วิกฤตชายแดนภาคใต้บอกอะไรมาก

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

วิกฤตชายแดนภาคใต้บอกอะไรมาก (เช่นกัน) คอลัมน์ เศรษฐกิจระบบสารสนเทศ โดย ดร.ฉวีวรรณ สายบัว

ผู้เขียนไม่ค่อยเป็นคนประเภทรักการท่องเที่ยวหรือการเดินทางเอาเสียเลย (ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ) ส่วนใหญ่ที่เดินทางก็มักเป็น เหตุผลเพื่อการศึกษา และการงานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น โดยเฉพาะไม่ค่อยจะมีโอกาสเดินทาง ไปเยือนจังหวัดในภาคใต้สักเท่าไหร่เลย (เมื่อเปรียบเทียบกับที่เคยเดินทางไปจังหวัดในภาคอื่นๆ)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้มีโอกาสร่วมงานวิจัยของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ซึ่งส่วนหนึ่งของงานวิจัยนี้ จะต้องมีการสำรวจภาคสนาม เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและสังเกตการณ์ถึงสถานการณ์การประกอบอาชีพบางประเภทของประชาชนไทย (อาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ) ซึ่งรวมทั้งการประกอบอาชีพเหล่านี้ของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ด้วย จึงนับเป็นโอกาสดีที่ได้สำรวจภาคใต้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่จังหวัดแรกคือประจวบคีรีขันธ์จนถึงจังหวัดปลายสุดของภาคใต้คือนราธิวาส

เพียงครั้งแรกที่ได้สัมผัสเห็นภาพรวมๆของภาคใต้โดยทั้งหมด(แม้ไม่มีส่วนรายละเอียด)ทำไมความรู้สึก และความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาภาคใต้ มันจึงพรั่งพรูออกมาน่าจะเพราะความตื่นตาตื่นใจ ความประทับใจในทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศของภาคใต้ ซึ่งเขียวมาก (ไม่แห้งแล้งดี) ด้วยภูเขา และต้นไม้มากมายทำให้อากาศก็ไม่ค่อยร้อนมาก แต่ ชุ่มชื้นและฝนตกชุก แหล่งที่เป็นแม่น้ำ และป่ายังอุดมสมบูรณ์มาก และแวดล้อมด้วยทะเลทั้ง 2 ด้านของพื้นที่รูปด้ามขวานของภาคใต้ของประเทศไทย

และยังอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ดูสวยงามไม่ธรรมดา หรือดูมีระดับดี (ไม่แพ้ต่างประเทศ) (ภาคใต้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องร่ำรวยมั่งคั่ง เพียงจากการขุดการเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาขายกัน เช่น ดีบุก แร่ และพลังงานอื่นๆ ยางพารา สวนปาล์ม สวนผลไม้ ไม้และสัตว์น้ำเหมือนอย่างในอดีตเท่านั้น เพราะเมื่อสิ่งเหล่านี้ร่อยหรอลงมันจึงทำให้ฐานะ และความสามารถทางเศรษฐกิจของภาคใต้/คนใต้ตกต่ำลงไปจากเมื่อครั้งในอดีตมาก)

จากสิ่งที่ภาคใต้มีก็น่าจะมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง ให้ได้ดีและได้บรรยากาศ ควรค่ากับทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศที่ดีของภูมิภาค ทำให้นึกไปถึงภาพความสำเร็จ ของการพัฒนาประเทศอย่างประเทศนิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย (หรืออย่างบางรัฐของออสเตรเลีย เพราะแต่ละรัฐของออสเตรเลียมีขนาดใหญ่โตมาก) ซึ่งเป็นประเทศในแถบเอเชียเหมือนกัน และไม่ห่างไกลจากประเทศไทยเท่าไหร่นัก หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทัดเทียมกับประเทศอย่างมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านอยู่ติดชาย แดนกันและอยู่ใกล้ชิดกันมาก (ไม่ใช่พัฒนาตามแบบอย่าง ของการพัฒนาประเทศไทยโดยรวม ที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันที่มีแต่การพัฒนาเชิงปริมาณ หรือทางกายภาพซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่ล้มเหลวมากกว่า)

ตัวอย่างแม้แต่จังหวัดระนองซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ (เล็กสุดของภาคใต้ และของประเทศไทย) ก็มีภูมิทัศน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัด (ที่แตกต่างไปจากที่อื่นๆ) มีส่วนที่อยู่บนภูเขา มีส่วนที่อยู่บนพื้นราบ มีป่า มีแม่น้ำ มีแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติ มีสวนยางพารา มีสวนผลไม้ มีการประมงและมีแพปลา ตกเย็นมาก็มีอากาศที่เย็นสบาย บรรยากาศดูดีสวยงามและเป็นธรรมชาติ ทำให้นึกถึงเมืองในชนบทที่สวย งามอย่างในประเทศยุโรป หรือทำให้นึกถึงการพัฒนาให้ได้ดีอย่างประเทศเล็กๆ เช่น สิงคโปร์ หรืออย่างประเทศเล็กๆ (ที่มีประชากรไม่มาก) ในยุโรป (ต้อง การเพียงแต่คนที่ทำเป็น พัฒนาเป็น ไม่ใช่ใครก็ได้)

ส่วนสงขลาซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ โดยเฉพาะตรงส่วนตัวเมืองหาดใหญ่อันลือชื่อ ผู้เขียนรู้สึกว่า มันเหมือนกับย่านเยาวราช/สำเพ็ง หรือที่เรียกว่า ไชน่าทาวน์ของกรุงเทพฯ ที่ขายแต่สินค้าหนีภาษีราคาถูก และไม่ค่อยมีคุณภาพเต็มไปหมด และดูเหมือนจะขายบริการของหญิงบริการกันคึกคักมาก (มีนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่หนีจากกฎ และความเข้มงวด ในเรื่องเหล่านี้ในบ้านเมืองของเขาเอง แล้วมาปลดปล่อยออกที่ประเทศไทย) ทำให้ดูเป็น การท่องเที่ยวราคาถูก ไร้วัฒนธรรมอันดี ไร้รสนิยมและเกรดต่ำลง (ซึ่งดูมันขัดกับจิตวิญญาณ และภูมิทัศน์ของภาคใต้อันสวยงามโดยรวมๆ อย่างไรก็ไม่รู้)

เช่นเดียวกัน ในส่วนจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักสำคัญ แหล่งท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดใจมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย และติดอันดับแหล่งท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดใจแหล่งหนึ่ง สำหรับนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งแม้จะดูเหมือนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเกรด มีระดับสูงขึ้น แต่มันก็ยังดูเหมือนว่ายังไม่ได้รับการพัฒนา ยังไม่ได้ถูกยกระดับให้เต็มศักยภาพที่มีอยู่ (full potential) ให้ทัดเทียมกับแหล่งท่องเที่ยวระดับมาตรฐานโลก (นึกถึงแหล่งท่องเที่ยวแถบเมดิเตอร์เรเนียน หรือแหล่งท่องเที่ยวอย่างนิวซีแลนด์ ออสเตรเลียหรือสิงคโปร์เพื่อนบ้าน) เพื่อเพิ่มมูลค่า (value added)

แต่แล้วทำไมในความเป็นจริงภาคใต้จึงไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร หรือให้สมกับที่มีศักยภาพอย่างมากดังกล่าวมาข้างต้น (ตัวอย่างแม้แต่การพัฒนาเส้นทางคมนาคมสู่จังหวัดภาคใต้ และในระหว่างจังหวัดภาคใต้ด้วยกัน ทั้งเส้นทางทางอากาศ และทางบก หรือทางถนนโดยเฉพาะเส้นทางทางถนน (น่าจะมีเส้นทางไฮเวย์อย่างดี เช่นมาเลเซียได้) เพื่อให้เกิดความง่ายขึ้น และย่นระยะเวลาเดินทางสู่ภาคใต้ และสู่จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ และการพัฒนาที่จะช่วยลบล้างภาพลักษณ์ของภาคใต้ ในสายตาของคนภายนอก ที่ยังเป็นดินแดนหรือพื้นที่ที่แปลก/ ไม่เป็นที่คุ้นเคย/ ไม่ค่อยน่าอบอุ่นใจ และไม่ค่อยจะมีความปลอดภัยนัก (ไม่ใช่เฉพาะที่ชายแดนภาคใต้แต่ภาคใต้โดยทั่วไป ซึ่งอาจเป็นเพราะมักจะมีข่าว อาชญากรรมหรือการลอบฆ่ากันเองเกิดขึ้นบ่อยและโลกที่ยังไม่เปิดออกเต็มที่นักของภาคใต้)

กลับมาอีกครั้งที่คำถามว่า ทำไมในความเป็นจริงภาคใต้จึงไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร หรือให้สมกับการเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพอย่างมาก ดังกล่าวมาข้างต้น (นอกเหนือจากจะเป็นเหตุผลเช่นเดียวกับ คำถามที่ว่า ทำไมประเทศไทยที่พัฒนามาพร้อมกับญี่ปุ่น และในจุดเริ่มต้นประเทศไทยมีโอกาสดีกว่าญี่ปุ่นมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าของโลก ขณะที่ประ เทศไทย จนถึงปัจจุบันก็ยังถือว่า เป็นประเทศในโลกที่ 3 หรืออยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอยู่เช่นเดิม)

สิ่งที่ผุดขึ้นมาในความนึกคิดในการหาเหตุผลให้กับคำถามดังข้างต้นในเบื้องต้นก็คือ (1) อิทธิพลจากการครอบงำความคิดในการพัฒนาจากส่วนกลาง/ รัฐบาลกลางหรือจากผู้ปกครองส่วนกลาง ที่มีเหนือภาคอื่นๆ รวมทั้งภาคใต้ (2) สมาชิกรัฐสภา (หรือ ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นตัวแทนของประชาชนภาคใต้ เพราะครอบงำคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนใต้เกือบจะทั้งหมด มาโดยตลอด (3) คุณชวน หลีกภัย นักการเมือง และสมาชิกรัฐสภาหลายสมัยมากที่สุดของระบอบประชาธิปไตยไทย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกรัฐมนตรี 2 สมัยของประเทศไทย และ (4) นึกถึง "คนใต้" ในฐานะทรัพยากรมนุษย์ หรือที่จะเป็น "ทุนมนุษย์" สำคัญในการพัฒนาภาคใต้ เมื่อนึกถึง "คนใต้" กับการพัฒนาดังกล่าว ทำให้นึกถึงสิ่งที่ผู้รู้เคยเปรียบเทียบให้ฟัง ถึงปัญหา หรือจุดอ่อนของคนในแต่ละภาค ของประเทศไทย ซึ่งถ้าจะแก้ไขปัญหา หรือให้เกิดการพัฒนาขึ้น ก็ต้องสนใจที่จะแก้ไขตรงส่วนที่เป็นปัญหา หรือจุดอ่อนนั้นให้ดีขึ้น

โดย (1)จุดแข็งและจุดอ่อนของ "คนกรุงเทพฯ และคนภาคกลาง" คือเป็นคนฉลาด แต่ไม่มีคุณธรรม (คนกรุงเทพฯ และคนภาคกลางจึงมีอำนาจปก ครองเหนือคนภาคอื่นของประเทศมาโดยตลอด แต่ไม่ใช่ผู้นำ/ผู้ปกครองที่ดี) (2)"คนภาคเหนือ" มีบุคลิกลักษณะที่ค่อนข้างเป็นคนอ่อน คนจืด ไม่แข็งกร้าวจึงไม่ค่อยสร้างปัญหาให้แก่ผู้ปกครอง (หรือเป็นผู้ใต้ปกครองที่ดี) เพราะฉะนั้น คนเหนือที่เป็นเรื่องเป็นราวแล้ว (หรือที่พัฒนาตนเองดีแล้ว) น่าจะเป็นคนที่แข็งกร้าว หรือก้าวหน้าเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

ส่วน (3) คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ "คนอีสาน" นั้นค่อนข้างเป็นคนจิตใจดี มีศีลธรรม เป็นคนซื่อ (ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร) แต่ด้วยเป็นคนในภาคที่มีฐานะยากจนที่สุดของประเทศ อาจทำให้คนอีสาน รู้สึกว่าตนเองต่ำต้อย กว่าคนภาคอื่น เปิ่น ไม่ทันสมัย ไม่ทันคน ไม่กล้าเสียงดัง คนอีสานจึงมักถูกคนภาคอื่นเรียกล้อเลียนว่า "บักเสี่ยว" เพราะฉะนั้น คนอีสานที่เป็นเรื่องเป็นราวแล้วจะต้องเป็นคนที่ "เสียงดังขึ้น"

และสำหรับ (4) "คนใต้"นั้น ที่ปรากฏออกมาให้คนภาคอื่นเห็นชัดเจน ค่อนข้างเป็นคนแข็ง (น่าจะปกครองยาก) พูดเสียงดัง หัวหมอ ฝักใฝ่เรื่องการเมือง (ดูเหมือน) เป็นคนมีหลักการ/ อุดมการณ์และเป็นคนรักพวกพ้อง/ ภาคนิยม แต่บุคลิกลักษณะ 2 อันหลังนี้มันเป็นจุดอ่อนหรือปัญหา (รึเปล่า?) เพราะการเป็นคนเจ้าหลักการ/อุดมการณ์ซึ่งดูเป็นคนมีสิ่งยึดในชีวิตที่สูงส่ง (higher sense of value) แต่สิ่งนี้มันขัดกับความเชื่อหรือค่านิยมในเรื่องการรัก (แต่) พวกพ้องของตนเอง/ภาคนิยม

ทำให้เกิดคำถามหรือความสงสัยในสายตาของคนภาคอื่นว่า คนใต้เป็นคนมีอุดมการณ์จริงหรือไม่ อุดมการณ์กับการกระทำมันไปด้วยกัน หรือไม่ มีแต่อุดมการณ์แต่ทำไม่เป็นหรือไม่ หรือแปลง อุดมการณ์ไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่ (กล่าวโดยสรุป) เพราะฉะนั้น คนใต้ที่เป็นเรื่องเป็นราวแล้วจะเป็นคนพูด "เสียงเบาลง" หรือเป็นคนอย่างท่านพุทธทาส

นอกเหนือจากสิ่งที่ภาคใต้มี ที่ทำให้ภาคใต้แตกต่างไปจากภาคอื่นที่ทำให้น่าสนใจและน่าประทับใจต่อการที่จะได้พูดถึง/เขียนถึง ดังนำเสนอมาในตอนที่แล้ว

ภาคใต้ก็ยังมีอะไรอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้น่าสนใจและน่าประทับใจทัดเทียมกันต่อการที่จะได้พูดถึง/ เขียนถึงเช่นกัน เพราะส่วนนี้โดยตัวของมันเองแตกต่างไปจากส่วนใหญ่หรือส่วนที่เหลือของภาคใต้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ส่วนที่พูดถึงนี้ก็คือส่วนที่เป็นภาคใต้ตอนล่าง (อันหมายถึงจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ซึ่งทุกจังหวัดเหล่านี้ล้วนมีชายแดนติดกับมาเลเซีย กล่าวโดยเฉพาะเจาะจงที่อยากจะพูดถึง/เขียนถึงในที่นี้ ก็คือ ส่วนที่เป็น 3 จังหวัดชายแดนล่างสุดของภาคใต้ คือ ส่วนที่เป็นจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ซึ่ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบอยู่ในขณะนี้ แม้เป็นที่รับทราบกันดีโดยทั่วไปว่าปัญหาความไม่สงบนี้มีมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนลงความเห็นกันออกมาแล้วว่าความไม่สงบหรือการก่อความไม่สงบในครั้งล่า สุดนี้ถือว่าเป็น "ครั้งร้ายแรงที่สุด" หรือเป็น "ภาวะวิกฤต" (นับตั้งแต่มีการผนวกเอารัฐอิสลามปัตตานีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศเลยทีเดียว)

เพราะการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นมีลักษณะของความรุนแรงมาก เป็นไปในหลากหลายรูปแบบ และเป็นเวลาต่อเนื่องกันยาวนาน (คือนับตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมเป็นต้นมา) อันทำให้สถานที่ราชการอย่างโรงเรียน ต้องถูกเผาวอดไปเป็นจำนวนมาก การบุกเข้าไปปล้นปืนถึงใน หน่วยงานทหารไปได้เป็นจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่รัฐ (ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น) ชาวบ้าน และแม้กระทั่งพระสงฆ์ก็ถูกลอบทำร้าย และถูกลอบปลิดชีวิตทั้งด้วยปืน และด้วยมีดกันเป็นรายวัน

นับถึงวันนี้เกือบ 60 รายเข้าไปแล้ว รวมทั้งยังมีจดหมายข่มขู่ ที่จะดำเนินยุทธการปลิดชีวิต รายวันหรือ "ยุทธการใบไม้ร่วง" กันต่อไป สร้างความหวาดกลัว และความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพประจำวัน ของประชาชนโดยทั่วไป จนถึงวันนี้หน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ทั้งหมด และรัฐบาลดูเหมือนจะยังไม่รู้ว่า จะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่กลับคืนสู่ความสงบกันได้อย่างไร

ในตอนที่ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางสำรวจภาคใต้รวมทั้งการสำรวจลงไปถึงพื้นที่หรือดินแดนใน 3 จังหวัดล่างสุดของภาคใต้นี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ของผู้เขียน ความรู้สึกบอกได้ทันทีว่า พื้นที่ส่วนนี้ของภาคใต้ไม่เหมือนส่วนใหญ่หรือส่วนที่เหลือของภาคใต้ (และแตกต่างไปจากพื้นที่ส่วนที่เหลือของประเทศไทยเลยก็ว่าได้) อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกที่ว่า "แปลก" หรือ "แตกต่าง" ไปจากพื้นที่ส่วนอื่นดังกล่าวไม่ได้มีความหมายไปในทางลบหรือทางไม่ดีเลย (ตรงกันข้ามเป็นไปในทางบวกหรือทางที่ดี)

เริ่มจากภาพของ 3 จังหวัดที่ได้เห็นด้วยสายตาตนเองมันดีกว่าภาพที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องราว และเหตุการณ์ของพื้นที่ ที่ออกมาผ่านทางสื่อต่างๆ ดูเป็นจังหวัดที่ไม่ได้ใหญ่โต อะไรนัก แต่ก็ดูดี มีความเป็นธรรมดา หรือเป็น ธรรมชาติดี (ที่ยังไม่ถูกเคลือบถูกปรุงแต่งมากด้วยความเจริญทางวัตถุ/ทางกายภาพ) และก็ดูสวยงาม เป็นระเบียบและสะอาดสะอ้านดีด้วย

โดยเฉพาะจำได้ว่าประทับใจมากเป็นพิเศษ กับจังหวัดปัตตานีที่เป็นเมืองเล็กๆ สวยงาม และมีผังเมืองออกมาดีมาก (ซึ่งแปลกไปจาก จังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพฯที่เป็น เมืองหลวง ที่มักมีปัญหาผังเมืองไม่ดี หรือไม่มีการวางผังเมืองทำให้มีปัญหาการเติบโต มาอย่างระเกะระกะไปหมด) ยังนึกในใจด้วยความสงสัยว่า ใครกันหนอที่ช่างมีวิสัยทัศน์ และก้าวหน้าที่มาวางผังเมืองเอาไว้ให้เป็นอย่างดี (มาทราบในภายหลัง จากประวัติศาสตร์ว่า รัฐปัตตานีนี้ อังกฤษเคยปกครองมาก่อน)

นอกเหนือจากงานราชการ/หน่วยงานราชการทั้งทหารและพลเรือนต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แล้ว ก็ดูไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการค้า/การพาณิชย์และอุตสาหกรรมมากมายอะไรนัก ประชาชนโดยทั่วไป ก็ดูเหมือนจะประกอบอาชีพทำมาหากินสอด คล้องกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในพื้นที่หรือท้องถิ่นของตน เช่น การเลี้ยงปลาและเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น (ในยุคที่การเลี้ยงกุ้งเฟื่องฟู ก็มีการแปลงที่นาปลูกข้าวมาเป็นนากุ้งแทนกันมาก) การทำประมง กิจการแพปลา การเลี้ยงสัตว์/การปศุสัตว์เพื่อเป็นอาหาร กิจการร้านค้าเล็กๆ การทำงานเป็นแรงงานในสถานประกอบการ การทำสวนยาง สวนผลไม้ สวนปาล์ม สวนมะพร้าว การปลูกข้าว การปลูกผัก และการทำสวนและทำไร่อื่นๆ (เช่นเดียวกับในพื้นที่ชนบทไทยโดยทั่วไป)

สำหรับผู้มาเยือนจากภายนอกโดยเฉพาะจากภาคอื่นของประเทศ เมื่อเข้ามาถึงพื้นที่เหล่านี้ จะสามารถรู้สึกได้ทันที ถึงความดูขลัง ความดูศักดิ์สิทธิ์ (holy spirit) ที่ครอบคลุมไปทั่วเหนือดินแดนเหล่านี้ ที่พี่น้องส่วนใหญ่ของที่นี่ (นอกเหนือจากชาวไทยพุทธแล้ว) เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู หรือเป็นคนไทยมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อ ค่านิยม และ วัฒนธรรมที่กำหนดการประพฤติปฏิบัติตนหรือ วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่

ซึ่งเห็นชัดเจนว่าพี่น้องไทยมุสลิมที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของที่นี่มีหลักยึดในการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างอิสลาม (หลักคำสอนของศาสนาอิสลาม) อย่างเคร่งครัด ที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปคือ ภาพของผู้คนในเครื่องแต่งกายแบบมุสลิมทั้งหญิงและชาย เด็กนักเรียนในเครื่องแต่งกายแบบมุสลิมที่ยืนคุยกันอยู่และที่เดินตามกันมามองเห็นได้แต่ไกล สถานศึกษาที่เรียกว่าโรงเรียนปอเนาะ มัสยิด สุเหร่า และเสียงสวดมนต์ โดยเฉพาะเสียงสวดมนต์ในตอนเช้าตรู่ที่ท้องฟ้ายังปกคลุมด้วยความมืด (มีแต่แสงสว่างจากหลอดไฟ) และความเงียบ ซึ่งให้ความรู้สึกที่ดูแล้วเป็นดินแดนที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในระหว่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ที่ได้พบเห็นแล้ว ทำให้รู้สึกไม่ค่อยดีเลย รู้สึกตกใจและเศร้าใจระคนกัน ก็คือจังหวัดนราธิวาส เพราะเกิดความรู้สึกไม่เข้าใจขึ้นมาทันทีว่า มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมจังหวัดนี้มันถึงได้ดูยากจน ดูเหมือนแทบจะไม่ค่อยได้รับการพัฒนาเลย ราวกับว่ามันถูกลืมไปจากการพัฒนาหรือราวกับว่ามันไม่ใช่พื้นที่ที่มีอยู่ในแผนที่ประเทศไทย ผู้คนและพื้นที่ดูมีฐานะและขีดความสามารถทางเศรษฐกิจต่ำ มีระดับการดำเนินชีวิตที่ต่ำ และขาดแคลนบริการโครงสร้างพื้นฐานโดยทั่วไป เห็นได้ชัดเจนแม้กระทั่งในส่วนที่เป็นตัวเมืองของจังหวัดเอง

และเมื่อเดินทางไปถึงปลายสุดของภาคใต้ คือส่วนที่เป็นอำเภอสุไหงโก-ลก ของจังหวัดนราธิวาส ตรงที่มีด่านพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย ภาพที่เห็นก็ยังทำให้รู้สึกเศร้าใจและสลดใจอยู่เช่นเดิม เพราะพรมแดนด้านฝั่งไทยนั้นธุรกิจและการค้าดูหงอยเหงา ไม่คึกคัก สินค้าที่เอามาขายกันในร้านก็ดูแสนธรรมดาที่มีเห็นอยู่ทั่วไปในทุกที่ในประเทศไทย ไม่ค่อยจะมีอะไรน่าสนใจเอาเสียเลย แต่ไอ้ที่พอจะคึกคักก็กลับ เป็นเรื่องการขายบริการของหญิงบริการแก่นัก ท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน (ซึ่งน่าจะไม่ใช่ผู้หญิงในท้องถิ่นแต่มาจากที่อื่น)

ในขณะที่พรมแดนทางฝั่งมาเลเซีย ธุรกิจและการค้ากลับดูคึกคักมาก ดูมีชีวิตชีวา สินค้าที่ขายก็ดูหลากหลายน่าสนใจดีกว่าสินค้าในฝั่งไทยมาก มีตั้งแต่สินค้ามียี่ห้อและราคาแพงในร้านค้าปลอดภาษีและจนถึงสินค้าท้องถิ่นเอง และเจ้าหน้าที่ทำงานตรงด่านมาเลเซียก็ดูเข้มงวดและมีการจัดการอย่างดี (ซึ่งตรงกันข้ามกับด่านไทย) แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานและคุณภาพของประเทศและประชาชนที่แตกต่างกัน


ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับจากการที่ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางสำรวจภาคใต้ รวมทั้งการสำรวจลงไปถึงพื้นที่และผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ด้วยตนเอง ดังนำเสนอมาในตอนที่แล้ว ประกอบกับความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองไทย/ผู้ปกครองไทย (ผู้ได้ใช้อำนาจรัฐไทย) ทำให้มองเห็นว่า แม้พื้นที่และพี่น้องส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดเหล่านี้จะมีประวัติศาสตร์ที่เป็นมาและมีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนหรือแตกต่างออกไป (จากคนส่วนใหญ่ของประเทศที่กว่า 90% เป็นคนไทยพุทธ) แต่ที่สำคัญกว่าคือเราต่างก็เป็น "คน" หรือ "มนุษย์" ด้วยกัน และเราต่างได้ชื่อว่าเป็น "คนไทย" ด้วยกัน

นี่จึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุแรกๆ ของความไม่สงบหรือการก่อความไม่สงบในพื้นที่เหล่านี้ที่มีมาโดยตลอด (ยังไม่เคยสงบลงได้จริงเลย) แต่ที่น่าจะเป็นสาเหตุ มากกว่ามาจากปัญหาการขาดการพัฒนาพื้นที่ และพี่น้องในพื้นที่เหล่านี้เท่าที่ควร (และในความหมายของการพัฒนาที่ถูกทิศถูกทาง หรือการพัฒนาทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง และวัฒนธรรมที่ต่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน และในทางที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ หรือที่ช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ โดยทั่วไปให้ดีขึ้น หรือทัดเทียมกับประชาชนในที่อื่นๆ ของประเทศโดยทั่วไป)

และการที่พื้นที่และประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับ การพัฒนาเท่าที่ควร ดังกล่าวมักจะมาจากปัญหา ของระบอบการปกครองไทย/ ผู้ปกครองไทยที่นิยมใช้แนวทาง หรือวิธีการที่ทำให้ผู้ใต้ปกครอง หรือประชาชนอ่อนแอ ยากจน ขาดแคลน และพึ่งตนเองไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายที่ให้ ง่ายต่อการควบคุมและปกครอง (หรือในทำนองเดียวกันก็คือ เพื่อทำให้ผู้ใต้ปกครองรู้สึกว่าตนเองต้องพึ่งพาหรือขึ้นอยู่กับผู้ปกครองโดยตลอด โดยแนวทางดังกล่าวก็เชื่อว่า จะช่วยดำรงรักษาสถานะ และความหมายความสำคัญของผู้ปกครองในฐานะผู้ช่วยให้รอด/ ที่พึ่งพิงของผู้ใต้ปกครองหรือประชาชนตลอดไป)

เพราะโดยแท้จริงแล้วระบอบการปกครองไทยก็ยังเป็นระบอบการปกครองแบบศักดินา (feudalism) คือระบอบการปกครองที่มีผู้ปกครอง (The ruler) และผู้ใต้ปกครอง (The ruled) (ไม่ใช่การปกครองโดยระบอบประชา ธิปไตยที่หมายถึงการปกครองโดยคนเสมอกัน) ที่ผู้ ปกครอง/ผู้มีอำนาจหรือผู้นำ (และข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนที่ทำตัวเป็นแขนขาของผู้ปกครอง /ผู้มีอำนาจ) เกิดมาก็ทำตนเป็น "นาย" และปฏิบัติต่อผู้ใต้ปกครองหรือประชาชนเสมือนเป็น "บ่าว/ทาส" หรือเป็น "ลูกน้อง" หรือปกครองคนอื่นโดยใช้อำนาจ ปฏิบัติต่อคนอื่นรวมทั้งประชาชนเหมือนเป็น "วัว/ควาย" การปกครองแบบนี้มันจึงสร้างคนกันไม่ได้

สร้างกฎ กฎหมาย ระเบียบ แบบแผน และประเพณี หรือสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรม ที่บังคับให้ทุกคนต้องเหมือนๆ กัน ต้องประพฤติปฏิบัติตนตามกัน หรืออยู่ในกรอบที่วางกันเอาไว้ทำให้คนไทยไม่อาจเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่อาจทำตามความเชื่อและค่านิยมของตนเองได้ ตัวอย่างผู้ใต้ปกครองหรือประชาชนไม่เพียงแต่ต้องเชื่อฟัง ต้องให้ความสำคัญ ให้เกียรติ ให้การยกย่องและเชิดชูผู้ปกครอง/ผู้มีอำนาจ/ผู้นำหรือผู้อยู่ในตำแหน่ง

นอกจากนั้นแล้วผู้ใต้ปกครองหรือประชาชนยังต้องออกแรงทำงานกันให้หนัก ต้องรักและเสียสละเพื่อประเทศชาติ ในขณะที่ผู้ปกครอง/ ผู้มีอำนาจซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยที่รวมตัวกันได้ดีและครอบครองอำนาจเหนือประชาชนทุกด้าน ใช้อำนาจที่มีอยู่สูบเอาผลประโยชน์สูบเอาส่วนเกินจากประชาชนที่ออกแรงทำงานกันไปหมด ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจึงมีฐานะความเป็นอยู่ที่ยากจนอย่างเรื้อรัง หรือมีชีวิตความเป็นอยู่เพียงในระดับพอยังชีพ ในขณะที่ผู้ปกครอง/ ผู้มีอำนาจกลับร่ำรวยมั่งคั่งกันขึ้นทุกวัน (อย่างง่ายๆ)

(รวมทั้งการปล่อยให้ข้าราชการ ที่เป็นแขนขาของผู้ปกครอง/ ผู้มีอำนาจยึดเอาสมบัติเอาตำแหน่งหน้าที่ของทางราชการ ไปเป็นสมบัติส่วนตัว และแจกจ่ายระหว่างพวกพ้องกันเองไปหมด ใช้อำนาจที่มีอยู่ไปในทางที่ไม่ชอบธรรม และแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้อง หรือคือการอนุญาตให้มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้)

เพราะฉะนั้น สำหรับคนไทยที่ไม่อยู่ในกรอบที่ผู้ปกครอง/ผู้มีอำนาจสร้างกันเอาไว้ดังข้างต้น แต่เป็นคนไทยประเภทที่มีสิ่งที่ยึดในชีวิตที่กำหนดจากข้างในของตนเอง (inner sense of value) ที่ยังรักษาความเป็นตัวของตัวเองได้ หรือรักษาความเป็นมนุษย์ของตนเองเอาไว้ได้ (ซึ่งอาจเหลือเป็นคนไทย จำนวนน้อยนิดมาก หรืออาจเรียกว่าเป็นข้อยกเว้น หรือมักถูกมองว่าเป็นคนแปลกของสังคมไทย) ซึ่งคนไทยประเภทที่กล่าวมานี้ก็อาจจะมีส่วนที่เหมือนกับพี่น้องไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ก็มีสิ่งที่ยึดถือในการดำเนินชีวิตที่แตกต่าง หรือผิดแผกออกไปจากคนไทยพุทธที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ (มีศาสนาอิสลามและวิถีชีวิตแบบมุสลิมที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต หรือมีพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้นำทางชีวิต)

คนไทยส่วนน้อยข้างต้นเหล่านั้นก็จะพบว่า ตนเองมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากมากในสังคมไทย การหากินอย่างสุจริตชน ที่ไม่มีพวกพ้องมันยากลำบากแค่ไหน แทบจะเอาตัวกันไม่รอดเลยทีเดียว (ไม่ว่าจะเป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถ และสติปัญญามากเพียงไรก็ตาม) ต้องถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรม ความไม่ชอบธรรม และความอยุติธรรมอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนการไม่เคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน คนที่ทนไม่ได้ก็ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ รู้สึกอยากคืนความเป็นคนไทย (บัตรประจำตัวประชาชนไทย) หนีเข้าป่าไปเป็นโจร หรือเป็นผู้ก่อการร้าย (เสียเลย) หนีไปฝักใฝ่หรือไป อยู่ข้างฝ่ายที่ให้ความเข้าใจ และที่เหมือนตนเองดีกว่า หรือหนีออกจากระบอบการเมืองการปกครองที่อยุติธรรมที่ครอบงำเหนือพวกตนอยู่ หรือพยายามหาทางปกครองตนเองให้เป็นอิสระจากผู้ปกครองดั้งเดิม (ที่ไม่ชอบธรรม)

ดังกล่าวข้างต้นมันสะท้อนความจริงดังที่มีผู้รู้เคยกล่าวไว้ว่า "ผู้ปกครองไทยปกครองคนไทยยิ่งกว่าอังกฤษปกครองแขก (อินเดีย)" (หรือทำนองเดียวกับ "คนอิรัก (ซัดดัม) ปกครองคนอิรักยิ่งกว่าต่างประเทศปกครองคนอิรัก") สถานการณ์ของปัญหานี้มันถูกสะสมเพิ่มพูนกัน มาในอดีตอันยาวนาน จนถึงวันนี้มันจึงปะทุรุนแรงออกมาให้เห็นกัน (ทุกปัญหาของบ้านเมืองและของประชาชน)

เพราะฉะนั้น ดังที่เคยพูดมาบ่อยครั้งในบทความก่อนๆ ของผู้เขียนว่า ถ้าคนไทยโดยเฉพาะคนที่เป็นผู้ปกครอง/ ผู้มีอำนาจถ้าไม่เลิกเป็นเปรตกัน ถ้าไม่กลับมามีความเป็นมนุษย์กันจริงๆ ก็ไม่มีวันจะแก้ปัญหาอะไรได้ เพราะปัญหาทุกด้านรวมทั้งวิกฤตภาคใต้ดังกล่าว ปัญหามันถูกสะสมกันมานานมันจึงยาก และสลับซับซ้อนต่อการที่จะแก้ไขปัญหา ตลอดจนรูปแบบเก่าๆ ของเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง และวัฒนธรรมไทยมันยังดำรงอยู่ มันจึงต้องการผู้นำถึงขั้นที่ "ตรัสรู้" หรือ "ชี้ทางสว่าง" (enlighten) เพื่อแก้ปัญหาที่มาจากระบบเดิมที่มันครอบงำทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ดังกล่าว

หรือในทำนองเดียวกันก็คือ ทางออกสำหรับปัญหาของประเทศไทย มันยากเกินกว่าที่เรามนุษย์จะทำอะไรได้แล้ว (act of man) แต่จะต้องเป็นการดลบันดาลโดยพระผู้เป็นเจ้า หรือเป็น "act of god" หรือเป็น "miracle way out" หรือเทียบเคียงได้กับการที่เราจะต้องรู้จักจุดอ่อน ของผู้อื่น เท่าที่พระผู้เป็นเจ้ารู้จักเธอ และเขาจึงจะทำให้เราสามารถช่วยคนอื่นได้

เครื่องมือส่วนตัว