กรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ( WHO FCTC)

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

กรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC)

กรอบอนุสัญญา

กรอบอนุสัญญา เป็นรูปแบบหนึ่งของการกำหนดสนธิสัญญาระหว่างประเทศเป็นข้อตกลงทางกฎหมายระดับนานาชาติ ที่ลงนามร่วมกันระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อจัดการเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ กรอบอนุสัญญาจะกำหนดหน้าที่รับผิดชอบโดยทั่วไป ได้แก่ จัดให้มีมาตรการระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งการจัดการศึกษา ฝึกอบรม สร้างการรับรู้ของสาธารณชน ความร่วมมือในงานวิจัย การรายงานและการช่วยเหลือทางการเงิน


กรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ( WHO FCTC)

WHO Framework Convention on Tobacco Control: WHO FCTC หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) จัดเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสุขภาพฉบับแรกขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชากรโลกให้ปลอดภัยจากผลร้ายของการบริโภคยาสูบและการสูดดมควันยาสูบกล่าวได้ว่kกรอบอนุสัญญาฯ นี้เป็นกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ ในการสกัดกั้นมิให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสู่ประเทศกำลังพัฒนาและหยุดยั้งการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบฯ มีประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกทั้งหมด 192 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่ได้ร่วมลงนามในกรอบอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2546 เป็นลำดับที่ 36


สาระสำคัญของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบฯ

กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกมีทั้งหมด 11 หมวด 38 ข้อ ประกอบด้วยสาระสำคัญทั้งด้านวิชาการและด้านการบริหารจัดการ ตัวอย่างเช่น

หมวด 2 วัตถุประสงค์ หลักการที่ใช้เป็นแนวทางและพันธกรณีทั่วไป

หมวด 3 มาตรการเกี่ยวกับการลดอุปสงค์ของยาสูบ กรอบอนุสัญญาฉบับนี้ได้กำหนดให้ภาคีพิจารณาและกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อลดความต้องการบริโภคยาสูบของประชากร อันได้แก่

- มาตรการด้านภาษีและราคา

- มาตรการอื่น เช่น มาตรการทางบริหาร มาตรการทางนิติบัญญัติ มาตรการทางการปกครองและมาตรการอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพ

- การปกป้องบุคคลจากการสูดดมควันยาสูบในสถานที่ทำงานสถานที่สาธารณะซึ่งอยู่ในบริเวณตัวอาคาร ในระบบขนส่งมวลชนและในสถานที่สาธารณะอื่นๆ

- การควบคุมสารต่างๆ ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยเสนอแนวทางในการทดสอบและวัดปริมาณสารต่างๆ ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารต่างๆ ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ

- เกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ

- การบรรจุหีบห่อและติดป้ายผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยห้ามใช้ข้อความรูปภาพ สัญลักษณ์ซึ่งชวนให้เข้าใจผิด เช่น การระบุว่าเป็นบุหรี่แบบ"ไลต์ (light)" "ไมลด์ (mild)" “low tar” หรือ “ultra-light” บริษัทบุหรี่ ต้องแสดงคำเตือนถึงอันตรายของการใช้ยาสูบต่อสุขภาพอย่างชัดเจนบนซองบุหรี่ (รวมทั้งกล่อง และหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์) โดยคำเตือนต้องชัดเจน เห็นและอ่านเข้าใจง่ายและมีขนาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่หลักบนหีบห่อ คำเตือนอาจจะอยู่ในรูปแบบภาพ หรือภาพสัญลักษณ์

- การให้การศึกษา การสื่อสาร การฝึกอบรม และการสร้างจิตสำนึกของสาธารณชน โดยใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดที่มีความเหมาะสมประเทศสมาชิกสามารถใช้มาตรการต่างๆ ดำเนินการเพื่อส่งเสริมจิตสำนึกของประชาชนและให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการบริโภคยาสูบและการสูดดมควันยาสูบรวมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับจากการเลิกใช้ยาสูบ

- การห้ามอย่างเต็มรูปแบบ (Comprehensive ban) เพื่อมิให้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ การส่งเสริมการขายและการให้การสนับสนุนโดยธุรกิจยาสูบ ทั้งนี้รวมถึงการห้ามโฆษณายาสูบข้ามพรมแดน

- มาตรการลดอุปสงค์ในเรื่องการเลิกใช้ยาสูบและการรักษาผู้ติดบุหรี่โดยดำเนินการส่งเสริมการเลิกใช้ยาสูบในสถานที่ต่างๆ เช่นสถานศึกษา สถานบริการสาธารณสุข สถานที่ทำงาน เป็นต้น และควรกำหนดเรื่องการวินิจฉัยและการรักษาผู้ติดบุหรี่ ตลอดจนการให้คำปรึกษาเพื่อการเลิกใช้ยาสูบในแผนงานระดับชาติ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาการติดบุหรี่

หมวด 4 มาตรการเกี่ยวกับการลดอุปทานของยาสูบ ดังนี้

- การค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมายในทุกรูปแบบ รวมทั้งการลักลอบขนส่งผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมายและผลิตภัณฑ์ยาสูบปลอม

- การขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้แก่ผู้เยาว์ (บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี) และการขายโดยผู้เยาว์ อนึ่ง อนุสัญญาฯ ได้ระบุว่า ประเทศสมาชิกควรพยายามห้ามการขายบุหรี่เป็นมวนๆ หรือขายเป็นซองเล็กๆ

- การสนับสนุนกิจกรรมทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ทางด้านเศรษฐกิจ

หมวด 5 การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

หมวด 6 ปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับความรับผิด

หมวด 7 ความร่วมมือด้านเทคนิคและวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการสื่อสารข้อมูลต่างๆ ซึ่งในหมวดนี้ประกอบด้วย

- การวิจัย การเฝ้าระวัง และการแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น ประเทศสมาชิกต้องพัฒนาและส่งเสริมให้มีการวิจัยระดับชาติ ประสานงานโครงการวิจัยต่างๆ ในด้านการควบคุมยาสูบ อาทิ การศึกษาปัจจัยและผลกระทบของการบริโภคยาสูบและการสูดดมควันบุหรี่ตลอดจนการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกพืชทดแทนการปลูกใบยาสูบ ทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ รวมทั้งจัดตั้งโครงการเฝ้าระวังเกี่ยวกับรูปแบบ ปริมาณ ปัจจัยและผลกระทบของการบริโภคยาสูบทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับโลก เป็นต้น

- การรายงานผลและการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประเทศสมาชิกต้องจัดส่งรายงานการดำเนินงานต่อที่ประชุมรัฐภาคี เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการทางนิติบัญญัติ ฯลฯ ซึ่งจัดทำขึ้นตามกรอบอนุสัญญาฯข้อมูลการเฝ้าระวังและการวิจัย เป็นต้น

- ความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเทคนิค และด้านกฎหมายตลอดจนการจัดสรรความชำนาญที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาต้องส่งเสริมและจัดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านกฎหมาย ในด้านการบริหารจัดการ ซึ่งระบุไว้ในหมวดที่ 8 - 11 ของกรอบอนุสัญญาฯ

หมวดที่ 8 - 11 นั้น เกี่ยวกับการบริหารจัดการกรอบอนุสัญญาฯ ซึ่งประเทศสมาชิกหรือภาคี (Parties) จะต้องดำเนินการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ดังกล่าวทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ


กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกมีทั้งหมด 11 หมวด 38 ข้อ

ข้อ 1 บทนิยาม

ข้อ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างอนุสัญญานี้กับความตกลงและเอกสารทางกฎหมายอื่น

ข้อ 3 วัตถุประสงค์

ข้อ 4 หลักการที่ใช้เป็นแนวทาง

ข้อ 5 พันธกรณีทั่วไป

ข้อ 6 มาตราการด้านราคาและมาตรการทางภาษีเพื่อลดอุปสงค์ของยาสูบ

ข้อ 7 มาตรการอื่นซึ่งมิใช่มาตรการด้านราคาในการลดอุปสงค์ของยาสูบ

ข้อ 8 การปกป้องบุคคลจากการสูดดมควันยาสูบ

ข้อ 9 การควบคุมสารต่างๆ ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ยาสูบ

ข้อ 10 เกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ

ข้อ 11 การบรรจุหีบห่อและติดป้ายผลิตภัณฑ์ยาสูบ

ข้อ 12 การให้การศึกษา การสื่อสาร การฝึกอบรบ และการสร้างจิตสำนึกของสาธารณชน

ข้อ 13 การโฆษณายาสูบ การส่งเสริมการขายยาสูบ และการให้การสนับสนุนโดยยาสูบ

ข้อ 14 มาตรการลดอุปสงค์เกี่ยวกับการติดยาสูบ และการเลิกยาสูบ

ข้อ 15 การค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย

ข้อ 16 การขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้แก่ผู้เยาว์ และการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยผู้เยาว์

ข้อ 17 บทบัญญัติเกี่ยวกับการสนับสนุนกิจกรรมทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจ

ข้อ 18 การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของบุคคล

ข้อ 19 ความรับผิด

ข้อ 20 การวิจัย การเฝ้าระวัง และการแลกเปลี่ยนข้อมูล

ข้อ 21 การรายงานผลและการแลกเปลี่ยนข้อมูล

ข้อ 22 ความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเทคนิค และด้านกฎหมายตลอดจนการจัดสรรความชำนาญที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 23 ที่ประชุมใหญ่ของภาคี

ข้อ 24 สำนักเลขาธิการ

ข้อ 25 ความสัมพันธ์ระหว่างที่ประชุมใหญ่ของภาคีและองค์การระหว่างรัฐบาลอื่น

ข้อ 26 แหล่งเงินทุน

ข้อ 27 การระงับข้อพิพาท

ข้อ 28 การแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญานี้

ข้อ 29 การให้ความเห็นชอบและการแก้ไขเพิ่มเติมภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญานี้

ข้อ 30 การตั้งข้อสงวน

ข้อ 31 การถอนตัวจากการเป็นภาคี

ข้อ 32 สิทธิลงคะแนนเสียง

ข้อ 33 พิธีสาร

ข้อ 34 การลงนาม

ข้อ 35 การให้สัตยาบัน การรับรอง การให้ความเห็นชอบ การยืนยันอย่างเป็นทางการ หรือการภาคยานุวัติ

ข้อ 36 การมีผลใช้บังคับ

ข้อ 37 การเก็บรักษาอนุสัญญา

ข้อ 38 ตัวบทที่ถูกต้อง


สรุป

กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก เป็นกฎหมายระหว่างประเทศทางสุขภาพซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก กรอบอนุสัญญาฯ นี้กำหนดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการด้วยมาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการเกี่ยวกับการลดอุปสงค์ของยาสูบ และการลดอุปทานของยาสูบ เพื่อสกัดกั้นมิให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแพร่กระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสู่ประเทศกำลังพัฒนาและหยุดยั้งการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่


อ้างอิง

ที่มาข้อมูล

1. หทัย ชิตานนท์. กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ. ชุดเอกสารวิชาการ. กรุงเทพฯ: สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย; 2545.

2. ข่าวสารนิเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ. ไทยให้สัตยาบันต่อกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก. วันที่ 24 พฤศจิกายน 2547.

3. World Health Organization. WHO Framework Convention on Tobacco Control. WHO Document Production Services, Geneva, Switzerland; 2005.

4. องค์การอนามัยโลก. Framework Convention on Tobacco Control. กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ. แปลโดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท.(อัดสำเนา)

5. สุนิดา ปรีชาวงษ์. พยาบาลกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก. วารสารพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 2550; 1 (2): 9 -18.

6. World Health Organization. WHO Framework Convention on Tobacco Control: Guidelines for implementation Article 5.3; Article 8; Article 11; Article 13. WHO Document Production Services, Geneva, Switzerland; 2009.


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ ผู้ช่วย ศาสตราจารย์ ดร.สุนิดา ปรีชาวงษ์ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว