การตีความดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

การตีความดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ คอลัมน์ เศรษฐกิจระบบสารสนเทศ โดย ดร.ฉวีวรรณ สายบัว

โดยประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเอง แม้จะมีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้และฝึกฝนตนเองให้มีความรู้เศรษฐศาสตร์ และการใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์มาก ยังประกอบวิชาชีพเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เศรษฐศาสตร์มาก็เป็นเวลาไม่ใช่น้อยแล้ว แต่จนถึงวันนี้ก็ยังคงรู้สึกว่ายังคงพบเสมอว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ยากต่อการทำความเข้าใจ และยากต่อการที่จะอธิบายปัญหา และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตามความเป็นจริง (การพูดการเขียนถึงเรื่องเศรษฐกิจจึงต้องทำด้วยความ ระมัดระวังและให้แน่ใจว่าเราเข้าใจจริงหรืออย่างเพียงพอ) จึงมองเห็นว่าทำไมมีปัญหาความรู้และการใช้ความรู้ของนักเศรษฐศาสตร์ไทย และมีปัญหาการศึกษาหรือการถ่ายทอดความรู้สาขาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย

(เพราะฉะนั้น ความล้มเหลวของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ไทยทั้งในหน่วยงานภาครัฐบาล และภาคเอกชน มีส่วนต้องรับผิดชอบไม่น้อยเลยทีเดียว) จึงไม่ต้องพูดถึงกันเลยว่าบรรดาคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางการศึกษาการเรียนรู้และฝึกฝนตนเอง ในการใช้ความรู้สาขาเศรษฐศาสตร์กันมาอย่างดี (ตัวอย่างสื่อมวล ชนแขนงต่างๆ ผู้คนในรัฐ บาลตั้งแต่ผู้นำรัฐบาลและบรรดารัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานทางเศรษฐกิจต่างๆ) แต่กลับออกมาพูดออกมาแสดงการอธิบายปัญหาและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกันทุกวี่ทุกวัน

มันจึงแสดงถึงขนาดถึงความ ไม่รู้ของผู้พูดกันมากขนาดไหน และเมื่อ "ความไม่รู้" หรือ "อวิชชา" (ignorance) มันถูก แข่งขันผลิตออกมามากและมันถูกกระจายแทบจะด่วนจี๋ไปสู่ทุกผู้คนและทุกครัวเรือน ความไม่รู้หรืออวิชามันจึงครอบคลุมไปทั่วเหนือสังคมเศรษฐกิจไทยกันขนาดไหน แล้วผู้คนที่จะต้องเสพ ต้องบริโภคความไม่รู้หรืออวิชาเข้าไป สู่ในตัวกันทุกวี่ทุกวันมันจะสร้างผลกระทบมหาศาลขนาดไหน (มันมีพิษภัยยิ่งกว่าการเสพยาบ้า มันทำ ให้ผู้คนที่บริโภคกันเข้าไปมากๆ มึนตึง มันเข้าไปทำลายระบบข้างในของผู้คนให้พังไปหมด กลายมาเป็น "สังคมไร้ปัญญา" หรือ "สังคมไร้ความรู้ (จริง)" มีแต่การโกหกหลอกลวงกันเต็มไปหมด ทำให้ผู้คนและสังคมต่ำเตี้ยและอ่อนแอลง)

ดังกล่าวเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ยากแต่ก็เป็นวิชาที่มีคุณค่าดังสนับสนุนโดยข้อเท็จจริงที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ เศรษฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาเดียวในสาขาสังคมศาสตร์ (social science) ที่ได้รับการพิจารณาให้รางวัลโนเบล (นอกเหนือจากรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ การแพทย์ วรรณกรรม และสาขาสันติภาพ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาความรู้ที่มีประวัติความเป็นมา พัฒนาการและการเพิ่มพูนสั่งสมอันยาวนาน

ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับนับถือเป็นสากลว่ามีปรัชญา หลักการ ระเบียบวิธีการที่น่าเชื่อถือ เทคนิคการวิเคราะห์ที่ละเอียดลึกซึ้ง และมีเนื้อหาสาระของความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคประยุกต์ที่ใช้ประโยชน์ได้รอบด้านและหลายระดับ เป็นสาขาความรู้ที่มีความสำคัญต่อสวัสดิภาพและความเจริญมั่นคงของบุคคล ครอบครัว ธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม ชุมชน ตลอดจนประเทศโดยส่วนรวมเป็นอย่างมาก

เมื่อความรู้และเทคนิคการวิเคราะห์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ มันถึงขนาดระดับรางวัลโนเบลดังกล่าว เพราะฉะนั้น คนที่จะตัดสินใจเลือกศึกษาเลือกเรียนในสาขา วิชาเศรษฐศาสตร์ด้วยความมุ่งหวังว่า จะได้มีความรู้ และใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์ ในการบริหารและการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ในอนาคต จึงควรต้องเป็นคนที่ถึงขนาดทัดเทียมกับสาขาความรู้เศรษฐศาสตร์ที่ถึงขนาดดังกล่าว

การเป็นคนถึงขนาดทัดเทียมกับสาขาความรู้เศรษฐศาสตร์ที่ถึงขนาด คือ การเป็นคนระดับชั้นหนึ่ง (firstclass) และการเป็นคนชั้นหนึ่ง คือ การเป็นคนที่มีจิตคิดอ่านที่ถึงขนาดจิตคิดอ่าน อย่างเป็นอิสระ/ก้าวหน้า จิตที่แหลมคม จิตที่คิดอ่านได้ลึกซึ้งและกว้างไกล (independent/progressive mind and master/philosophical mind) ที่จะสามารถทิ่มทะลุความรู้และเทคนิคการวิเคราะห์ที่ถึงขนาดของสาขาความรู้เศรษฐศาสตร์

ถ้าเป็นผู้ศึกษา/ผู้เรียนที่ตกจากหรือต่ำกว่าการเป็นคนชั้นหนึ่งดังกล่าว (second class and lower) จึงมีผู้รู้กล่าวว่าวิชานี้จะไร้ประโยชน์ (useless) คือ ผู้ศึกษาแม้จะรู้สึกว่าตนเองได้ศึกษาอะไรที่เยอะแยะมาก ตามลักษณะความรู้ที่กว้างขวาง ของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่จะจับแก่นความรู้ความจริงของวิชาไม่ได้ มองไม่เห็นรูปร่างหน้าตาของความรู้ รู้จริงไม่ได้ และมีปัญหาในการประยุกต์ใช้ความรู้ ในแง่ปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น จากที่เห็นตัวอย่างในต่างประเทศ ในประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตก (ที่เป็นผู้ให้กำเนิด สาขาความรู้เศรษฐศาสตร์) พบว่าคนที่ตัด สินใจเข้ามาเรียนวิชานี้จะมีการตระหนัก ประเมินตนเอง และถูกประเมินเป็นอย่างดีและจริงจัง เพื่อให้ได้ผู้ศึกษาที่เหมาะสม และมีขีดความสามารถ ที่จะเรียนรู้ได้จนสำเร็จการศึกษา เพื่อออกไปประกอบวิชาชีพในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ได้เป็นอย่างดี (ในต่างประเทศจึงไม่ค่อยได้เห็นภาพดังเช่นว่า เป็นใครก็เข้ามาเรียนได้ อย่างที่เห็นเป็นภาพเช่นว่านี้เต็มไปหมดในประเทศไทย)

นอกจากนั้นแล้ว เนื่องจากเศรษฐศาสตร์ เป็นสาขาความรู้หนึ่งในสาขาสังคมศาสตร์ดังกล่าวมา คือ วิชาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ดังนั้น เพื่อที่จะเข้าใจพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ผู้เรียน/ผู้ศึกษาจึงต้องเป็นคนที่สนใจและมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง "คน" หรือ "มนุษย์" เป็นอย่างดีด้วย นอกจากความสนใจแล้วเพื่อที่จะมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องคนหรือมนุษย์ ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ ที่ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ได้แก่มนุษยวิทยา จิตวิทยา และสังคม วิทยา รวมทั้งต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องการเมืองการปกครอง และวัฒนธรรมที่เป็นปัจจัยสภาพแวดล้อม ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรม และการกระทำ ของผู้คนในสังคม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่อง "คน" หรือ "มนุษย์" ก็จะไม่สามารถเข้าถึง สัมผัสได้ถึง หรือซาบซึ้งในสาขาความรู้เศรษฐศาสตร์ได้

เพราะฉะนั้น สภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒน ธรรมที่เข้มข้นทำให้คนไทยไม่อาจเป็นตัวของตัวเองได้ ต้องมีบุคลิกภาพแบบผู้ตามหรือมีบุคลิกลักษณะตามที่คนอื่นกำหนดให้ หรือมีบุคลิกภาพที่ถดถอย (reactive) ไม่ก้าวหน้า (progressive) ที่กระทบต่อการเรียนรู้และการเติบโตของคนไทย (continuing learning and growth) ในขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์ไทยก็ไม่สนใจในเรื่อง "คน" หรือ "มนุษย์" ทำให้มีปัญหาความรู้นักเศรษฐศาสตร์ไทย (เช่นเดียวกับที่มีปัญหาความรู้ในศาสตร์ทุกศาสตร์ในประเทศไทย) มีปัญหาการใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์ใน ประเทศไทย และตามมาด้วยการมีปัญหาความ รู้เศรษฐศาสตร์ ความรู้เรื่องเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่ม และบรรดาคนอื่นๆ ในประเทศไทยดังกล่าวมาก่อนหน้านี้

ดังข้างต้นที่ชี้ให้เห็นว่าต้องใช้ความรู้หลายด้าน ที่จะทำให้มีความรู้เศรษฐศาสตร์ และใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์ เพราะฉะนั้น ปัญหาเศรษฐกิจ จึงไม่ได้แก้โดยนักเศรษฐศาสตร์ แต่ความรู้เศรษฐศาสตร์ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ดังกล่าวไว้ในตอนท้ายของครั้งที่แล้วว่า (ใครบอก) ปัญหาเศรษฐกิจแก้โดยนักเศรษฐศาสตร์ ความรู้เศรษฐศาสตร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ใช้ใน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ที่นักเศรษฐศาสตร์มีอำนาจมาก เพราะความรู้ และเทคนิคการวิเคราะห์ ของวิชาเศรษฐศาสตร์มันมี "อำนาจมาก" (very powerful) ในการอธิบาย และพยากรณ์พฤติกรรม และปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ควร แก่การสนใจ หรือมันมีอำนาจมากในการให้เหตุผล (reasoning power) คนจึงเถียง (โต้แย้ง) ได้ยาก

(แต่) ตัวอย่างกรณีวิธีการทางเศรษฐมิติ (econometrics) หรือการสร้างแบบจำลองเศรษฐมิติ (econometric model) คือการใช้ความรู้คณิตศาสตร์ และความรู้สถิติเข้ามาช่วยในการประยุกต์ความรู้ในแง่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ไปสู่เทคนิคในการปฏิบัติมันมีข้อจำกัด หรือข้อเสียมาก

เริ่มจาก "ข้อมูล" หรือ "data" ที่นำมาใช้ในแบบจำลอง ข้อมูลมันมั่วมาก (ไม่เหมือนกับข้อมูลจากห้องทดลอง/ ห้องปฏิบัติการของนักวิทยา ศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (pure science) เพราะฉะนั้น ผล (outcome) ที่ได้มาจากแบบจำลองเศรษฐกิจดังกล่าว มันจึงมั่วๆ ตามข้อมูล จึงต้องใช้ "วิธีการตีความ" เอา ซึ่งเป็นไปได้อย่างมาก ที่ผลที่ได้รับจากการตีความจะออกมาเป็น "จากหน้ามือเป็นหลังมือ" กับ "ความเป็นจริง" (realities)

เพราะฉะนั้น การที่บุคคลในหน่วยงานทั้งในภาครัฐบาล และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร และดำเนินการเศรษฐกิจของประเทศ และรวมทั้งผู้นำรัฐบาล และบรรดารัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล มักเอาตัวเลขข้อมูลที่ได้จากเทคนิคการวิเคราะห์ ของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีปัญหาดังกล่าวข้างต้น และตัวเลขข้อมูลที่มีปัญหาอื่นๆ เอามาพูดมาแสดงการอธิบายปัญหาและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกันทุกวี่ทุกวัน

(โดยมีข้อจำกัด หรือปัญหาการขาดความรู้เศรษฐศาสตร์ และการใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์ และปัญหาการขาดความรู้จริงๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยที่เป็นมาเป็นอยู่ และที่จะเป็นไปดังนำเสนอมาในตอนที่แล้ว) สิ่งที่เราแสดงกันออกมา (บางที) มันจึงบอกถึงขนาดเราทั้งหลาย มันแสดงว่า "เรา" คนไทย ไม่เข้าใจอะไรกันสักอย่าง ตัวอย่างกรณีที่ผู้นำรัฐบาล คือ นายกรัฐมนตรี และบรรดารัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล เอาตัวเลขข้อมูลที่เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวเลขข้อมูลที่เอามาอ้างเสมอเป็นต้นว่า (1) ตัวเลขจากการประเมินการเติบโตของจีดีพี (2) การส่งคืนหนี้ ไอเอ็มเอฟเร็วกว่ากำหนด (3) ค่าเงินบาทเริ่มอยู่ในอัตราที่มีเสถียรภาพ (4) ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ดีขึ้น ทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และ (5) ดัชนีหุ้น

เอาตัวเลขข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นเครื่องชี้หรือ ตีความกันไปว่า (1) การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยเดินมาถูกทางแล้ว (2) เศรษฐกิจไทยฟื้น (แน่แท้) แล้ว (3) เศรษฐกิจไทยดี (4) เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง และ/หรือ (5) เศรษฐกิจไทยมีแต่จะขยายตัวเป็น ขาขึ้น (ไม่มีขาลงในช่วงที่นายกฯทักษิณเป็นนายกฯประเทศไทย) ซึ่งผลจากการตีความกันไปดังกล่าวจึงเป็นไปได้มากที่จะออกมาเป็น "จากหน้ามือเป็นหลังมือ" กับ "ความเป็นจริง" ดังที่มองเห็นต่อไปนี้

ประการแรก ปัญหาจากการประมาณการตัวเลขการเติบโตของจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (ที่ผลจากประมาณการออกมาเป็นอัตราการเติบโตที่ถูกปรับให้สูงขึ้นมาโดยตลอดจาก 5% เป็น 6%, 7-8% และกว่านี้ซึ่งบอกว่าเป็นรองก็แต่ประเทศจีน และยังพูดถึงอัตราการเติบโตที่เป็น ตัวเลข 2 หลักเพื่อสนองความต้องการอันแรงกล้าของหัวหน้ารัฐบาล) จะเป็นดัชนีชี้วัดว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นแล้วหรือไม่ ? หรือเศรษฐกิจไทยแก้กันมาถูกทางแล้วหรือไม่ ? หรือเศรษฐกิจไทยดี (จริง) หรือไม่ ?

คำตอบสำหรับคำถามดังข้างต้นเหล่านั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องกลับไปทบทวนกันอีกครั้งว่า วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ที่ปรากฏออกมาให้เห็นในปี 2540 คือวิกฤตอะไร สาเหตุวิกฤตเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด (เป็นปัญหาทางโครงสร้างที่เกิดจากปัญหาการจัดสรรทรัพยากรผิด หรือปัญหาการลงทุนผิด หรือเป็นปัญหาภาคการผลิต ที่ผู้เขียนเคยอธิบายรายละเอียดมาในบทความก่อนๆ เอาไว้มากมาย)

แล้วการแก้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน จนถึงรัฐบาลทักษิณในปัจจุบันก็ทำเหมือนกัน คือ แก้โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการขยายเงินโดย ผ่านทางนโยบายการเงินการคลังพยายามสร้าง อุปสงค์เทียม (artificial demand) ขึ้นมาอีก

(กลับมาอีกครั้ง) เมื่อกลับไปทบทวนดังกล่าว ก็จะมองเห็นภาพสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ เริ่มจากที่การเติบโตของเศรษฐกิจ มันตกต่ำลงมากจนถึงขึ้นติดลบ (จากที่เคยเติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องเป็นสิบๆ ปีเฉลี่ยปีละ 7-8%) ต่อมากำลังการผลิตที่สร้างกันขึ้นมาแล้วมันไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ (สาเหตุจากทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทานแต่หลักใหญ่มาจากด้านอุปทานหรือภาคการผลิตดังกล่าว) จึงมีปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มาก (idle capacity/ existing production capacity)

เพราะฉะนั้น เมื่อแก้ปัญหาโดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลดังกล่าว ทำให้กำลังการผลิตที่สร้างกันขึ้นมาแล้วที่เหลืออยู่มาก มันก็สามารถใช้ได้มากขึ้น (แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออีกมาก และยังไม่มีการลงทุนใหม่ๆ) เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจของประเทศ ที่กลับมาเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นอีกในขณะนี้ก็มาจากแหล่งตรงนี้ (source of growth)

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้อุตสาหกรรมแม้จะขาดทุนแต่ก็ยังผลิตได้ต่อไปเพราะมีเงินเข้ามาช่วย สินค้าส่งออกแม้จะขายได้มาก ราคาก็ไม่ดี ไม่มีกำไร และการพยุงผู้ประกอบการ กิจการหรือธุรกิจเน่าๆ ทำให้ธุรกิจเน่าๆ ยังหา กินกันต่อไปได้อีกโดยเอาเงินไปพยุงกันผ่านทางแบงก์ชาติ ผ่านทางรัฐบาลและอื่นๆ ทำให้กิจการดีๆ โผล่ไม่ได้เลย โผล่มาก็ถูกเก็บภาษีแล้วก็เอาไปช่วยกิจการเน่าๆ ของรัฐบาล (เข้าไปอุ้มกิจการเน่าๆ เหล่านี้เป็นช่องทางจะหาเงินเพื่อสนับสนุนการเมือง)

การพยุงกิจการเน่าๆ ดังกล่าวทำให้ ประเทศติด ทำให้ประเทศไม่มีการปรับตัว (adjustment) แม้จะเกิดวิกฤตแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาอุ้มมาพยุงกันไปได้อีกสักเท่าไหร่ (นี่คือปัญหาเดียวกับญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นมีทุน/เงินสำรองมากกว่ามาก) นี่คือการออกแรงผิดที่และใช้แก้ปัญหาที่เป็นปัญหาทางโครงสร้างไม่ได้

ประการที่ 2 ประเด็นการส่งคืนหนี้ไอเอ็มเอฟเร็วกว่ากำหนดแสดงว่าเศรษฐกิจไทยฟื้น (แน่แท้) แล้วใช่หรือไม่ ? เช่นเดียวกันการตอบคำถามนี้ก็ต้องกลับไปพิจารณาทบทวนเงื่อนไขเริ่มต้น (initial conditions) ของภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2540 เช่นเดิมว่าวิกฤตเศรษฐกิจคือวิกฤตอะไร อาการของปัญหาที่ปรากฏออกมาให้เห็น สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับสาเหตุที่เกิดขึ้น ทำไมในตอนนั้นเราต้องขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟหรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เหตุเพราะทุนสำรองของประเทศร่อยหรอลงมากจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเอาทุนสำรองที่มีอยู่จนเกือบหมด (7-8 แสนล้านบาท) ไปอุ้มซื้อเงินบาทเอาไว้เพื่อต่อสู้กับการทุบค่าเงินบาทของนักเก็งกำไรเพื่อรักษาค่าเงินบาท (เพราะยังยึดระบบปริวรรตเงินตราต่างประเทศ เป็นระบบตะกร้า หรือระบบที่ผูกติดค่าเงินบาทคงที่กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (25-26 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) เพราะในตะกร้ามีเงินดอลลาร์สหรัฐมากที่สุด)

นอกจากนั้น ที่ทุนสำรองลดลงก็มาจากการมีแต่เงินไหลออกนอกประเทศมาก (ไม่มีเงินไหลเข้ามามากเหมือนเช่นเคย) เพื่อชำระหนี้ เพราะการขาดดุล เพราะเศรษฐกิจที่มันตกต่ำลง การหาแหล่งเงินกู้จึงทำได้ยากขึ้น (ไม่สามารถกู้เงินจากประเทศอื่นได้) และต้นทุนการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศสูงขึ้น จากการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงตามลำดับ เพราะความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยโดยรวม แย่ลง จากวิกฤตเศรษฐกิจ

เมื่อปริมาณเงินตราต่างประเทศน้อยลงไปมาก ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้เงินตราต่างประเทศมีมาก ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องขึ้นทั่วประเทศ ในที่สุดรัฐบาลพลเอกชวลิต (โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย) ต้องขอความช่วยเหลือและเข้าโปรแกรมรับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ (สิงหาคม 2540) โดยได้รับความช่วยเหลือเงินกู้จากประเทศต่างๆ ผ่านทางไอเอ็มเอฟ จำนวน 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพราะฉะนั้น ถ้ารู้สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงก็จะรู้ว่าการแก้ปัญหาให้ตรงกับสาเหตุที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร การส่งคืนหนี้ ไอเอ็มเอฟเร็วกว่ากำหนด (เพราะเงินที่กู้มายังไม่ได้ใช้ไปหมด และทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ที่เหตุมาจากอะไรจะได้กล่าวถึงต่อไป) จึงไม่อาจตีความ หรือเอาเป็นเครื่องชี้ว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เดินมาถูกทางแล้ว เศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว หรือดีแล้วเป็นแต่เพียงใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวน เชื่อเพื่อสร้างความเชื่อมั่น(ปลอมๆ)เพื่อผลทางการ เมืองของนายกฯทักษิณและรัฐบาลทักษิณเท่านั้น


ประการที่สาม ประเด็นเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศที่นายกฯทักษิณบอกว่า ตอนนี้ประเทศไทย มีทุนสำรองระหว่างประเทศมาก คือ มีประมาณ 4.29 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในเอเชียที่มีทุนสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมากมายภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียจนนักวิเคราะห์ตะวันตกห่วงว่า อาจกลายเป็นดาบสองคมได้) เพราะฉะนั้นท่านนายกฯก็เลยคิดว่าอาจจะเอาไปใช้คืนหนี้ก่อนกำหนด

ประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ก็คือว่า ทุนสำรองที่บอกว่ามีมากในตอนนี้นั้นได้มาจากไหน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเงินกู้จากต่างประเทศ ที่ยังไม่ได้ใช้ (นอกเหนือจากส่วนทุนสำรองที่มีไว้ในการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้) และอีกส่วนหนึ่งของทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นมาจากภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ดีขึ้นดูจากการส่งออกได้มากขึ้น (ดังกล่าวแม้สามารถส่งออกได้มากขึ้น แต่ราคาก็ไม่ดี ไม่มีกำไร) และภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น เพราะการนำเข้าลดลงอย่างมากมาย เพราะธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศ ที่ต้องอาศัยปัจจัยนำเข้าจากต่างประเทศในการผลิตมันพัง มันขาดทุน มันไม่มีกำไร มันจึงหยุดการผลิต และเพราะการลงทุนใหม่ๆ ยังไม่กระเตื้อง

ดังกล่าวมาแล้วที่จีดีพีกลับมาขยายตัวในอัตราสูงขึ้น เพียงเพราะใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่แล้ว/ กำลังการผลิตส่วนเกิน (existing production capacity/idle capacity) ได้มากขึ้น เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ถ้าการลงทุนเพิ่มขึ้นตามโครงสร้างเศรษฐกิจเดิม (โครงสร้างเศรษฐกิจที่ก่อวิกฤต) ดังกล่าว ธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศใช้ปัจจัยนำเข้าจากต่างประเทศสูง การนำเข้าก็จะมากขึ้นตามมา ก็จะกลับมามีปัญหาช่องว่างดุลการค้า (trade gap) เปิดออกมาทันที

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อตรวจดูธุรกิจและรัฐวิสาหกิจในประเทศไทยด้านความสามารถในการทำกำไร (profitability) และผลิตภาพ (productivity) แล้วไม่ได้ดีขึ้น (ที่ยังปล่อยเงินให้กู้กันอยู่ก็เพียงยังพยุงและประคองกันอยู่เท่านั้น) เพราะฉะนั้นสำหรับความสามารถในการชำระคืนหนี้ (debt capacity) จึงยังน่าห่วง (ยังไว้วางใจไม่ได้) เพราะฉะนั้นถ้ารีบเอาทุนสำรองที่คิดว่ามีมากส่งคืนหนี้อาจมีปัญหาในภายหลังได้

(เพราะ)ทุนสำรองแม้ดูว่ามีเยอะ แต่ถ้าเศรษฐกิจ กลับมาพัง ซึ่งมีแนวโน้มเพราะยังไม่ได้แก้ปัญหาตรงโครงสร้างกันเลย ยังสร้างการเติบโตแบบ ฟองสบู่ (bubble growth) กันขึ้นมาอีก บวกสถานการณ์เศรษฐกิจนอกประเทศหรือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยรวมก็ไม่ดี (ยังมีความไม่แน่นอนมาก) เพราะฉะนั้นทุนสำรองที่คิดว่ามีเยอะแป๊บเดียวก็หมดได้ ดังบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 และนี่คือเหตุผลว่าทำไมแม้แต่ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าอย่างอังกฤษจึงพยายามสะสมทุนสำรองเอาไว้มาก

ประการที่สี่ เสถียรภาพค่าเงินบาท ก็เป็นตัวเลขดัชนีอีกตัวที่มักถูกนำมาอ้างถึง (ทั้งโดยนายกฯ คนในรัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น) หรือเอามาชี้ว่า เศรษฐกิจไทยกลับมาดีแล้ว การแก้ปัญหาเดินมาถูกทางแล้วโดยดูจากค่าเงินบาทว่าเริ่มอยู่ ในอัตราที่มีเสถียรภาพ (ค่าเงินบาทตอนนี้เป็นประมาณ 38-39 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ)

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องค่าเงินบาทนี้ (ค่าภายนอกของเงินบาท คือ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับเงินตราสกุลอื่นๆ) มักมีความสงสัยกันว่า "ค่าเงินบาทควรจะเป็นเท่าไร ?" หรือ "ไม่รู้ว่าจะให้เงินบาทเป็นเท่าไร ?" ในทำนองเดียวกันที่ไม่รู้ว่าจะให้อัตราดอกเบี้ยเป็นเท่าไร (ในขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังเป็นโครงสร้างที่มีปัญหา "ความไม่สมดุล" ทั้ง "การขาดดุลยภาพภายนอก" และ "การขาดดุลยภาพภายใน")

บางครั้งบางคนก็บอกว่า ค่าเงินบาทอาจจะ "แข็งไป" หรือไม่ที่อาจทำให้การส่งออกมีปัญหา นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็ออกมาพูดว่าให้ "ลดค่าเงินบาท" (เพื่อให้ราคาสินค้าส่งออกถูกลง/ ทำให้มีรายได้ในรูปเงินบาทมากขึ้น) เช่นนั้นก็ต้องลดค่าเงินบาทกันทุกวันเพื่อให้ส่งออกยิ่งดีขึ้นหรือเปล่า (ทำนองเดียวกับที่มักเสนอแนะให้ลดภาษีเพื่อที่จะช่วยการส่งออกให้ดีขึ้น)

บ้างก็บอกว่า ค่าเงินบาทจะต้อง "คงที่" บางคน (ตัวอย่างนายกฯทักษิณ) ก็บอกว่า จะต้องทำให้ค่าเงินบาท "แข็งขึ้น" (ในช่วงที่นายกฯทักษิณเป็นนายกฯประเทศไทย) ซึ่งค่าเงินมันแข็ง มันก็ดี ถ้าทำได้ เพราะค่าเงินจะแข็งจะมั่นคง เศรษฐกิจก็จะต้องเข้มแข็ง

(หรือค่าภายนอกของเงินบาทจะดีขึ้น ก็คือ ของที่เรามีอยู่หรือสินค้าที่เรามีอยู่มันเป็นที่ต้องการดีขึ้น ไม่ใช่จากการส่งออกสินค้าเก่าๆ ที่ตลาดหายไปหมดแล้ว แต่ต้องเป็นรายได้จากการส่งออกสินค้าจากการลงทุนใหม่ๆ ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน)

ระบบการเงินโลกในปัจจุบันมันเป็นระบบ "ยืดหยุ่น" (flexible) หรือ "กึ่งยืดหยุ่น" (semi-flexible) และระบบใช้เงินตราสกุลหลักหลายสกุล (multi-currency)

ภายใต้ระบบการเงินของโลกในปัจจุบันดังกล่าว ค่าของเงินมันจะมี "เสถียรภาพ" (stable) มันผูกติดกับเศรษฐกิจ (tied to economy ไม่ได้ tied to gold เหมือนในประวัติศาสตร์ที่อยู่ภายใต้มาตรฐานทองคำหรือเป็นระบบอัตราปริวรรต "คงที่" (fixed))

บางครั้งค่าเงินมัน "มั่นคง" ไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจมั่นคง หรือมีเสถียรภาพไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจในเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน มันพลวัต (dynamic) มาก

เพราะถ้าเราไปกำหนดค่าเงินบาทให้ "คงที่" ดังมีความคิดที่อยากกลับไปใช้ระบบตะกร้า หรือระบบที่กำหนดค่าเงินบาทคงที่เมื่อเปรียบเทียบกับเงินตราสกุลหลักอื่นๆ ซึ่งแสดงว่าไม่ปรับจากภายนอก เพราะถ้าเราปรับเราก็ต้องเปลี่ยนแปลงทางสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างกรณีสหรัฐอเมริกาที่ต้องใช้เงินกู้จากต่างประเทศมาก (เพราะเศรษฐกิจมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากและงบประมาณรัฐบาลก็ขาดดุลมากด้วย) อเมริกาจึงต้องทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวของตนคือการปรับปรุงผลประกอบการการค้าให้ดีขึ้น (trade performance improvement)

อเมริกาจึงขอให้ประเทศอื่นปรับค่าเงิน ตัวอย่างจีนและประเทศในเอเชียอื่นๆ ถ้าจีนไม่ยอมปรับ ค่าเงินหยวนโดยอ้างว่าเศรษฐกิจยังไม่เข้มแข็ง อเมริกาก็อาจต้องดำเนินนโยบายเป็นต้นว่า (1) ไม่ยอมซื้อสินค้าจากจีนหรือซื้อน้อยลงและ/หรือ (2) การควบคุมการนำเข้าสินค้าบางอย่างจากจีน ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทางด้านสิ่งทอ

ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามในขั้นสุดท้ายแล้ว เศรษฐกิจของทุกประเทศก็ต้อง (มีระบบการเงิน) เป็นระบบ "ยืดหยุ่น" ตามการเปลี่ยนแปลงทั้งในและนอกประเทศ เพราะฉะนั้นการบริหารเศรษฐกิจและธุรกิจและอุตสาหกรรมในโลกปัจจุบันและอนาคตต่อไป ผู้นำและผู้บริหารองค์กรต้องมีความรู้สารสนเทศและความสามารถเป็นอย่างดี

ประการที่ห้า ประเด็นปัญหาของตลาดหุ้นไทย (ความตกต่ำ และดัชนีหุ้นเป็นเครื่องชี้ว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เดินมาถูกทางและเศรษฐกิจไทยดีดังที่รัฐบาลทักษิณชอบนำมาอ้าง และพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ตัวเลขดัชนีหุ้นปรับตัวสูงขึ้น) ซึ่งตลาดหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของภาคการเงิน ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงิน สำหรับการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน (ทุนหรือหุ้น) สำหรับการลงทุนระยะยาว

ตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์ไทยมีมูลค่าตลาดรวมกัน 2 ล้านล้านบาท มีจำนวนนักลงทุนอยู่ประมาณ 2 แสนราย แต่มูลค่าหุ้นกว่า 90% เป็นของผู้ลงทุนรายใหญ่ซึ่งเป็นจำนวนคนเพียงประมาณ 1 หมื่นคน (บวกต่างประเทศ) และครอบครัวของท่านนายกฯทักษิณและเครือญาติ มีหุ้นรวมกันถึงร้อยละ 10 ของมูลค่าตลาดหุ้นไทย

นี่จึงเป็นเหตุทำให้ผู้คนเคลือบแคลงสงสัย และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ (เพราะดังกล่าวครอบครัว และเครือญาติของนายกฯทักษิณ บรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ นักการเมืองและ นักธุรกิจซึ่งเป็นพวกพ้อง ของคุณทักษิณ ชินวัตร ล้วนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ไทย) บวกกับวัฒนธรรม และพฤติกรรมนักธุรกิจไทย ซึ่งรวมถึงนักธุรกิจการเงินไทย ต่างเป็นนักเก็งกำไรเสี่ยงซื้อ เสี่ยงขาย เสี่ยงลงทุน หวังร่ำรวยมาก ร่ำรวยเร็ว และร่ำรวยลัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทำได้โดยใช้เงินของคนอื่นมากกว่าเงินของตนเอง

นี่เป็นสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยแทนที่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุน เพื่อการลงทุนระยะยาว กลายมาเป็นแหล่งเล่นพนัน หรือเป็นบ่อนการเล่นพนันถูกกฎหมายไป การเก็งกำไรและการปั่นหุ้นจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นเสมอ

นอกจากนั้นยังมีประเด็นปัญหาในเรื่องที่ว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทย มีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดที่เชื่อถือได้ ในเรื่องความสามารถ กันหรือไม่ ? (ดังกล่าวดูจาก profitability และ productivity ของธุรกิจ และอุตสาหกรรมไทยแล้วไม่ได้ดีขึ้น) แม้แต่ที่เป็นธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินที่เป็น "หุ้นบลูชิพ" ก็เชื่อถือไม่ได้

เพราะล้วนเป็น "ธุรกิจครอบครัว" (family business) มันเป็น "บริษัทมหาชน" (public company) ในความเป็นจริงกันที่ไหน (ไม่ใช่เพียงแต่งตัวเข้าตลาดให้เป็นไปตามกฎและระเบียบที่วางเอาไว้) (ถือว่า) เป็นการแหกตาและหลอกลวงชาวบ้านเพราะเอาบริษัทเน่าๆ มาขายให้ชาวบ้าน

แต่ก่อน (ก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศจะคลี่ออกมาให้เห็น) ที่ดัชนีหุ้นขึ้นไป 600-700 จุด (หรือกว่า) ก็เพราะการปั่นหุ้น ทำได้เพราะมีคน ให้สินเชื่อ (ให้สินเชื่อเพราะมีเงินไหลเข้ามาให้เสี่ยงเก็งกำไรจากต่างประเทศมาก แล้วไม่รู้จะเอาไป ทำอะไรก็เอาไปลงทุนเอาไปปั่นหุ้นและที่ดินกัน) บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯจึงเป็น "บริษัทธรรมา ภิบาล" หรือมี "ธรรมาภิบาล" (good governance) กันที่ไหน

แล้วจะแก้ปัญหาโดยหาสินค้าใส่เข้าไปในตลาดให้มีมากๆ โดยบอกว่าตลาดเรายังเล็ก (ทำแบบนี้มันเป็นการแก้ปัญหาตรงสาเหตุหรือ ?) และเมื่อแบงก์ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำลง แล้วก็บอกให้ชาวบ้านเอาเงินออม ไปลงทุนเอง ยิ่งไม่เป็นการหลอกชาวบ้านมากขึ้นหรือ ? แล้วก็ยังออกไปทำโรดโชว์เพื่อให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน ?

มันแสดงว่า เราคนไทยไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง เราสร้างสถาบันอะไร ที่ทำหน้าที่อะไรกันไม่ได้เลย (institutional collapse) การแก้ปัญหาประเทศไทยจึงต้อง "go back to the basic" หมด

เครื่องมือส่วนตัว