โรคท้องเสีย
จาก ChulaPedia
การปรับปรุง เมื่อ 03:57, 25 ตุลาคม 2554 โดย Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
เนื้อหา |
อาการท้องเสีย
อันตรายที่เกิดขึ้นจากภาวะท้องเสียโดยมากเกิดจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายอย่างมากและรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและอ่อนเพลีย ในรายที่เป็นมากหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจช็อกและเสียชีวิตได้
ควรรีบพบแพทย์ หากมีอาการที่แสดงถึงภาวะขาดน้ำ ดังนี้
- รู้สึกอ่อนเพลียมาก หน้ามืดหรือวิงเวียนเวลาเปลี่ยนท่าทางจากนั่งเป็นยืน
- ตาลึกบุ๋ม ไม่ค่อยมีน้ำตา (ถ้าร้องไห้) ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะลดลง
- ปากแห้ง กระหายน้ำบ่อยและมาก
- มีอาการท้องเสียนานเกิน 2 วัน น้ำหนักตัวลดมากกว่าร้อยละ 5 จากน้ำหนักก่อนท้องเสีย
และหากผู้ป่วยมีไข้สูงมากหรือปวดท้องอย่างรุนแรงหรือถ่ายเป็นมูกเลือดหรือถ่ายบ่อยมากหรือมีโรคประจำตัวอย่างเช่นเบาหวาน ตั้งครรภ์ เป็นเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุควรไปพบแพทย์
การป้องกันท้องเสีย
ในภาวะปกติ หรือสถานการณ์วิกฤต ควรทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ให้เช็ดหรือล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
- รับประทานแต่อาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่มีส่วนประกอบของกะทิซึ่งบูดเสียได้ง่าย
- ควรดื่มน้ำต้มสุก หากกรณีที่ไม่สามารถต้มน้ำดื่มได้ อาจใช้สารละลายคลอรีนที่ผลิตโดยกรมอนามัย ความเข้มข้นร้อยละ 2 หยดลงในน้ำอัตราส่วน 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วทิ้งไว้ 30 นาทีจึงสามารถดื่มได้
- ก่อนการบริโภคทุกครั้ง สังเกตวันหมดอายุ และสภาพของอาหาร ว่ามีสภาพดีหรือไม่? กลิ่นและสีเป็นปกติหรือไม่?
- ควรขับถ่ายในห้องส้วมที่สามารถใช้การได้ ถ้าไม่มีให้ขับถ่ายอุจจาระในถุง ถ้ามีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อให้ใส่ลงในถุงอุจจาระก่อนแล้วปิดปากถุงให้แน่น การกำจัดถุงอุจจาระหรือขยะภายในบ้านใส่ถุงแล้วผูกปากถุงให้แน่น รวมส่งให้ทางการนำไปกำจัดต่อไป
การรักษาอาการท้องเสียเบื้องต้น
สิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคือ การทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป โดยการรับประทานน้ำสารละลายเกลือแร่หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าผง โอ อาร์ เอส (ORS) ลดอันตรายจากโรคและทำให้โอกาสหายเร็วขึ้น
- ถ้ามีผงเกลือแร่ ORS ชนิดซอง ให้ละลายน้ำ 1 แก้วต่อผงเกลือแร่ 1 ซอง(เล็ก) ถ้าซองใหญ่ละลายน้ำหนึ่งขวด(ขนาดขวดน้ำปลา)
- ดื่มสารละลายผงเกลือแร่แทนน้ำ ทุกครั้งที่กระหาย หากถ่ายเป็นน้ำปริมาณมากให้กะประมาณสารละลายที่ดื่มให้ได้ใกล้เคียงกับที่ถ่ายไป หากมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วยให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยๆครั้งแทนการดื่ม
- ในกรณีที่ไม่สามารถหาผงเกลือแร่ ORS ได้ สามารถเตรียมสารละลายเกลือแร่ขึ้นเอง โดยใช้น้ำตาลทราย 8 ช้อนชาและเกลือป่น 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ลิตร
- หลีกเลี่ยงการรับประทาน อาหารที่ย่อยยากหรืออาหารที่มีกากมาก รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลวที่ย่อยง่าย ดื่มนมได้ แต่หากดื่มนมแล้วอาการท้องเสียรุนแรงขึ้น ให้หยุด
- ยาต้านเชื้อจุลชีพ ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะมีความจำเป็นเฉพาะผู้ป่วยท้องเสียบางรายเท่านั้น เช่น มีไข้สูงร่วมกับอาการหนาวสั่น อุจจาระเป็นมูกหรือมีเลือดปน หรือมีโรคประจำตัวเช่นเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์โดยด่วนการใช้โดยไม่จำเป็น อาจเกิดแพ้ยา
- ผู้ป่วยท้องเสียไม่ควรรับประทานยาหยุดถ่าย เนื่องจากยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น หากท้องเสียเกิดจากการติดเชื้อโรค
ข้อควรระวังในการรักษาท้องเสียโดยผงเกลือแร่
- การละลายผงเกลือแร่ต้องใช้น้ำสะอาด หรือให้ต้มน้ำให้เดือด รอจนน้ำเย็นจึงผสมผงน้ำตาลเกลือแร่
- ผงเกลือแร่เมื่อผสมน้ำแล้วใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง หากเกิน 24 ชั่วโมงหลังชงให้ทิ้งไป
- ควรระวังการใช้ในผู้ที่มีปัญหาโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ส่วนการใช้ในเด็กให้ใช้ชนิดที่ระบุว่า “สำหรับเด็ก” จะเหมาะสมและปลอดภัยมากขึ้น
- เก็บผงน้ำตาลเกลือแร่ไว้ในที่แห้ง เนื่องจากความชื้นอาจทำให้ผงยาเกาะตัว ละลายได้ยาก
รายการอ้างอิง
เอกสารความรู้ "การใช้ยาในโรคที่มากับน้ำท่วม" โดย
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงอภิฤดี เหมะจุฑา
- เภสัชกรหญิงสิรินุช พละภิญโญ
- เภสัชกรกิติยศ ยศสมบัติ