จิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

จิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต จิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต หรือ Logotherapy พัฒนาโดยจิตแพทย์ชาวเวียนนาชื่อ Viktor Emil Frankl (1905-1997) จิตบำบัดแนวนี้มีความหมายหลักมาจากคำว่า "โลกอส (logos)" และคำว่า"นูออส (noos)" ทั้งสองคำเป็นภาษากรีก โลกอส หมายถึง "ความหมาย (meaning)" และนูออส หมายถึง "จิตวิญญาณ(spirit หรือ noetic)" ซึ่ง Frankl มองว่าจิตบำบัดแนวความหมายในชีวิตเป็นการเยียวยาจิตใจผ่านการตระหนักถึงชีวิตด้านจิตวิญญาณของมนุษย์ เขากล่าวว่า “การมีชีวิตของมนุษย์ไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐาน เพื่อความพึงพอใจของตน หรือเพื่อความสุขเท่านั้น แต่มนุษย์มีชีวิตอยู่เพื่อกระทำสิ่งที่มีความหมายบางอย่างแก่ชีวิตด้วย ความหมายในชีวิตเช่น ความรู้สึกปีติสุขการได้ทำบางสิ่งให้คนที่เรารัก การเสียสละความสุขของแม่เพื่อลูก โดยเฉพาะ ‘ความรัก’ ดูจะเป็นคำที่ช่วยให้เข้าใจความหมายของการมีชีวิตที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อตนเองได้ดีทีเดียว ผมถือว่าความรักเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนค้นพบความหมายในชีวิต” เพื่อให้เข้าใจถึงรากของแนวคิดทฤษฎีจิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต

ผู้เขียนจะขอนำเสนอ แนวความคิดพื้นฐานต่างๆที่สำคัญของจิตบำบัดแนวนี้ ดังต่อไปนี้

         1. อิสรภาพของเจตนารมณ์ 
ในการดำรงชีวิตประจำวันของบุคคลนั้น สิ่งที่เขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือการตัดสินใจ  บุคคลมีการตัดสินใจทุกขณะ แม้ว่าเขาจะไม่เจตนาและเป็นการตัดสินใจที่ต่อต้านกับความปรารถนาของเขาเอง หรือแม้ว่าการตัดสินใจนั้นบุคคลจะเห็นแก่ตัว เขามีการตัดสินใจอย่างต่อเนื่องและไม่มีสิ้นสุดเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของเขา มนุษย์ไม่เพียงแต่ปฏิบัติตามสิ่งที่เขาเป็น หากเขายังเป็นตามสิ่งที่เขากระทำด้วย มนุษย์และสิ่งแวดล้อมต่างกำหนดซึ่งกันและกัน  มนุษย์มีส่วนในการกำหนดตนเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เขาเป็นสิ่งที่ตนเองกำหนดขึ้นภายใต้ขีดจำกัดของสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่  

Frankl ยกตัวอย่างประสบการณ์ของเขาในค่ายกักกันว่า ขณะที่ผู้คุมบางคนกระทำตัวเยี่ยงปีศาจ ก็มีบางคนกระทำตัวเยี่ยงนักบุญ มนุษย์มีความน่าจะเป็นทั้งสองแบบในตนเอง เขาเป็นแบบใดแบบหนึ่งขึ้นกับการตัดสินใจแต่ละขณะของเขา การตัดสินใจจึงเป็นคุณภาพของการดำรงอยู่ของมนุษย์และเบื้องหลังการตัดสินใจของคนเราแต่ละครั้งจะมีสิ่งที่เรียกว่า "เจตนารมณ์ (will) " เป็นตัวกำหนดเสมอ ถือได้ว่าเจตนารมณ์เป็นความสามารถในการกำหนดตนเอง (capacity for decision) ของบุคคล เจตนารมณ์ หรือความมุ่งมั่นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลรู้สึกว่าเขามีหลักยึดมีสิ่งยึดเหนี่ยว เจตนารมณ์ที่บ่งบอกถึงสุขภาพจิตที่ดีเป็นเจตนารมณ์ที่อิสระต่อความกดดันต่างๆ และยืดหยุ่นต่อภาวะชีวิต ในแต่ละขณะเมื่อบุคคลดำรงชีวิตอย่างมีเจตนารมณ์ที่อิสระเขาจะมีความรับผิดชอบต่อการกำหนดชีวิตของตนเองและใช้ศักยภาพในการเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 อิสรภาพของเจตนารมณ์ หมายถึง อิสรภาพในการเลือกกำหนดวิถีชีวิตตนเองของบุคคล อิสรภาพในการเลือกหมายถึงการมีความกล้าที่จะเป็นเจ้าของการเลือกนั่นคือการที่บุคคลรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง เขาสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเองและตระหนักว่าเขาเป็นผู้กำหนดวิถีชีวิตตนเอง  ในทางตรงข้ามการเลือกที่ปราศจากอิสรภาพจะเป็นการเลือกที่ถูกกำหนดโดยอิทธิพลสิ่งแวดล้อมหรือผู้อื่นซึ่งการเลือกลักษณะนี้จะก่อให้เกิดความวิตกกังวลความกลัว ความรู้สึกผิด (เพราะไม่ได้รับผิดชอบตนเอง) หรืออื่นๆ  อันเป็นผลจากการไม่เต็มใจอย่างแท้จริงในการเลือก  หรือเป็นเจ้าของการเลือกอย่างปราศจากอิสรภาพ   
 โดยแท้จริงแล้ว Frankl ระบุว่ามีเพียงบุคคลสองกลุ่มเท่านั้นที่มีเจตนารมณ์ไม่อิสระ กลุ่มแรกคือผู้ป่วยโรคจิตเภทที่ถูกคุกคามด้วยอาการหลงผิด(delusion) ความปรารถนา ความมุ่งมั่นของเขาจะถูกครอบงำโดยความคิดของผู้อื่นและอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ยึดถือปรัชญาแนวคิดที่เชื่อว่าชีวิตถูกกำหนดไว้แล้วโดยพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม มนุษย์ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตนได้ และมนุษย์เป็นสิ่งที่พยากรณ์ หรือทำนายการกระทำที่จะเกิดต่อๆ  ไปได้  Frankl ย้ำว่าโดยพื้นฐานแล้วมนุษย์มีอิสรภาพในการเลือกกำหนดตนเองในทุกสถานการณ์อิสรภาพในการเลือกนี้ไม่ใช่อิสรภาพในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ  แต่หมายถึงอิสรภาพในการเลือกท่าทีหรือทัศนคติหรือความรู้สึกต่อสถานการณ์ต่างๆ  ที่เขาเผชิญอยู่มันเป็น     อิสรภาพที่จะยืนหยัดต่อสถานการณ์นั้น นั่นคือบุคคลที่มีอิสรภาพในการเลือกจะสามารถรักษาความเชื่อมั่นของตนเองได้ดีภายใต้การกดดันทางสภาพร่างกายและจิตใจ อิสรภาพในการเลือกดังกล่าวนี้เป็นอิสรภาพทางจิตวิญญาณ (spirit) ที่ทำให้มนุษย์ดำรงอยู่อย่างมีความหมาย และมีชีวิตต่อไปได้อย่างมีความมั่นคงในจิตใจ  มีความสุขสงบในการดำรงชีวิต
           2.  เจตนารมณ์สู่ความหมาย  
 Frankl  เขียนไว้ในหนังสือ "The Will to Meaning" เกี่ยวกับเจตนารมณ์สู่ความหมายว่า การมีชีวิตหมายถึงการมีความมุ่งมั่นและเป็นการก้าวสู่สิ่งที่อยู่เหนือกว่าตัวตนปัจจุบันเสมอ การก้าวไปสู่สิ่งที่อยู่เหนือตัวตนปัจจุบันเปรียบได้จากการก้าวจากสิ่งที่ "ฉันเป็น(I am)" สู่สิ่งที่  "ฉันควรเป็น (I ought)" หรือ จาก "ความเป็นจริง (reality)" สู่ "อุดมคติ (ideal) " หรือระหว่าง "การเป็นอยู่ (being)" สู่ "ความหมาย (meaning)" ภาวะตึงเครียดระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่และสิ่งที่ควรจะเป็นของการมีชีวิตนี้ต้องการ "คุณค่าและความหมาย" ซึ่งช่วยให้เขาลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้นและมีความสุขสงบในการดำรงชีวิต  คุณค่าและความหมายนี้คือทัศนะบางอย่างที่มั่นคง หรือเป็นการรับรู้ที่มุ่งสู่การแสวงหาความหมายในชีวิต  ดังที่ เขากล่าวว่า “ ผมได้พยายามถ่ายทอดความเข้าใจแก่ผู้คนเสมอว่าการมีชีวิตของเขาจะไม่มีทางราบรื่นหากการมีชีวิตนั้นขาด     'ทัศนะที่มั่นคง(strong idea)'  หรือการมีชีวิตนั้นไม่ได้ยึดถือทัศนะใดอย่างมั่นคง”  ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ Albert Einstein ที่ว่า "เมื่อใดก็ตามที่คนยึดถือว่าชีวิตไม่มีความหมาย ไม่ได้มุ่งสู่ความหมาย ไม่เพียงแต่ชีวิตเขาจะไร้ความสุขเท่านั้น เขายังยากจะใช้ชีวิตให้ลงตัวด้วย" 
 เจตนารมณ์สู่ความหมาย หมายถึงแรงจูงใจภายในของมนุษย์ที่กำหนดให้เขาตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว และเอื้ออำนวยการดำรงอยู่ของเขา เจตนารมณ์สู่ความหมายว่าเป็นแรงบันดาลใจล้ำลึก (deeply inspires) หรือความปรารถนาดั้งเดิม (innate desire) ของมนุษย์ ซึ่งทำให้เขาบรรลุถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ของคุณค่าที่เขามีอยู่ และมีการกระทำมุ่งมั่นสู่ความหมายในชีวิต  นอกจากนี้เจตนารมณ์สู่ความหมายเป็นคุณสมบัติด้านจิตวิญญาณที่ทำให้มนุษย์มีอิสระจากการนึกถึงแต่ตัวเอง (self detachment) ทำให้เขามีชีวิตอยู่เหนือตัวตน (self transcendence) และอยู่เหนือข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมภายนอก หรือข้อจำกัดที่มาจากความบกพร่องด้านชีววิทยา  ด้านสรีรวิทยาของตนเอง  ถ้าบุคคลเก็บกดหรือละเลยเจตนารมณ์สู่ความหมายนี้ เขาจะมีชีวิตอย่างไร้ทิศทาง แปลกแยกกับตนเองหรือโลกรอบๆ ตัวรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง หรือเกิดความรู้สึกว่างเปล่า 
  ตัวอย่างของปรากฏการณ์ที่แสดงถึงเจตนารมณ์สู่ความหมายในชีวิตได้แก่ ความรัก (love)  และมโนธรรม (conscience)  
      2.1 ความรัก เป็นสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเขา เช่น คุณความดีหรือพระเจ้าความรักในลักษณะนี้จะทำให้บุคคลสำนึกถึงสิ่งที่เขาควรจะเป็น หรือควรจะทำ ตลอดจนกระทำเพื่อมุ่งไปสู่สภาวะนั้น ความรักเป็นแรงจูงใจให้มนุษย์ตระหนักในศักยภาพของตนเอง และค้นพบลักษณะเฉพาะของตนเอง 

ความรักว่าเป็นประสบการณ์เฉพาะตัว ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของคนๆ นั้น และแสดงถึงความสามารถของมนุษย์ในการมีชีวิตอยู่เหนือตัวตนไปสู่สิ่งที่มีความหมายแก่ชีวิต ดังประโยคที่ว่า

ความรักเป็นประสบการณ์เฉพาะตัวของบุคคล ในความรัก คนที่เป็นที่รักจะได้รับความ เข้าใจ และเห็นความสำคัญ ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลขณะมีความรัก เขาจะไม่นึกถึงตัวเอง เพราะความรักทำให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้อื่น

2.2 มโนธรรม เป็นแรงจูงใจภายในที่กำหนดคุณค่าการดำรงชีวิตของบุคคล มโนธรรมเป็นศักยภาพของบุคคลด้านการคิดการวางแผนหรือการคาดคะเนสิ่งที่เกิดขึ้น และทำให้เขาสามารถตัดสินใจกระทำในสิ่งที่เขาเห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เขาดำรงอยู่ มโนธรรมนี้จะเป็นตัวกำหนดคุณค่าแก่สิ่งต่างๆ เพื่อค้นหาความหมายในชีวิต ดังตัวอย่างเหตุการณ์ชีวิตของ Frankl ที่เขาได้ตัดสินใจด้วยการนำทางของมโนธรรม ดังนี้

ก่อนสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ผมได้รับเชิญจากสถานทูตอเมริกา ในเวียนนาให้รับวีซ่าลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาได้ ตอนนั้นผมอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่ชราแล้ว  ซึ่งท่านทั้งสองไม่ได้คัดค้านและเห็นด้วยกับการลี้ภัยครั้งนี้ ผมจึงตัดสินใจไปรับวีซ่าและเตรียมตัวไปสหรัฐอเมริกา  หากในนาทีสุดท้าย เมื่อผมถามตัวเองว่า 'ผมจะไปจริงๆ  หรือ  ผมสามารถไปอยู่อเมริกาโดยทิ้งทุกสิ่งที่นี่หรือ'  ผมเริ่มรู้สึกกระสับ กระส่าย สิ่งที่เข้ามาในใจผมตอนนั้นคือความคิดเกี่ยวกับพ่อแม่ พ่อแม่ของผมจะต้องถูกส่งไปอยู่ค่ายกักกัน ผมเกิดความคิดว่าผมสมควรจะทิ้งพ่อแม่ไป หรือผมควรอยู่ปกป้อง  ท่านทั้งสองในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าแผนกประสาทวิทยาโรงพยาบาลยิวในเวียนนา เพียงผมตัดสินใจทิ้งทุกสิ่ง สถานการณ์ต้องเปลี่ยนไปในทันที  ขณะเกิดความลังเลใจ  สิ่งที่เป็นความรับผิดชอบที่แท้จริงก็เกิดขึ้น    ผมรู้สึกว่าสถานการณ์นี้ผมปรารถนาจะได้รับการนำทางจากสวรรค์  เมื่อผมกลับบ้านในเย็นวันนั้น ผมสังเกตเห็นชิ้นส่วนของหิน อ่อนวางบนโต๊ะ และพ่อได้บอกแก่ผมว่าชิ้นส่วนหินอ่อนนี้พ่อเก็บได้เช้าวันนี้ และพ่อพูดกับผมว่าทำไมผมไม่นำมันติดตัวไปอเมริกาด้วย  ผมถามพ่อเกี่ยวกับ  หินอ่อนนี้  พ่อบอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของแท่นที่บรรจุบัญญัติ 10 ประการ  บนหินอ่อนเป็นคำย่อคำสั่ง  ข้อที่ 1 ใน บัญญัติ 10ประการ ที่ว่า 'จงยกย่องนับถือบิดามารดาของท่าน เพื่อท่านจะได้ดำรงอยู่อย่างเป็นสุขบนแผ่นดิน (Honor father and mather  and  you will dwell in land)'  ในวินาทีนั้นเอง  ผมตัดสินใจอยู่กับพ่อแม่ในเวียนนา และโยนวีซ่าทิ้งไป 

Frankl กล่าวว่า หากบุคคลเชื่อถือมโนธรรมว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ และรับฟังมโนธรรมของเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข เขาจะมุ่งสู่การค้นพบความหมายในชีวิตด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของชีวิตและรับผิดชอบในการตัดสินใจเลือกของเขา

           3.  ความหมายในชีวิต 
  ความหมายในชีวิต (meaning of life) เป็นการรับรู้หรือการตอบสนองของบุคคลในแต่ละขณะ แต่ละสถานการณ์ที่เขาประสบ เป็นสิ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว (uniqueness) หรือเป็นการรับรู้ส่วนตัวของบุคคล  Frankl  อธิบายถึงลักษณะความหมายในชีวิต  ด้วยประโยคของนักปราชญ์ชาวยิวชื่อ Hillel ที่กล่าวไว้ราวสองพันปีก่อนว่า "หากฉันไม่ทำงานนี้-ใครจะทำมันเล่า และหากฉันไม่ทำมันในตอนนี้-เมื่อไหร่ฉันจะได้ลงมือกระทำหากว่าฉันทำมันลุล่วงเพื่อประโยชน์ตน-ฉันคือผู้ใด" Frankl อธิบายว่าสองประโยคแรกกล่าวถึงคนแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตน มีชีวิตของตนที่ไม่สามารถแทนที่กันได้ และชีวิตแต่ละขณะที่ผ่านไปก็ไม่สามารถย้อนกลับมาได้อีก ภาวะมีอยู่ (being) ของบุคคลมีลักษณะเฉพาะตน และการปรากฏอยู่ (existence) ของเขาก็เป็นปรากฏการณ์ชั่วขณะหนึ่งๆ  ที่ขึ้นกับแต่ละขณะ แต่ละสถานการณ์และมีความหมายของมันปรากฏอยู่ด้วยเสมอ  ส่วนประโยคที่สามของ Hillel กล่าวถึงการมีชีวิตโดยแท้จริงแล้วเป็นการปรากฏอยู่ที่มีทิศทางมุ่งสู่บางสิ่งที่ทำให้ชีวิตเขามีค่ามากกว่าการปรากฏอยู่โดยไม่มีทิศทางหรือการปรากฏอยู่ด้วยแรงผลักดันของสัญชาตญาณ หรือแรงขับต่างๆ 

ความหมายในชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงเสมอในแต่ละขณะ แต่ละประสบการณ์ แต่ละวัน หรือแต่ละ ชั่วโมง  ดังที่ Frankl กล่าวถึง ความหมายในชีวิตว่า   

ความหมายในชีวิตของบุคคลแต่ละคนไม่เหมือนกันและมีการแปรรูปในแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง สิ่งสำคัญนั้นไม่ได้อยู่ที่ความหมายในชีวิตที่เป็นเรื่องสากล แต่เป็นความหมายในชีวิตของแต่ละบุคคล การตั้งคำถามกว้างๆ เกี่ยวกับความหมายในชีวิตว่า "ความหมายในชีวิตคืออะไร" เปรียบได้เหมือนกับการตั้งคำถามแก่แชมป์หมากรุกว่า "เดินหมากตัวไหนอย่างไรจึงจะดีที่สุด" แชมป์หมากรุกก็ไม่อาจบอกได้ว่า การเดินหมากตัวไหน อย่างไรดีที่สุด เพราะการเดินหมากตัวไหน อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในกระดานหมากรุกและขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของคู่ต่อสู้ สภาพชีวิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน คนเราไม่ควรถามถึงความหมายในชีวิตอย่างกว้างๆ ว่าคืออะไร แต่สิ่งที่เขาพึงทำก็คือการตระหนักถึงภาระหรือหน้าที่ของชีวิตที่จะต้องรับผิดชอบในการค้นหาความหมายในชีวิตตนเองให้พบ

ความหมายในชีวิตไม่สามารถเข้าใจได้โดยตรง ด้วยการใช้กระบวนการเชิงเหตุผล หรือด้วยความคิดใดๆ   บุคคลจะเข้าถึงความหมายในชีวิตได้ เขาต้องลงมือกระทำบางสิ่งอย่างมุ่งมั่น ในแต่ละสถานการณ์ชีวิต หรือมีการกระทำมุ่งสู่เป้าหมายบางประการในแต่ละขณะ Frankl  มองว่าการเข้าถึงความหมายในชีวิตนั้น บุคคลต้องเชื่อถือในการมีอยู่ หรือการปรากฏอยู่ของเขา โดยยึดถือว่าการมีอยู่หรือปรากฏอยู่นั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายในตัวของมันเอง บุคคลเพียงแต่เป็นผู้ค้นพบความหมายหากไม่ใช่ผู้สร้าง บุคคลค้นพบความหมายในชีวิตในประสบการณ์แต่ละขณะ ในรูปของคุณค่าต่างๆ   3 แนวทาง คือ
3.1 คุณค่าเชิงสร้างสรรค์ (creative value)
  ความหมายในชีวิตในแนวนี้เป็นการให้คุณค่าแก่การทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยการพยายามทำสิ่งนั้นให้ดีขึ้นกว่าเดิม หรือด้วยการทำงานในหน้าที่ด้วยความกระตือรือร้น หรือการสร้างผลงานต่างๆ ที่มาจากความปรารถนาหรือความต้องการภายในของตนเอง คุณค่าเชิงสร้างสรรค์เกิดจากการทำให้ศักยภาพออกมาเป็นผลงานรูปธรรม ตัวอย่างสถานการณ์ที่ Frankl ค้นพบว่าความหมายในชีวิตนั้นอยู่ที่การให้คุณค่าแก่งานที่เขารัก คือการเขียนตำราเกี่ยวกับจิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต  การทุ่มเทใจกับงานที่เขารัก ช่วยให้เขามีชีวิตรอด และดำรงต่อไปได้ในสถานการณ์ที่โหดร้ายของค่ายกักกัน  ดังนี้ 

ในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ.1945 มีการระบาดของโรคไทฟอยด์ในกลุ่มนักโทษที่อ่อนแอและต้องกรำงานหนัก นักโทษที่ป่วยประมาณ 1ใน 4 ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ทำงานหนักและได้รับอาหารเพียงเล็กน้อยทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีไข้สูงจนเกิดอาการเพ้อด้วยพิษไข้ เพื่อนของคนหนึ่งผมได้รับความทุกข์ทรมานจาก อาการเพ้อเช่นกัน เขาคิดว่าเขากำลังจะตาย และต้องการสวดอ้อนวอนพระเจ้า แต่เขานึกประโยคสำหรับสวดไม่ได้เลย เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากอาการเพ้อ ผมและเพื่อนอีกหลายคนได้พยายามอดนอน พวกเราไม่หลับกันทั้งคืน ช่วงเวลานั้นผมนึกถึงประโยค หรือคำสำคัญเกี่ยวกับสิ่งที่ผมจะบรรยายในเรื่องของจิตบำบัด เป็นประโยค คร่าวๆ ไว้ในใจ ในที่สุดผมก็ได้เริ่มต้นสร้างต้นฉบับตำราทางจิตบำบัดแนวความหมายในชีวิตที่ผมเคยสูญเสียมันไปที่ค่ายออสวิทซ์ และผมได้เขียนคำย่อๆ ด้วยมือลงในกระดาษเล็กๆ เท่าที่จะหาได้ เก็บรวบรวมไว้ Frankl กล่าวถึงคุณค่าเชิงสร้างสรรค์ เป็นคุณค่าที่บุคคลรับรู้จากการกระทำบางสิ่งอย่างทุ่มเทอย่างตระหนักว่าเขามีหน้าที่กระทำสิ่งต่างๆ เพื่อทำให้ชีวิตของเขามีความหมาย คุณค่าเชิงสร้างสรรค์ถือได้ว่าเป็นความหมายที่บุคคลได้กระทำสิ่งต่างๆ ให้แก่ชีวิต

3.2  คุณค่าเชิงประสบการณ์ (experience value) 
ความหมายในชีวิตในแนวทางนี้เป็นการให้คุณค่าแก่การดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นและโลกรอบๆ ตัวในรูปของมนุษยสัมพันธ์ ในรูปความรู้สึกดื่มด่ำในคุณความดี ในรูปความรู้สึกต่อตนเองในฐานะมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง ตัวอย่างเช่นการมีส่วนร่วมรับรู้ความรู้สึกในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  การให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ความรู้สึกปีติยินดีในประสบการณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวในขณะฟังดนตรีหรือขณะทำสมาธิเหล่านี้เป็นต้น 
 สถานการณ์ของการค้นพบความหมายในชีวิตผ่านคุณค่าเชิงประสบการณ์ของ Frankl นั้น  Frankl ย้ายมุมมองด้านลบในสถานการณ์ของค่ายกักกันชาวยิวของทหารนาซีไปสู่การเฝ้าคิดถึงภรรยาผู้เป็นที่รัก เขาพบว่าความรักของเขาที่มีต่อภรรยา.และที่ภรรยามีต่อเขา เป็นความหมายในชีวิตของเขาในขณะนั้น การนึกถึงความรักและตระหนักว่าเขามีมันอยู่ ทำให้เขารอดพ้นจากการตรอมใจ หรือความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นจากการมีชีวิตในค่ายกักกัน ดังนี้ 
พวกเราเดินย่ำไปในความมืด ผ่านทางเดินที่เต็มไปด้วยก้อนหินก้อนใหญ่ที่บาดเท้า และหลุมโคลนเสียงผู้คุมแถวตะโกนให้พวกเราเดินต่อไปข้างหน้า และเสียงด้ามปืน กระทุ้งกระแทกพวกเราที่เดินช้าดังเป็นระยะๆ พวกเราแทบจะไม่มีใครพูดกันเลยลม หนาวเย็นเยือกที่พัดผ่าน ดูเหมือนจะไม่เปิดโอกาสให้เราโผล่หน้าออกมาจากปกเสื้อ   เพื่อคุยกันเท่าใดนัก ผมยกขอบคอเสื้อขึ้นปิดปาก ชายคนที่เดินแถวข้างหน้าผมหัน มากระซิบเบาๆ ว่า "ถ้าภรรยาของเราเห็นเราสภาพนี้!"  "ผมหวังว่าพวกเขา คงอยู่ในค่ายที่สภาพดีกว่าพวกเราตอนนี้ และคงไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเรา"  คำพูดของเขา  ทำให้ผมคิดถึงภรรยาของผมไปตลอดระยะทาง เราเดินผ่านหิมะ  ลื่นหกล้ม และฉุดกันลุกขึ้น  ไม่มีใครพูดอะไรอีก  แต่เราทั้งสองทราบกันดีว่า  เรากำลังคิดถึงภรรยาอยู่  บางครั้งบางคราวผมมองไปที่ท้องฟ้า  ดวงดาวค่อยๆ เลือนหายไปและแสงสีแดงจางๆ ของรุ่งอรุณเริ่มสาดส่องออกมาจากเบื้องหลังก้อนเมฆ  แต่จิตใจของผมกลับคิดถึงภรรยานึกถึงเธอในภาพที่สวยงาม ผมได้ยินเธอพูดกับผมยิ้มกับผม    เธอมองผมด้วยแววตาที่ให้กำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม  การที่เธอมองมานั้น ทำให้ผมรู้สึกว่าโลกสว่างไสวมากยิ่งกว่าแสงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณเสียอีกความคิดของผมหยุดลงที่ภรรยา นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นถึงสัจธรรมที่มักปรากฏเสมอในบทกวี  บทเพลงที่บรรลือโลกหรือในความลุ่มลึกของนักคิดที่เผยแพร่ออกมาสู่สาธารณชนสัจธรรมที่ผมพบคือ ความรักเป็นสิ่งที่ประมาณค่าไม่ได้ และเป็นเป้าหมายอันยิ่งใหญ่เท่าที่มนุษย์สามารถจะค้นพบได้ ตอนนี้ผมค้นพบความหมายของสิ่งที่เป็นความลับของนักกวี  นักประพันธ์เพลง  และนักคิดที่ลุ่มลึกของโลก ผมเชื่อว่าความรักและการเป็นที่รัก  ทำให้มนุษย์รอดพ้นจากความรู้สึกทุกข์ทรมาน  ผมเข้าใจถึงวิถีที่มนุษย์ ผู้ซึ่งไม่มีสิ่งใดหลงเหลือในโลกรอดพ้นได้เพราะเขาได้ค้นพบความรักและการเป็นที่รัก  แม้เพียงชั่วขณะ  ในสถานการณ์ที่ขมขื่น  คนเราไม่สามารถแสดงตนด้านบวก เมื่อนั้นความสำเร็จเพียงประการเดียวคือการยืนหยัดอย่างอดทนกับความทุกข์ทรมานในแนวทางที่ถูกต้อง อย่างมีเกียรติ และศักดิ์ศรี-เท่าที่มนุษย์จะทำได้ ผ่านความรัก และการคิดถึงผู้เป็นที่รัก  เสียงผู้คุมแถวผลักผู้ที่เดินข้างหน้าผมด้วยด้ามปืน ทำให้ความคิดของผมชะงักลงชั่วขณะ แต่ในไม่ช้าจิตวิญญาณของผมก็พบว่าการก้าวออกจากโลกของการเป็นนักโทษ ไปสู่โลกอื่น ด้วยการพูดคุยกับผู้เป็นที่รักของผม   ด้วยการถามคำถามและฟังเธอตอบหรือ   การตอบคำถามที่เธอถาม 

Frankl กล่าวถึงคุณค่าเชิงประสบการณ์ เป็นคุณค่าที่บุคคลได้รับจากการมีประสบการณ์บางอย่าง หรือประสบการณ์กับบางคน ในด้านความรัก ความดีความงดงาม หรือสัจธรรม ต่างๆ คุณค่าเชิงประสบการณ์ถือได้ว่าเป็นความหมายที่บุคคลได้รับจากการมีส่วนร่วมกับโลกรอบๆ ตัวของเขา

3.3 คุณค่าเชิงทัศนคติ (attitude value)

ความหมายในชีวิตในแนวนี้ เป็นการให้คุณค่าทัศนคติต่อโชคชะตาต่อสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการดำรงชีวิต  เช่นความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด ความตายและต่อสภาพชีวิตที่ทุกข์ทรมาน เช่นจากความเจ็บป่วยที่รักษาไม่หาย คุณค่าทัศนคติเป็นการเลือกท่าที ความนึกคิด ปฏิกิริยาของตนเองต่อสภาพชีวิตด้วยความรู้สึกที่มั่นคง อดทนและยืนหยัด คุณค่าทัศนคติเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลค้นพบความหมายในชีวิตที่ลึกซึ้ง   คุณค่าเชิงทัศนคติเป็นคุณค่าที่เกิดจากการที่บุคคลเผชิญกับสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  สถานการณ์ของความสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตนเป็นเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำแล้วเขาสามารถปรับทัศนะต่อชีวิต หรือค้นพบความหมายบางอย่าง  ที่ทำให้เขาก้าวพ้นจากสถานการณ์ที่หมดหวังได้  เขาสามารถเผชิญกับสถานการณ์นั้นด้วยทัศนะที่แสดงถึงการยอมรับและอยู่กับมันได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยก    Frankl  กล่าวถึง คุณค่าเชิงทัศนคติ เป็นคุณค่าที่บุคคลเลือกยืนหยัดต่อชะตากรรมอย่างเชื่อถือในชีวิตว่าเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวของมันเอง  เขากล่าวว่า "ประสบการณ์ในค่ายกักกัน ทำให้ผมพบว่าเมื่อชีวิตลดทอนลงสู่การดำรงอยู่ล้วนๆ   และเมื่อไม่มีความหมายอันใดหลงเหลืออยู่กับตัวเองอีก นั่นจะมีอิสระที่แท้  ที่เรียกว่าอิสรภาพของการเลือกทัศนะบางอย่างเพื่อยืนหยัดต่อชะตากรรมตรงหน้า  อิสรภาพนี้อาจไม่ได้ทำให้ชะตากรรมเปลี่ยนหากผมพบว่ามันได้เปลี่ยนแปลงบุคคลอย่างสิ้นเชิง"   
  Frankl กล่าวถึงสถานการณ์ที่คนหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นสภาพแวดล้อมที่สุดขั้วของความโหดร้ายในค่ายกักกัน ผู้คนส่วนใหญ่ที่รอดชีวิตเป็นผู้ที่มีทัศนะต่อชีวิตในลักษณะที่มีความหวัง    เขาเป็นผู้ที่รู้สึกว่าเขามีอะไรบางอย่าง มีเป้าหมายอย่างรอคอยเขาอยู่  ตรงข้ามกับบุคคลที่ความหมายในชีวิตถูกปิดกั้น หรือไม่มีความหวังหลงเหลืออยู่  Frankl ได้ยกตัวอย่างเพื่อนนักโทษในค่ายกักกัน ซึ่งได้เล่าถึงความฝันของเขาว่า เขาฝันในวันที่ 2 กุมภาพันธุ์ ค.ศ.1945 เป็นความฝันที่เขาฝังใจมากเนื่องจากในฝันได้มีเสียงบอกคำทำนายทุกสิ่งที่เขาสงสัยและเขาถามว่าเมื่อไหร่สงครามจะยุติ คำตอบในความฝันคือวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ.1945  ย่างเข้าเดือนมีนาคม ค.ศ.1945 สงครามไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด  เขาเริ่มหมดหวัง วันที่ 29 มีนาคม ค.ศ.1945 เขามีไข้และท้องเสีย วันที่ 30 มีนาคม ค.ศ.1945 เขาเริ่มไม่รู้สึกตัว และในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ.1945 เขาได้เสียชีวิตลงด้วยไข้ไทฟอยด์วันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1945 เป็นวันที่เขาไม่รู้สึกตัวและเป็นสัญญาณถึงสงครามได้สิ้นสุดลงสำหรับเขา    

นอกจากนี้ Frankl ได้ยกตัวอย่างการค้นพบความหมายผ่านคุณค่าเชิงทัศนคติจากการเผชิญโชคชะตาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นการสูญเสียบุคคลที่รัก Frankl เล่าว่า

ครั้งหนึ่งมีแพทย์เวชปฏิบัติสูงอายุท่านหนึ่ง มาปรึกษาผมด้วยอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงเขาไม่สามารถรับภาวะการสูญเสียภรรยา ที่เสียชีวิตลงเมื่อราว 2 ปีก่อนได้ เขารักภรรยาของเขามาก ขณะนั้นผมไม่แน่ใจว่าจะสามารถช่วยเขาได้หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ ว่าควรจะให้คำแนะนำอย่างไรแก่เขา ผมตัดสินใจที่จะไม่บอกสิ่งต่างๆ แก่เขา     หากผมเผชิญหน้ากับเขาด้วยคำถามผมถามเขาว่า "ท่านครับ อะไรจะเกิดขึ้นกับท่าน    หากว่าท่านเป็นผู้ที่เสียชีวิตก่อน และภรรยาของท่านต้องอยู่คนเดียว"    เขาตอบว่า    "โอ..สำหรับเธอแล้ว สิ่งนี้จะรบกวนเธอมาก เธอจะได้รับความทุกข์ทรมานไม่น้อยกว่าฉันเลยทีเดียว"    ผมพูดกับเขาว่า  "ท่านครับ  ท่านเห็นความทุกข์มากมายที่จะเกิดขึ้นกับเธอ และท่านก็เป็นผู้ที่รับภาระความเจ็บปวดนี้เพื่อเธอ  ตอนนี้ท่านเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ และได้รับความเศร้าโศกแทนเธอ"  แน่นอน    ที่สุดว่าผมไม่อาจเปลี่ยนโชคชะตาของเขาได้  ผมไม่อาจชุบชีวิตภรรยาเขาได้  แต่อย่างน้อยที่สุดเขาก็ได้เปลี่ยนทัศนะต่อโชคชะตาของเขา เขาเห็นความหมายของความเจ็บปวดที่ได้รับ เป็นความหมายของการเสียสละ 
Frankl กล่าวถึงคุณค่าเชิงทัศนคติ  เป็นคุณค่าที่บุคคลรับรู้ผ่านการยืนหยัดต่อโชคชะตาที่เขาเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ในรูปของการเสียสละ การมีความหวัง เป็นต้น 
กล่าวโดยสรุปแล้วความหมายในชีวิตเป็นการรับรู้ของบุคคลต่อสิ่งที่ทำให้เขาดำรงอยู่  เป็นบางสิ่งที่บุคคลเติมเข้าไปในใจ และเป็นสิ่งที่ "ดึง" เขาให้มีกำลังใจดำรงชีวิตอยู่อย่างมั่นคงและมุ่งมั่นเมื่อเผชิญกับอุปสรรคหรือวิกฤตของชีวิต ความหมายในชีวิตเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงบุคคลให้สัมพันธ์กับโลกรอบๆ ตัวเขา ในลักษณะของการ กระทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตอย่างมุ่งมั่น  ผ่านสัมพันธภาพต่อผู้คนรอบตัว  และผ่านการมีทัศนะต่อชีวิตที่เข้มแข็งเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้ ดังประโยคที่กล่าวว่า "ในชีวิตของ คนๆ หนึ่ง หากเขารู้ว่าเขามีใครบางคน หรือมีบางสิ่งที่เขามีชิวิตอยู่เพื่อแล้ว เขาจะรู้สึกว่าชีวิตมีค่า"  

บรรณานุกรม แฟรงค์เกิ้ล อี วิกเตอร์. (2533). ความหมายในชีวิต. แปลโดยเจริญ อาทิตยา,คุณพ่อ และ อภิสิทธิ กฤษราลัมณ์, คุณพ่อ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์คณะมหาไถ่. อรัญญา ตุ้ยคำภีร์. (2553).จิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. Frankl, E. Viktor. (1959) Man’s search for meaning : an introduction to Logotherapy. New York : New American Library. ______________. (1963) The doctor and the soul : an introduction to Logotherapy. New York : Alfred Knopf. _____________. (1966) Self-trancendence as a human phenomenon. Journal of Humanistic Psychology Fall : 99 - 106. ______________. (1967) Psychotherapy and Existentialism : selected paper on Logotherapy. USA : Washington Square Press.

                            . (1970) The will to meaning : foundation and application of Logotherapy. New York : New American Library. 
                             .(1978) The unheard cry for meaning.  USA : Washington Square Press. 

_____________ . (1997) Man’s search for ultimate meaning. USA : Perseus Books. ______________. (1997) Viktor Frankl recollection: an autobiography. New York : Plenum Press.

รองศาสตราจารย์ ดร. อรัญญา ตุ้ยคำภีร์

เครื่องมือส่วนตัว