การส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่เน้นการเต้นแอโรบิก

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

จารุวรรณ ภู่สาลี: ผลของโปรแกรมการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่เน้นการเต้นแอโรบิกแบบมวยไทยต่อความดันโลหิตและดัชนีมวลกายของผู้ที่มีภาวะเสี่ยงความดันโลหิตสูง. (EFFECTS OF HEALTH PROMOTING PROGRAM WITH THAI BOXING AEROBIC DANCE ON BLOOD PRESSURE AND BODY MASS INDEX OF PERSONS WITH PRE-HYPERTENSION) อ.ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก: ผศ.ดร. สุนิดา ปรีชาวงษ์.

การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่เน้นการเต้นแอโรบิกแบบมวยไทยต่อความดันโลหิตและดัชนีมวลกายของผู้ที่มีภาวะเสี่ยงความดันโลหิตสูง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่มีความดันโลหิต 120-139/80-89 มิลลิเมตรปรอท จำนวน 60 คน มารับบริการที่หน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โดยสุ่ม 2 แห่งจาก 5 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมซึ่งได้รับการพยาบาลตามปกติ ส่วนกลุ่มทดลองเข้าร่วมโปรแกรมการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่เน้นการเต้นแอโรบิกแบบมวยไทย ซึ่งพัฒนามาจากแนวทางการดูแล รักษาผู้ที่มีความดันโลหิตเกือบสูงใน The 7th Report of the Joint National Committee on Prevention, Detection, Evaluation, and Treatment of High Blood Pressure (The JNC 7) ร่วมกับการทบทวนวรรณกรรม โปรแกรมดังกล่าวประกอบด้วย การสร้างความตระหนัก การสร้างแรงจูงใจ การฝึกทักษะ โดยการออกกำลังกายแอโรบิกแบบมวยไทย สัปดาห์ละ 5 วัน ติดต่อกัน 10 สัปดาห์ และการติดตาม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติ เครื่องชั่งน้ำหนัก และแถบวัดส่วนสูง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบด้วยสถติที

ผลการวิจัย พบว่า ภายหลังเข้าร่วมโปรแกรมการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่เน้นการเต้นแอโรบิกแบบมวยไทย ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตเกือบสูงกลุ่มทดลอง มีค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย ความดันซิสโทลิกและความดันไดแอสโทลิกต่ำกว่าก่อนการเข้าร่วมโปรแกรมฯอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และค่าเฉลี่ยความดันซิสโทลิก ความดันไดแอสโทลิกและดัชนีมวลกายของ ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตเกือบสูงกลุ่มทดลองยังต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.001

เครื่องมือส่วนตัว