ปัญหาเรื่องกับดับสภาพคล่อง

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ปัญหาเรื่อง "กับดักสภาพคล่อง" คอลัมน์ เศรษฐกิจระบบสารสนเทศ โดย ดร.ฉวีวรรณ สายบัว

อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศลดลงเป็นระลอกๆ ต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับ จนในวันนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์เหลือ เพียง .75% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็น 5.75% ต่อปี และเมื่อปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้วทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากแท้จริงเป็นศูนย์หรือติดลบไปแล้ว ทำให้ผู้ฝากเงินต่างร้องระงมด้วยความผิดหวังที่ผลตอบแทนจากเงินออมของตนเหลือเพียงแทบจะติดดิน

โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับความเดือดร้อนหนัก ก็คือ บรรดาผู้คนที่อาศัยรายได้จากดอกเบี้ยในการดำรงชีวิต เช่น พวกคนเกษียณอายุและเอ็นจีโอที่มีรายได้เพื่อใช้จ่ายในการทำกิจกรรมจากดอกเบี้ยเป็นแหล่งสำคัญ จึงต่างเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องได้ให้ความช่วยเหลือ

ท่ามกลางเสียงร้องระงมด้วยความผิดหวัง และจากความเดือดร้อนของบรรดาเจ้าของเงินออม/เงินฝากดังกล่าว ขณะเดียวกันที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ ก็ประกาศความสำเร็จถึงผลประกอบการประจำปี ที่ต่างก็ยังคงมีกำไรกันเกือบจะถ้วนหน้า และบางธนาคารก็มีกำไรในขนาดเป็นหมื่นๆ ล้านบาท และเช่นเดียวกันรัฐบาลทักษิณก็ป่าวประกาศก้องมาอย่างต่อเนื่องถึงความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจไทย กลับมาขยายตัวในอัตราสูงจากมาตรการปั๊มเศรษฐกิจ/กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนักของรัฐบาล

ความมั่นใจในความสำเร็จว่าเดินมาถูกทาง และมองดูแล้วไม่เห็นว่ามีใคร/พรรคใดที่มีอยู่จะเป็นคู่แข่งที่ทัดเทียมได้ นับวันจึงยิ่งทำให้มั่นใจว่าอย่าง ไรเสียนายกฯทักษิณก็จะต้องกลับมาเป็นนายกฯประเทศไทยในสมัยที่ 2 ตามความต้องการอย่างแน่นอน ไม่เพียงเท่านั้นยังจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวในสมัยหน้าด้วย และแม้หลังจากนายกฯทักษิณแล้วก็จะยังคงเป็นคนของพรรคไทยรักไทยมาเป็นนายกฯ และรัฐบาลเพื่อปกครองประเทศไทยไปอีก 20 ปี ทำเอาพรรคการเมืองและหัวหน้าพรรคการ เมืองไทยที่เหลืออยู่ รวมทั้งพรรคเก่าแก่ที่สุดอย่างพรรคประชาธิปัตย์แทบจะหมดโอกาส/อนาคตกันไปเลย

กลับมาที่ประเด็นของบทความนี้อีกครั้ง ดังกล่าวก่อนที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะลดลงเป็นระลอกๆ ต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับ ผู้เขียนเคยเขียนเอาไว้บ่อยครั้งในบทความที่ผ่านๆ มาว่า ในสภาพการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่ปรากฏขึ้นในครั้งนี้ ที่ถือว่าเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศ จะพบว่า "ดอกเบี้ยแพงก็ไม่ดี ดอกเบี้ยลดก็ไม่ดี" หรือแม้แต่ "ดอกเบี้ยจะเป็นศูนย์ก็ฟื้นไม่ได้" (ดังตัวอย่างกรณีญี่ปุ่น) เหตุเพราะไม่มีโอกาสการลงทุนใหม่หรือไม่มีอุปสงค์การลงทุนใหม่

เชื่อว่าการลงทุนไม่ได้เป็นฟังก์ชันหรือขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยเลย แต่การลงทุนเป็นฟังก์ชันของรายได้ หรือการลงทุนเป็นฟังก์ชันของผลผลิต (output) ผลผลิตที่ผลิตออกมาแล้วขายได้ ก็ผลิตออกมามาก แสดงว่าเป็นการลงทุนที่มีกำไร (profitable)

ดังนั้น ถ้าผลผลิตเป็นฟังก์ชันของการใช้จ่ายหรืออุปสงค์ (growth of demand) ดังกล่าวข้างต้น จะมีปัญหา "กับดักการชะงักงันของการเติบโต" (growth stagnation trap) ยิ่งกว่าเป็นปัญหา "กับดักสภาพคล่อง" (liquidity trap) คือ ภาวะที่การเติบโตมันหายไปมากเพราะการลงทุนมันหายไปมาก หรือการลงทุนมันเหือดแห้ง

ปัญหาเรื่อง "กับดักสภาพคล่อง" จึงยังเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด หรือไม่มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงกันอยู่มาก ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์

ภาวะ "กับดักสภาพคล่อง" ไม่ได้มีความหมายหรือมีเพียงสภาพการณ์ที่ว่ามี "สภาพคล่อง" หรือ "liquidity" มาก ทำให้ธนาคารไม่สามารถปล่อยกู้ได้หรือปล่อยกู้ไม่ออก (ดังในขณะนี้ที่มีสภาพคล่องล้นระบบอยู่ 8 แสนล้านบาท)

ปัญหา "กับดักสภาพคล่อง" ที่เกิดขึ้นในปี 1930 (ปีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หรือ great depression ครั้งแรก) เกิดจากการมีเงินออมมากเกินไป เพราะฉะนั้น ทำให้เกิดการใช้จ่ายรวมหรืออุปสงค์รวมมันมีไม่เพียงพอ (deficient aggregate demand) ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาขายไม่ได้ ทำให้ผู้ผลิตต้องลดการผลิต เกิดกำลังการผลิตถูกทิ้งว่างเปล่าเอาไว้ (idle capacity)

จากสาเหตุข้างต้น เพราะฉะนั้น การที่เคนส์ (ผู้ให้กำเนิดเศรษฐศาสตร์มหภาค) เสนอให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตัวอย่างเอาเงินไปแจกกรรมกรใช้ เอาไปขุดคลอง สร้างถนนหรือสร้างพีระมิด ก็ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยอุปสงค์สำหรับสินค้าและบริการก็เพิ่มขึ้น ก็ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ สามารถใช้ประ โยชน์กำลังการผลิตที่มีอยู่แล้วได้ (existing production capacity/idle capacity)

แต่สาเหตุของการเกิดปัญหา "กับดักสภาพคล่อง" ในเวลานี้ (หรือเรียกว่าเป็นปัญหา growth stagnation trap) มันมีสาเหตุมาจากการลงทุนมันเหือดแห้ง อุปสงค์การลงทุน/โอกาสการลงทุนมันเหือดแห้ง และการที่โอกาสการลงทุนหรือการลงทุนมันเหือดแห้งมันมีสาเหตุมาจากปัญหาทางโครงสร้าง (structural problem) หรือปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจ (imbalance problem) ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในเวลานี้

จากที่ 80% ของผลผลิตของประเทศพัฒนาแล้ว (ยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ และญี่ปุ่น) เป็นผลิตภัณฑ์ไฮเทคทั้งสินค้าเพื่อการลงทุนและสินค้าเพื่อการบริโภค ซึ่งสินค้าเหล่านี้หรือการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าเหล่านี้ของผู้บริโภค ถือว่าเป็น "ค่าใช้จ่ายประเภทที่ต้องวินิจฉัย" (discretionary expenditure) ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ หรือจะซื้อก็ได้ไม่ซื้อก็ได้ เพราะเป็นประเภทสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิตหรือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งอุปสงค์สำหรับสินค้าเหล่านี้ในประเทศร่ำรวยเองก็ค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว จะขายให้ประเทศกำลังพัฒนา/ประเทศที่มีการพัฒนาน้อยก็ไม่มีเงินจะซื้อ ทำให้อุปสงค์สำหรับสินค้าพวกนี้มันลดลงก่อนที่จะคืนทุนได้หมด

เพราะฉะนั้น สมมติคนรวยไม่อยากจ่ายเงินแล้ว รัฐบาลก็จะใช้จ่ายแทนเช่นนั้นมันถูกหรือไม่ เช่น โดยเอาเงินไปจ่ายให้คนจน (ดังมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ ได้แก่ การลดหนี้ ธนาคารคนจน กองทุนหมู่บ้านและอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน) พอคนจนเริ่มมีรายได้ขึ้นแล้วก็เอาเงินไปซื้อรถมอเตอร์ไซค์ รถปิกอัพ โทรศัพท์มือถือ ซื้อของใช้ในบ้านกันเป็นการใหญ่ขึ้นมาอีก (ทำเช่นเดียวกับที่เศรษฐกิจฟองสบู่ของประเทศจะระเบิดออก) หรือเมื่อรวยกันขึ้นมาก็ไปซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศสำหรับคนรวย ซึ่งสินค้าเหล่านั้นล้วนเป็นของต่างประเทศ (foreign products) ก็ไปทำให้ต่างประเทศเขามีฐานะดีขึ้น

แต่การแก้ปัญหาน่าจะโดยทำให้คนจนรวยขึ้นได้จริงๆ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วมีความต้องการหรือมีอุปสงค์ในสินค้าที่คนในท้องถิ่นผลิตได้เอง (local products)

เครื่องมือส่วนตัว