ลัทธิต่อต้านอเมริกา

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ลัทธิต่อต้านอเมริกา คอลัมน์ เศรษฐกิจระบบสารสนเทศ โดย ดร.ฉวีวรรณ สายบัว

ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอเมริกันศึกษา หรือสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือกิจการต่างประเทศ (และก็ไม่ใช่นักเรียนอเมริกัน) แต่ก็คงเหมือนกับคนอีกมากมาย ที่มีความสนใจและคอยติดตามความเป็นไป ของสถานการณ์โลก จึงมีประเด็นหนึ่งที่เห็นว่า น่าจะทำความรู้ความเข้าใจกันว่า ทำไมในบ้านเราเองก็เถอะ ยังมีคนไทยไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะในระหว่างคนที่มีโอกาสได้แสดงออก หรือแสดงความคิดเห็นโดยการพูด หรือการเขียนผ่านทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ คอลัมนิสต์ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน คน และกลุ่มคนในวงการอื่นๆ อีกมาก

ส่วนใหญ่แล้วถึงได้แสดงความคิดเห็นหรือ วิพากษ์วิจารณ์ในแง่ที่ติเตียนไม่ชอบ คัดค้านต่อต้าน หรือถึงขั้นเป็นปรปักษ์ กับอเมริกาไปเลย แล้วอาศัยข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือความรู้ความเข้าใจอะไรเกี่ยวกับบทบาท หรือการกระทำอะไรของอเมริกา ต่อประเทศอื่นหรือในเวทีโลก หรือบนพื้นฐานความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติอะไรของตนเอง จึงแสดงออกมาเป็นการต่อต้านอเมริกาเช่นนั้น

เป็นต้นว่าการแสดงความคิดเห็นหรือทรรศนะว่า การที่อเมริกาตัดสินใจทำสงครามกับอิรัก (ทั้งๆ ที่สหประชาชาติ ประเทศมหาอำนาจอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และประเทศอีกมากมาย ก็มีมติ/แสดงออกในทางที่ไม่เห็นด้วย) นอกเหนือจากเหตุผลที่เชื่อว่าซัดดัมกับพรรคพวกมีอาวุธ และผลิตอาวุธที่จะเป็นอันตรายต่อโลก (เคมี-ชีวภาพ และนิวเคลียร์) สนับสนุนกระบวนการการก่อการร้ายอัล-เคดาของบิน ลาเดน แล้วก็เพราะอเมริกา ต้องการเข้าไปครอบครอง เป็นเจ้าของบ่อน้ำมันของอิรัก

หรือบ้างก็บอกว่า/พูดว่า ก็เพื่อต้องการใช้ สงครามเป็นเครื่องมือ หรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของอเมริกา ที่กำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่ เพื่อสนับสนุนการขยายกำลังการผลิต ของอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ หรือของนักธุรกิจค้าอาวุธ ของอเมริกา หรือการกล่าวหาว่า อเมริกาชอบทำตัวเป็นตำรวจโลกเข้าไปแทรกแซง/ จัดการกิจการภายในของประเทศอื่นๆ ไปทั่วโลก (พูดเสมือนว่าถ้าใครไม่เห็นด้วยกับอเมริกา หรือถ้าอเมริกาไม่ชอบใครก็จะใช้กำลังเข้าไปถล่มประเทศนั้นง่ายๆ แบบนั้นเลยทีเดียว)

คำติเตียน หรือทรรศนะต่อการกระทำของอเมริกาดังข้างต้นมันมีน้ำหนัก หรือเหตุผลเพียงพอหรือไม่ ที่อเมริกาต้องบุกอิรักเพียง เพื่อต้องการน้ำมันของอิรักมาเป็นของตน (เพราะอเมริกาก็มีบ่อน้ำมันของตนเองในบ้าน ร่ำรวยพอจะซื้อน้ำมันใช้จากเงินของตนเองได้ หรือแม้จะมีเหตุผลในเรื่องน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ก็คงเป็นเหตุผลในแง่เพื่อป้องกัน/ดูแลใน เรื่องความมั่นคงทางด้านน้ำมัน/พลังงานของโลกโดยส่วนรวม จากที่เกรงว่าผู้นำอิรักอาจจะเผาทำลายบ่อน้ำมันของตนเอง)

หรือที่บอกว่าการรุกรานอิรักก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ/มาตรการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในภาวะย่ำแย่ของอเมริกา หรือเพื่อให้บริษัทอเมริกันได้โครงการในการฟื้นฟูอิรักภายหลังสงครามแล้วไปทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพยากร/ จำนวนเงินมากมายมหาศาลที่ต้องใช้ในการทำสงครามและทหารอเมริกันอีกจำนวนมากมายที่ต้องสูญเสียชีวิตไป (ซึ่งอเมริกาเป็นประเทศที่คำนึงหรืออ่อนไหวในเรื่องการสูญเสียชีวิตทั้งพลเรือนและทหารของตนมาก) ดูอย่างไรแล้วก็ไม่เห็นว่ามันจะคุ้มค่ากันตรงไหนหรือเป็นเหตุผลที่ไม่น่าจะฟังขึ้นเลย

นอกจากนั้น ในประวัติศาสตร์ที่เป็นมาของโลกที่อเมริกาต้องส่งกองทัพ หรือกองกำลังทหารของตน เข้าไปในหรือเข้าไปยึดครองประเทศต่างๆ ในโลกเพื่อเข้าไปช่วยประเทศ/ ประชาชนของประเทศนั้นๆ ในการปราบปราม หรือโค่นล้มผู้นำ รัฐบาลหรือผู้ปกครอง/ระบอบการปกครองเผด็จการของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แล้วหลังจากนั้นก็ช่วย ในการฟื้นฟู จัดตั้ง และพัฒนาประเทศนั้นให้หันมาสู่การมีรัฐบาล/ การปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังกรณีตัวอย่างเยอรมนี หรือญี่ปุ่น แต่อเมริกาไม่เคยเลยที่จะไปยึดเอาประเทศใดในโลก มาเป็นอาณานิคมหรือเมืองขึ้นของตน อย่างเช่นที่ประเทศในยุโรปตะวันตก เที่ยวไปยึดครองดินแดนต่างๆ ทั่วทุกทวีปมาเป็นอาณานิคมของตน ดังที่เป็นมาในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าไม่ใช่พวกคนไทยดังที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น (หรือไม่ใช่พวกมุสลิมหัวรุนแรงเท่านั้น) ที่ไม่ชอบ เกลียดชังหรือต่อต้านอเมริกา แต่มีผู้คนทั่วโลกที่ไม่พอใจเกลียดชังหรือต่อต้านอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นชาวเติร์ก ชาวอาหรับ ชาวยิว ฝรั่งเศส อิตาเลียน คนเยอรมัน ชาวเช็ก คนเกาหลีเหนือ คนสกอต หรือแม้แต่ชาวอังกฤษที่ถือว่าเป็นมิตรหรือมีความเป็นเพื่อนกับอเมริกามากที่สุด

อเมริกาถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกบ้าระห่ำ พวกไม่ยั้งคิด คนพาล ไม่มีหลักการ พวกโลภอยากได้น้ำมัน หรือแม้แต่ผู้นำของอเมริกาในปัจจุบันก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนปัญญาอ่อน เป็นเผด็จการที่ขโมยการเลือกตั้งและข้อกล่าวหาจำนวนนับไม่ถ้วนอื่นๆ

เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่ยอมรับหรือเห็นกันว่า "ลัทธิต่อต้านอเมริกา" (anti-Americanism) มีจริงและได้เติบโตขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์โจมตีตึกแฝดเวิรลด์เทรดเซ็นเตอร์และตึกเพนตากอนเมื่อวันที่ 11 กันยายน (ของปี 2544) ไม่ใช่เพราะการโจมตีเหล่านั้น แต่เพราะนับตั้งแต่นั้นมาอเมริกาใช้หรือคุยถึงการใช้กำลังทหารของตนหรือการประกาศทำสงครามกับการก่อการร้าย หรือในความเป็นจริงมันเป็นมาตั้งแต่การเดินขบวนต่อต้านนิวเคลียร์ สงครามเวียดนาม และการโต้เถียงในเรื่องเรือดำน้ำติดจรวดในช่วงเวลาสงครามเย็น

ยิ่งไปกว่านั้นแม้ว่าในปัจจุบันแนวโน้มของลัทธิต่อต้านอเมริกาไม่เป็นที่น่าพอใจหรืออยู่ในช่วงขาขึ้น แต่มีการศึกษาโดย Pew Research Center พบว่าขนาดของมันมองแล้วไม่น่าเกรงขาม เพราะความจริงค่านิยมของอเมริกาและของพันธมิตรอเมริกาส่วนใหญ่ไม่ได้แตกต่างกันและก็ไม่ได้ไม่เหมือนกัน การสำรวจความคิดเห็นเมื่อไม่นานมานี้ของสถาบันดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าลัทธิต่อต้านอเมริกาสูงขึ้น แต่ก็ยังเป็นทรรศนะของคนกลุ่มน้อย

จากผู้คนที่ถูกสำรวจใน 42 ประเทศ พบว่า อเมริกาถูกมองในทางที่ชื่นชอบโดยคนส่วนใหญ่ใน 35 ประเทศ จาก 42 ประเทศที่สำรวจ คนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นพันธมิตรของอเมริกาสนับสนุนการทำสงครามกับการก่อการร้าย คนส่วนใหญ่นิยมชมชื่นกับวัฒนธรรมของอเมริกา และเกือบจะทั้งหมดรู้สึกปลอดภัยน้อยลงถ้ามีมหาอำนาจอื่นท้าทายมหาอำนาจอเมริกา (super power)

ความนิยมชมชื่นนี้มีผลในทางปฏิบัติ กล่าวคือ นอกเหนือจากการเดินขบวนต่อต้านใน ท้องถนน ผู้นำในประเทศส่วนมากเห็นด้วยกับนโยบายของอเมริกานับตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยายน เมื่อประธานาธิบดีจอร์จ บุช เอาประเด็นเรื่องอิรักเข้าสู่การพิจารณาของสภา ความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สุดท้ายเขาก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อเขาลบล้างอย่างทระนงในสนธิสัญญา anti-ballistic missile รัสเซียและจีนให้การยินยอม อเมริกามีฐานทัพทางทหารอยู่ 17 แห่งนอกอเมริกา

และเมื่อมีแรงผลักดันมาอเมริกา โดยทั่วไปก็จะได้ตามที่เขาต้องการจากพันธมิตรของตน ไม่ใช่เพราะว่าอเมริกาเข้มแข็งเหลือเกินในทางทหาร แต่เพราะดังเช่นที่บุชกล่าวว่า "อเมริกาและพันธมิตรยึดถือค่านิยมเหมือนกันในเรื่องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย" ดังนั้น ในตอนสุดท้ายหรือแม้แต่ในตอนเริ่มต้นประเทศอื่นๆ โน้มเอียงที่จะต้องการอะไรที่อเมริกาต้องการและที่จะไว้วางใจอเมริกาไม่มากก็น้อยที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม มีคำถามเกิดขึ้นมาแล้วในตอนนี้ (แม้ว่ายังอาจจะไม่แน่ใจ) ว่าเวลาได้มาถึงแล้วหรือยัง เมื่อความต้องการหรือการไว้วางใจ อาจพังทลายลง เพราะอเมริกายังถูกวิจารณ์/ มีผู้ไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในช่วงสงครามเย็นที่บ่อยครั้งมากถูกวิจารณ์ว่าค่อนข้างตึงตัง และไม่มีหลักการ ในการที่จะให้บรรลุเป้าหมายพื้นฐานของตน คือความพ่ายแพ้ของระบอบคอมมิวนิสต์ การที่อเมริกาให้การสนับสนุนผู้ปกครองเผด็จการ มา 20, 30 หรือ 40 ปีมาแล้ว (ที่ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ในช่วงเวลานั้น แต่นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง ประชาธิปไตยก็แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง และนโยบายอเมริกันมุ่งตรงไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยมากกว่าที่เคยมีมาก่อน)

นอกจากนั้นแล้วแม้ว่าอเมริกา ยุโรป และพันธมิตรอื่นดูเหมือนมีค่านิยมเหมือนกันดังกล่าว แต่ยังมีผลจากการสำรวจ ของสถาบันดังกล่าวมาในตอนต้นพบว่า อเมริกาแตกต่างออกไป ในระหว่างประเทศร่ำรวยด้วยกัน ในแง่ความเคร่งทางศาสนา ความเป็นชาตินิยม และการยึดถือตามธรรมเนียมประเพณี (more traditional) ขณะที่ประเทศยุโรปส่วนใหญ่ และญี่ปุ่น ได้กลายมาทางโลกมากกว่า (more secular)

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นผสมผสานกับการใช้การฟื้นฟูกองกำลังทหารนับตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยายน อารมณ์ และความรู้สึก คัดค้านอเมริกาจึงได้เติบโตขึ้น จุดมุ่งหมายของอเมริกาเป็นสิ่งที่ดีงามและวิธีที่ใช้ฟังดูดี แต่ผู้คนรู้สึกว่าไม่เป็นการเพียงพอ ความรู้สึกคัดค้านอเมริกามีผลเพราะถ้าผู้นำประเทศที่เป็นพันธมิตรเห็นว่า ความคิดเห็นคัดค้านอเมริกามีผลต่อผู้ออกเสียงที่แกว่งไปมา ซึ่งจะมีผลต่อการเมืองของตน ก็อาจหันกลับมาขัดขวางการปฏิบัติงานของอเมริกาในอิรัก ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง เกาหลีเหนือ และในที่อื่นๆ ที่อเมริกาต้องทำให้สำเร็จถ้าต้องการทำให้เสียงวิจารณ์เชื่อ

ดังนั้น แม้อเมริกาจะรู้สึกว่าอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ก็มีข้อเสนอแนะกันออกมาว่า ประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาต้องใช้ความพยายามมากขึ้นที่จะขอคำปรึกษาพันธมิตรของตน และโน้มน้าวคนเหล่านั้นให้ความสนับสนุนตนและต้องกระทำต่อสาธารณชน รับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนอย่างเต็มที่มากกว่าการโทรศัพท์ไปมาระหว่างเมืองหลวงของโลก และอเมริกาต้องการให้ผู้นำของตนเองโน้มกลับมามองข้างหลังเพื่อทะนุถนอมมิตรภาพของอเมริกา และแสดงให้เห็นว่าทรรศนะของคนอื่นๆ สำคัญตราบเท่าที่ความช่วยเหลือของเขาสำคัญ ซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นที่แท้จริง

กลับมาที่ประเทศไทย ไม่เห็นว่าอเมริกาหรือต่างประเทศที่ไหนพยายามคุกคามหรือทำลายประเทศไทย เราเสียอีกที่ได้ประโยชน์เพราะการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่ หรือเกือบจะทั้งหมดเป็นการพัฒนาทางกายภาพ (physical development) ก็เป็นผลจากยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยอาศัยทรัพยากรต่างประเทศ (ทั้งทุน เทคโนโลยี สินค้าและบริการต่างๆ จากต่างประเทศ) โดยเสรีทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน

ปัญหามากมายของบ้านเมืองทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมจึงไม่ได้เกิดจากการกระทำของต่างประเทศ แต่เกิดจากการกระทำของเราเอง ของการเป็นสังคมที่ทำลายตนเองและทำลายผู้อื่น ทำลายลูกหลานของตนเอง (self destruction) ร้ายแรงถึงขั้นมีคำพูดกันออกมาแม้ดูเสมือนเป็นการพูดตลกหรือพูดกันเล่นๆ (แต่แฝงความจริงอย่างมาก) ว่า "ประเทศไทยดีทุกอย่าง เสียอย่างเดียวมีคนไทยอาศัยอยู่" เพราะฉะนั้นศัตรูตัวจริงของประเทศไทยก็คือคนไทยนั่นเอง

เครื่องมือส่วนตัว