การมองจากมุมของผู้อื่น
จาก ChulaPedia
การมองจากมุมของผู้อื่น Perspective Taking
อ. ดร. วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ Watcharaporn Boonyasiriwat Faculty of Psychology Chulalongkorn University
January 4, 2014
Author Note:
Watcharaporn Boonyasiriwat, Ph.D.,
Faculty of Psychology
Chulalongkorn University
This article is for publishing on Chulapedia website.
Correspondence concerning this article should be addressed to Watcharaporn Boonyasiriwat Faculty of Psychology 7th Boromratchonnani Srisattapat Bldg. Rama 1 Rd. Patumwan Bangkok Thailand 10330 Email: watcharaporn.p@chula.ac.th
การมองจากมุมของผู้อื่น
(Perspective Taking)
ความหมาย การมองจากมุมของผู้อื่น หมายถึง ความสามารถทางความคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ จากมุมมองของอีกบุคคลหนึ่ง ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าบุคคลนั้นจะแสดงออกหรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าหนึ่งๆ อย่างไร บุคคลที่มองจากมุมของผู้อื่น คือผู้ที่ก้าวออกจากกรอบการมองของตนเอง และสามารถเห็น คิด หรือรู้สึกตามที่อีกบุคคลหนึ่งรับรู้ได้ ตัวอย่างของการมุมของผู้อื่น เช่น นาย ก. ถูกเพื่อนร่วมงานกลั่นแกล้งในการทำงาน นาย ข. มองจากมุมของนาย ก. และเกิดความเข้าใจว่า นาย ก. น่าจะรู้สึกอึดอัดใจ และกดดันในการมาทำงานและได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีจากเพื่อนร่วมงาน และคาดได้ว่า นาย ก. น่าจะอดทนทำงานในบริษัทนี้อีกได้ไม่นาน เป็นต้น การมองจากมุมของผู้อื่นจึงเป็นการคิดและรู้สึกดังที่อีกบุคคลหนึ่งคิดและรู้สึก ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลหรือมองเห็นสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็น อันสามารถนำสู่ความเข้าอกเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง ที่อาจเป็นเพื่อนคนสนิท คู่ขัดแย้งหรือฝ่ายตรงกันข้าม และก่อให้เกิดมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันตามมาได้ การมองจากมุมของผู้อื่นจึงเป็นเสมือน “กาวใจ” ที่สำคัญต่อการสร้างมิตรภาพ และการสลายความขัดแย้งระหว่างบุคคลและกลุ่มบุคคล (เช่น Galinsky & Ku, 2004) การมองจากมุมของผู้อื่นมักถูกมองว่าเป็นสิ่งเดียวกันกับการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น (empathy) การวิจัยทางจิตวิทยา (เช่น Oswald, 1996) พบว่าทั้งสองเป็นคนละสิ่งกัน โดยการมองจากมุมของผู้อื่นถูกจัดเป็นความสามารถทางการรู้คิดในการนึกออกได้ว่าอีกบุคคลหนึ่งอาจคิดหรือรู้สึกเช่นไร และทำให้สามาถคาดเดาถึงการตอบสนองหรือการกระทำของบุคคลคนนี้ในสถานการณ์หนึ่งๆ ได้ล่วงหน้า แต่การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเป็นการรู้สึกเช่นเดียวกับที่อีกบุคคลหนึ่งรู้สึก ซึ่งช่วยให้ผู้รู้สึกสามารถเข้าใจอีกบุคคลหนึ่งมากขึ้น เช่น เกิดความเห็นอกเห็นใจ การมองจากมุมของผู้อื่น เป็นลักษณะของการที่บุคคลสามารถก้าวออกจากกรอบความคิดความเชื่อของตนเอง และลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือมุมมองของตนเองได้ แต่การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นมักนำมาซึ่งการให้ความช่วยเหลือ ร่วมมือในกิจกรรม/งาน หรือการดูแลบุคคลเป้าหมายอย่างดี เพื่อให้เขาได้คลายทุกข์ ประเภทของการมองจากมุมของผู้อื่น แม้ว่าการมองจากมุมของผู้อื่นจัดเป็นกระบวนการทางการรู้คิด (cognitive) การศึกษาการมองจากมุมของผู้อื่นมักจำแนกการแทนตนเองในมุมของผู้อื่นเป็น 2 ลักษณะตามเนื้อหาของการคิดในมุมของผู้อื่น คือ 1. การมองจากมุมของผู้อื่นเชิงการรู้คิด (cognitive perspective taking) คือการจินตนาการว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะคิดหรือมีแรงดลใจในสถานการณ์หนึ่งๆ อย่างไร เช่น การพยายามคิดว่า นาย ก. จะคิดอะไรบ้างเมื่อถูกหัวหน้าตำหนิอย่างรุนแรงเกี่ยวกับความผิดพลาดในงาน 2. การมองจากมุมของผู้อื่นเชิงความรู้สึก (affective perspective taking) คือการจินตนาการว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะมีความรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์หนึ่งๆ หมายความว่าคนเราสามารถนึกคิดได้ว่าอีกคนหนึ่งจะ “รู้สึก” อย่างไรเช่นเมื่อต้องตกงานหรือสูญเสียบุคคลใกล้ชิดไป เป็นต้น การพัฒนาความสามารถมองจากมุมของผู้อื่น การมองจากมุมของผู้อื่น จัดว่าเป็นความสามารถ (ability) อย่างหนึ่งของบุคคล ที่พัฒนาขึ้นเมื่อบุคคลเติบโตขึ้นจากวัยทารก การมองจากมุมของผู้อื่นนี้มิได้พัฒนาขึ้นตามวัยโดยอัตโนมัติ หากแต่ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมในการพัฒนาขึ้น Robert Selman นักจิตวิทยาด้านพัฒนาการทางสังคมและการรู้คิด ได้เสนอทฤษฎีพัฒนาการของการมองจากมุมของผู้อื่น (Selman, 1975) โดยเสนอว่าเด็กในช่วงอายุต่างๆ มีพัฒนาการของการมองจากมุมของผู้อื่นที่ลึกซึ้งขึ้นจำแนกตามลำดับขั้นพัฒนาการทางสังคมและการรู้คิด โดยความสามารถที่จะมองจากมุมของผู้อื่นมักพัฒนาขึ้นในช่วงอายุ 6-8 ปี โดยมักพัฒนาได้ในระดับดีราวอายุ 8 ปี (Selman & Byrne, 1974) ผลของการมองจากมุมของผู้อื่น การมองจากมุมของผู้อื่นก่อให้เกิดความเข้าใจบุคคลเป้าหมายที่มากขึ้น นำสู่ผลทางบวกในด้านความสัมพันธ์หลายประการ ได้แก่ 1. เกิดความเห็นอกเห็นใจและรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น หลักฐานการวิจัยทางจิตวิทยาสังคมต่างบ่งชี้สอดคล้องหนักแน่นว่าการมองจากมุมของผู้อื่นก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจบุคคลเป้าหมาย (เช่น Oswald, 1996; Vescio, Sechrist, & Paolucci, 2003) โดยเฉพาะการมองจากมุมของผู้อื่นในเชิงความรู้สึก หมายความว่าการจินตนาการถึงสิ่งที่ผู้อื่นคิดหรือรู้สึกนำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจในสิ่งที่ผู้อื่นเผชิญอยู่ ความเห็นอกเห็นใจนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการกระทำเพื่อช่วยเหลือบุคคลเป้าหมายให้คลายทุกข์ อันจะกล่าวถึงในข้อ 2. ถัดไป 2. เกิดพฤติกรรมช่วยเหลือ/เอื้อประโยชน์แก่ผู้อื่น การมองจากมุมของผู้อื่นทำให้ผู้มองแสดงท่าทางเลียนแบบภาษากายหรืออวัจนภาษาของบุคคลเป้าหมาย (Chartrand & Bargh,1999) อันก่อให้เกิดความชื่นชอบต่อกันและความสัมพันธ์อันดี นอกจากนี้ เนื่องจากความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจบุคคลเป้าหมาย ผู้มองจากมุมของผู้อื่นยังมักกระทำการอันเป็นการให้ความช่วยเหลือคลายทุกข์แก่บุคคลเป้าหมายด้วย (Maner, Luce, Neuberg, Cialdini, Brown, & Sagarin, 2002; Oswald, 1996) เช่น การระบุว่าจะแบ่งเวลามาช่วยเหลือบุคคลเป้าหมายคลายความเดือดร้อนในสถานการณ์ต่างๆ (อันเป็นสถานการณ์สมมติในการทดลองทางจิตวิทยา) 3. เกิดการลดความรังเกียจกลุ่ม (prejudice) งานวิจัยทางจิตวิทยาสังคมพบว่าการให้บุคคลมองจากมุมของผู้อื่นสามารถลดอคติหรือความรังเกียจบุคคลต่างกลุ่มหรือนอกกลุ่มได้ (เช่น Galinsky & Ku, 2004; Vescio, Sechrist, & Paolucci, 2003) เมื่อบุคคลจินตนาการถึงโลกในมุมของอีกฝ่ายหนึ่งที่ตนไม่มีความไม่ชอบอยู่เดิมเนื่องจากเขามาจากกลุ่มที่ตนไม่ชอบ (เช่น กลุ่มทางการเมืองที่ต่างความคิดเห็น กลุ่มเชื้อชาติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน) ช่วยลดการใช้ความเชื่อเหมารวมต่อสมาชิกในกลุ่มนั้น (Galinsky & Moskowitz, 2000) อันได้แก่การเชื่อว่าสมาชิกทุกคนในกลุ่มนั้นๆ มีลักษณะที่ไม่ดีเหมือนๆ กันหมด (เช่น คนเชื้อชาติอื่นอาจมองคนไทยว่ามักเล่นพรรคเล่นพวก และมีนิสัยเกียจคร้าน เป็นต้น) เมื่อลดการเหมารวมในทางลบเช่นนี้ได้ก็จะทำให้บุคคลพิจารณาบุคคลเป้าหมายอย่างเป็นธรรมมากขึ้น การวิจัยยังพบว่าอิทธิพลของการมองจากมุมของผู้อื่นในการลดความรังเกียจกลุ่มนั้น เกิดเนื่องจากการมองจากมุมของผู้อื่นทำให้ผู้มองเชื่อมโยงตัวตนของตนเอง กับตัวของบุคคลเป้าหมายมากขึ้น เกิดการมองว่าตนเองมีความเหมือนกันกับบุคคลเป้าหมาย (Davis, Conklin, Smith, & Luce,1996) และเหมือนกันกับกลุ่มของบุคคลเป้าหมายมากขึ้น (Galinsky & Moskowitz, 2000) ทำให้ผู้มองประเมินบุคคล/กลุ่มบุคคลเป้าหมายในทางบวกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผู้มองมีการเห็นคุณค่าในตนเองสูง (Galinsky & Ku, 2004, Todd & Burgmer, 2013) ซึ่งคือผู้ที่ประเมินตนเองในทางบวกอยู่แต่เดิม (เช่น เชื่อว่าตัวฉันมีสิ่งที่ดีในตนเองหลายอย่าง มีเสน่ห์หรือมีลักษณะที่ดี หรือเป็นคนดีมีความสามารถคนหนึ่ง) การนำบุคคลเป้าหมายมาเชื่อมโยงกับตนเอง จึงนำสู่การประเมินบุคคลเป้าหมายนั้นในทางบวกไปด้วยผ่านการถ่ายเทความชื่นชอบจากตัวตนไปยังผู้อื่น และความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นที่มากขึ้น บทส่งท้าย การศึกษาทางจิตวิทยาในปัจจุบัน เน้นการทดสอบการมองจากมุมของผู้อื่นในฐานะเทคนิคส่งเสริมการหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกันในคู่เจรจาต่อรอง (Galinsky, Maddux, Gilin, & White, 2008) เทคนิคเพื่อการลดการรังเกียจกลุ่มและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระหว่างบุคคลจากกลุ่มที่ไม่ถูกกัน โดยการจัดกระทำด้วยคำสั่งให้บุคคลจินตนาการถึงบุคคลเป้าหมาย (ที่มักจะประสบเหตุการณ์ไม่ดีในชีวิต) ว่าเขาน่าจะคิดและ/หรือรู้สึกอย่างไร การมองจากมุมของผู้อื่นยังได้รับการศึกษาในฐานะเทคนิคที่อาจเพิ่มพฤติกรรมช่วยเหลือกันในหมู่เพื่อนร่วมงาน (เช่น Parker & Axtell, 2001) การวิจัยต่างให้ผลไปในทิศทางที่ให้ความมั่นใจว่าการส่งเสริมการมองจากมุมของผู้อื่นเป็นเทคนิคที่ก่อให้เกิดผลดีต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์ในหลากหลายบริบท อย่างไรก็ตามการศึกษาการมองจากมุมของผู้อื่นในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อย แม้ว่าบุคคลในสังคมแบบส่วนรวมนิยม (collectivism) ในประเทศทางตะวันออก (ซึ่งรวมถึงคนไทย) จะมีการวิจัยที่พบว่าเป็นผู้ที่มองจากมุมของผู้อื่นได้มากกว่าชาวตะวันตก (Wu & Keysar, 2007) ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรมและส่วนรวมนิยมของชาวตะวันออกเน้นให้คุณค่ากับเป้าหมายของกลุ่ม เคยชินกับการอยู่เป็นหมู่คณะและการเอาใจเขามาใส่ใจเรามากกว่า และใส่ใจต่อความคาดหวังจากผู้อื่นมากกว่าชาวตะวันตก จากงานวิจัยต่างๆ ดังกล่าวแล้ว การศึกษาทางจิตวิทยาเกี่ยวกับการใช้การมองจากมุมของผู้อื่นในสังคมไทยจึงควรได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะปัจจัยที่อาจช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในสถานการณ์ต่างๆ ได้ รายการอ้างอิง Chartrand, T.L., & Bargh, J.A. (1999). The chameleon effect: The perception-behavior link and social interaction. Journal of Personality and Social Psychology, 76, 893–910. Davis, M. H., Conklin, L., Smith, A., & Luce, C. (1996). Effect of perspective taking on the cognitive representation of persons: A merging of self and other. Journal of Personality and Social Psychology,70(4), 713-726. Galinsky, A. D., Maddux, W. W., Gilin, D., & White, J. B. (2008). Why it pays to get inside the head of your opponent: The differential effects of perspective taking and empathy in negotiations. Psychological Science, 19, 378-384. Galinsky, A. D., & Ku, G. (2004). The effects of perspective-taking on prejudice: The moderating role of self-evaluation. Personality and Social Psychology Bulletin, 30, 594-604. Galinsky, A. D., & Moskowitz, G. B. (2000). Perspective-taking: Decreasing stereotype expression, stereotype accessibility, and in-group favoritism. Journal of Personality and Social Psychology, 78, 708-724. Maner, J. K., Luce, C. L., Neuberg, S. L., Cialdini, R. B., Brown, S., & Sagarin, B. J. (2002). The effects of perspective taking on motivations for helping: Still no evidence for altruism. Personality and Social Psychology Bulletin, 28, 1601-1610. Parker, S. K., & Axtell, C. M. (2001). Seeing another viewpoint: Antecedents and outcomes of employee perspective taking. The Academy of Management Journal, 44, 1085-1100. Oswald, P. A. (1996). The effects of cognitive and affective perspective taking on empathic concern and altruistic helping. The Journal of Social Psychology, 136, 613-623. Selman, R.L. (1975). A developmental approach to interpersonal and moral awareness in young children: Some theoretical and educational implications of levels of social perspective-taking. In J. Meyer, B. Burnham, J. Cholvat (Eds.), Values Education: Theory, Practice, Problems, and Prospects. Waterloo, Canada: Laurier University Press. Reprinted in The American Montessori Society Bulletin, 1976, 14(2). Selman, R. L., & Byrne, D. F. (1974). A structural developmental analysis of levels of role taking in middle childhood. Child Development, 45, 803-806. Todd, A. R., & Burgmer, P. (2013). Perspective taking and automatic intergroup evaluation change: Testing an associative self-anchoring account. Journal of Personality and Social Psychology, 104, 786-802. Vescio, T. K., Sechrist, G. B., & Paolucci, M. P. (2003). Perspective taking and prejudice reduction: The mediational role of empathy arousal and situational attributions. European Journal of Social Psychology, 33, 455-472. Wu, S., & Keysar, B. (2007). The effect of culture on perspective taking. Psychological Science, 18, 600-606.