การบริหารขอบเขต

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

Scope Management: การบริหารขอบเขตให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กรธุรกิจนั้น สิ่งหนึ่งที่องค์กรจะต้องพิจารณาคือการบริหารขอบเขตของธุรกิจที่องค์กรจะเข้าไปแข่งขัน (Scope Management) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Strategy)

ในประเทศไทยผมยังไม่เจอการศึกษาหรือวิจัยใดๆ ที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่ในต่างประเทศได้มีการวิจัยกันในเรื่องนี้มานานพอสมควรแล้ว โดยผลการวิจัยส่วนใหญ่ชี้ไปในทิศทางที่ว่าองค์กรธุรกิจที่มุ่งเน้นเฉพาะธุรกิจที่ตนเองเชี่ยวชาญมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากที่สุด ตามมาด้วยพวกที่ขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน และพวกที่ขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจที่ไม่มีความเกี่ยวพันกันตามลำดับ เนื่องจากการไม่ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจอื่น ทำให้องค์กรเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่วอกแว่ก ทำให้สามารถสะสมความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจนั้นๆ ผู้บริหารไม่ต้องเสียทั้งเวลาและทรัพยากรไปในสิ่งที่ตนเองไม่มีความชำนาญ

ส่วนสาเหตุที่การขยายขอบเขตของธุรกิจสู่ธุรกิจที่สัมพันธ์กับธุรกิจเดิม มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าพวกที่ขยายสู่ธุรกิจที่ไม่สัมพันธ์กับธุรกิจเดิมนั้นสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลง่ายๆ เช่นกัน นั้นคือการขยายสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมนั้นทำให้องค์กรสามารถใช้ทรัพยากรหรือความสามารถร่วมกันระหว่างธุรกิจแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นตราหรือยี่ห้อสินค้า กระบวนการในการผลิต ช่องทางการจัดจำหน่าย เทคโนโลยีในการผลิต หรือแม้กระทั่งความรู้เกี่ยวกับลูกค้า ทำให้องค์กรสามารถที่จะประหยัดต้นทุนได้มากกว่าองค์กรที่มีธุรกิจเพียงประเภทเดียว การที่สามารถประหยัดต้นทุนได้เนื่องจากการใช้ความสามารถหรือทรัพยากรร่วมกันนั้น เราเรียกว่า Economy of Scope แต่ในกรณีของการขยายตัวสู่ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมแล้วจะทำให้ไม่สามารถใช้ทรัพยากรหรือความสามารถที่มีร่วมกันได้ ทำให้โอกาสในการประสบความสำเร็จน้อยที่สุด

ในการบริหารขอบเขตธุรกิจ (Scope Management) ให้ได้ดีนั้น นอกเหนือจากการพิจารณาในด้านของการขยายตัวแล้ว ต้องคิดถึงการหดตัวหรือการยุบขอบเขตขององค์กรด้วย นั่นคือจะต้องสามารถตอบได้ว่าเมื่อใดที่ควรจะออกจากธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าผู้บริหารเห็นว่าธุรกิจที่ตนเองมีอยู่นั้นผลการดำเนินงานเริ่มถดถอยหรือโอกาสในการเติบโตเริ่มลดน้อยลง ผู้บริหารอาจจะต้องเริ่มคิดว่าเมื่อใดจึงควรจะออกจากธุรกิจนั้นไป เนื่องจากถ้าเรายังคงอยู่ในธุรกิจนั้นนานขึ้น นอกเหนือจากจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นแล้ว ยังอาจจะลากธุรกิจอื่นๆ ของเราที่ประสบความสำเร็จให้ลงเหวตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการดึงทั้งทรัพยากรและความสนใจของผู้บริหารไปสู่สิ่งที่ไม่มีอนาคต แทนที่จะทำให้ผู้บริหารสนใจในธุรกิจที่กำลังเติบโตหรือทำเงิน ท่านผู้อ่านจะพบกับองค์กรหลายแห่งที่มีปัญหาหรือล้มเหลวเนื่องจากไม่สามารถตัดใจได้จากธุรกิจเดิมๆ ที่เคยทำอยู่ เนื่องจากมีความหวังว่าธุรกิจนั้นอาจจะมีโอกาสพลิกฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าการบริหารขอบเขต (Scope Management) ให้ได้ดีนั้นการตัดสินใจที่ถูกต้องในช่วงเวลาที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว