ผงน้ำตาลเกลือแร่

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

อาหารและน้ำที่ไม่สะอาดอาจเป็นสาเหตุทำให้ท้องเสียได้ ยาที่จำเป็นกับอาการดังกล่าว คือ ผงน้ำตาลเกลือแร่ หรือ โออาร์เอส

ผงน้ำตาลเกลือแร่ สามารถรักษาและป้องกันอาการขาดน้ำ ทดแทนเกลือแร่ที่ร่างการสูญเสียไปจากการถ่ายท้องเสีย แม้ว่ายาตัวนี้ จะไม่ได้ทำให้หยุดถ่าย แต่สำคัญอย่างมาก ช่วยเพิ่มน้ำ พลังงานและเกลือแร่แก่ร่างกาย ที่สูญเสียจากการถ่าย ลดความรุนแรงที่จะตามมาได้ และช่วยให้หายเร็วขึ้น


วิธีใช้

หลักการใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่

  • เริ่มละลายน้ำดื่มเมื่อเริ่มมีอาการ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ทันทีที่ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ
  • ควรใช้กับอาการท้องเสียเฉียบพลัน กรณีท้องเสียเรื้อรัง ควรรักษาอาการขาดน้ำและเกลือแร่ พร้อมส่งต่อให้แพทย์วินิจฉัยต่อไป
  • ปริมาณสารละลายเกลือแร่ที่รับประทาน ให้รับประทาน เท่ากับปริมาณอุจจาระที่ถ่ายออกมาในแต่ละครั้งโดยประมาณ
  • เด็กที่กินนมแม่ ควรให้กินนมแม่ต่อไป สลับกับการป้อนสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ 50 – 100 มิลลิลิตร ( ครึ่งแก้ว )
  • เด็กที่กินนมผสม อาจให้กินนมผสมได้ตามปกติ แต่เพียงครึ่งเดียว สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่อีกครึ่งหนึ่งแทน แต่ถ้าหากไม่แน่ใจว่าเด็กท้องเสียจากนมผสมหรือไม่ ก็ควรหยุดนมไว้ก่อน
  • สำหรับเด็กโต ควรเริ่มให้อาหารใน 4 ชั่วโมงหลังดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่แล้ว อาหารเช่น โจ๊ก ข้าวต้ม จะช่วยให้ลำไส้ได้อาหารและฟื้นตัวเร็วขึ้น ยกเว้นว่าผู้ป่วยมีอาเจียน ก็ควรรอให้อาการดีขึ้นก่อน
  • หยุดให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เช่น ถ่ายน้อยลง และให้รับประทานอาหารอ่อนๆย่อยง่ายๆ กินครั้งละน้อยๆ แต่เพิ่มจำนวนมื้อ


ขนาดและวิธีผสมผงน้ำตาลเกลือแร่

  • ใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซองใหญ่ ผสมน้ำสะอาด 1 ขวด ( ขวดน้ำเปล่า ประมาณ 750 มล.) หรือแบบซองเล็ก 1 ซอง ผสมน้ำสะอาด 1 แก้ว ใช้ดื่มแทนน้ำเมื่อมีอาการท้องร่วง ให้ดื่มบ่อยครั้งเท่าปริมาณของเหลวที่ถ่ายออกมา ถ้ามีอาการคลื่นไส้/อาเจียนร่วมด้วย ให้ดื่มทีละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง
  • ในเด็กเล็กๆ ให้เจือจางมากกว่านี้ 1 เท่าตัว
  • เมื่อละลายน้ำแล้ว หากทิ้งไว้เกิน 24 ชั่วโมง ยาจะบูดเสีย ให้ทิ้งไม่ควรใช้ต่อไป
  • อย่าละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ในน้ำร้อน


ข้อควรระวัง

ให้รีบไปพบแพทย์ หากได้รับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ไปแล้ว 8 – 12 ชั่วโมงแต่ยังคงมีอาการต่อไปนี้

  • อาเจียนมากขึ้น
  • ถ่ายมากขึ้น ถ่ายเป็นมูกเลือด
  • มีไข้สูง ชัก
  • ตาลึกโหล ปัสสาวะน้อย หายใจหอบ



ผู้รับผิดชอบบทความ : ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรียบเรียงและดูแลโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงอภิฤดี เหมะจุฑา

เครื่องมือส่วนตัว