เศรษฐกิจของประเทศโต... แล้วมีใครได้อยู่ได้กิน

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เศรษฐกิจของประเทศโต... แล้วมีใครได้อยู่ได้กิน? คอลัมน์ เศรษฐกิจระบบสารสนเทศ โดย ดร.ฉวีวรรณ สายบัว

"ประเทศ" ไม่มีตัวตน ไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ "ประชาชน" ในประเทศมีตัวตน มีเลือดเนื้อและมีชีวิตจิตใจ มองปัญหาเศรษฐกิจจึงควรมองเป็นปัญหาของมนุษย์ ที่มีชีวิตจิตใจ และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เป็นการแก้ไขปัญหาเพื่อ "ลดทุกข์" และ "เพิ่มสุข" ของมนุษย์

(ทุกข์เพราะยากจน ทุกข์เพราะไม่มีอาหารจะกิน ไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่จะดำรงชีวิต ทุกข์เพราะไม่มีงานจะทำ ทุกข์เพราะไม่มีรายได้จะใช้จ่าย ทุกข์เพราะไม่มั่นใจว่าจะมีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคงขึ้นตลอดไป ทุกข์เพราะถูกสูบถูกขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากผลผลิตส่วนเกินที่ออกแรงทำงาน และทุกข์เพราะมองไม่เห็นโอกาสเห็นอนาคตว่า จะเลื่อนฐานะ และความสามารถทางเศรษฐกิจของตน ให้ทัดเทียมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างไร)

ไม่ใช่เพิ่มรายได้ประชาชาติ รักษาระดับราคา ลดดุลการค้า/ดุลการชำระเงินขาดดุล (เพื่อให้มีทุนสำรองสะสมเพิ่มขึ้น) รักษาค่าของเงินบาทโดยไม่สนใจว่าใครจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร

แต่จุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยึดถือกันมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เน้นหนักการขยายกำลังการผลิต การเพิ่มรายได้ของ "ประเทศ" หรือเน้นหนักการขยายการเจริญเติบโตทางเศรษฐ กิจของ "ประเทศ"

(ตามความเชื่อที่สืบทอดมาจากการศึกษาในต่างประเทศว่า เมื่อสามารถขยายกำลังการผลิต และรายได้ของประเทศ ในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องแล้ว ผลสุดท้ายผลประโยชน์ก็จะตกแก่ทุกๆ คนโดยอัตโนมัติตามกาลเวลา เป็นความเชื่อที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานประสบการณ์ในอดีต ของประเทศในยุโรป สหรัฐและประเทศที่เจริญแล้ว โดยลืมไปว่าประเทศไทยในปัจจุบัน มีภาวะและสถานการณ์ผิดแผกแตกต่าง ไปจากสถานการณ์ในอดีต ของประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้น)

โดยยุทธศาสตร์หรือแนวทางหลักที่ประเทศไทยใช้ ในการดำเนินการเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจดังกล่าว ก็คือ (1) ใช้ระบบเศรษฐกิจเสรี ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศ ดำเนินการโดยเอกชน ภาครัฐบาลทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้บริการขั้นรากฐาน และการสนับสนุนส่งเสริมและ/ หรือควบคุมแทรกแซง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากความบกพร่องของกลไกตลาด และการแข่งขันโดยเสรี (ที่ในความเป็นจริงยังคงมีคำถามมาโดยตลอดว่า ระบบเศรษฐกิจไทยเป็นระบบอะไรแน่? เป็นระบบเศรษฐกิจตลาดเสรี หรือผูกขาดกันแน่ หรือเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบพวกพ้อง (crony capitalism) หรือในตอนนี้พยายามจะเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโดยรัฐ (state capitalism) เลียนแบบสิงคโปร์?)

(2) การขยายกำลังการผลิต และรายได้ของประเทศตามจุดมุ่งหมายนั้น นอกจากใช้ทรัพยากรจากภายในประเทศแล้ว ประเทศไทยทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชนใช้ทรัพยากรต่างประเทศ (ทุนเทคโนโลยีและสินค้า และบริการต่างๆ) อย่างหนักและโดยเสรี (โดยเฉพาะหลังการเปิดเสรีทาง การเงินและธุรกิจวิเทศธนกิจ) และ

(3) ยุทธศาสตร์ในการขยายกำลังการผลิต และรายได้ของประเทศ ก็โดยการส่งเสริมการลงทุนอย่างถึงขนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เงินลงทุนทั้งจากภายในประเทศ และภายนอกประเทศ จำนวนมหาศาล (ซึ่งเป็นปัญหาว่าไม่ได้ช่วยในการ ปรับปรุงความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้ หรือความเหลื่อมล้ำในฐานะ และโอกาสทางเศรษฐ กิจ ของประชาชนในประเทศ)

และในระดับการบริหาร และปฏิบัติการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายการขยายกำลังการผลิต และรายได้ของประเทศ ก็คือ

(1) ใช้การวางแผนเป็นเครื่องมือในการควบคุม ความเป็นไปของเศรษฐกิจโดยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจทุกระยะ 5 ปี (ยกเว้นแผนที่ 1 ที่มี 6 ปี) โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2504 และจนถึงปัจจุบันอยู่ในระยะแผนที่ 8 รวมเป็นระยะเวลาของการพัฒนา โดยมีการวาง แผนมาแล้วกว่า 40 ปี (มีปัญหาว่าเป็นแต่เพียงแผน ที่แสดงถึงความปรารถนาที่ต้องการเห็น หรือเป็นเพียงแผนชี้แนะ เพื่อการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐบาล แต่ไม่สามารถใช้ ในการวินิจฉัยสั่งการ ควบคุมติดตาม ประสานงานและประเมินผลดำ เนินการอย่างมีประสิทธิผล)

(2) เมื่อประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ (ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุอะไร) ดูเหมือนว่ามาตรการที่ใช้ในการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ จะมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรก คือ มาตรการเชิงการบริหาร หรือการควบคุมโดยตรง เช่น การประกาศควบคุมราคา การกำหนดโควตาส่งออก การพยุงราคาสินค้า เป็นต้น และประเภทที่สอง ก็คือ มาตรการทางการเงิน ซึ่งได้แก่ การควบคุมการขยายสินเชื่อ การควบคุมอัตราดอกเบี้ย หรือการใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องจูงใจและมาตรการการคลัง ซึ่งได้แก่มาตรการทางภาษีอากร และการใช้จ่ายของรัฐบาล (ปัญหาคือมันไม่ใช่มาตรการที่จะมีประสิทธิผลในทุกเรื่องทุกกรณีไป และในหลายกรณีก่อให้เกิดผลตรงกันข้าม และปัญหาข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์) และ

(3) อาศัยกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล และภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (ซึ่งมีปัญหาว่าเป็นความร่วมมืออย่างหลวมๆ ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่มีประสิทธิ ผลในการช่วยแก้ไขปัญหา)

ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยจุดมุ่งหมาย ยุทธศาสตร์และแนวทางการบริหารและปฏิบัติการดังข้างต้น ก็เป็นที่รู้หรือปรากฏออกมาให้เห็นกันมาโดยตลอดแล้วว่า ทำให้รายได้ประชาชาติหรือรายได้ของ "ประเทศ" เพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าพอใจมาโดยตลอด เป็นร้อยละ 7-8 ต่อปีในระยะแผนที่ 1-3 ร้อยละ 5-6 ต่อปี ในระยะแผนที่ 4 ร้อยละ 4-5 ต่อปีในระยะแผนที่ 5 และในช่วง 10 ปี (ในระยะแผนที่ 6 และ 7) ก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศจะเปิดออกมาให้เห็นในปี 2540 เป็นช่วงระยะเวลาที่รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก เฉลี่ยร้อยละ 8-9 ต่อปี (หรือบางปีมากกว่าร้อยละ 10) จึงถูกกล่าวถึงว่าเป็นประเทศ หนึ่งในโลกที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมาก

แต่มาดูเมื่อ "ประเทศ" มีรายได้มากขึ้นแล้ว เมื่อเศรษฐกิจของ "ประเทศ" ขยายการเจริญเติบโตมามิใช่น้อยแล้ว แล้ว "ประชาชน" ของประเทศแต่ละคน แต่ละหมู่ แต่ละเหล่าในประเทศมีรายได้หรือฐานะ ขีดความสามารถ และโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ก็เห็นกันแล้วว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เป็นชาวไร่ชาวนา และประชาชนในชนบท รวมทั้งคนยากจนในเมือง ก็ยังด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ ยังอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ และพึ่งตนเองไม่ได้ และโอกาสที่จะออกจากชนบท เพื่อไปมีชีวิตที่ดีกว่าในเมืองก็ยังทำได้ยาก

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องกันมายาวนานของประเทศ จึงนำผลประโยชน์มาสู่ประชาชนส่วนใหญ่ เพียงเล็กน้อยมาก ผู้คนส่วนใหญ่ดังกล่าว จึงยังมีระดับการดำเนินชีวิตที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ที่ไม่ได้ดีขึ้นจากเดิมอะไรนัก ก็ยังคงยากจน หรือมีชีวิตความเป็นอยู่เพียงในระดับพอยังชีพ คนจำนวนมากยังต้องว่างงาน หรือต้องมีอาชีพขายบริการ หรือค้าประเวณีทั้งหญิง และชาย และอาชีพผิดกฎหมายอื่นๆ ตลอดจนช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำในฐานะ และความสามารถทางเศรษฐกิจ ระหว่างคนร่ำรวยและคนยากจน นอกจากจะไม่ได้ลดลงแล้ว แต่นับวันยิ่งห่างไกลกันมากขึ้น

ในขณะที่ทรัพยากรของประเทศ ก็ร่อยหรอลงมาก และมีปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาระหนี้สินของประชาชน และประเทศก็ยังมีอยู่มาก และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นไปอีก ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก็ไม่ได้ดีขึ้น และประเทศก็ยังไม่สามารถพึ่งตน เองได้ ไม่สามารถเป็นอิสระจากการพึ่งต่างประเทศ แต่ยังต้องพึ่งต่างประเทศอย่างหนักอยู่อีกต่อไป

การขยายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องกันมายาวนานดังกล่าว จึงมีแต่คนไทยข้างบนจำนวนน้อยนิด บวกชาวต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน (ที่เป็นเจ้าของทุน เทคโนโลยี และสินค้า และบริการต่างๆ จากต่างประเทศ) เท่านั้น ที่ได้รับผลประโยชน์กันไปหมด ซึ่งทำให้พวกคนที่ร่ำรวยอยู่แล้วเหล่านั้น ก็ยิ่งร่ำรวยกันยิ่งขึ้น จึงมีคำถามว่า จะให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวตามแนวทางเดิมๆ ต่อไปทำไมเมื่อไม่เห็นว่าจะมีใคร หรือคนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้อยู่ได้กินอะไรกันนัก และก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม มีขีดความสามารถ และเข้มแข็งขึ้นเลย

เพราะฉะนั้นจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มันเป็นปัญหาหรือมีข้อขาดตกบกพร่องดังกล่าว จึงควรจะยึดถือกันต่อไป หรือควรจะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และอย่างไร (ตัวอย่างจุดมุ่งหมายในการบริหารเศรษฐกิจไทย อาจเป็น "การทำให้ลดลงหรือขจัดให้หมดไป ในที่สุดในปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน และปัญหาการว่างงานของประชาชน") เพราะการเน้นจุดมุ่งหมาย การขยายรายได้ของ "ประ เทศ" โดยมิได้คำนึงถึงผลได้ผลเสีย ทางเศรษฐกิจของ "ประชาชน" ที่มีฐานะ ขีดความสามารถ โอกาสและอื่นๆ แตกต่างกันอย่างเพียงพอนั้นมิใช่เรื่องที่ถูกต้องและชอบควรอย่างแน่นอน


แม้เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเปิดออกมาให้เห็นในปี 2540 จากการแตกของการเติบโตแบบฟองสบู่ หรือการเติบโตแบบลูกโป่ง (bubble growth) จากปัญหาการจัดสรรเงิน ที่ไหลเข้ามาจากต่างประเทศมากมาย ไปลงทุนผิด ไปลงทุนในกิจการที่มันไม่สร้างให้เกิดรายได้ การจ้างงาน เงินออมในประเทศ และรายได้เงินตราต่างประเทศเป็นการถาวร หรือจากสาเหตุที่เลยไปกว่านั้นก็คือ จากความล้มเหลวของยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยอาศัยทรัพยากรต่างประเทศ ของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นปัญหาทางโครงสร้าง/รากฐาน ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องกันมา มันชะลอตัวลง หรือมันตกต่ำลงไปจากเดิมมากมาย

แต่ดังกล่าวมาแล้ว ไม่ว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะมาจากสาเหตุใด (สาเหตุระยะสั้น/ ชั่วคราว หรือสาเหตุทางโครงสร้าง) มาตรการที่ใช้แก้ปัญหาส่วนใหญ่ (นอกเหนือจากมาตรการเชิงการบริหาร หรือการควบคุมโดยตรงแล้ว) ก็จะเป็นมาตรการทางการเงิน และมาตรการการคลัง การแก้วิกฤตเศรษฐกิจ (ภาวะที่เศรษฐกิจมันขยายตัวชะลอลง หรือตกต่ำลงจากเดิมมาก จนถึงขั้นติดลบจากสาเหตุทางโครงสร้างดังกล่าว) ในครั้งนี้ก็แก้โดยการกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจกันอีกรอบ

โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ของรัฐบาลทักษิณอยู่ในขณะนี้ โดยการขยายเงิน ใส่เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านทางมาตรการทางการเงิน และมาตรการการคลัง (เพราะมีเงินเหลือเฟือให้ใช้จากการมีสภาพคล่องล้นระบบอยู่มาก จากโอกาสในการลงทุน ที่มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ/ที่มีกำไร มันเหือดแห้งจากสาเหตุทางโครงสร้างดังกล่าวมา) เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย (aggregate demand) ทั้งการใช้จ่ายของรัฐบาล การใช้จ่ายในการบริโภค การใช้จ่ายในการลงทุน และการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการส่งออก

(หรือก็ยังทำเหมือนเดิมอย่างที่เป็นมาโดยตลอด ของการบริหารเศรษฐกิจไทย ที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ/บริหารเศรษฐกิจ โดยบริหารการเงิน เอาเงินเป็นใหญ่เหนือเศรษฐกิจ เรียกว่าเป็น "ปัญหาเอาหางนำหัว" ขณะที่ยังละเลย หรือไม่เอาจริงเอาจัง ในการแก้ไขปัญหาด้านอุปทาน ภาคการผลิต หรือภาคเศรษฐกิจแท้จริง ซึ่งเป็นสาเหตุโดยตรงของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หรือเป็นเพราะว่าเป็นเรื่องยาก หรือเกินกว่าความสามารถของคณะผู้บริหารประเทศ และภาคเอกชนไทยที่จะแก้ไข จึงชอบแต่ที่จะหาวิธี หาทางออกกันง่ายๆ เพียงให้พ้นตัวไปชั่วระยะหนึ่ง ก่อนที่ปัญหาจะปูดออกมาให้เห็นกันอีก โดยไม่ตระหนัก หรือสำนึกอย่างเพียงพอว่า มันจะเป็นสาเหตุให้เกิดการบิดเบือน สร้างความพิกลพิการ หรือความเสียหายอย่างไร แก่เศรษฐกิจไทยในภายหลัง)

การใส่เงินมากมายเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ผ่านทางมาตรการทางการเงิน และมาตรการการคลัง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายดังกล่าว ทำให้กำลังการผลิตที่ยังเหลืออยู่มาก สามารถใช้ได้มากขึ้น ทำให้ผู้ผลิต/ ธุรกิจแม้จะไม่มีประสิทธิภาพ ก็ยังสามารถผลิตต่อไปได้ เพราะมีเงินเข้ามาหล่อเลี้ยงไว้ หรือธุรกิจที่ไม่ดี/ธุรกิจเน่าๆ ก็ยังคงพยายามจะโอบอุ้มกันต่อไป การส่งเสริมเอสเอ็มอี หรือแม้แต่โอท็อป อย่างมาก (ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีสักเท่าไหร่ที่เป็นผลิตภัณฑ์/ ธุรกิจที่หากินได้/ มีกำไร/ แข่งขันได้) และมาตรการมากมาย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตส่งออก (ไม่ว่าสินค้าส่งออกจะแข่งขัน/ ขายได้ราคาดีหรือมีกำไรหรือไม่ หรือส่งออกได้มากแล้วมีใครได้อยู่ได้กินอะไรนัก เพราะโครงสร้างสินค้าส่งออกไทย ยังต้องใช้ปัจจัยนำเข้าสูง)

การใช้จ่ายมากมายในโครงการประชานิยม/ โครงการรากหญ้าหรือโครงการเอื้ออาทรต่างๆ (ซึ่งเป็นเพียงโครงการ เพื่อสงเคราะห์ประชาชน เพื่อหวังผลทางการเมืองในระยะสั้นเท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จากวิกฤต) การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมากมาย จากออกบัตรกันให้ง่ายขึ้น และมากขึ้น การขยายสินเชื่อทางการค้า เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในการบริโภค ของประชาชน (ซื้อบ้าน รถและสินค้าบริโภคฟุ่มเฟือยต่างๆ) มาตรการส่งเสริมทุกทางเพื่อฟื้นฟูธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง (ทำเหมือนช่วงเวลาก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ จะคลี่ออกมาให้เห็น คงเพราะแหล่งที่มาของรายได้ส่วนใหญ่ หรือของความร่ำรวยของชนชั้นผู้ปกครองไทยมาจาก "ค่าเช่า" ไม่ใช่มาจากการทำอุตสาหกรรม) และการมีเงิน และแหล่งเงินจากทั้งภายใน และนอกประเทศเข้ามาซื้อขาย เพื่อเก็งกำไรหุ้นกันมากขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแทบจะติดดิน

ทำให้ราคาที่ดิน ราคาบ้านและอสังหาริมทรัพย์อื่น และราคาหุ้นกลับมามีราคาพุ่งกระฉูดกันอีก และธุรกิจการค้าประเภทซื้อมาขายไปขายสินค้ากันได้มากขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้าต่างประเทศทั้งโดยชาวบ้าน และชาวเมือง (ก็ไปช่วยให้ชาวต่างประเทศร่ำรวยขึ้น)

การกลับมาขยายตัวโป่งพองออกของเศรษฐกิจ ดังที่มีการปรับประมาณการตัวเลขออกมาสูงขึ้นไม่ได้หยุดหย่อน เป็นอัตรา 6%, 8%, 9% และจนขึ้นไปเป็นเลขสองตัว ก็มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากแหล่งการใช้จ่ายต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งก็คงจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น แต่ดูเหมือนกำลังมองหาช่องทางหากิจกรรมอื่นๆ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจกระตุ้นการใช้จ่ายกันหนักต่อไปอีก เพราะใกล้จะถึงฤดูการเลือกตั้งเข้ามาอีกแล้ว และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลพรรคเดียวในสมัยหน้า ของพรรคไทยรักไทยสมดังประสงค์

การใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่ายที่กลับมาทำให้เศรษฐกิจของ "ประเทศ" กลับ มาขยายตัวในอัตราที่ปรับตัวเลขกันให้สูงขึ้นตลอดก็เช่นเดิม ก็ทำให้คนข้างบน (พร้อมด้วยพวกพ้องเดิมๆ) ทั้งไทยและเทศ กลับเข้ามาเพื่อสร้างความร่ำรวยยิ่งขึ้นต่อไปอีก ทุกคนกลัวว่าจะตกขบวนรถสายนี้ จึงต่างต้องรีบเร่งขึ้นขบวนรถกันเป็นการใหญ่ ตามวัฒนธรรม และพฤติกรรมนักธุรกิจไทย ซึ่งรวมถึงนักธุรกิจการเงิน ซึ่งต่างเป็นนักเก็งกำไร เสี่ยงซื้อขาย เสี่ยงลงทุนหวังร่ำรวยมาก ร่ำรวยเร็วและร่ำรวยลัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทำได้โดย ใช้เงินของคนอื่นมากกว่าเงินของตัวเอง ทุกคน operate on high gearing

ราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นจึงพบว่า ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ไม่ใช่ธุรกิจในภาคการผลิต หรือภาคเศรษฐกิจแท้จริง พุ่งขึ้นติดระดับท็อปเทน ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มบันเทิงและกลุ่มสันทนาการ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจ/ อุตสาหกรรมในภาคการผลิต/ ภาคเศรษฐกิจแท้จริง กลับพบว่ายังมีปัญหา "ความสามารถในการทำกำไร" (profitability) ซึ่งเห็นได้จากเงินเฟ้อพื้นฐาน ณ สิ้นเดือนสิงหาคมอยู่ในระดับ 0% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 0.5% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 สะท้อนว่า ผู้ประกอบการไทย ยังขายสินค้าได้ในราคาต่ำ (และระดับการใช้กำลังการผลิต ก็ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 65%) และ "ผลิตภาพ" (productivity) ของธุรกิจก็ยังไม่ได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกันผลตอบแทนในรูปเงินเดือน และค่าจ้างของคนทำงาน ก็ยังไม่ได้รับการปรับให้สูงขึ้นแต่อย่างใด (ยังถูกกดให้ต่ำเอาไว้มาโดยตลอดของเศรษฐกิจไทย) และคนจำนวนอีกมากมาย ทั้งที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานที่มีการศึกษา และโดยเฉพาะคนที่เพิ่งจบการศึกษากันออกมาอีกมาก ในแต่ละปีก็ยังหางานทำกันได้ยาก/ ยังต้องเป็นคนว่างงาน เพราะฉะนั้น เช่นเดิมคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ยังไม่ได้รับผลประโยชน์อะไร จากการที่เศรษฐกิจของประเทศ กลับมาขยายตัว ในอัตราสูงโดยแนว ทางดังที่กล่าวมา

การใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อให้เกิดการขยายตัวของรายได้ของเศรษฐกิจ ของประเทศดังเช่นที่ทำกันอยู่นั้น ก็คงจะดำเนินไปได้อีกนานเหมือนกัน ก่อนที่ปัญหา/ ฟองสบู่จะปูด หรือแตกออกมาให้เห็นกันอีกรอบ ที่น่าจะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม จึงไม่รู้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตกันไปอย่างนั้นอีกกันทำไม แทนที่ควรจะเอาเวลา และทรัพยากรอันมีค่าของประเทศไปใช้ในการแก้ไขปัญหา ให้ตรงจุดตรงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องนึกถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจเลย สาเหตุของปัญหามันอยู่ตรงไหน ก็แก้กันตรงนั้นไปเลยจะไม่ดีกว่าหรือ ?

แต่ต้องใช้จ่ายไปในทางหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือกิจกรรมการลงทุน และการผลิตที่มันมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ/ หากินได้/มีกำไรและแข่งขันได้ หรือที่มันให้โครงสร้างที่ก่อให้เกิดรายได้ การจ้างงาน เงินออมภายในประเทศ และรายได้เงินตราต่างประเทศเป็นการถาวร/ยั่งยืน)

เครื่องมือส่วนตัว