การใช้ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์สำหรับบรรเลงร่วมกับการแสดงละครภาพนิ่ง
จาก ChulaPedia
การใช้ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์สำหรับบรรเลงร่วมกับการแสดงละครภาพนิ่งหรือตาโบลวิวังต์ (Tableaux Vivants)
ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ในระยะที่เรียกว่าคอนเสิร์ตแบบไทยนั้น นอกจากจะใช้บรรเลงและขับร้องในลักษณะเป็นคอนเสิร์ตเรื่องหรือละครมืดแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังได้ทรงปรับปรุงบทขับร้องจากเนื้อเรื่องเก่าและบทกวีมาใช้ในการแสดงละครภาพนิ่ง หรือที่เรียกกันว่า ตาโบลวิวังต์ (Tableaux Vivants) ซึ่งเข้าใจว่าจัดทำขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๓๗ ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ที่โปรดให้พระอนุชา และพระราชวงศ์ที่ยังทรงพระเยาว์แต่งพระองค์ต่างๆ แสดงตามท้องเรื่องในท่าที่หยุดนิ่ง ระหว่างนั้นก็ใช้ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์บรรเลงประกอบละครที่เป็นภาพนิ่งเหล่านั้น การแสดงดังกล่าวโปรดให้จัดขึ้นในพระราชฐานเพื่อทรงเก็บเงินบำรุงการกุศล
หลังจากนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงพระราชดำริว่าบทเพลงตับเรื่องสั้น ๆ เช่น เรื่องราชาธิราช ตอนสมิงพระรามหนี ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงพระนิพนธ์ขึ้นไว้แล้วนั้น จะนำมาใช้แสดงได้ จึงโปรดให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงคิดหาเรื่องอื่นๆ มาแต่งเป็นบทเพลงตอนสั้นๆ แบบนั้น เป็นการบรรยายเรื่องประกอบภาพในฉากเพิ่มขึ้นอีก
ในครั้งนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงจัดบทเพลงถวายรวม ๘ ชุด มีแนวเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชนชาติต่างๆ ทำนองแบบ ๑๒ ภาษาของไทย คือ
ชุดที่ ๑ กล่าวสรรเสริญเทพยดา ประกอบภาพพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ประเภทเป็นการไหว้ครู
ชุดที่ ๒ เรื่องราชาธิราช ประกอบภาพฉากแบบพม่า
ชุดที่ ๓ เรื่องนิทราชาคริต ประกอบภาพฉากแบบแขก
ชุดที่ ๔ เรื่องนางซินเดอร์เรลลา ประกอบภาพฉากแบบฝรั่ง
ชุดที่ ๕ เรื่องสามก๊ก ประกอบภาพฉากแบบจีน
ชุดที่ ๗ เรื่องพระลอ ประกอบภาพฉากแบบลาว
ชุดที่ ๘ เรื่องอุณรุท ประกอบภาพฉากแบบไทย
บทเพลงชุดต่างๆ เหล่านั้น ต่อมาก็เป็นที่นิยมนำมาใช้บรรเลงกันแพร่หลายอยู่ในวงการดนตรีไทยจนทุกวันนี้ ตั้งชื่อเรียกกันว่า ตับสมิงพระราม ตับอาบูหซัน ตับนางซิน และตับจูล่ง เป็นต้น
อาจารย์ผู้ดูแลบทความ สำนักบริหารงานศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ