ปัจจัยทำนายการเลิกสูบบุหรี่ในระยะสั้นในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

การช่วยเหลือให้เลิกสูบบุหรี่เป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งในการควบคุมยาสูบและเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากผู้ป่วยเหล่านี้ยังคงสูบบุหรี่ต่อไปอาจทำให้อาการของโรคทรุดลงและเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย การศึกษาแบบสหสัมพันธ์เชิงทำนายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการทำนายของจำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน ระยะเวลาที่สูบบุหรี่มวนแรกภายหลังตื่นนอน จำนวนครั้งที่พยายามเลิกบุหรี่ การสนับสนุนทางสังคม การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการเลิกสูบบุหรี่ และความวิตกกังวล/ซึมเศร้าต่อการเลิกสูบบุหรี่ในระยะสั้นในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จำนวน 150 คน ซึ่งรับการรักษาในแผนกผู้ป่วยในอายุรกรรมและได้รับการให้คำปรึกษาจากคลินิกอดบุหรี่ โรงพยาบาลทั่วไป 3 แห่ง คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน สถิติทดสอบไคสแควร์ และการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติก ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ร้อยละ 47.30 สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ในระยะสั้น ปัจจัยที่สามารถทำนายการเลิกสูบบุหรี่ในระยะสั้นในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการเลิกสูบบุหรี่ (OR = 1.03; 95%CI = 1.01-1.05) ความวิตกกังวล(OR = .86; 95%CI = .74-.99) ระยะเวลาที่สูบบุหรี่มวนแรกภายหลังตื่นนอน (5–30นาที) (OR = 4.38; 95%CI = 1.57-12.23) จำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน (OR = 0.11; 95%CI = .02-.55) และการสนับสนุนทางสังคม (OR = 1.10, 95% CI = 1.01-1.20)


ชื่อ-สกุลนิสิต : นางสาวณันฑิยา คารมย์ ชื่อเรื่อง : ปัจจัยทำนายการเลิกสูบบุหรี่ในระยะสั้นในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

(Predictors of Short-term Smoking Cessation among Patients with Chronic Diseases)

อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ : ผศ. ดร. สุนิดา ปรีชาวงษ์

เครื่องมือส่วนตัว