ทฤษฎีการสื่อสารของสื่อสิ่งพิมพ์

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

1. ทฤษฎีอำนาจนิยม

บทบาทของสื่อมวลชนจะเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนละผลักดันนโยบายของรัฐให้บรรลุความมุ่งหมาย การให้ผู้ที่ไม่รู้เรื่องนี้อย่างแท้จริงมากระจายข่าว อาจะเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ หรือล่วงล้ำต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของรัฐ ซึ่งเป็นวิ่งที่ยอมไม่ได้ จึงมีการควบคุมสิ่งพิมพ์โดย

1.1 การควบคุมโดยวิธีให้ขออนุญาต

1.2 การควบคุมโดยวิธีเซ็นเซอร์

1.3 การควบคุมโดยวิธีการฟ้องร้องในศาล

1.4 การควบคุมโดยวิธีซื้อตัวนักเขียน นักหนังสือพิมพ์

1.5 การควบคุมโดยวิธีการเก็บภาษีสื่อสิ่งพิมพ์


2. ทฤษฏีเสรีนิยม

บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ตามทฤษฏีนี้มีหน้าที่แสวงหาความจริง ช่วยพัฒนาประเทศทั้งทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ สื่อมวลชนจะบรรลุจุดหมายนี้ได้จะต้องมีเสรีภาพ รัฐบาลต้องไม่ก้าวก่ายการตีพิมพ์ และต้องสนับสนุนให้ทุกคนเป็นเจ้าของสื่อมวลชนได้ โดยหน้าที่ของสื่อมวลชนตามทฤษฎีนี้ คือ

2.1 การแจ้งข่าวสารและข้อเท็จจริง

2.2 การให้ความบันเทิง

2.3 การให้ความรู้

2.4 การโฆษณา

ในทางการเมืองสื่อมวลชนมีบทบาทตรวจตราควบคุมรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้ใช้อำนาจเกินขอบเขต วิพากษ์วิจารณ์การทำงานและนโยบายของรัฐ แต่บางครั้งเพื่อความปลอดภัยของรัฐ รัฐบาลก็ไม่อาจให้ความยินยอมให้สื่อมวลชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานของรัฐในบางกรณี


อย่างไรก็ตาม ตามทฤษฎีเสรีนิยมของสื่อมวลชนนี้ โดยพื้นฐานแล้วสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือของบุคคลหรือปัจเจกชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และยังเป็นเครื่องมือในการสะท้อนความเป็นจริงในสังคม และแจ้งข่าวสารให้ความบันเทิง และเพื่อการค้า ทั้งนี้บทบาทดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ได้แก่ ขอบเขตความกว้างขวางของเสรีภาพว่ามีมากน้อยเพียงใด การมีอภิสิทธ์มากกว่าบุคคลธรรมดาในเรื่องการได้มาซึ่งข่าว และการเข้าถึงสื่อมวลชนของแหล่งข่าวที่ไม่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะปกปิดข่าวสารส่วนรวม อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อ่าน ต่อมาจึงมีเสียงเรียกร้องให้สื่อมวลชนมีความรับผิดชอบควบคู่ไปกับเสรีภาพ โดยให้เสรีภาพถูกจำกัดขอบเขตด้วยความรู้สึกรับผิดชอบของผู้ประกอบวิชาชีพ ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนเกิดผลดี


3. ทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคม

เป็นแนวคิดที่สังคมต้องการให้สื่อมวลชนมีความรู้สึกสำนึกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ความจริงใจ ซื่อสัตย์ ไม่ลำเอียง และเคารพในสิทธิ์ของผู้อื่น ดังนั้นความรับผิดชอบของหนังสือพิมพ์ จึงประกอบด้วย

1) หนังสือพิมพ์ต้องเสนอข่าวสารที่มีคุณภาพ และคอยตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพื่อให้เป็นหนังสือพิมพ์ที่ดี

2) ผู้อ่านต้องตระหนักถึงอิทธิพลของหนังสือพิมพ์ทั้งทางบวกและทางลบ โดยเลือกอ่าน และไม่ให้การสนับสนุนหนังสือพิมพ์ที่ไม่ดี

3) รัฐบาลควรให้ความเป็นธรรม โดยมีกฎหมายคุ้มครอง และให้เสรีภาพเท่าที่รัฐจะให้ได้


ดังนั้น บทบาทของหนังสือพิมพ์ในทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคม จึงควรเป็นดังนี้

3.1 การให้ข่าวสาร ให้มีการอภิปรายโต้เถียงในเรื่องส่วนรวม หรือกิจสาธารณะ

3.2 ส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย และให้ความสว่างทางปัญญาแก่สาธารณชน เพื่อให้เกิดความสามารถในการปกครองตนเอง

3.3 ต้องพิทักษ์รักษาสิทธิ์ของบุคคล โดยการเฝ้าดูการทำงานของรัฐบาล

3.4 ควรให้บริการแก่ระบบเศรษฐกิจด้วยการเน้นส่งเสริมผลประโยชน์ของผู้ซื้อผู้ขายสินค้าและบริการด้วยสื่อโฆษณา แต่จะต้องไม่บั่นทอนการใช้เสรีภาพของสื่อ

3.5 ควรให้ความบันเทิงแก่สาธารณชน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นความบันเทิงที่ดี และมีคุณภาพเท่านั้น

3.6 ควรหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอเนื้อหาเรื่องราวที่อาจนำไปสู่การประกอบอาชญากรรม ความรุนแรง ความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หรือความก้าวร้าวต่อชนกลุ่มน้อยในสังคม

3.7 ควรมีลักษณะเป็นพหุนิยม คือ สะท้อนความคิดเห็นที่แตกต่างกัน รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีสิทธิตอบโต้ทางความคิดซึ่งกันและกันระหว่างสังคม


4. ทฤษฎีโซเวียตคอมมิวนิสต์

สื่อมวลชนตามทฤษฎีนี้มีความผูกพันอยู่กับการเมืองของประเทศค่อนข้างสูง สิ่งพิมพ์จึงมีลักษณะดังนี้

4.1 เป็นของรัฐ รัฐควบคุมอย่างใกล้ชิด

4.2 เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ

4.3 ใช้เพื่อความเป็นเอกภาพ เพื่อการรับรู้ที่เหมือนๆ กันทั้งประเทศในสิ่งที่พรรคต้องการ

4.4 เนื้อหาสาระจะคล้ายคลึงกันหมด

4.5 ไม่เน้นที่ความสดใหม่ของข่าวที่ต้องทันเหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจการของพรรค

4.6 กรรมการกลางของพรรคจะเลือกบรรณาธิการที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรค และเป็นผู้เลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์


5. ทฤษฎีสื่อมวลชนของประชาชน

ทฤษฎีนี้เน้นว่า สื่อมวลชนควรจะลงมาอยู่ใกล้ชิดประชาชนผู้รับสาร และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารไม่ทางใดก็ทางกนึ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์ของผู้ใช้สื่อ ทฤษฎีนี้มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ของกระแสโลกในปัจจุบัน เพราะเป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับการปกครองแบบประชาธิปไตย


สำหรับประเทศไทยนั้น ขณะนี้สื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ของไทยมีการให้ความสำคัญกับแนวคิดประชาสังคม เช่น การให้มีพื้นที่ข่าวชุมชน ข่าวประชาคมเมือง เป็นต้น


จากที่กล่าวมาสามารถสรุปได้ว่า สื่อมวลชนตามทฤษฎีสื่อมวลชนของประชาชน มีบทบาทที่จะต้องตอบสนองความต้องการของบุคคล ชุมชนขนาดเล็กในด้านการรับรู้และการสื่อสาร และเปิดโอกาสให้ผู้รับสารทุกระดับ เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข่าวสาร ความคิดเห็น รวมทั้งในการบริหารในรูปแบบที่เหมาะสม



รวบรวมและเรียบเรียงบทความ ศูนย์สื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว