สาธารณะ
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''สาธารณะ''' ในภาษาอังกฤษใช้ public, public space, public place, public sphere, public realm,…')
รุ่นปัจจุบันของ 08:00, 11 เมษายน 2554
สาธารณะ ในภาษาอังกฤษใช้ public, public space, public place, public sphere, public realm, public activities, publicness) คําว่าสาธารณะเป็นอีกคําหนึ่งที่หากจะตีความให้เห็นความหมายอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จะพบว่ามีความสัมพันธ์กับแนวคิดและทฤษฎีในหลากสาขาวิชา เช่น ในเชิงรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์มีการนําคําว่า “นโยบาย” มารวมกับ “สาธารณะ” ซึ่งแปลโดยตรงมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Public Policy อันมีหลายความหมาย ที่เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดก็เป็นความหมายที่ Dye (1992) กล่าวไว้ว่าหมายถึง กิจของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ ที่เลือกที่จะทําหรือไม่ทํา เป็นทั้งกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจําวัน หรือเฉพาะโอกาส กิจกรรมนั้นๆเกี่ยวข้องกับประชาชนคนหมู่มากซึ่งเป็นสมาชิกของสังคม มีผลต่อการพัฒนาประเทศ ส่วนในศาสตร์ของทางสื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์ก็กล่าวถึงการประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับมวลชนและสาธารณะ (Public Relation) ในทางสังคมศาสตร์มีการกล่าวถึง สาธารณะ ในแง่สังคมไว้โดยมีพัฒนาการมานาน และเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบสังคมและการปกครองแบบประชาธิปไตยในปัจจุบัน
คำจำกัดความ
Public (adj) เกี่ยวกับสาธารณชน/สังคมส่วนรวม, ซึ่งกระทํา/แสดงออกเพื่อสังคมส่วนรวม, ที่เปิดแก่สาธารณชน, เกี่ยวกับการบริการชุมชน/ของชาติ , (n) สาธารณชน ชุมชน รัฐ ชาติ, กลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกัน
ที่เด่นชัดในแง่ทางด้านการสื่อสาร แนวคิดของ Habermas (1989) นักทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน เกี่ยวกับ “พื้นที่สาธารณะ” (Public sphere) ได้ถูกกล่าวไว้ว่าเป็นที่รวมของปัจเจกบุคคลจากที่ต่างๆกัน มาเพื่อร่วมวงสนทนาโต้เถียงในเรื่องที่มีความรู้สึกร่วมกัน ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 เริ่มมีกลุ่มคนฐานะระดับกลางเพิ่มขึ้น มีการก่อตั้งพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เช่น ร้านกาแฟ ร้านเสริมสวย สโมสร สมาคม ชมรมต่างๆ ซึ่งสถานที่เหล่านี้จึงเป็นแหล่งให้ผู้คนมาร่วมสนทนาเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความสวยความงาม สังคม เพื่อนบ้าน จนกระทั่งการเมืองการปกครอง ซึ่ง Habermas ถือว่าพื้นที่สาธารณะเป็นสื่อกลางแห่งการประสานความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชน และเป็นการต่อต้านระบบศักดินา ลักษณะดังกล่าวนี้ Habermas ถือว่าไม่ได้มีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องจากตลาดในสมัยกรีกโบราณ (agora) แต่อย่างใดเนื่องจากพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นได้ทั่วๆไป และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วกัน พื้นที่สาธารณะในแนวคิดนี้เป็นต้นกําเนิดแนวความคิดในรุ่นใหม่ๆ ทางด้านสื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์ในเวลาต่อมา
ฉันทัส (2542) กล่าวสรุปไว้ว่า ในปัจจุบันเมืองเป็น “พื้นที่แบบอารยะ” ภายในเมืองจะมีหอการค้า ตามถนนสายต่างๆ มีการจัดแบ่งพื้นที่กันปกครองดูแลรักษา และมีพื้นที่สาธารณะ (Public space) เช่น ลานคนเมือง เพื่อส่งเสริมความเป็นประชาคม ส่วนชาวอังกฤษเรียกร้านเหล้าที่เป็นที่พบปะกันว่า Pub ซึ่งคํานี้เป็นคําย่อมาจาก Public-house นั่นเอง
Public space ในความหมายของ Moudon (1991) คือที่สําหรับผู้คนมาพบปะกัน เพื่อรับอากาศ แสงแดด เพื่อให้ความชุ่มชื่นมีชีวิตชีวาของเมือง (irrigate the city) ส่วน Kevin Lynch (1981) และ J. B. Jackson (1984) เน้นถึงความเป็นสาธารณะว่าเป็นโครงร่างของการพัฒนาวัฒนธรรมมวลชนให้งอกงาม ซึ่งทั้งนักออกแบบชุมชนเมืองและภูมิสถาปนิกมักจะใช้ลําดับความเป็นสาธารณะในการระบุลักษณะพื้นที่ โดยขยายความหมายแค่จากกายภาพสู่ส่วนที่เป็นพฤติกรรมในเชิงมนุษยศาสตร์มากขึ้น
อ้างอิง
- [1]อริยา อรุณินท์. 2545. "การจัดกิจกรรมสาธารณะบนถนนสาธารณะ : บทวิพากษ์ถนนคนเดินและนโยบายการใช้พื้นที่ถนนกรณีศึกษากรุงเทพมหานคร". การประชุมทางวิชาการสาระศาสตร์ 06.45, 2545.
- Habermas, Jürgen. “The Structural Transformation of the Public Sphere: An Inquiry into a Category of Bourgeois Society”. Trans. Thomas Burger. 1962; Cambridge: MIT Press, 1989.
- ฉันทัส เพียรธรรม. “สถาปนาสถาบันเมือง : เมือง การเมือง ชุมชน และประชาสังคม”. กรุงเทพฯ : สถาบันการพัฒนาพื้นฐาน, 2542
- Dye, Thomas R. (1992). “Understanding Public Policy.” - 7th edition. Prentice Hall
- Jackson, J.B 1984. “Discovering the Vernacular Landscape”. New Haven. Yale University Press.
- Lynch, K. 1981. “A Theory of Good City Form.” Cambridge: MIT Press.