การจัดการเรียนรู้สุขศึกษา

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 03:53, 27 เมษายน 2554 โดย Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 22 ได้กำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาไว้ว่า การจัดการศึกษา ต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ และถือว่า “ผู้เรียน” มีความสำคัญมากที่สุด


เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และให้ผู้เรียนเกิด “การเรียนรู้” มากที่สุด อันจะช่วยให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีได้นั้น การจัดการเรียนรู้สุขศึกษา จึงควรคำนึงถึง “ผู้เรียน” เป็นสำคัญ โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากที่สุด ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และผู้เรียนค้นพบด้วยตนเอง ซึ่งการจัดการเรียนรู้สามารกระทำได้หลายรูปแบบ จัดตามสภาพจริง จัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้จากการปฏิบัติการจริง เรียนรู้จากธรรมชาติ และเรียนรู้แบบบูรณาการ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาการคิดของผู้เรียน ให้ผู้เรียนรู้จักคิดไตร่ตรอง คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดอย่างสร้างสรรค์ และพัฒนาความสามารถทางอารมณ์ ให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของตนเอง เข้าใจตนเอง เห็นใจผู้อื่น สามารถแก้ปัญหาข้อขัดแย้งทางอารมณ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนรู้จักแก้ปัญหาสุขภาพของตนเองและปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง เพื่อการมีสุขภาพที่ดี


หลักการและแนวคิดในการจัดการเรียนรู้สุขศึกษา

1. มีการกำหนดจุดมุ่งหมายในการจัดการเรียนรู้สุขศึกษาให้ชัดเจน การจัดการเรียนรู้สุขศึกษาควรจัดให้ผู้เรียนมีความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพ โดยเน้นให้ผู้เรียนรู้จักคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และนำไปใช้ได้ ทั้งนี้เพื่อให้มีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดี

2. ควรคำนึงถึงธรรมชาติของผู้เรียน ความสนใจ ความต้องการ และปัญหาของผู้เรียนเป็นสำคัญ

3. การจัดการเรียนรู้ควรจัดกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเน้นคุณธรรมนำความรู้ สู่การปฏิบัติทางด้านพฤติกรรมสุขภาพที่ดีและถูกต้อง

4. ควรจัดให้มีความสัมพันธ์กับประสบการณ์ในชีวิตจริงของผู้เรียน มีข้อมูลทางสุขภาพที่ทันสมัย และกิจกรรมการเรียนรู้ควรเป็นกิจกรรมหรือการปฏิบัติที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ด้วย

5. ควรจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการหรือผสมผสาน ทั้งในส่วนของเนื้อหา และกระบวนการหรือวิธีการ ซึ่งมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ (Dynamic) อันจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่คงทนอยู่ได้นาน

6. การจัดการเรียนรู้ควรเน้นเพื่อการพัฒนาความคิด รวมทั้งการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร และมีสัมพันธภาพที่ดีในห้องเรียน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี

7. การจัดการเรียนรู้ควรจัดให้เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพราะสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และมีความสำคัญมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนเราตลอดเวลา

8. ควรจัดการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในบทเรียนหรือกระทำสิ่งต่างๆ ร่วมกัน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี

9. ควรเน้นเรื่องสุขภาพในลักษณะทางบวก (Positive) ไม่ใช่ทางลบ (Negative) หรือเน้นสิ่งที่ควรปฏิบัติมากกว่าสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ เช่น การยกตัวอย่างนักเรียนที่สะอาดหรือสุขภาพแข็งแรงดีกว่าจะยกตัวอย่างนักเรียนที่สกปรกหรือสุขภาพอ่อนแอ เน้นข้อควรปฏิบัติใน สุขบัญญัติ หรือไม่ควรเน้นให้ผู้เรียนเกิดความหวาดกลัวจนเกินไปในเรื่องอุบัติเหตุหรือโรคภัย ไข้เจ็บ เป็นต้น

10. ไม่ควรลงโทษผู้เรียนโดยให้ปฏิบัติในสิ่งที่ผิดสุขลักษณะ เช่น ให้คลานใต้โต๊ะนักเรียน ให้ยืนกางแขนสองข้างเป็นเวลานานๆ ฯลฯ

11. ควรให้ผู้เรียนรู้จักสรุปหลักเกณฑ์ และสามารถนำหลักเกณฑ์เหล่านั้นไปใช้กับประสบการณ์ใหม่ในด้านต่างๆของชีวิตประจำวันได้

12. ผู้สอนควรเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการดูแลสุขภาพ โดยไม่ควรแสดงสุขนิสัยที่ไม่ดีให้ผู้เรียนเห็น เช่น การดื่มน้ำหวานน้ำอัดลม การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ เป็นต้น

13. การจัดการเรียนรู้ควรเน้น “การจัดโปรแกรมสุขภาพในโรงเรียน” อันได้แก่ การจัดสิ่งแวดล้อมทางสุขภาพ การบริการสุขภาพ และการเรียนการสอนสุขศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้ การดูแล และพัฒนาสุขภาพของผู้เรียน คณาจารย์และบุคลากรทุกคนดำเนินไปอย่างถูกต้อง สมบูรณ์แบบ และเกิดประสิทธิภาพซึ่งโรงเรียนควรประสานความร่วมมือกับบ้านและชุมชนด้วย


ขอบข่ายเนื้อหาการจัดการเรียนรู้สุขศึกษา

1. สุขภาพส่วนบุคคล

2. โภชนาการและสุขภาพผู้บริโภค

3. สุขภาพจิต

4. การปฐมพยาบาล

5. โรคติดต่อ/โรคไม่ติดต่อ/โรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม

6. การบริการสุขภาพ

7. สิ่งแวดล้อม

8. ความปลอดภัย

9. ความรู้เรื่องเพศ

10. สารเสพติด

11. มรณศึกษา (Death Education)


รูปแบบการจัดการเรียนรู้สุขศึกษา

การจัดการเรียนรู้สุขศึกษาสามารถจัดได้หลากหลายรูปแบบ ควรพิจารณาถึงแนวคิดเกี่ยวกับการสุขศึกษา ซึ่งหมายถึงกระบวนการจัดการศึกษาและประสบการณ์เพื่อให้บุคคลและชุมชนมีความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติที่ดี และถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพ อันจะส่งผลให้บุคคลและชุมชนมีความสุขทั้งทางกาย ทางใจ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ด้วยดี รวมทั้งพิจารณาถึงการจัดการเรียนรู้สุขศึกษาให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิด และเป็นผู้ที่มีคุณธรรมนำความรู้อีกด้วย โดยรูปแบบที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้สุขศึกษาสามารถกระทำได้ดังต่อไปนี้

1. การจัดการเรียนรู้สุขศึกษาแบบจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education)

2. การจัดการเรียนรู้สุขศึกษาแบบบูรณาการ (Integrated Education)

3. การจัดการเรียนรู้สุขศึกษาแบบย้อนกลับ (Backward Design)

4. การจัดการเรียนรู้สุขศึกษาแบบพหุปัญญา (Multiple Intelligences)

5. การจัดการเรียนรู้สุขศึกษาแบบคุณธรรมศึกษา (Moral Education)


อาจารย์ผู้รับผิดชอบบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว