การหลอมรวมสื่อขององค์กรทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

พระพุทธศาสนาในยุคหลอมรวมสื่อ

สื่อสารมวลชน (Mass Media) ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดยุคสมัยของโลก แต่ก่อนที่โลกยังไม่มีเครื่องมือการสื่อสารที่ทันสมัย ผู้คนก็จะสื่อสารกันเฉพาะในวงแคบ ในกลุ่มขนาดเล็ก การสื่อสารยังมีพรมแดนที่จำกัด แต่เมื่อโลกเปลี่ยนเข้ามาสู่ยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาทสูง อย่างเช่น ประเทศไทยเราเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัลหรือยุคหลอมรวมสื่อ (Media Convergence) ส่งผลให้ขอบเขต พื้นที่ รูปแบบสื่อ กลุ่มผู้รับสื่อ และคุณภาพของการสื่อสารได้พัฒนาในทางที่ดีขึ้นอย่างไร้พรมแดน ตัวสื่อนี้เองที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำหนดรูปแบบการใช้สื่อของแต่ละองค์กรทางศาสนาเพื่อสืบทอดคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่มีมา 2,000 กว่าปีให้เหมาะกับกลุ่มคนที่แตกต่างกัน


ทั้งนี้ ผลการศึกษาจากวิทยานิพนธ์ "การหลอมรวมสื่อขององค์กรทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย" ตั้งคำถามเรื่องกระบวนการหลอมรวมสื่อของวัดซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่าง 5 แห่ง ได้แก่ วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) วัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) วัดป่าบ้านตาด วัดพระธรรมกาย และวัดอัมพวัน โดยศึกษาที่ตัวกระบวนการใช้สื่อประเภทต่างๆ ภายในแต่ละวัดว่า ใช้สื่ออย่างไร ทำงานกันอย่างไร ประสานความร่วมมือกันหรือไม่ ในระดับไหน เพื่อหาคำตอบขั้นต้นว่า การประยุกต์ใช้สื่อเพื่อเผยแผ่คำสอนของศาสนาพุทธมีรูปแบบอย่างไร มีการพัฒนาต่างไปจากการถ่ายทอดแบบเล่าปากต่อปาก (มุขปาฐะ) ในอดีตอย่างไรบ้าง และมีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้วัดนั้นๆ สามารถใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด


ผลโดยสังเขป คือ ทุกวัดมีการทำงานแบบหลอมรวมสื่อตามแบบจำลอง Convergence Continuum ของ Dailey (2005) ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อในห้องข่าวที่ใช้เป็นกรอบการศึกษาหลัก แต่กระนั้นแต่ละวัดจะมีระดับความเข้มข้นของความร่วมมือในการทำงานสื่อที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ ปริมาณสื่อที่วัดใช้ บริบทแวดล้อมขององค์กร แนวทางคำสอน นโยบายองค์กร ความพร้อมและความเป็นสื่อมืออาชีพของบุคลากร ระดับเทคโนโลยี ความร่วมมือระหว่างสื่อ ความยากง่ายในการหลอมรวมสื่อ และศูนย์กลางการทำงานสื่อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีส่วนกำหนดความร่วมมือในการทำงานสื่อที่แตกต่างกัน นำไปสู่รูปแบบที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จนักในการหลอมรวมสื่อขององค์กรศาสนา


ผลการศึกษาระบุว่า วัดพระธรรมกายมีรูปแบบการทำงานสื่อทางศาสนาที่ประสบความสำเร็จกว่าวัดอื่นๆ เนื่องจากเป็นวัดที่ใช้ช่องทางสื่อในการช่วยแนะนำช่องทางสื่อต่างๆ มาก นโยบายของวัดเน้นการเผยแผ่ธรรมะเชิงรุก บุคลากรมีลักษณะของความเป็นสื่อมืออาชีพสูง ตัวโครงสร้างองค์กรก่อให้เกิดความร่วมมือข้ามสื่อที่ทีมงานสื่อสามารถประสานข้อมูลและร่วมมือกับฝ่ายอื่นในการผลิตสื่อ ที่สำคัญ คือ มีศูนย์กลางการทำงานเพียงแห่งเดียว ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ หรือยุบรวมศูนย์การทำงานไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อให้องค์กรสามารถควบคุมทิศทางการสื่อสารให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันได้


ข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษากระบวนการทำงานสื่อของวัดพระธรรมกาย ชี้ให้เห็นว่า ด้วยปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวสนับสนุนให้วัดสามารถใช้ประโยชน์สื่อประเภทต่างๆ ที่ผู้คนใช้กันอยู่ในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนให้เข้าถึงผู้รับสื่อในแต่ละช่องทางสื่อได้ง่าย ขยายกลุ่มผู้รับสื่อ อันหมายถึงขยายพื้นที่การเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าให้กว้างขวางขึ้น นั่นแปลว่า ผู้รับสื่อย่อมมีโอกาสได้พบเห็นและเข้าถึงธรรมะได้ในทุกสื่อโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่และเวลาเช่นกัน


ส่วนวัดอื่นๆ ที่สรุปผลว่ายังไม่ประสบความสำเร็จนักในการหลอมรวมสื่อ ก็ถือเป็นตัวอย่างที่องค์กรทางศาสนาอื่นๆ จะนำไปใช้ปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรได้ เช่น ปัจจัยด้านแนวคำสอนที่ไม่เน้นใช้สื่อมาก บริบทสภาพแวดล้อมของวัดที่เน้นความเงียบสงบ นโยบายของวัดที่ไม่เน้นใช้สื่อเชิงรุกเพื่อดึงคนเข้ามาหาวัด โครงสร้างการทำงานสื่อที่ไม่ได้แบ่งฝ่ายทำงานอย่างเป็นระบบชัดเจน รวมไปถึงบุคลากรของวัดที่มีน้อยและไม่ได้มีความรู้โดยตรงเกี่ยวกับสื่อ ส่งผลให้วัดในลักษณะนี้ไม่สามารถใช้ประโยชน์สื่อในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนได้อย่างเต็มศักยภาพ


ท้ายที่สุด ได้กล่าวถึงพระพุทธศาสนาในยุคหลอมรวมสื่อว่า วัดมีแนวโน้มสนับสนุนการหลอมรวมสื่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการเผยแพร่ธรรมะผ่านช่องทางสื่อที่หลากหลาย ตอบสนองต่อรูปแบบการใช้เทคโนโลยีของผู้รับสื่อ และปรับรูปแบบ วิธีการสื่อสารตามประเภทสื่อที่สภาพสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โดยมีปัจจัยหลักที่เป็นเงื่อนไขกำหนดระดับการหลอมรวมสื่อ ประกอบด้วย นโยบายองค์กร แนวทางคำสอน บุคลากร ผู้รับสื่อ ทุนและเทคโนโลยี นั่นเอง

เครื่องมือส่วนตัว