หน้าหลัก/ผลของโปรแกรมการมีส่วนร่วมของครอบครัวต่อความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
จาก ChulaPedia
ผลของโปรแกรมการมีส่วนร่วมของครอบครัวต่อความวิตก กังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัด.
(THE EFFECT OF FAMILY PARTICIPATION PROGRAM ON ANXIETY IN BREAST CANCER PATIENTS RECEIVING CHEMOTHERAPY)
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของโปรแกรมการมีส่วนร่วมของครอบครัวต่อความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัด กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดที่เข้ารับการรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัดเป็นครั้งแรก ที่หน่วยเคมีบำบัด คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานครและบุคคลในครอบครัวที่มีความสำคัญและใกล้ชิดซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 40 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 20 ราย และกลุ่มทดลอง 20 ราย โดยการจับคู่ให้กลุ่มตัวอย่างมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของอายุ ระยะของโรค จำนวนชุดและสูตรเคมีบำบัดที่ได้รับ ความสัมพันธ์ของครอบครัว กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ในขณะที่กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการมีส่วนร่วมของครอบครัว ซึ่งโปรแกรมนี้ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นโดยประยุกต์ใช้แนวคิดของSchepp(1995) ร่วมกับแนวคิดการสัมผัสของ Weiss(1979) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบประเมินความวิตกกังวลขณะเผชิญของSpielbergerและคณะ(1983) มีค่าความเที่ยงจากการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .84 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติเชิงพรรณนา สถิติทดสอบความแปรปรวนและสถิติทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า
1.ความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัดภายหลังได้รับโปรแกรมการมีส่วนร่วมของครอบครัวต่ำกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการมีส่วนร่วมของครอบครัว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (p<.05)
2.ความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัดภายหลังได้รับโปรแกรมการมีส่วนร่วมของครอบครัวต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (p<.05)
ชื่อ-สกุลนิสิต: นางสาวอรวรรณ พรคณาปราชญ์ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ : รศ.ดร. สุรีพร ธนศิลป์