การจัดการเรียนรู้สุขศึกษาแบบจิตตปัญญาศึกษา

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

การจัดการเรียนรู้สุขศึกษาแบบจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education)

การใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้บุคคลรู้จักตัวเอง รู้จักความดี ความงาม ความเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจความจริงของชีวิต มีสติ รอบคอบ รู้จักใคร่ครวญ เพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา

จิตตปัญญาศึกษาเน้นประสบการณ์ตรงภายใน ให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้โลกภายในของตนเองที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินแบบ จิตตปัญญาศึกษาจะอยู่บนฐานของการเป็นกัลยาณมิตร หรือที่เรียกว่ากัลยาณมิตรเรียนรู้และกัลยาณมิตรประเมินระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน จิตตปัญญาศึกษาให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ภายในของแต่ละคน ไม่เป็นบรรยากาศแบบเปิด เอื้อให้ผู้เรียนรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่จะเปิดเผยและรู้จักตนเอง และผู้อื่น อาจกล่าวได้ว่า การใช้จิตตปัญญาศึกษาจะช่วยให้ผู้เรียนรู้จักตัวเองมากขึ้น มีสติใคร่ครวญ มีการพัฒนาจิตใจและปัญญา เพื่อช่วยสร้างบุคคลให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อันได้แก่ การพัฒนาความดี ความจริง และความรู้

การจัดการเรียนรู้สุขศึกษาแบบจิตตปัญญาศึกษา ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในด้านความคิด ความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ตลอดจนการเป็นผู้ที่มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งการใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษาในการจัดการเรียนรู้สุขศึกษาสามารถใช้ได้ในทุกเนื้อหาสุขศึกษา สำหรับการใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษานี้ เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ (2552) ได้นำมาใช้จัดการเรียนการสอนมรณศึกษาและได้ดำเนินการวิจัยเรื่อง “การจัดการเรียนรู้มรณศึกษาเพื่อสร้างเสริมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา” โดยอาศัยหลักพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา ดังนี้

1. ความดี หมายถึง ความรัก ความเมตตา การรู้จักตนเองและผู้อื่น

2. ความจริง หมายถึง ความจริงของชีวิต ธรรมชาติของชีวิต การยอมรับ

3. ความรู้ หมายถึง ความรู้เพื่อให้เกิดปัญญาในเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความตายและภาวะใกล้ตาย พิธีกรรมทางศาสนา การจัดการอารมณ์ในเรื่องความตาย กฎหมายที่เกี่ยวข้องและการจัดการเรียนการสอนมรณศึกษา


การจัดการเรียนรู้สุขศึกษาแบบจิตตปัญญาศึกษา

สามารถจัดได้ดังต่อไปนี้

1) การฝึกสมาธิ

2) การสวดมนต์

3) การแผ่เมตตา

4) การเล่าประสบการณ์

5) การจัดอภิปราย (Panel Discussion)

6) การฝึกการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

7) การแสดงความรู้สึกกับธรรมชาติ (พูดคุยกับต้นไม้ ลมฟ้าอากาศ)

8) การเขียนบันทึกแสดงความรู้สึก (Journal Writing)

9) การจัดสุนทรียสนทนา (การจัดกลุ่มสนทนา โดยเน้นการฟังและความเป็นกัลยาณมิตร)


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว