การแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยาจากนักวิชาชีพ
จาก ChulaPedia
การแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยาจากนักวิชาชีพ (Professional psychological help-seeking)
การแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยาจากนักวิชาชีพ หมายถึงรูปแบบหนึ่งของการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตใจจากแหล่งช่วยเหลือที่เป็นทางการ ซึ่งนักวิชาชีพผู้ที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือจะต้องผ่านการฝึกมาอย่างเหมาะสมเพื่อให้มีความสามารถหรือทักษะที่จำเป็นในการแก้ปัญหาทางจิตใจได้อย่างเหมาะสม (ธนวัต ปุณยกนก, 2553) ตัวอย่างนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านจิตใจได้แก่ นักจิตวิทยาการปรึกษา นักจิตวิทยาแนะแนว นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาคลีนิค หรือจิตแพทย์เป็นต้น การแสวงหาการช่วยเหลือทางจิตวิทยาจากนักวิชาชีพ นับเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งในการบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาด้านจิตใจ ซึ่งปัญหาที่นำมาปรึกษานั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องที่รุนแรงเหมือนที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน ตัวอย่างปัญหาที่อาจนำมาปรึกษากับนักวิชาชีพเช่น มีความเครียดเรื่องการเรียน การปรับตัว มีปัญหากับคนรอบข้าง ผิดหวังในเรื่องความรัก มีความวิตกกังวล และมีอาการซึมเศร้าเป็นต้น
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยาจากนักวิชาชีพ
Wills และ DePaulo (1991) ได้สรุปปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการแสวงหาความช่วยเหลือได้แก่ ลักษณะทางประชากรศาสตร์ ปัจจัยด้านสถานการณ์ ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ ปัจจัยด้านบริบททางสังคม และปัจจัยจากกระบวนการภายในตน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. ลักษณะทางประชากรศาสตร์ (Demographic factors) สำหรับลักษณะทางประชากรศาสตร์ที่สำคัญได้แก่ เพศ และอายุ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.1 เพศ (gender) งานวิจัยที่ผ่านมาทั้งในไทยและในต่างประเทศต่างก็พบว่าเพศมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจแสวงหาความช่วยเหลือ กล่าวคือเพศหญิงจะมีเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือในทางบวกมากกว่าเพศชาย (Fischer & Farina, 1995; ณัฐสุดา เต้พันธ์, 2544; วีรนุช วงศ์คงเดช, 2547) และเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือบ่อยกว่าเพศชาย (Moller-Leimkuhler, 2002) 1.2 อายุ (age) งานวิจัยพบว่าบุคคลที่มีอายุอยู่ในช่วง 20 ปี หรือบุคคลที่กำลังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยนั้นมีเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือดีกว่า และมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าผู้ที่มีอายุในช่วงอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะบุคคลที่เรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงแหล่งให้ความช่วยเหลือได้ง่ายกว่าผู้ที่อยู่ในช่วงวัยอื่น (Vogel, Wester, & Larson, 2007) 2. ปัจจัยด้านสถานการณ์ (situational factors) หมายถึงปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้บุคคลทำการแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้นหรือน้อยลง ได้แก่ การเปิดเผยตัวตนในการแสวงหาความช่วยเหลือ (visibility of help-seeking) ความสามารถในการควบคุมปัญหา (controllability of the problem) ความสำเร็จในการแก้ปัญหาที่คล้ายคลึงกัน (prior success with the task) การประเมินความคุกคามของปัญหาที่บุคคลประสบ (threat appraisal) และความสามารถของผู้ให้ความช่วยเหลือ (helper’s ability) ซึ่งรายละเอียดของแต่ละปัจจัยมีดังนี้ 2.1 การเปิดเผยตัวตนในการแสวงหาความช่วยเหลือ (visibility of help-seeking) การแสวงหาความช่วยเหลือนั้นอาจเป็นการยอมรับว่าตนเองด้อยค่า ไม่ดีพอ หรือพึ่งพาผู้อื่นจนเกินไป ดังนั้นบุคคลน่าจะมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าถ้าการแสวงหาความช่วยเหลือนั้นมีความเป็นส่วนตัวมากและมีการเปิดเผยตัวตนน้อยที่สุด (Wills & DePaulo, 1991) กล่าวคือบุคคลส่วนใหญ่มักจะแสวงหาความช่วยเหลือจากแหล่งความช่วยเหลือที่ไม่ต้องมีการเผชิญหน้ากับบุคคลโดยตรงเป็นแหล่งแรก เช่นการโทรศัพท์ไปปรึกษากับนักจิตวิทยา หรือการหาข้อมูลจากหนังสือหรือเว็บไซต์เป็นต้น 2.2 ความสามารถในการควบคุมปัญหา (controllability of the problem) การรับรู้ของบุคคลว่าตนเองมีความสามารถในการควบคุมปัญหาต่ำจะทำให้บุคคลมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้น ซึ่งในเชิงทฤษฏีแล้วปัจจัยนี้จะส่งผลให้บุคคลทำการแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้นถ้าบุคคลเคยประสบปัญหาเดียวกันนี้ในอดีตและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เมื่อต้องประสบกับปัญหาเช่นนี้อีกครั้ง บุคคลจะมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้น (Wills & DePaulo, 1991) 2.3 ความสำเร็จในอดีต (prior success with the task) สำหรับความสำเร็จในอดีตนี้จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับการรับรู้ความสามารถในการควบคุมปัญหาของตนเอง โดยบุคคลที่ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในอดีต เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาบุคคลก็จะไม่แสวงหาความช่วยเหลือ แต่จะพยายามแก้ไขและปรับปรุงตนเองมากขึ้นเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ แต่สำหรับบุคคลที่ไม่เคยแก้ปัญหาดังกล่าวได้แล้ว บุคคลก็มีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหานั้น (Wills & DePaulo, 1991) 2.4 การประเมินความคุกคามของปัญหาที่บุคคลประสบ (threat appraisal) ถ้าบุคคลประเมินปัญหาที่ตนเองเผชิญอยู่นั้นเป็นสิ่งที่คุกคามและอาจส่งผลเสียต่อการรับรู้คุณค่าในตน (threats to self-esteem) บุคคลก็จะไม่อยากแสวงหาความช่วยเหลือ แต่สำหรับปัญหาที่ถูกประเมินว่าไม่ทำให้การรับรู้คุณค่าในตนลดลง บุคคลก็จะต้องการแสวงหาความช่วยเหลือ หรือถ้าบุคคลประเมินว่าปัญหาที่ตนเองเผชิญอยู่นั้นเป็นสิ่งที่อาจกระทบต่อคนรักหรือคนรอบข้าง (threats to loved one’s well-being) บุคคลก็จะทำการแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าปัญหาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง (Lazarus, Dunkel-Schetter, DeLongis, & Gruen, 1986 อ้างถึงใน Wills & DePaulo, 1991) 2.5 ความสามารถของผู้ให้ความช่วยเหลือ (helper’s ability)โดยทั่วไปแล้วบุคคลย่อมต้องการที่จะแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ให้ความช่วยเหลือที่มีความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาที่ตนเองกำลังประสบ ซึ่งงานวิจัยของ Corrigan (1978 อ้างถึงใน Wills & DePaulo, 1991) ก็สนับสนุนแนวคิดนี้โดยพบว่าบุคคลที่มารับความช่วยเหลือนั้นจะให้ความสำคัญกับความชำนาญ และความน่าไว้วางใจของผู้ให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้งานวิจัยในภายหลังยังพบว่าผู้ให้ความช่วยเหลือที่มีความสามารถในการสื่อสาร ความเข้าใจ และการไม่ตัดสินหรือตำหนิผู้รับบริการในทางศีลธรรมนั้นจะประสบความสำเร็จในการเชิญชวนให้ผู้รับบริการเข้ามารับการปรึกษา ตัดสินใจอยู่ในกระบวนการให้การปรึกษาต่อไป และประสบความสำเร็จในการรับบริการ (Miller, 1985; Wills, 1982 อ้างถึงใน Wills & DePaulo, 1991) 3. ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ (personality factors) หมายถึงปัจจัยในตัวบุคคลที่ส่งผลกระทบต่อการแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคลเองได้แก่ การเห็นคุณค่าในตนเอง และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (self-esteem and achievement motivation) ความขี้อาย (Shyness) การเปิดเผยตนเอง (self-disclosure) ระบบความเชื่อ (belief system) และความสามารถทางอารมณ์ (emotional competence) ซึ่งรายละเอียดของแต่ละปัจจัยมีดังนี้ 3.1 การเห็นคุณค่าในตนเอง และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (self-esteem and achievement motivation) สำหรับคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงนั้นจะต่อต้านการแสวงหาความช่วยเหลือเนื่องจากความเชื่อที่ว่าเขาควรที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ดังนั้นการแสวงหาความช่วยเหลือก็เหมือนกับเป็นการยอมรับว่าตนเองไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และจะทำให้สูญเสียการรับรู้คุณค่าในตนเอง แต่ในทางกลับกันคนที่มีการรับรู้คุณค่าในตนเองต่ำก็จะรับรู้ว่าตนเองไม่มีความสามารถพอที่จะแก้ปัญหาต่างๆได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นจึงไม่ทำให้บุคคลสูญเสียการรับรู้คุณค่าในตนเองลงไปอีก (Schroder, Penner, Dovidio, & Piviliavin, 1995; Wills & DePaulo, 1991) นอกจากนี้สำหรับคนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธสูงนั้นก็คือการที่บุคคลมีความตั้งใจที่จะเอาชนะปัญหาได้อย่างดีและด้วยความสามารถของตนเองเพียงผู้เดียว จึงทำให้บุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์นั้นไม่ค่อยแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากนัก (Wills & DePaulo, 1991) 3.2 ความขี้อาย (shyness) คนที่ขี้อายโดยทั่วไปแล้วก็จะไม่ค่อยกล้ามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่คุ้นเคย โดยบุคคลที่ขี้อายนั้นต้องการที่จะทำให้ผู้อื่นประทับใจและรู้สึกดีกับตนเอง แต่พวกเขาก็รู้สึกว่าเป็นการยากที่จะทำได้เนื่องจากพวกเขาไม่มั่นใจในสถานภาพของตนเอง ดังนั้นเมื่อบุคคลที่ขี้อายอยู่ต่อหน้าผู้อื่นนั้นก็จะแสดงออกโดยผ่านการควบคุมเป็นอย่างดี และพยายามหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นให้มากที่สุดเนื่องจากมองว่าการพูดคุยกับผู้คนในสังคม รวมไปถึงการแสวงหาความช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งที่ยากสำหรับพวกเขา ทำให้บุคคลเหล่านี้หลีกเลี่ยงที่จะแสวงหาความช่วยเหลือ (Schroder, Penner, Dovidio, & Piviliavin, 1995; Wills & DePaulo, 1991) 3.3 การเปิดเผยตนเอง (self-disclosure) ในการแสวงหาความช่วยเหลือทุกชนิดย่อมจะต้องประกอบไปด้วยการเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองหรือปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ดังนั้นการแสวงหาความช่วยเหลือกับการเปิดเผยตนเองนั้นดูจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ คนที่มีการเปิดเผยตนเองมากกว่าก็มีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าคนที่มีการเปิดเผยตนเองน้อยกว่า (Wills & DePaulo, 1991) 3.4 ระบบความเชื่อ (belief system) สำหรับความเชื่อที่บุคคลมีต่อการแสวงหาความช่วยเหลือ ผู้ให้ความช่วยเหลือ ผลของการให้ความช่วยเหลือ กระบวนการให้ความช่วยเหลือ และตัวบุคคลที่ทำการแสวงหาความช่วยเหลือเองนั้นก็ส่งผลต่อการแสวงหาความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน (Wills & DePaulo, 1991) ความเชื่อเหล่านี้จะเป็นการประเมินเกี่ยวกับการแสวงหาความช่วยเหลือว่าจะส่งผลต่อตนเองอย่างไร เช่นบุคคลที่มีความเชื่อในทางลบเกี่ยวกับการแสวงหาความช่วยเหลือก็จะมองว่าการแสวงหาความช่วยเหลือนั้นไม่ดี และไม่ค่อยอยากแสวงหาความช่วยเหลือ 3.5 ความสามารถทางอารมณ์ (emotional competence) นอกจากปัจจัยด้านบุคลิกภาพของ Wills และ DePaulo (1991) แล้ว Rickwood และผู้ร่วมงาน (2005) ยังได้กล่าวถึงปัจจัยทางบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อการแสวงหาความช่วยเหลืออีกปัจจัยหนึ่ง ได้แก่ปัจจัยเกี่ยวกับความสามารถทางอารมณ์ ซึ่งความสามารถทางอารมณ์นั้นถือเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการแสวงหาความช่วยเหลือ โดยความสามารถทางอารมณ์หรือความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) นั้นหมายถึงความสามารถของบุคคลที่จะตระหนักถึงสภาวะอารมณ์ และสามารถอธิบายถึงสภาวะอารมณ์นั้นได้ สามารถเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพโดยไม่ใช้การปกป้องตนเอง (non defensive) (Mayer, Caruso, & Salovey, 1999 อ้างถึงใน Rickwood, Deane, Wilson, & Ciarrochi, 2005) การมีความสามารถทางอารมณ์ในระดับสูงนั้นถือว่าเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้บุคคลตัดสินใจแสวงหาความช่วยเหลือ เนื่องจากการมีความสามารถทางอารมณ์นั้นจะช่วยให้บุคคลสามารถตระหนักได้ถึงสภาวะภายในของตนเอง และสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกหรือสิ่งที่อยู่ในใจออกมาได้อย่างชัดเจน (Rickwood, Deane, Wilson, & Ciarrochi, 2005) 4. ปัจจัยด้านบริบททางสังคม (social-context factors) หมายถึงอิทธิพลจากสังคมหรือคนรอบข้างที่ส่งผลต่อการแสวงหาความช่วยเหลือซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยย่อยๆ ได้แก่ การสนับสนุนทางอารมณ์และการเปิดเผยตัวตน (emotional support and self-disclosure) และกระบวนการช่วยเหลือตอบแทนซึ่งกันและกัน (reciprocal comparison process) ซึ่งแต่ละปัจจัยมีรายละเอียดดังนี้ 4.1 การสนับสนุนทางอารมณ์และการเปิดเผยตนเอง (emotional support and self-disclosure) ถ้าบุคคลได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์จากเครือข่ายการสนับสนุนในสังคมเพียงพอแล้ว บุคคลก็จะไม่ค่อยแสวงหาความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพ เนื่องจากการแสวงหาความช่วยเหลืออย่างไม่เป็นทางการมักจะเป็นทางเลือกแรกในการแสวงหาความช่วยเหลือ (Wills & DePaulo, 1991) 4.2 กระบวนการช่วยเหลือตอบแทนซึ่งกันและกัน (reciprocal comparison process) บุคคลยินดีจะแสวงหาความช่วยเหลือจากแหล่งต่างๆหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับความสามารถของเขาในการตอบแทนผู้ให้ความช่วยเหลือได้หรือไม่ เช่นถ้าบุคคลรับรู้ว่าเขาไม่สามารถที่จะจ่ายค่าบริการสำหรับการรับการปรึกษาจากนักจิตวิทยาได้ เขาก็มีแนวโน้มที่จะไม่แสวงหาความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาเป็นต้น (Wills & DePaulo, 1991) 5. ปัจจัยจากกระบวนการภายในตน (self-process factors) หมายถึงกระบวนการภายในของบุคคลที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการแสวงหาความช่วยเหลือ ซึ่ง Wills และ DePaulo (1991) เสนอว่าควรพิจารณาการแสวงหาความช่วยเหลือในบริบทของการคงไว้ซึ่งการรับรู้คุณค่าในตน กล่าวคือถ้าการแสวงหาความช่วยเหลือใดๆนั้นไม่คุกคามต่อการรับรู้คุณค่าในตนของบุคคลแล้ว บุคคลก็จะไม่รู้สึกลำบากใจที่จะแสวงหาความช่วยเหลือ แต่ในทางกลับกันถ้าบุคคลรับรู้ว่าการแสวงหาความช่วยเหลือนั้นอาจคุกคามต่อการรับรู้คุณค่าในตนแล้ว บุคคลก็จะไม่อยากแสวงหาความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจัยจากกระบวนการภายในตนที่ส่งผลต่อการแสวงหาความช่วยเหลือนั้นประกอบไปด้วยปัจจัยย่อยได้แก่ การตีตราพฤติกรรม การอธิบายสาเหตุต่อการแสวงหาความช่วยเหลือ ความสอดคล้องและการเปรียบเทียบข้อมูลทางสังคม และการประทับรอยว่าด้อยค่าทางสังคม ซึ่งแต่ละปัจจัยมีรายละเอียดดังนี้ 5.1 การตีตราพฤติกรรม (labeling of behavior) การตีตราพฤติกรรมนั้นส่งผลต่อการแสวงหาความช่วยเหลือได้ กล่าวคือถ้าบุคคลตีตราพฤติกรรมการแสวงหาความช่วยเหลือว่าหมายถึงตนเองมีความอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองแล้ว บุคคลก็จะไม่แสวงหาความช่วยเหลือ แต่ถ้าบุคคลตีตราพฤติกรรมการแสวงหาความช่วยเหลือว่าเป็นวิธีการที่ช่วยให้ตนเองสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่แล้ว บุคคลก็จะเต็มใจที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้น (Wills & DePaulo, 1991) 5.2 การอธิบายสาเหตุของปัญหาในการแสวงหาความช่วยเหลือ (attributions for help seeking) การอธิบายสาเหตุของปัญหานั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการแสวงหาความช่วยเหลือได้ โดยบุคคลที่อธิบายสาเหตุของปัญหาว่ามีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก หรือปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของจิตใจตนเองแล้ว บุคคลก็จะยินดีที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าคนที่ระบุสาเหตุของปัญหาว่าเกิดจากปัจจัยภายในตนหรือข้อบกพร่องของตน (Wills & DePaulo, 1991) 5.3 ความสอดคล้องและการเปรียบเทียบข้อมูลทางสังคม (consensus and comparison information) การเปรียบเทียบทางสังคมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในสัมพันธภาพทางสังคม สำหรับเรื่องการแสวงหาความช่วยเหลือนั้นบุคคลก็จะเปรียบเทียบความสอดคล้องกับสังคมด้วยเช่นกัน และถ้าสังคมมีความคิดเห็นว่าไม่ควรแสวงหาความช่วยเหลือ บุคคลก็จะไม่แสวงหาความช่วยเหลือเนื่องจากไม่อยากรู้สึกแปลกแยกจากสังคม (Wills & DePaulo, 1991) 5.4 การประทับตราว่าด้อยค่าจากสังคม (social stigma) สำหรับการประทับตราว่าด้อยค่าทางสังคมแล้วตามชื่อดูเหมือนว่าจะเป็นปัจจัยที่อยู่ในด้านบริบททางสังคม แต่สาเหตุที่นักวิจัยส่วนใหญ่จัดให้อยู่ในด้านกระบวนการภายในตนนั้นก็เนื่องจากนิยามของการประทับตราว่าด้อยค่าทางสังคมที่มีความหมายคือ ความกลัวว่าผู้อื่นจะรับรู้หรือตัดสินตนเองในทางลบถ้าบุคคลทำการแสวงหาความช่วยเหลือ (Deane & Chamberlain, 1994 อ้างถึงใน Vogel, Wester, & Larson, 2007) โดยความกลัวการประทับตราว่าด้อยค่าเกี่ยวกับการแสวงหาความช่วยเหลือนับว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการแสวงหาความช่วยเหลือ (Corrigan, 2004) เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะรับรู้บุคคลที่มีอาการทางจิตในทางลบอยู่แล้ว และการแสวงหาความช่วยเหลือก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงการมีความเจ็บป่วยทางจิตได้ โดยงานวิจัยในอดีตพบว่าบุคคลที่ทำการแสวงหาความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพมักจะถูกมองว่าเป็นคนที่มีอาการทางจิต และถูกรับรู้ในทางลบกว่าบุคคลที่ไม่แสวงหาความช่วยเหลือ (Vogel, Wester, & Larson, 2007)
รายการอ้างอิง
ณัฐสุดา เต้พันธ์. (2544). ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบความผูกพันและเจตคติในการแสวงหา
ความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพของนักศึกษา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ธนวัต ปุณยกนก. (2553). โมเดลเจตจำนงต่อการแสวงหาความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพ : บทบาทการ
ส่งผ่านของการประทับตราว่าด้อยค่าตามการรับรู้และเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือ. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วีรนุช วงศ์คงเดช. (2547). เจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือ และการเรียนรู้แบบกำกับตนเอง
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่มีรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแตกต่างกัน. วิทยานิพนธ์ปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Corrigan, P. W. (2004). How stigma interferes with mental health care. American
Psychologist, 59, 614-625.
Fischer, E. H., & Farina, A. (1995). Attitudes toward seeking professional psychological
help: A shortened form and considerations for research. Journal of College Student Development, 36, 368-373.
Möller-Leimkühler, A. M. (2002). Barriers to help-seeking by men: A review of
sociocultural and clinical literature with particular reference to depression. Journal of Affective Disorders, 71, 1-9.
Rickwood, D., Deane, F. P., Wilson, C. J., & Ciarrochi, J. (2005). Young people’s help-
seeking for mental health problems. Australian e-Journal for the Advancement of Mental Health, 4, 1-34.
Schroder, D. A., Penner, L. A., Dovidio, J. F., & Piliavin, J. A. (1995). The psychology of
helping and altruism. San Francisco: McGraw-Hill.
Vogel, D. L., Wester, S. R., & Larson, L. M. (2007). Avoidance of counseling:
Psychological factors that inhibit seeking help. Journal of Counseling and Development, 85, 410-422.
Wills, T. A., & DePaulo, B. M. (1991). Interpersonal analysis of the help-seeking process.
In Snyder, C. R., & Forsyth, D. R. (Eds.). Handbook of social and clinical psychology. New York: Pergamon.
อาจารย์ ธนวัต ปุณยกนก