Management Cockpit
จาก ChulaPedia
เนื้อหา |
ห้อง Management Cockpit
ห้องนี้จะทำให้องค์กรได้มีการนำหลักการทางการบริหารที่ถูกต้องมาใช้และช่วยให้ผู้บริหารได้ตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยในห้องนี้ประกอบด้วยผนังสี่ด้าน (เหมือนห้องธรรมดาทั่วๆ ไป) ในผนังสามด้านจะประกอบด้วยคำถามที่ผู้บริหารอยากจะทราบมากที่สุดหกคำถาม และคำถามแต่ละคำถามจะมีคำตอบในลักษณะของตัวชี้วัดหรือข้อมูลที่ใช้ในการตอบคำถามนั้นหกข้อ โดยคำถามแต่ละข้อจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้บริหารจะแสวงหาคำตอบต่อไป นอกจากนี้แนวคิดในการสร้างตัวชี้วัดภายในห้อง Management Cockpit นี้เกิดขึ้นในลักษณะของการถาม – ตอบ โดยคำถามแต่ละคำถามจะเป็นคำถามที่ผู้บริหารอยากจะทราบมากที่สุดในแต่ละด้าน และในการตอบคำถามนั้นจะต้องอาศัยตัวชี้วัด (Key Performance Indicators) และข้อมูลเพื่อใช้ในการตอบคำถาม
หลักการของห้อง Management Cockpit
1. แนวคิดของ Organizational Intelligence
2. การเป็นห้องประชุมที่ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจ (Decision Room หรือ War Room)
3. หลักการในเรื่องของตัวชี้วัดผลการดำเนินงานขององค์กร (Key Performance Indicators)
สีของผนังห้อง Management Cockpit
1. ผนังสีดำ (Black Wall) ซึ่งจะประกอบด้วยคำถามที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่สำคัญสำหรับองค์กรหรือทางด้านการเงิน
2. ผนังสีน้ำเงิน (Blue Wall) จะเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานภายในขององค์กร
3. ผนังสีแดง (Red Wall) ที่จะมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกองค์กรทั้งที่เป็นภายนอกจริงๆ และคำถามที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าและการดำเนินงานด้านการตลาดและการขายขององค์กร
4. ผนังสีขาว (White Wall) ที่ไม่ได้มีคำถามใดๆ แต่เป็นผนังสำหรับการเจาะลึกข้อมูลในแต่ละตัว พร้อมทั้งเป็นผนังสำหรับการบันทึกแผนงานสำหรับการแก้ไขตัวชี้วัดให้ดีขึ้น
หลักการของคุณหมอ Patrick Georges
คุณหมอ Patrick Georges ได้เสนอว่าสมองคนเราจะรับรู้ต่อรูปภาพได้ดีกว่าตัวอักษรหรือตัวเลข รวมทั้งสิ่งใดก็แล้วแต่ที่ใหญ่ สิ่งนั้นสมองของเราจะบอกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นตัวชี้วัดและข้อมูลต่างๆ ภายในห้องนี้จึงนำเสนอในรูปแบบของรูปภาพและกราฟฟิกต่างๆ ที่ผู้บริหารดูแล้วทำความเข้าใจได้ง่าย นอกจากการนำเสนอข้อมูลในรูปของภาพแล้ว ภาพต่างๆ เหล่านี้ยังใช้สีที่ทุกคนเข้าใจร่วมกันมาประกอบด้วย ซึ่งได้แก่สีของไฟสัญญาณจราจร (เขียว เหลือง และแดง) โดยสีเขียวหมายถึงสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เหลืองแสดงว่าอยู่ตรงเป้าหมาย และแดงไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ การนำเสนอตัวชี้วัดในลักษณะของรูปภาพและสีที่ผู้บริหารเข้าใจได้ง่ายทำให้ผู้บริหารสามารถที่จะรับรู้ต่อข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว และทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ