การประเมินผลแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550 - 2554) ระยะกลางแผน

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ดร.ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์ 1

ดร.รัชนี ขวัญบุญจัน 2

รองศาสตราจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1

รองศาสตราจารย์, อาจารย์พิเศษ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2


เนื้อหา

บทคัดย่อ

การประเมินผลแผนพัฒนาการนันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลแผนพัฒนาการนันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) ระยะกลางแผนและเพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบผลการดำเนินงานด้านนันทนาการกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) ระยะครึ่งแผน วิธีดำเนินการประเมินโดยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเอกสารและเก็บข้อมูลภาคสนามจากการนิเทศแผนฯ ทั้ง 4 ภาค และจากการใช้แบบสอบถามกับประชาชน ผู้บริหารและนักเรียนนักศึกษา และบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในเขตกรุงเทพมหานคร ผลการประเมินพบว่า จากวัตถุประสงค์ของแผน ฯ มีเป้าหมาย 6 ข้อใหญ่และ 7 ข้อย่อย รวม 13 ข้อ ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย 9 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 69.23 จาก 3 ยุทธศาสตร์ 9 ผลผลิต และมีตัวชี้วัด 16 ข้อ เป็นไปตามตัวชี้วัด 8 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 50 โดยภาพรวมผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) ระยะกลางแผนได้ตามเป้าหมายและตัวชี้วัดคิดเป็นร้อยละ 58.62


ความสำคัญของปัญหา

สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการมีภารกิจหลักในการส่งเสริมกีฬาและนันทนาการให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในชาติให้มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งในการเสริมสร้างให้สังคมแข็งแรง ตั้งแต่ครอบครัวและชุมชน โดยมีแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550-2554) เป็นแม่บทในการพัฒนากีฬาของชาติ และมีแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด่วนที่สุดที่ นร 0506/24648 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2550 (สำนักส่งเสริมและพัฒนานันทนาการ, 2551) เพื่อเป็นแม่บทกำหนดกรอบ การพัฒนาด้านนันทนาการของชาติโดยเฉพาะ รวมทั้งการจัดทำคู่มือการแปลงแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) สู่การปฏิบัติ (สำนักส่งเสริมและพัฒนานันทนาการ, 2551) ซึ่งแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 ได้ดำเนินการมาระยะครึ่งแผน พ.ศ. 2550-2552


วัตถุประสงค์ของการประเมิน

1. เพื่อติดตามประเมินผลแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2550-2554) ระยะกลางแผน

2. เพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบผลการดำเนินงานด้านนันทนาการกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) ระยะกลางแผน


ประโยชน์ที่ได้รับจากการประเมิน

1. ได้ทราบผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) ระยะกลางแผน พ.ศ. 2550-2552

2. ได้ข้อมูลสารสนเทศสำหรับการนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหรือพัฒนาแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554)

3. ผลการประเมินแผนฯ ครั้งนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ต่อเนื่องและสอดคล้องกับสถานกาณ์ของประเทศปัจจุบัน ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนันทนาการของชาติ


วิธีดำเนินการประเมิน

1. วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเอกสารของหน่วยงานหลัก เช่น รายงานประจำปี รายงานผลการวิจัย และเว็บไซด์ของราชการ เป็นต้น

2. เก็บข้อมูลภาคสนามโดยการจัดอบรมนิเทศแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) 4 ภาค ได้แก่

ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

ภาคกลาง จังหวัดชลบุรี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น

ภาคใต้ จังหวัดสงขลา

3. เก็บข้อมูลภาคสนามโดยใช้แบบสอบถาม ส่งไปยังผู้ประสานงานสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดทั้ง 21 จังหวัด เก็บรวบรวมแบบสอบถามจากเด็ก เยาวชน ประชาชน ผู้บริหารสถานศึกษา นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและส่วนท้องถิ่น ส่วนกรุงเทพมหานครขอให้ผู้ประสานงานจากกองนันทนาการ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งจำนวนข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์ทางสถิติได้จากเด็ก เยาวชน และประชาชน 2,834 คน อบจ. อบต. เทศบาล สำนักงานเขต 821 คน และผู้บริหารสถานศึกษา 814 คน

3.1 การสำรวจการใช้เวลาว่างและการประกอบกิจกรรมนันทนาการของประชาชน

3.2 การศึกษาสภาพการจัดและดำเนินงานกิจกรรมนันทนาการในสถานศึกษา

3.3 การศึกษาสภาพการจัดและดำเนินงานกิจกรรมนันทนาการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในเขตกรุงเทพมหานคร


ขอบเขตของการประเมินผล

การประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) ระยะกลางแผน มีขอบเขตดังนี้

1. ประเมินผลการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) ระยะกลางแผน รวม 3 ประเด็นยุทธศาสตร์ เฉพาะผลผลิตและตัวชี้วัด

2. ศึกษาสภาพการจัดและดำเนินงานกิจกรรมนันทนาการในสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3. ศึกษาสภาพการจัดและดำเนินงานกิจกรรมนันทนาการในสถานศึกษา สำนักงานเขตและศูนย์เยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร

4. สำรวจการใช้เวลาว่างและการประกอบกิจกรรมนันทนาการของประชาชน

5. หน่วยงานหลักที่เก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่

- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

- กระทรวงศึกษาธิการ

- กระทรวงมหาดไทย

- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

- กระทรวงวัฒนธรรม

- กระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร

- สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

- สำนักกองทุนสนันสนุนวิจัย

- องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น

- กรุงเทพมหานคร


ขั้นตอนของการประเมิน

1. กำหนดองค์ประกอบและตัวชี้วัดในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554)

2. จัดทำรูปแบบการประเมินและแบบสอบถาม โดยผ่านผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบคุณภาพแล้ว

3. ดำเนินการเก็บข้อมูลทั้งข้อมูลเชิงเอกสารและข้อมูลภาคสนาม

4. ประมวลผลข้อมูล

5. จัดทำรายงานผลการประเมินแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554)


สรุปผลการประเมิน

ผลการประเมินแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) ระยะกลางแผน

1. สรุปผลการประเมินตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผน ฯ

1.1 วัตถุประสงค์ข้อที่ 1 เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์และนันทนาการสู่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยขอความร่วมมือจากสื่อทุกแขนง ก่อให้เกิดการตื่นตัวในการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ เป้าหมาย

ประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งกลุ่มบุคคลพิเศษและผู้ด้อยโอกาส มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าของการใช้เวลาว่างที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำจนเป็นวิถีชีวิต โดยมีเป้าหมายร้อยละ 60 ในปี พ.ศ. 2554

ผลการดำเนินงาน

1. ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าของการใช้เวลาว่าง (ร้อยละ 42.8) เป็นภาคกลาง(ร้อยละ 45.4) และกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 44.6)

2. ประชาชนทุกเพศทุกวัยใช้เวลาว่าง ดูละครในโทรทัศน์ ร้อยละ 68.8 ออกกำลังกาย/เล่นกีฬา (ร้อยละ 62.4) และพักผ่อน(ร้อยละ 50.9)

3. ประชาชนประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำ ได้แก่ ดูละครในโทรทัศน์ (ร้อยละ 40.2) เล่นเกมและกีฬา (ร้อยละ 25.2) และงานอดิเรก (ร้อยละ 22.3)

    สรุปผลการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมาย

1.2 วัตถุประสงค์ข้อทิ่ 2 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำจนเป็นวิถีชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตรวมทั้งส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประเพณีอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมาย

- เด็ก และเยาวชน ร้อยละ 80 มีความรู้ ความเข้าใจ และมีเจตคติที่ดีต่อนันทนาการรวมทั้งการศึกษาการใช้เวลาว่างและการประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

- สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้อยละ 60 จัดให้มีการศึกษาการใช้เวลาว่างและนันทนาการ รวมทั้งจัดให้มีกิจกรรมนันทนาการในชีวิตประจำวันแก่นักเรียน เยาวชน และประชาชนในชุมชน

- ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประเพณีอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงาน

1. เด็ก มีความรู้ความเข้าใจและเห็นคุณค่าการใช้เวลาว่าง (ร้อยละ 46.4)

2. เยาวชน มีความรู้ ความเข้าใจและเห็นคุณค่าการใช้เวลาว่าง (ร้อยละ 45.4)

3. เด็กใช้เวลาว่างดูละครทีวี (ร้อยละ 75.5) ออกกำลังกาย/เล่นกีฬา (ร้อยละ 65.0)และการประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำ ได้แก่ ดูละครในโทรทัศน์ (ร้อยละ 44.1) และเล่นเกมและกีฬา (ร้อยละ 31.0)

4. เยาวชนใช้เวลาว่างดูละครในโทรทัศน์(ร้อยละ 65.7) และออกกำลังกาย/เล่นกีฬา (ร้อยละ 64.3) และประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำ ได้แก่ ดูละครในโทรทัศน์ (ร้อยละ 42.7) และดนตรี/ร้องเพลง (ร้อยละ 29.5)

5. สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนนันทนาการ (ร้อยละ 99.4) และมีชมรมกีฬา/การออกกำลังกายชนิดต่างๆ (ร้อยละ 98.3) ชมรมดนตรีและชมรมทางศาสนา (ร้อยละ 96.4) เท่ากัน

6. สถานศึกษามีวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจและเห็นคุณค่าในการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ (ร้อยละ 72.1)

7. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการเผยแพร่ความรู้กิจกรรมนันทนาการทางหอกระจายเสียง (ร้อยละ 97.7) และมีการจัดกิจกรรมนันทนาการสำหรับเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ (ร้อยละ 98.5, 99.5, 99.3 และ 99.0) ตามลำดับ

8. กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดนันทนาการกลุ่มศิลปะพื้นเมือง/วัฒนธรรมท้องถิ่นมาก (ร้อยละ 87.5 และร้อยละ 98.3) และกลุ่มกิจกรรมพิเศษตามเทศกาล (ร้อยละ 100 และร้อยละ 99.7)กลุ่มกิจกรรมทางศาสนา (ร้อยละ 98.5 และ ร้อยละ 100)

    สรุปผลการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมาย

1.3 วัตถุประสงค์ข้อที่ 3 เพื่อพัฒนาบุคลากรในการบริการนันทนาการทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความรู้ความสามารถสู่ระดับมาตรฐานสากล

เป้าหมาย

ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรในการบริการนันทนาการให้มีศักยภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น และมีการจ้างงานบุคลากรนันนาการอาชีพมากยิ่งขึ้น

ผลการดำเนินงาน

1. ปี พ.ศ. 2549 เดือนมกราคม อัตราการว่างงาน 2.2

ปี พ.ศ. 2550 เดือนมกราคม อัตราการว่างงาน 1.6

ปี พ.ศ. 2551 เดือนมกราคม อัตราการว่างงาน 1.7

ปี พ.ศ. 2552 เดือนมกราคม อัตราการว่างงาน 2.4

จำนวนผู้ว่างงานตามประสบการณ์การทำงาน

ไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2551 เคยทำงานมาก่อน 4.5 แสนคน

2.1 แสนคน เป็นภาคบริการ

1.1 แสนคน เป็นภาคการผลิต

1.3 แสนคน เป็นภาคเกษตรกรรม

ไตรมาสที่ 4 พ.ศ.2551 เคยทำงานมาก่อน 3.4 แสนคน

1.3 แสนคน เป็นภาคบริการ

1.3 แสนคน เป็นภาคการผลิต

0.8 แสนคน เป็นภาคเกษตรกรรม

ภาวะเศษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและเกิดระบาดไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009

2. สถานบันพัฒนาบุคลากร สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ ดำเนินการจัดจ้างผู้นำทางการกีฬาและนันทนาการที่มีความรู้ ความสามารถในการดำเนินการส่งเสริมกีฬาและนันทนาการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นเจ้าหน้าที่กีฬาและนันทนาการอำเภอละ 1 คน และประจำสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด (75 จังหวัด) รวม 925 คน

บุคลากรด้านกีฬาและนันทนาการได้รับการพัฒนา ปี พ.ศ. 2550 จำนวน 13, 035 และปี พ.ศ. 2551 จำนวน 9,571 คน

   สรุปผลการดำเนินงาน ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

1.4 วัตถุประสงค์ข้อที่ 4 เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ปรับปรุง และรับรองมาตรฐาน อุปกรณ์ สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับนันทนาการ

เป้าหมาย

มีการสร้างตรวจสอบ ปรับปรุงดูแล และพัฒนาสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับนันทนาการให้มีความสะดวก ปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ผลการดำเนินงาน

1. มีการจัดการความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมนันทนาการในสถานศึกษา

1.1 มีการจัดหาอุปกรณ์นันทนาการที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน(ร้อยละ 72.9)

1.2 มีสนามเด็กเล่นและเครื่องเล่นที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน (ร้อยละ 63.9)

1.3 มีการตรวจสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์นันทนาการอย่างสม่ำเสมอ(ร้อยละ 58.2)

1.4 มีกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (ร้อยละ 50.1)

2. มีการจัดการความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมนันทนาการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2.1 มีการจัดหาอุปกรณ์นันทนาการที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน(ร้อยละ 73.3)

2.2 มีสนามเด็กเล่นและเครื่องเล่นที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน (ร้อยละ 64.1)

2.3 มีการตรวจสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์นันทนาการอย่างสม่ำเสมอ(ร้อยละ 55.7)

2.4 มีกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (ร้อยละ 47.3)

    สรุปผลการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมาย

1.5 วัตถุประสงค์ข้อที่ 5 เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการนันทนาการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

เป้าหมาย มีการบริหารจัดการนันทนาการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

1. มีองค์กรหลักทำหน้าที่รับผิดชอบ กำกับดูแล และประสานงานการดำเนินงานนันทนาการของประเทศ

2. มีโครงสร้างการบริหารงานนันทนาการชัดเจนและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สถานศึกษา องค์กรวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการพัฒนานันทนาการและสนับสนุนนันทนาการเชิงพาณิชย์

3. มีศูนย์นันทนาการดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพในทุกชุมชนและมีองค์กรเครือข่ายเชื่อมโยงประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

4. มีศูนย์ข้อมูลเผยแพร่ด้านนันทนาการ มีระบบสารสนเทศและการประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ

5. มีกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่เหมาะสมเอื้อต่อการดำเนินการด้านนันทนาการ

6. มีผลการศึกษา วิจัย ค้นหา และพัฒนานวัตกรรมด้านันทนาการทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ

7. มีการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) อย่างเป็นระบบ

    ผลการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมาย

1. มีองค์กรหลักทำหน้าที่ที่รับผิดชอบ (สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ)

2. มีโครงสร้างการบริหารนันทนาการชัดเจน

3. มีศูนย์นันทนาการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพในทุกชุมชน(ศูนย์นันทนาการตำบล/เทศบาลและจังหวัด)

4. มีการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) อย่างเป็นระบบ

    ผลการดำเนินงาน ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

1. มีศูนย์ข้อมูลเผยแพร่ด้านนันทนาการ มีระบบสารสนเทศแต่ยังขาดระบบบริหารจัดการเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วประเทศ

2. ยังไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่เหมาะสม

3. มีผลงานการศึกษา วิจัย ค้นหา ในระดับประเทศแต่ยังขาดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านนันทนาการทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ

2. สรุปผลการประเมินตามยุทธศาสตร์ ผลผลิตและตัวชี้วัดของแผน ฯ

2.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมเด็ก เยาวชน และประชาชนให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์และประกอบกิจกรรมนันทนาการเป็นประจำจนเป็นวิถีชีวิต ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อตนเองและสังคม

มีผลผลิต 5 ข้อ และมีตัวชี้วัด 5 ข้อ ผลการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมาย 5 ข้อ

    ผลการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่

1. เด็ก เยาวชนและประชาชนทุกกลุ่ม มีความรู้ ความเข้าใจและเห็นคุณค่าการใช้เวลาว่าง(ร้อยละ 42.8) เป็นเด็ก (ร้อยละ 46.4) และเยาวชน (ร้อยละ 45.4)

2. สถานศึกษาทุกระดับและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้อยละ 30 มีการเรียนรู้และจัดกิจกรรมนันทนาการ

3. ครู ผู้นำ และอาสาสมัครนันทนาการได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้น

4. สถานศึกษาและชุมชนร้อยละ 30 จัดหาแหล่งนันทนาการ

5. มีศูนย์นันทนาการชุมชน ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศที่ให้บริการประชาชนและจัดกิจกรรมนันทนาการ

2.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาบุคลากรในการจัดบริการนันทนาการ

มีผลผลิต 3 ข้อ และมีตัวชี้วัด 6 ข้อ ผลการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมาย 2 ข้อ และยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 4 ข้อ

    ผลการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่

1. ศิลปวัฒนธรรมประเพณีได้รับการอนุรักษ์และส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง

2. อุปกรณ์ สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับนันทนาการได้รับการปรับปรุงพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพ

    ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่

1. มีบุคลากรในการจัดบริการนันทนาการได้รับการอบรมระดับพื้นฐานแต่ยังไม่พบการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถสู่ระดับมาตรฐานสากล

2. ยังไม่มีบุคลากรนันทนาการอาชีพได้รับใบประกอบวิชาชีพ

3. ยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรรับรองมาตรฐานวิชาชีพนันทนาการ

4. ยังขาดมาตรการเกี่ยวกับทรัพยากรนันทนาการ (Recreation Resource) ที่จะได้รับการดูแลและอนุรักษ์ตลอดเวลา

2.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาการบริหารจัดการนันทนาการ

มีผลผลิต 1 ข้อ และมีตัวชี้วัด 5 ข้อ ผลการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมาย 1 ข้อ และยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 4 ข้อ

     ผลการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่

1. ศูนย์นันทนาการในสถานศึกษาและชุมชนร้อยละ 50 ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ผลการดำเนินงาน ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่

1. ยังไม่มีสถานประกอบการนันทนาการเชิงพาณิชย์มีผลผลิตขององค์กรธุรกิจนันทนาการเพิ่มมากขึ้น

2. มีศูนย์ข้อมูลเผยแพร่กิจการนันทนาการทั้งในระดับอำเภอและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่ยังไม่มีระบบสารสนเทศและการประชาสัมพันธ์เชื่อมโยงเครือข่ายทั่วประเทศ

3. ยังไม่มีการปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับให้เหมาะสมต่อการดำเนินการด้านนันทนาการ

4. มีผลการศึกษา วิจัย ค้นหา และพัฒนานวัตกรรมด้านนันทนาการในระดับประเทศแต่ยังขาดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านนันทนาการทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ


ตาราง สรุปผลการประเมินผลแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554)

ไฟล์:30.jpg


อภิปรายผล

1. จากวัตถุประสงค์ ข้อ 3 และเป้าหมายที่เน้นให้มีการจ้างงานบุคลากรนันทนาการอาชีพมาก พบว่าในปี พ.ศ. 2550-2552 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกยิ่งกว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่ายมา ทำให้เกิดการระบาดไช้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 และอัตราการว่างงานมีมากขึ้น จึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2552) ส่วนวัตถุประสงค์ข้อ 5 และมีเป้าหมายย่อย 7 ข้อ แต่ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 3 ข้อ ได้แก่ ยังขาดระบบบริหารจัดการเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วประเทศ ยังไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่เหมาะสม เอื้อต่อการดำเนินการด้านนันทนาการ และยังขาดการค้นคว้าวิจัย และพัฒนานวัตกรรมด้านนันทนาการทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ เนื่องจากระบบบริหารจัดการเชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์ข้อมูลที่เผยแพร่ด้านนันทนาการทั่วประเทศยังไม่มี ต่างคนต่างทำหรือแต่ละหน่วยงานจัดทำด้วยตนเอง ไม่มีการเชื่อมโยง หรือใช้ข้อมูลร่วมกัน แม้แต่ในกระทรวงเดียวกัน (สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ, 2550 และมปป.) นอกจากนี้ ยังไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับในการบริหารจัดการนันทนาการที่เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์ รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมด้านนันทนาการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติยังขาดแคลนอย่างมาก

2. จาก 3 ยุทธศาสตร์ มีตัวชี้วัดอีก 16 ข้อ เป็นไปตามตัวชี้วัด 8 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 50 ส่วนที่ไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ ได้แก่ ยังไม่มีการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรนันทนาการสู่ระดับมาตรฐานสากล ยังไม่มีบุคลากรนันทนาการอาชีพที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพ ยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรรับรองมาตรฐานวิชาชีพนันทนาการ และยังขาดมาตรการเกี่ยวกับทรัพยากรนันทนาการที่จะได้รับการดูแล อนุรักษ์ ตลอดเวลา ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพจัดดำเนินการจัดทำร่างโครงการจัดตั้งองค์กรรับรองมาตรฐานวิชาชีพนันทนาการ รวมทั้งการออกใบประกอบวิชาชีพทางด้านนันทนาการ (สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ, 2550 และมปป.) นอกจากนี้การจัดทำมาตรการดูแลและอนุรักษ์แหล่งนันทนาการยังไม่ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปแบบ

ดังนั้น ในภาพของการประเมินแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554)ระยะกลางแผน มีผลดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัด ร้อยละ 58.62 เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งคณะผู้ประเมินได้สรุปไว้ดังนี้

1. การนิเทศแผน ฯ และการประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง

2. ประชาชนการปฏิบัติกิจกรรมนันทนาการมากแต่กิจกรรมไม่หลากหลาย เนื่องจากขาดความรู้และโอกาสในการเลือกกิจกรรมให้เหมาะสมกับความสนใจ

3. บุคลากรนันทนาการยังไม่ได้รับการพัฒนาไปสู่ระดับมาตรฐานสากล

4. การจัดสรรงบประมาณยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน

5. การบริหารงานด้านนันทนาการ ยังขาดเอกภาพ ถึงแม้ว่าหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจะดำเนินงานด้านนันทนาการ แต่ขาดการบูรณาการ

6. ข้อกำหนด กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่เอิ้อต่อการดำเนินงานด้านนันทนาการ

7. ระบบสารสนเทศและการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับนันทนาการยังไม่สมบูรณ์

8. การสร้างเครือข่ายนันทนาการ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนถึงประเทศและนานาชาติยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึง

อาจเป็นไปได้ว่าในระยะเวลาที่เหลืออยู่อีก 2 ปี หากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันและช่วยเหลือกันเร่งดำเนินงาน ขจัดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายของแผน ฯ ให้ได้


ข้อเสนอแนะ

1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1.1 รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554) โดยประกาศให้ทุกหน่วยงานได้นำแผนฯ ไปปฏิบัติตามความเหมาะสมกับภารกิจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน

1.2 จัดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่กำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนฯ ในระดับนโยบาย

1.3 จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ

2.1 ควรจัดทำแผนการดำเนินการตามแผนฯ แบบบูรณาการ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

- แผนงานในด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรนันทนาการสู่มาตรฐานสากล

- แผนเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมและสถานที่นันทนาการ

- แผนงานเกี่ยวกับการส่งเสริมนันทนาการประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

- แผนงานเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการบริหารงานนันทนาการแบบยั่งยืน

- แผนงานส่งเสริมนันทนาการเชิงพาณิชย์

2.2 ควรพัฒนาบุคลากรนันทนาการสู่มาตรฐานสากล โดยจัดทำหลักสูตรอบรมนักบริหารจัดการนันทนาการ

2.3 สร้างกระแสความนิยมของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมนันทนาการหลากหลายชนิด

2.4 ควรมีมาตรการตรวจสอบและควบคุมความปลอดภัยของอุปกรณ์ เครื่องเล่น และสนาม ประกอบการนันทนาการตามมาตรฐานสากล

2.5 จัดทำระบบสารสนเทศและการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับนันทนาการให้มีความเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ

2.6 ควรสร้างรูปแบบการบริการศูนย์นันทนาการชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยชุมชนเป็นผู้บริหารศูนย์ฯ และผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นของชุมชน

2.7 ควรรณรงค์และสร้างวัฒนธรรมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยการให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง


กิตติกรรมประกาศ

คณะผู้ประเมินขอขอบคุณสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ได้สนับสนุนด้านงบประมาณ รวมทั้งผู้ประสานงานในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ด้วย


เอกสารอ้างอิง

สำนักส่งเสริมและพัฒนานันทนาการ , สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ. แผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550 – 2554) กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย , 2551.

สำนักส่งเสริมและพัฒนานันทนาการ , สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ. คู่มือการแปลงแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1(พ.ศ. 2550 – 2554) สู่การปฏิบัติ. กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย , 2551.

สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ. รายงานประจำปี 2550. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ดอกเบี้ย , 2550.

สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ. รายงานประจำปี 2551. กรุงเทพมหานคร :มปท , มปป.

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. การสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรปี 2549-2552. www.nso.go.th เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552.

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. การสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรไทยไตรมาสที่ 1-4 พ.ศ.2551. www.nso.go.th เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552.

เครื่องมือส่วนตัว