Airline

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
51844930 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(งานวิจัยระดับดุษฎีบัณฑิต สาขา การศึกษานอกระบบโรงเรียน ภาควิชา การศึกษาตลอดชีวิต คณะครุ)
แตกต่างถัดไป →

การปรับปรุง เมื่อ 10:41, 12 มีนาคม 2556

จิตบริการในพนักงานสายการบิน

การพัฒนารูปแบบการฝึกอบรมตามแนวคิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงและทฤษฎีการเห็นคุณค่าในตนเองเพื่อเสริมสร้างจิตบริการสำหรับพนักงานสายการบิน : รมย์ฤดี เวสน์ งานบริการจำเป็นต้องมีพนักงานที่มีจิตบริการ เช่นเดียวกับในงานบริการของสายการบิน แต่การที่จะสามารถพัฒนาพนักงานสายการบินให้มีคุณภาพการให้บริการที่ได้มาตรฐาน ทั้งการต้อนรับ การแสดงออกทางภาษากาย การมีบุคลิกภาพที่ดี ฯ มีความสามารถด้านจิตบริการที่จะสร้างความประทับใจให้ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการได้อีก สายการบินจะต้องพัฒนาให้ได้ลงลึกมากขึ้นจนถึงระดับที่จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานได้ ซึ่งหากสามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ก็จะดำรงอยู่ได้นาน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเข้าใจใหม่ที่เริ่มจากระดับภายในของจิตใจที่จะสามารถพัฒนาลึกเข้าสู่ระดับของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในที่สุด ประกอบกับการเห็นคุณค่าในตนเองก็จะช่วยเสริมสร้างจิตบริการขึ้นได้ โดยนำการฝึกสมาธิมาใช้เป็นหนทางที่จะช่วยส่งผลให้เป็นผู้ที่เห็นคุณค่าในตนเองสูงได้

ผู้วิจัยได้นำแนวคิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงของ Mezirow(1991)มาเป็นกระบวนการหลักในการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการฝึกอบรม ซึ่งแนวคิดนี้มีจุดเด่นที่สามารถตอบสนองเป้าหมายของการศึกษาผู้ใหญ่คือการช่วยให้บุคคลเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ที่คิดได้ด้วยตนเอง จึงทำให้พนักงานคิดที่จะเพิ่มจิตบริการของตนเองโดยไม่ต้องมีใครบังคับ ซึ่งมีกระบวนย่อยในการวิจัยเป็นองค์ประกอบคือ แนวคิดการเห็นคุณค่าในตนเองของLawrence(2000) การเห็นคุณค่าในตนเองเป็นแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จที่แต่ละบุคคลสามารถพัฒนาขึ้นได้ ทำให้เป็นผู้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม มีความสุขและพึงพอใจในชีวิต พร้อมที่จะเป็นผู้ให้ สามารถทำงานร่วมกันกับผู้อื่นได้ดี พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเอง ผู้วิจัยใช้รูปแบบการฝึกอบรมของ Houle(1972)ซึ่งเป็นรูปแบบการศึกษานอกระบบโรงเรียนที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาอาชีพ เน้นให้มีการกลับเข้ามารับการอบรมอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบการฝึกอบรมที่ได้นี้จะเป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการเรียนรู้ อันเป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเสริมสร้างจิตบริการสำหรับพนักงานสายการบินผู้ให้บริการได้ในที่สุด ผู้วิจัยได้ทำการทดลองวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการฝึกอบรมกับพนักงานสายการบินผู้มีหน้าที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารจาก 4 กลุ่มงานได้แก่ ได้แก่ พนักงานสำรองที่นั่ง พนักงานบัตรโดยสาร พนักงานต้อนรับภาคพื้นและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

ผลการวิจัยได้รูปแบบการฝึกอบรมตามแนวคิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงและทฤษฎีการเห็นคุณค่าในตนเองเพื่อเสริมสร้างจิตบริการสำหรับพนักงานสายการบิน ซึ่งมี 3 องค์ประกอบคือ 1.หลักการ 2.การวางแผน 3.กระบวนการ

รูปแบบการฝึกอบรมที่ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยและทดลองฝึกอบรม พบว่าเป็นรูปแบบที่สามารถเสริมสร้างจิตบริการแก่พนักงานสายการบินให้เกิดขึ้นได้จริง สามารถช่วยให้ทำหน้าที่ให้บริการได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ อันเกิดจากการปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ในการให้บริการจากแนวคิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ที่ประกอบด้วยทฤษฎีการเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งรูปแบบการฝึกอบรมใช้เทคนิคการผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำสมาธิ เทคนิคการผ่อนคลายทั้งจิตใจและร่างกายไปพร้อมๆ กันด้วยการออกกำลังกายผสมผสานกายและใจ (Kasemsook Movement) จนส่งผลให้มีเจตคติและพฤติกรรมการบริการ รวมทั้งคุณลักษณะของผู้มีจิตบริการในพนักงานสายการบิน


รายการอ้างอิง

เกษมสุข ภมรสถิตย์.(2544) 3 ขั้นตอนของสมาธิกับชีวิตประจำวัน. กรุงเทพมหานคร. คณะทำงานบ้านมธุระ. เกษมสุข ภมรสถิตย์.(2551) Kasemsook Movement. กรุงเทพมหานคร : คณะทำงานบ้านมธุระ.(สำเนา) เกียรติวรรณ อมาตยกุล.(2545) คิด-ทำ ด้านบวก. กรุงเทพมหานคร : ภาพพิมพ์. เทพ สงวนกิตติพันธุ์.(2551) การสร้างพฤติกรรมจิตบริการด้วยเทคนิคการปรับพฤติกรรม.[ออนไลน์].http://www.stou.ac.th/Offices/rdec

Cyril O. Houle. (1983)Adult Education and Lifelong Learning : Theory and Practice : Routledge. Denis Lawrence.(2000) Building Self-Esteem with Adult Learners.London:Paul Chapman Publishing. Jack Mezirow.(1991) Transformative Dimensions of Adult Learning.San Francisco: Jossey-Bass.

รับข้อมูลจาก "https://chulapedia.chula.ac.th/index.php?title=Airline"
เครื่องมือส่วนตัว