คลิปโดเมนซีรีนโปรติเนส PmClipSP2 จากกุ้งกุลาดำ Penaeus monodon

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

คลิปโดเมนซีรีนโปรติเนส PmClipSP2 จากกุ้งกุลาดำ Penaeus monodon

ความสำคัญ คลิปโดเมนซีรีนโปรติเนสเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการส่งสัญญาณในระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นยีนที่อยู่ในระบบโพรฟีนอลออกซิเดส ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในกุ้งกุลาดำ

ระบบโพรฟีนอลออกซิเดส เป็นระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาระบบดังกล่าวในกุ้งกุลาดำ โดยระบบโฟรฟีนอลออกซิเดสเริ่มต้นจะถูกกระตุ้นด้วยผนังเซลล์ของจุลชีพ ซึ่งได้แก่ Lipopolysaccharide และ peptidoglycan ของแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังสามารถถูกกระตุ้นด้วย β-1,3-glucans ซึ่งเป็นผนังเซลล์ของเชื้อรา จากนั้นจะไปกระตุ้นในส่วนของซีรีนโปรติเนส แล้วเปลี่ยนโพรฟีนอลออกซิเดสให้กลายเป็นฟีนอลออกซิเดส และเกิดกระบวนการสร้างเมลานินในที่สุด ซึ่งเมลานินที่ถูกสร้างขึ้นจะไปล้อมดักจับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาภายในตัวกุ้ง เพื่อป้องกันการกระจายของสิ่งเหล่านั้นไปที่ส่วนอื่นๆของกุ้ง [1], [2], [3], [4]

คลิปโดเมนซีรีนโปรติเนส เป็นยีนที่พบในสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันและการพัฒนาของตัวอ่อน นอกจากนี้ยังมาหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเมลานินของระบบโพรฟีนอลออกซิเดส โครงสร้างของยีนนี้ประกอบด้วยกัน 2 ส่วน คือ คลิปโดเมน (ทางปลายหมู่อะมิโน) และซีรีนโปรติเนสโดเมน (ทางปลายหมู่คาร์บอกซิล) โดยในส่วนของคลิปโดเมนมีการอนุรักษ์กรดอะมิโนซีสเทอีน และซีรีนโปรติเนสโดเมนมีการอนุรักษ์กรดอะมิโน 3 ชนิด คือ ฮีสทิดีน แอสพาเตท และซีรีน คลิปเมนซีรีนโปรติเนสเป็นจัดโปรเอนไซม์จะสามารถกระตุ้นการทำงานโดยการตัดบริเวณส่วนของคลิปโดเมน ทำให้เกิดการกระตุ้นระบบต่อไป [5]

ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาคลิปโดเมนซีรีนโปรติเนส PmClipSP2 การศึกษายีนคลิปโดเมนซีรีนโปรติเนส PmClipSP2 ทำให้ทราบถึงวิถีของระบบโพรฟีนอลออกซิ เดสได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งวิถีดังกล่าวมีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของกุ้งกุลาดำซึ่งเป็นกุ้งสายพันธุ์ไทย โดยปัจจุบันเกษตรกรได้มีการเลี้ยงกุ้งสายพันธุ์ดังกล่าวนี้ในปริมาณที่ลดลงอย่างมาก เนื่องมาจากสาเหตุการก่อโรคในกุ้ง ดังนั้นการศึกษากลไกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อที่จะสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้งานต่อไป

อ้างอิง

  1. Prophenoloxidase system and its role in shrimp immune responses against major pathogens.
  2. Two prophenoloxidases are important for the survival of Vibrio harveyi challenged shrimp Penaeus monodon.
  3. Gene silencing of a prophenoloxidase activating enzyme in the shrimp, Penaeus monodon, increases susceptibility to Vibrio harveyi infection.
  4. PmPPAE2, a new class of crustacean prophenoloxidase (proPO)-activating enzyme and its role in PO activation.
  5. A serine proteinase PmClipSP2 contributes to prophenoloxidase system and plays a protective role in shrimp defense by scavenging lipopolysaccharide.
เครื่องมือส่วนตัว