไส้เดือนทั่วประทศไทยพบว่าไส้เดือนส่วนใหญ่ที่พบในบ้านเราเป็นกลุ่มสกลุ Amynthas และ Metaphire ซึ่งมีการกระจายได้กว้างทั้งในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ผ่านมามีการศึกษาและรายงานการค้นพบไส้เดือนในประเทศไทยแล้วประมาณ 40 ชนิด ทั้งโดยคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งล่าสุดได้มีการค้นพบไส้เดือนดินชนิดใหม่ของโลกเพิ่มอีก 4 ชนิด ได้แก่ ไส้เดือนยักษ์ดินทราย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amynthas arenulus Bantaowong & Panha, 2014 เป็นไส้เดือนที่มีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางลำตัวประมาณ 1-2 ซม. ยาวประมาณ 30-40 ซม. ตัวใหญ่สุดมีความยาวเกือบ 50 ซม. พบครั้งแรกที่จังหวัดสุรินทร์ โดยอาศัยอยู่ตามคันนาในดินร่วนปนทรายอาศัยอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 20-30 ซม. ไส้เดือนท่าคันโท มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amynthas thakhantho Bantaowong & Panha, 2014 มีขนาดลำตัวกว้างประมาณ 1 ซม. ยาว 30-40 ซม. ที่น่าสนใจคือไส้เดือนชนิดนี้สร้างขุยมีลักษณะเป็นคอนโดสูง 20-30 ซม. กระจายอยู่เต็มพื้นที่สวนของเกษตรที่อำเภอท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ไส้เดือนป่าเต็งรังชัยภูมิ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amynthas longicaeca Bantaowong & Panha, 2014 ชนิดนี้พบอาศัยอยู่ในป่าเต็งรังที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ มีขนาดลำตัวประมาณ 1 ซม. ยาว 20-30 ซม.และ Amynthas phucheefah Bantaowong & Panha, 2014 ซึ่งเป็นชนิดที่มีการอพยพในช่วงหน้าหนาวในเขตภูเขาสูงทางภาคเหนือของไทย คือพบที่ภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บ้านเรามีรายงานการค้นพบไส้เดือนดินแล้วเกือบ50 สายพันธุ์ และคาดว่าน่าจะมีมากถึง 100 สายพันธุ์ ซึ่งน่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก ไส้เดือนแต่ละสายพันธุ์มีความจำเพาะต่ออาหาร ดินและถิ่นอาศัยที่แตกต่างกัน บางชนิดพบเฉพาะป่าดิบชื้น เขาหินปูน ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หรือแม้แต่ในนาข้าว บางชนิดอยู่ได้ดีในดินทราย ดินร่วนปนทราย หรือชอบดินเหนียว และบางชนิดสามารถย่อยใบไม้แห้งได้ดี บางชนิดชอบย่อยผักผลไม้สดที่เน่าเปื่อย หรือบางชนิดชอบย่อยมูลสัตว์ เป็นต้น ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไส้เดือนกับอาหาร ดิน และถิ่นอาศัย สามารถนำมาปรับให้เข้ากับ ..วิถีเกษตรอินทรีย์ของไทย

เครื่องมือส่วนตัว