เพลงตระบองกัน

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เพลงตระบองกัน เป็นเพลงหน้าพาทย์จำพวกเพลงตระ จัดอยู่ในชุดโหมโรงกลางวัน มีความหมายและโอกาสที่ใช้หลายกรณี อาทิ


1. ใช้ในงานไหว้ครู สำหรับพิธีครอบให้กับศิษย์ที่จะศึกษาร่ำเรียนเพลงชุดโหมโรงกลางวัน ครูผู้ครอบจะประสิทธิ์ประสาทพร และจับมือให้ศิษย์ที่เพลงตระบองกัน (ประโยคแรกของเพลง) ๓ ครั้ง มีความหมายว่าศิษย์ผู้นั้นสามารถที่ร่ำเรียนเพลงชุดโหมโรงกลางวันต่อไปได้ครบทุกเพลง โดยถือว่า เพลงตระบองกันมีความสำคัญอันเป็นสัญลักษณ์รู้กันในสังคมดนตรีไทย


2. ใช้สำหรับแปลงกาย หรือนิมิตร สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ในกรณีที่การแสดงนั้นได้ใช้เพลงตระนิมิตร เพื่อการดังกล่าวไปก่อนแล้ว ทั้งนี้เป็นภูมิปัญญาไทยโบราณที่ต้องการแสดงให้รู้ว่า ไม่ใช้เพลงซ้ำกันในการแสดงตอนเดียวกัน ตัวอย่างเช่น การแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ชุดทศกัณฐ์ลักสีดา มารีศ ร่ายรำเพลงตระนิมิตร เพื่อแปลงกายเป็นกวางทองไปแล้ว ต่อจากนั้น ทศกัณฐ์ต้องแปลงเป็นฤาษี (แดง) ดนตรีจะบรรเลงเพลงตระบองกัน เพื่อไม่ให้ซ้ำกับตระนิมิตร ดังนี้เป็นต้น


3. ใช้สำหรับแสดงพลังหรืออิทธิฤทธิ์ได้ด้วย กรณีนี้ศิลปินรุ่นครูบาอาจารย์ทางด้านนาฏศิลป์ดนตรีของกรมศิลปากร ได้คิดประดิษฐ์ไว้ในการแสดงชุดวีรชัยยักษ์ โดยจะเริ่มจากเพลงคุกพาทย์ เพลงตระบองกัน และออกเพลงสำหรับเต้น ป๊ะเท่ง ป๊ะ (หน้าทับตะโพน) ต่อด้วยเพลงเชิด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งมีพลังอำนาจของบรรดายักษ์ (อสูร) ทั้งหลาย


4. ใช้สำหรับประสิทธิ์ประสาทพร ในกรณีมีการขับร้อง บรรเลง แสดงถวายพระพร และ/หรือ อวยพร ตอนสุดท้ายของการบรรเลง – การแสดง ดนตรีจะบรรเลงเพลงตระบองกัน – รัว อันมีความหมายถึง การประสิทธิ์ประสาทพร วงดนตรีที่ใช้เพื่อความเหมาะสม คือ วงปี่พาทย์


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว