Optimism

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

Running head: OPTIMISM

การมองโลกในแง่ดี อาจารย์ ดร. วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ (WatcharapornBoonyasiriwat, Ph.D.) Faculty of Psychology Chulalongkorn University Submitted May 29, 2013


Author Note WatcharapornBoonyasiriwat, Ph.D., Faculty of Psychology Chulalongkorn University This article is titled “Optimism” and it is for publishing on Chulapedia website. Correspondence concerning this article should be addressed to WatcharapornBoonyasiriwat, Faculty of Psychology, 7thBorommaratchachonnani Srisattapat Bldg. Rama 1 Rd. Patumwan Bangkok, Thailand 10330 Contact: watcharaporn.p@chula.ac.th


การมองโลกในแง่ดี 1. ความหมายของการมองโลกในแง่ดี นักจิตวิทยานิยามการมองโลกในแง่ดีไว้ 2 แบบ ได้แก่ 1. การมองโลกในแง่ดีแบบบุคลิกภาพ และ 2. การมองโลกในแง่ดีแบบการอธิบายสาเหตุ การมองโลกในแง่ดีแบบบุคลิกภาพนั้น นักจิตวิทยาให้คำนิยามว่าหมายถึงความมั่นใจว่าสิ่งที่ดีๆ จะเกิดขึ้นกับตนอนาคต เป็นความมั่นใจต่อชีวิตในภาพกว้าง มากกว่าจะเจาะจงว่าเป็นเหตุการณ์ใดหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (Scheier & Carver, 1992) เป็นความเชื่อว่าสิ่งที่ดี เช่น การประสบความสำเร็จ เหตุการณ์ที่ดีสำหรับตน รอบุคคลอยู่ในภายหน้า ในขณะที่ผู้ที่มองโลกในแง่ร้ายมักไม่มั่นใจหรือไม่เชื่อว่าจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิตตนหรือเชื่อว่าน่าจะมีเหตุการณ์ไม่ดีหรือความไม่สมหวังต่างๆ รอตนอยู่ในอนาคต ความเชื่อเช่นนี้ทำให้บุคคลเกิดความท้อใจที่จะทำสิ่งต่างๆ เพื่อไปยังเป้าหมาย เช่น นักศึกษาที่เชื่อว่าตนคงจะเรียนไม่จบก็มีแนวโน้มที่จะหมดกำลังใจ ไม่พยายามขวนขวายอ่านหนังสือ เมื่อเจอข้อสอบหรือการบ้านที่ยากก็มักจะถอดใจและล้มเลิกโดยง่าย ในทางตรงกันข้ามผู้ที่มองโลกในแง่ดีจะเชื่อว่าเป้าหมายหรือสิ่งที่ตนต้องการ เช่น การศึกษาให้จบในระดับปริญญาโท เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ บุคคลจะเกิดความมั่นใจและเพิ่มความพยายามที่จะไปยังเป้าหมายนั้น แม้เมื่อเผชิญอุปสรรคหรือความยากลำบากระหว่างทาง ก็จะเต็มใจฝ่าฟันให้ผ่านพ้นไปเนื่องจากความเชื่อว่าความสำเร็จรออยู่ในอนาคต ความเชื่อถึงสิ่งที่ดีว่าจะเกิดขึ้นกับตนในอนาคตจึงมีลักษณะเป็นแรงผลักดันให้บุคคลพยายามไปยังเป้าหมายที่ต้องการ การมองโลกในแง่ดีแบบบุคลิกภาพนี้วัดโดยแบบสอบถามทางจิตวิทยาที่ให้บุคคลแสดงความเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยกับข้อความเช่น “ฉันมักจะมองอนาคตของฉันในแง่ดีเสมอ” ผู้ที่เห็นด้วยกับข้อความเช่นนี้จัดเป็นผู้มองโลกในแง่ดี ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยจะจัดเป็นผู้มองโลกในแง่ร้ายตามความมากน้อยของความเห็น ส่วนการมองโลกในแง่ดีในแบบการอธิบายสาเหตุนั้น มองว่าคนเราสามารถเลือกอธิบายเหตุการณ์ทั้งดีและร้ายที่เกิดขึ้นกับตนได้ในแง่บวกหรือแง่ลบ และคนเรามีแนวทางหรือสไตล์ (style) ในการอธิบายเหตุการณ์ต่างที่เกิดขึ้นในชีวิตตน (Seligman, 1991) โดยผู้ที่อธิบายเหตุการณ์ในชีวิตตนในแง่ดี คือผู้ที่มองเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับตนว่ามีสาเหตุจากสิ่งอื่นนอกเหนือจากตนเอง คงอยู่ไม่นาน และไม่แผ่ขยายไปยังเรื่องอื่นๆ เช่น หากคนผู้หนึ่งถูกปฏิเสธไม่ได้รับคัดเลือกเข้าทำงานในตำแหน่งที่เขาสมัคร เขาอาจคิดว่าผู้คัดเลือกใช้เกณฑ์ที่สูง (แทนที่จะคิดว่าตนมีคุณสมบัติไม่ดีพอ) และอีกไม่นานเขาจะหางานทำได้ (แทนที่จะคิดว่าการตกงานนี้มาจากสาเหตุที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้/จะคงอยู่ตลอดไป) และเชื่อว่าความผิดหวังนี้จะเกิดขึ้นแต่เฉพาะกับเรื่องงานเท่านั้น (แทนที่จะคิดว่าตนคงจะถูกปฏิเสธในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องสมัครงานด้วย) และเมื่อประสบกับเหตุการณ์ที่ดี เช่น การได้รับเข้าทำงานที่ต้องการ ผู้ที่อธิบายเหตุการณ์ในทางที่ดีมักมองว่าเกิดจากตนเองเป็นสาเหตุ (เช่น ตนมีความสามารถ) และเรื่องดีๆ เช่นนี้จะเกิดขึ้นอีก (แทนที่จะคิดว่าสิ่งดีๆ คงจะอยู่ไม่นาน) และเรื่องดีๆ เช่นนี้จะเกิดขึ้นกับด้านอื่นๆ ในชีวิตของเขาด้วย เช่น เรื่องความรัก เรื่องการเสี่ยงโชค (แทนที่จะคิดว่าจะจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องงาน) ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่อธิบายเหตุการณ์ในทางร้ายเมื่อประสบความผิดหวังมักมองว่าตนเป็นต้นเหตุ และมาจากสิ่งที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และจะส่งผลร้ายไปยังเรื่องอื่นๆ ในชีวิตตนด้วย โดยสรุปคือผู้ที่อธิบายเหตุการณ์ในทางร้ายมักจะโทษตนเองเมื่อประสบเหตุการณ์ที่ไม่ดีแต่ไม่ชื่นชมตนเองเมื่อประสบเหตุการณ์ที่ดีหรือสมหวัง ในขณะที่ผู้อธิบายเหตุการณ์ในทางที่ดีจะมีลักษณะตรงกันข้าม การมองโลกแง่ดีแบบอธิบายเหตุการณ์นี้วัดโดยแบบสอบถามที่ยกตัวอย่างเหตุการณ์ทั้งดีและไม่ดีที่อาจเกิดขึ้นได้ และให้ผู้ตอบระบุว่าคิดว่าสาเหตุมีลักษณะใดใน 3 มิติที่อธิบายข้างต้น ได้แก่ มิติภายในและภายนอกตน มิติความคงทนถาวรของสาเหตุ และมิติการแผ่ขยายไปยังเหตุการณ์อื่น 2. ผลของการมองโลกในแง่ดี งานวิจัยจำนวนมากพบว่าการมองโลกในแง่ดีทั้ง 2 ลักษณะเชื่อมโยงกับผลทางบวกหลากหลาย เช่น ผู้ที่มีบุคลิกภาพมองโลกในแง่ดีมักรายงานว่าตนมีความสุขและมีการปรับตัวที่ดี เช่น การศึกษาในนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ต้องปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในช่วงปีแรก (Aspinwall & Taylor, 1992; Brissette, Scheier, & Carver, 2002) การปรับตัวของผู้ที่เผชิญโรคร้ายหรือโรคเรื้อรังต่างๆ (Scheier et al., 1989) และพฤติกรรมที่ให้ผลดีต่อสุขภาพหลายลักษณะ เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารไขมันต่ำ (ดู Scheier & Carver, 1992 สำหรับการทบทวนวรรณกรรม) และการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์น้อยกว่า (Taylor, Kemeny, Aspinwall, Schneider, Rodriguez, & Herbert, 1992) งานวิจัยชี้ว่าการที่ผู้มองโลกในแง่ดี รายงานผลการปรับตัว สุขภาพจิต และสุขภาพกายที่ดีกว่าผู้ที่มองโลกในแง่ร้ายนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากวิธีการจัดการปัญหา (coping) ของคนกลุ่มนี้ โดยผู้มองโลกในแง่ดีรายงานว่าเมื่อเจอปัญหาโดยทั่วไป ตนใช้วิธีการจัดการปัญหาแบบเผชิญปัญหาโดยตรง (approach coping) แทนที่จะหนีปัญหา เช่นด้วยการพยายามลืม เบี่ยงเบนความสนใจของตน หรือปฏิเสธว่าเกิดปัญหาขึ้น (avoidance coping) (Solberg Nes & Segerstrom, 2006) โดยผู้มองโลกในแง่ดีรายงานว่าตนพยายามจัดการกับปัญหาโดยการวางแผนแก้ไข หรือแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการแก้ไขปัญหาให้พ้นไป แต่หากปัญหานั้นไม่สามารถแก้ไขได้หรือเป็นเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบุคคล เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ผู้มองโลกในแง่ดีก็รายงานว่าใช้การพยายามทำใจ เช่น การทำใจยอมรับว่าเรื่องร้ายนั้นได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ หักห้ามความคิดทางลบและพยายามมองเหตุการณ์ในมุมใหม่เพื่อลดความรู้สึกไม่ดี และเพิ่มการเรียนรู้จากการผ่านความทุกข์หรือปัญหานั้น ในขณะที่ผู้มีบุคลิกภาพมองโลกในแง่ร้ายมักหลีกเลี่ยงการเผชิญปัญหาโดยการล้มเลิกความพยายาม (เช่น ลาออกจากมหาวิทยาลัยเมื่อสอบตก) และคาดหวังว่าสิ่งที่ดีๆ จะเกิดขึ้นกับตนในแบบที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง กล่าวโดยสรุปคือการจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพของผู้มองโลกในแง่ดีนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลดีที่ผู้มองโลกในแง่ดีมุ่งหวังว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น เกิดเป็นความจริงขึ้นมา 3. งานวิจัยเกี่ยวกับบุคลิกภาพการมองโลกในแง่ดีในประเทศไทย งานวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับการมองโลกในแง่ดี จัดทำโดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา ภายใต้การดูแลของคณะจิตวิทยา ยังได้สร้างมาตรวัดบุคลิกภาพมองโลกในแง่ดีที่มีคุณสมบัติทางการวัดน่าเชื่อถือ สำหรับให้บริการแก่บุคคลหรือคณะบุคคลภายนอกคณะ งานวิจัยที่ศึกษาการมองโลกในแง่ดีในประเทศไทย ให้ผลที่สอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศที่พบผลทางบวกของการมีมุมมองที่ดีต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยเกี่ยวกับการปรับตัวเมื่อเข้าศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 พบว่านักศึกษาที่มองโลกในแง่ดี รายงานว่าปรับตัวได้ดีกว่านักศึกษาที่มองโลกในแง่ร้ายทั้งทางด้านการเรียนและการเข้าสังคมกับเพื่อนใหม่ โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้มองโลกในแง่ดีใช้วิธีการจัดการปัญหาอุปสรรคในการปรับตัวด้วยการมุ่งจัดการกับปัญหาด้วยตนเอง และไม่ใช่การหลีกเลี่ยงปัญหา (ประถมา ชนะรัชชรักษ์, ลลิดา นิลสัน, และ สศีร เลาวนาบริบรูณ์, 2554) นอกจากนี้เมื่อประสบปัญหาความรักอันเป็นปัญหาที่พบได้ง่ายในหมู่วัยรุ่น นักศึกษาที่มองโลกในแง่ดีรายงานว่าตนใช้วิธีจัดการปัญหาความรักแบบมุ่งเน้นจัดการที่ต้นเหตุของปัญหา (เช่น พยายามโทรศัพท์ไปหาคนรักเพื่อปรับความเข้าใจ) และแบบมุ่งเน้นอารมณ์สนับสนุนการจัดการปัญหา (เช่น ใช้อารมณ์ขัน ใช้ศาสนาเป็นที่พึ่ง ขอกำลังใจจากคนรอบข้าง) มากกว่า ในขณะเดียวกันก็รายงานพฤติกรรมการจัดการปัญหาความรักแบบมุ่งเน้นอารมณ์ในลักษณะที่ไม่สนับสนุนการจัดการปัญหา (เช่น ไปเที่ยวตามสถานบันเทิงเพื่อคลายทุกข์ ร้องไห้เสียใจเป็นเวลานาน) ต่ำกว่านักศึกษาที่มองโลกในแง่ร้าย (จิตราวดี คำเชียง, อัชฌาคณิศร์ เลี้ยงถนอม, และ อาลาวียะ มะโซ๊ะ, 2554) กล่าวโดยสรุปคือการมองโลกในแง่ดีสัมพันธ์กับการจัดการปัญหาในแบบที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้บุคคลสามารถปรับตัวเมื่อพบกับปัญหาหรือความยากลำบากได้ดีกว่า 4. รายการอ้างอิง ภาษาไทย จิตราวดี คำเชียง, อัชฌาคณิศร์ เลี้ยงถนอม, และ อาลาวียะ มะโซ๊ะ (2554). ความสัมพันธ์ระหว่างการมองโลกในแง่ดี ความแตกต่างระหว่างเพศ กับพฤติกรรมการจัดการปัญหาความรักในวัยเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัย. โครงงานทางจิตวิทยา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ประถมา ชนะรัชชรักษ์, ลลิดา นิลสัน, และ สศีร เลาวนาบริบูรณ์. (2554). อิทธิพลของการมองโลกในแง่ดีต่อการปรับตัวของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 โดยมีรูปแบบการจัดการปัญหาเป็นตัวแปรส่งผ่าน. โครงงานทางจิตวิทยา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ภาษาอังกฤษ Aspinwall, L. G., & Taylor, S. E. (1992). Modeling cognitive adaptation: A longitudinalinvestigation of the impact of individual differences and coping on college adjustmentand performance. Journal of Personality and Social Psychology, 61, 755-765. Brissette, I., Scheier, M. F., & Carver, C. S. (2002).The role of optimism in social network development, coping, and psychological adjustment during a life transition. Journal of Personality and Social Psychology, 82, 102-111. Scheier, M. F., & Carver, C. S. (1992). Effects of optimism on psychological and physicalwell-being: Theoretical overview and empirical update. Cognitive Therapy andResearch, 16, 201-228. Scheier, M. F., Matthews, K. A., Owens, J. F., Magovern, G. J., Lefebvre, R. C., Abbott, R. A., & Carver, C. S. (1989). Dispositional optimism and recovery from coronary artery bypasssurgery: The beneficial effects on physical and psychological well-being. Journal of Personality and Social Psychology, 57, 1024-1040. Seligman, M. E. P. (1991). Learned optimism. New York: Knopf. Solberg Nes, L., & Segerstrom, S. C. (2006). Dispositional optimism and coping: A meta-analytic review. Personality and Social Psychology Review, 10, 235-251. Taylor, S. E., Kemeny, M. E., Aspinwall, L. G., Schneider, S. G., Rodriguez, R., & Herbert, M. (1992). Optimism, coping, psychological distress, and high-risk sexual behavior among men at risk for Acquired Immunodeficiency Syndrome (AIDS). Journal of Personality and Social Psychology, 63, 460-473.


รับข้อมูลจาก "https://chulapedia.chula.ac.th/index.php?title=Optimism"
เครื่องมือส่วนตัว