ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน (Watson’s Caring Theory)

            ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน (Watson’s Caring theory) เป็นทั้งปรัชญา และทฤษฏีทางการพยาบาล ที่มีจุดเน้นที่การดูแล (Caring) ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ.1979  ภายใต้อิทธิพลทางด้านมานุษยวิทยา รวมทั้งความรู้สึกผูกพันต่อบทบาทการดูแลเพื่อการฟื้นหายของผู้ป่วยที่วัตสันประจักษ์ด้วยตัวเอง ประกอบกับประสบการณ์ของวัตสันขณะเผชิญความเจ็บป่วย เผชิญการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ปัจจุบันทฤษฎีนี้ได้รับการพัฒนาจนวัตสันเรียกว่าเป็น ศาสตร์การดูแลมนุษย์ (Human Caring Science) และมีการจัดตั้งศูนย์การดูแลมนุษย์ (Human science caring center) ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโรลาโด รวมทั้งได้จัดตั้งสถาบันวิทยาศาตร์การดูแลวัตสัน (The Watson Caring Science Institute) ซึ่งมีลักษณะเป็นมูลนิธิที่มุ่งเน้นการพัฒนาทฤษฎีการดูแล การปฏิบัติการพยาบาล การวิจัย บนปรัชญาการดูแลมนุษย์ ทฤษฏีการดูแลของวัตสันได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนำไปใช้ในการพยาบาลที่เน้นรูปแบบการดูแลที่เข้าถึงจิตใจกันระหว่างคนสองคน (Transpersonal caring model) เพื่อให้เกิดการฟื้นหาย (Healing) และมีการใช้เป็นแนวคิดเพื่อการศึกษาวิจัยในวงกว้างทั้งการวิจัยเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ

เพื่อให้เกิดความเข้าใจในทฤษฏีการดูแลของสัตสัน เนื้อหาส่วนแรกจะกล่าวถึงภูมิหลังของวัตสันซึ่งเป็นผู้พัฒนาทฤษฎี รวมทั้งความเชื่อพื้นฐานของทฤษฎี และแกนหลักของทฤษฎีนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงลักษณะพิเศษรวมทั้งประโยชน์การนำไปใช้ทางการพยาบาล ทั้งในแง่ของการ การวิจัย รวมทั้งความท้าทายของพยาบาลการใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสั

'ภูมิหลังของผู้พัฒนาทฤษฎี'ทำตัวหนา ดร.จีน วัตสัน (Dr.Jean Watson) เริ่มอาชีพพยาบาลในปี ค.ศ.1964 โดยได้รับปริญญาตรีทางการพยาบาล ปริญญาโททางด้านการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช และปริญญาเอกทางด้านจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว นอกจากนั้นวัตสันยังศึกษาในสาขามนุษยวิทยา และได้เดินทางไปยังหลายประเทศเพื่อค้นแก่นแท้ทางความรู้เพื่อพัฒนาศาสตร์ทางการพยาบาล วัตสันเชื่อว่าองค์ความรู้ทางการพยาบาลต้องพัฒนาจากศิลปศาสตร์ (Art) บนพื้นฐานความเชื่อมนุษยนิยม (Humanism) มากกว่าการพัฒนามาจากความรู้ทางด้านวิทยศาสตร์ (Science) และความรู้ทางการแพทย์ (Medical) เพียงอย่างเดียว (Watson, 2008) วัตสันเชื่อในพลังภายในของความเป็นมนุษย์ ที่มีชีวิตอยู่บนโลกที่เชื่อมต่อกับจักรวาล นอกจากนั้น วัตสันยังได้รับแรงจูงใจในการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีการดูแล จากความต้องการที่จะทำความเข้าใจบทบาทในการบำบัดทางการพยาบาล รวมทั้งความรู้สึกผูกพันต่อบทบาทการดูแลเพื่อการฟื้นหายของผู้ป่วยที่วัตสันประจักษ์ด้วยตัวเอง (Watson, 2008) ในปี 1979 วัตสันได้เขียนตำราชื่อ Nursing : The philosophy and science of caring ตำราเล่มนี้ถือเป็นตำราหลักที่สะท้อนถึงรากฐานของทฤษฎีการดูแล ว่ามาจากแนวคิดมนุษยนิยม ศิลปะ และการพยาบาล โดยวัตสันได้นำเสนอปัจจัยการดูแลสิบประการ (Ten carative factors) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลสำหรับพยาบาล และในปี 2008 วัตสันได้เพิ่มเติมเนื้อหาของกระบวนการปฏิบัติการด้วยความรักเพื่อการดูแล (Clinical caritas process) และชี้ให้เห็นถึงพลังของความรัก (Caritas /Cosmic love) สิ่งพื้นฐานสำหรับการพยาบาลเพื่อการบำบัดให้พื้นหาย วัตสันยังได้เขียนตำราวิชาการอีกหลายเล่มซึ่งล้วนได้รับการยอมรับในวงการวิชาการพยาบาล เช่น Nursing : Human science and human care (Watson, 1985), Postmodern nursing and beyond (Watson, 1999), Caring science as sacred science (Watson, 2005) วัตสันได้รับการยอมรับในฐานะนักทฤษฎีการพยาบาล นักปรัชญาทางการพยาบาล รวมทั้งได้รับรางวัลเชิดชูเกียติต่างๆ มากมาย เช่น International Kellogg Fellowship in Australia, Fulbright Research Award in Sweden , Martha E. Rogers Award ในปี 1993 จาก The National League for Nursing เป็นต้น ปัจจุบันวัตสันดำรงตำแหน่งประธาน สถาบันวิทยาศาตร์การดูแลวัตสัน (The Watson Caring Science Institute) ซึ่งให้การอบรมและบริการวิชาการเกี่ยวกับทฤษฎีการดูแล เรื่อยมาจนปัจจุบัน ส่วนที่มหาวิทยาลัยโคโรลาโด ก็มีหลักสูตรการสอนเกี่ยวกับศาสตร์การดูแลอย่างต่อเนื่อง

'ความเชื่อพื้นฐานของทฤษฎีการดูแลของวัตสัน'ทำตัวหนา วัตสันเชื่อว่าการดูแลเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และการพยาบาลคือศาสตร์แห่งการดูแลมนุษย์ (Human caring science) เป้าหมายของการดูแลคือการช่วยเหลือบุคคลให้ค้นพบภาวะดุลยภาพ (Harmony) ของร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ วัตสันให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ในแง่ของการเคารพในศักดิ์ศรีของทุกคน ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของบุคคล และเชื่อว่าการพยาบาลคือศิลปะและสุนทรียศาสตร์ (Art & Aesthetic) (Watson, 2008; 2009) ดังที่วัตสันกล่าวว่า “ความงามและศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่การพยาบาลที่เน้นรูปแบบการดูแลที่เข้าถึงจิตใจกันระหว่างคนสองคน (Transpersonal caring model)” (Watson, 1985, 2008) ทั้งนี้เพราะการเข้าถึงจิตใจกันระหว่างคนสองคน (พยาบาลกับผู้ป่วย) ต้องอาศัยการขจัดเส้นแบ่งของคนสองคนและลดอัตตา (Ego) ของแต่ละฝ่าย ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของอีกฝ่าย มีการสร้างสร้างสัมพันธภาพ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงของประสบการณ์ชีวิตของทั้งสองฝ่ายจนหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยใช้ทั้งการพยาบาล ศิลปะ สุนทรียศาสตร์ (ภาพศิลปะ กาพย์กลอน) ไปจนถึง ความเมตตา (Compassion) สัมมาสติ (Mindfulness) การทำสมาธิ (Meditation) และการเดินจาริกแสวงบุญ (Pilgrimage) (Claire & Ryder, 2009; Sitzman, 2002) เพื่อชี้นำการปฏิบัติการพยาบาลจนเกิดการเยียวยา (Healing) ซึ่งนำไปสู่ความสมดุล (Hamony) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ

'แกนหลักของทฤษฎีการดูแล'ทำตัวหนา ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน เน้นการดูแลอันเป็นคุณธรรมที่ดำรงค์ไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยอาศัยการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้การดูแลกับผู้ได้รับการดูแล ภายใต้ความรักในความเป็นเพื่อนมนุษย์ ที่ให้ความสำคัญทั้งร่างกายและจิตใจอย่างไม่แยกออกจากกัน จนผู้ให้การดูแลสัมผัสถึงพลังแห่งการดูแล อันเป็นความรู้สึกตระหนักถึงการดูแลว่าได้เกิดขึ้น และส่งให้เกิดความรักความเข้าใจผู้อื่น ซึ่งวัตสันเรียกว่า “caring occasion” และนำไปสู่การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างคนสองคนภายใต้สนามปรากฏการณ์ (Phenomenal field) ของแต่ละบุคคลที่หลอมรวมกัน จนเกิดความเข้าถึงจิตใจระหว่างคนสองคน (Transpersonal) ทำให้คนทั้งสองคนค้นพบความหมายของสิ่งต่างๆ ที่เป็นสาระสำคัญของชีวิต ได้แก่ ความเจ็บป่วย ความทุกข์ทรมาน และความตาย ตามสภาพความเป็นจริงของชีวิต เพื่อให้เกิดยอมรับในตนเอง และยอมรับผู้อื่น เกิดสัมพันธภาพที่นำไปสู่การฟื้นหาย (Healing relationship) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีพลังในการคงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพ คือ ภาวะที่บุคคลมีความกลมกลืนของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ แม้ในผู้ป่วยที่หมดหวังจากการรักษาแล้วก็ตาม ในทฤษฎีการดูแล วัตสันได้อธิบายว่า “ความรักอันยิ่งใหญ่ (cosmic love)” ระหว่างเพื่อนมนุษย์เป็น ที่ตั้งของการดูแล ผู้ให้การพยาบาลต้อง “ให้การพยาบาลด้วยความรัก” (Caritas nursing) เพราะความรักคือพลังที่ผลักดันให้เกิดกระบวนการบำบัดเพื่อการฟื้นหายต่อผู้ดูแลและผู้ให้การดูแล (Watson, 1985; 2005; 2008) ส่วนหน่วยงาน หอผู้ป่วย การทำหัตถการ การทำหน้าที่ เทคโนโลยี คือสิ่งที่ประดับตกแต่ง (Trim) ที่ไม่อาจยึดเป็นศูนย์กลางของวิชาชีพพยาบาล พาเช่ นักทฤษฎีการพยาบาลอีกท่านหนึ่ง ได้สนับสนุนแนวคิดนี้โดยกล่าวว่า การทำหัตการและการปฏิบัติภารกิจของพยาบาลจะมีความแตกต่างกันในแต่ละหน่วยงาน และเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จึงไม่อาจนำมาเป็นหลักนำศาสตร์การพยาบาล พยาบาลต้องยึดการดูแลเป็นเชื่อหลัก ที่ชี้นำไปสู่การปฏิบัติการพยาบาล (Pase, 1995) ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน สามารถใช้ในการดูแลสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม โดยอาศัยปัจจัยการดูแล 10 ประการ (Ten carative factors) ร่วมกับกระบวนการปฏิบัติการด้วยความรักเพื่อการดูแล (Clinical caritas process) อีก 10 ประการที่วัตสันพัฒนาเพิ่มเติมตั้งแต่ปี 2002 (Watson, 2008)

         ปัจจัยการดูแล 10 ประการ และกระบวนการปฏิบัติการด้วยความรักเพื่อการดูแล (Clinical caritas process) ถือเป็นกรอบการทำงาน (Framework) และเป็นความเชื่อหลัก (Core) ในการปฏิบัติการพยาบาล โดยวัตสันอธิบายว่า การดูแลต้องเชื่อมโยงกับความรัก (คำว่า “Caritas” มาจากภาษาละตินซึ่งมีความหมายถึงความรักของมนุษย์ และความเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ (Charity)) การดูแลไม่ได้มาจากพฤติกรรมหรือความรู้สึกเพียงเท่านั้นหากแต่กอปรขึ้นมาจากความเป็นมนุษย์ การดูแลจึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นนามธรรม และไม่ได้เป็นเพียงปรัชญา แต่การดูแลคือสิ่งที่ปฏิบัติและสัมผัสได้ (Erikkson, 1994; Watson, 2008) 

การนำของปัจจัยการดูแล 10 ประการ (Ten carative factors) / กระบวนการปฏิบัติการด้วยความรักเพื่อการดูแล (Clinical caritas process) ไปใช้ในการพยาบาล สามารถสรุปรายละเอียดได้ดังนี้

1.สร้างระบบค่านิยมการเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น และมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ / ปลูกฝังการปฏิบัติด้วยรักและความเมตตาและมีจิตใจที่สงบมั่นคงทั้งกับตนเองและผู้อื่น ให้เสมือนเป็นพื้นฐานของความรักที่ที่สติ  : พยาบาลต้องหมั่นสำรวจความคิด ความเชื่อของตนเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว พึงพอใจในการเป็นผู้ให้ เน้นการให้คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่กันและกัน มีความเมตตาและเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น พยาบาลต้องตระหนักว่าผู้ป่วยแต่ละคนต่างก็มีมุมมองของชีวิตที่แตกต่างกัน มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อชีวิตและความเจ็บป่วยที่แตกต่างกัน อันเกิดจาก ค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรม และปรัชญาชีวิตที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ป่วยบางรายสามารถยอมรับความจริงได้ แต่บางรายไม่อาจยอมรับได้ พยาบาลจึงต้องยึดมั่นในค่านิยมเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นและมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ทำให้พยาบาลมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความเข้าใจ และยอมรับผู้ป่วยตามมุมมองของเขา เคารพในความเป็นบุคคลของผู้ป่วยไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในสภาพน่ารังเกียจสักเพียงใด มีความอดทนและเพียรรอคอยเวลา เพื่อให้ผู้ป่วยได้ค้นพบตนเอง และยอมรับต่อสภาพของตนตามที่เป็นจริง ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีใครสักคนอยู่กับเขาเสมอ ดูแลเอาใจใส่อย่างจริงใจ เสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทน ปฏิบัติสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยและตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยทันที โดยคำนึงอยู่เสมอว่าผู้ป่วย คือ เพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการความช่วยเหลือและความรัก

2.สร้างความศรัทธาและความหวัง / มีชีวิตอยู่กับความจริง สร้างความหวังและศรัทธาที่เป็นไปได้และเชื่อในความเป็นไปแห่งอัตวิสัยของชีวิตบนโลก ทั้งของตนเองและผู้อื่น : พยาบาลคือผู้ที่เข้าใจธรรมชาติของชีวิต ที่ต้องมีทั้งความสุขและความทุกข์ ชีวิตอยู่ได้ด้วยพลังของศรัทธาและความหวัง เปรียบเสมือนอำนาจที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและมีความเข้มแข็งพอที่จะเผชิญกับความทุกข์ พยาบาลที่คงไว้ซึ่งความศรัทธาและความหวังในชีวิตจะช่วยเสริมสร้างให้ผู้ป่วยมีความศรัทธาและความหวังในการดำรงชีวิตตามสภาพที่เป็นจริงของตน แต่ก่อนเราเชื่อว่ายาเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่ทำให้หายโรค แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เริ่มมีความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติว่ามีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพของผู้ป่วย และได้พิสูจน์กันจนเป็นที่ยอมรับ เช่น การทำสมาธิ การฝึกสติ การทำจิตบำบัด เทคนิคการให้คำปรึกษา พฤติกรรมบำบัด เป็นต้น และเนื่องจากความศรัทธาความหวังเป็นกระบวนการที่ไม่เคยสิ้นสุด แม้หมดหวังไปแล้วก็ยังสามารถสร้างความหวังใหม่ได้ พยาบาลจึงต้องปลูกฝังความหวังให้กับผู้ป่วยอยู่เสมอ และควรเป็นความหวังที่เห็นเป็นรูปธรรมและมีความเป็นไปได้ ส่วนความศรัทธาในศาสนานั้น พยาบาลควรประเมินดูว่าผู้ป่วยมีความเชื่อเกี่ยวกับความการมีชีวิตอย่างไร สัมพันธ์กับความศรัทธาที่มีต่อศาสนาหรือไม่ พยาบาลจึงควรจะให้ผู้ป่วยมีสิทธิเลือกวิธีการสร้างศรัทธาและความหวังความเชื่อของเขา

3. ปลูกฝังความไวต่อความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น/ ปลูกฝังการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ และการหลอมรวมตนเอง ให้ก้าวพ้นอัตตาแห่งตน : พยาบาลต้องเป็นผู้ที่รู้จักความรู้สึกของตนเองและไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น วัตสันส่งเสริมให้มีการระบายความรู้สึกออกมาอย่างที่เปิดเผยอันเป็นพฤติกรรมที่สำคัญเพื่อก้าวพ้นอัตตาแห่งตน และช่วยให้การดูแลประสบความสำเร็จ หนทางที่พยาบาลจะพัฒนาให้ตนเองมีพฤติกรรมที่ไวต่อความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นคือ การรู้ตัวอยู่เสมอถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนในขณะนั้น ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่การมองเข้าไปในตนเอง และรับรู้ตนเองตามสภาพที่เป็นจริง พยาบาลที่มีการพัฒนาตนเองให้ไวต่อการรับรู้ตนเอง ก็จะสามารถรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และเข้าใจการมองโลก เข้าใจวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมของผู้ป่วยที่อาจแตกต่างกับพยาบาล ถ้าหากพยาบาลไม่มีพฤติกรรมการดูแลตามลักษณะดังกล่าว การดูแลนั้นก็ประสบกับความล้มเหลวได้มาก พยาบาลยังตื่นตัวอยู่เสมอต่อความรู้สึกของตัวเองที่อาจมีผลกระทบต่อผู้ป่วย เพื่อจะได้รับรู้และเข้าใจความรู้สึกทั้งของตนเองและผู้ป่วย และนำไปใช้ประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วยนั่นเอง

4.สร้างสัมพันธภาพการช่วยเหลืออย่างไว้วางใจ / สร้างสัมพันธภาพ คงไว้ซึ่งสัมพันธภาพแห่งการช่วยเหลืออย่างไว้วางใจ เพื่อการดูแล: พยาบาลต้องสร้างให้เกิดความไว้วางใจระหว่างพยาบาลและผู้ป่วย โดยการให้การเกื้อหนุนดูแล เอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้ความรู้สึกอบอุ่น โดยอาศัยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ความเข้ากันได้ระหว่างพยาบาลกับผู้ป่วย ความเห็นอกเห็นใจและความอบอุ่นใจ เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างสัมพันธภาพในการช่วยเหลือและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ดังมีรายละเอียดดังนี้

      4.1.การสื่อสารอย่างมีคุณภาพเป็นเครื่องมือบำบัดเยียวยาที่สำคัญ เพราะสภาพจิตใจของผู้ป่วย  มักแฝงไว้ด้วยความผิดหวังลึกๆ ที่แอบซ่อนไว้ภายใน  การบอกกล่าวที่มากหรือน้อยเกินไปจะทำให้กระทบกระเทือนจิตใจของผู้ป่วยได้ง่าย  ในบางครั้งผู้ป่วยอาจพบกับความขัดแย้งระหว่างความต้องการกำลังใจจากการสนทาน และความต้องการที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเจ็บป่วย  การบอกความจริงเร็วเกินไป  อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจ และถ้าช้าเกินไป  ผู้ป่วยอาจจะสงสัยหรือทราบได้เองจากอาการที่ทรุดลง  ทำให้ผู้ป่วยไม่ไว้วางใจพยาบาล  พยาบาลจึงควรให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับผู้ป่วยเป็นระยะๆ อย่างเหมาะสม  การได้รับข้อมูลที่เพียงพอจะทำให้ผู้ป่วยเกิดการตอบสนองทีเหมาะสมมีความไว้วางใจและมีสัมพันธภาพที่ดีกับพยาบาล
	4.2  ความเข้ากันได้กับผู้ป่วย (Congruence)  การที่พยาบาลจะสามารถเข้ากับผู้ป่วยได้  ย่อมขึ้นกับลักษณะของพยาบาลที่เป็นอยู่ในขณะนั้น (Nurse’s being)  พยาบาลที่ไวต่อความรู้สึกของตนและกล้าเปิดเผยความรู้สึกนั้นออกมา  จะยิ่งกระชับสัมพันธภาพระหว่างพยาบาลและผู้ป่วย  ทำให้รู้จักกันและปรับตนให้เข้ากันได้มากยิ่งขึ้น  แต่ถ้าพยาบาลแอบซ่อนหรืออำพรางความรู้สึกไว้ภายใน  โดยเฉพาะความรู้สึกกลัว  เบื่อหน่าย หรือความรู้สึกทางด้านลบอื่นๆ จะกลับยิ่งเป็นอุปสรรคต่อสัมพันธภาพระหว่างพยาบาลและผู้ป่วย เพราะพยาบาลจะถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านั้นออกมาในหลายรูปแบบ เช่น ต้องการให้ผู้ป่วยพัก หรือแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติศาสนกิจ  เพื่อเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย  เป็นต้น  ในสถานการณ์เช่นนี้พยาบาลจะเป็นผู้ทำลาย     สัมพันธภาพเสียเอง  ซึ่งมีผลกระทบด้านลบต่อคุณภาพการดูแล
       4.3 ความเห็นอกเห็นใจ เป็นการรับสัมผัส (Sense) กับโลกภายในของผู้ป่วยเสมือนหนึ่งว่าเป็นโลกภายในของตน  กล่าวง่ายๆก็คือ “การรู้จักเอาใจผู้ป่วยมาใส่ในใจตน”  เพื่อจะรับรู้ว่าผู้ป่วยมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องประสบกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งความเจ็บป่วย ความทุกข์ ความสุข  จะได้เข้าใจและตอบสนองต่อความรู้สึกของผู้ป่วยอย่างถูกต้องเหมาะสม  ทั้งด้วยคำพูด  กิริยาท่าทาง และการแสดงออกทางพฤติกรรม
        4.4  ความรู้สึกอบอุ่นใจ  การมีปฏิสัมพันธ์อย่างอบอุ่นระหว่างพยาบาลและผู้ป่วยช่วยส่งเสริมสัมพันธภาพและพัฒนาการเจริญเติบโตทางอารมณ์ของผู้ป่วย  ซึ่งพยาบาลสามารถถ่ายทอดความรู้สึกอบอุ่น  โดยแสดงออกทางวาจาและกิริยาท่าทาง  เช่น  การสนทนา  การพูดในระดับเสียงเหมาะสม  ยิ้มแย้ม  มีท่าทีเป็นมิตร  เปิดเผย  ผ่อนคลาย  เป็นต้น

5.ส่งเสริมและยอมรับความรู้สึกทางบวกและทางลบ / ส่งเสริมให้มีการแสดงความรู้สึกออกมาทั้งทางบวกและลบ แลกเปลี่ยนความรู้สึก และเตรียมตัวเองเพื่อรับความรู้สึกทั้งในทางบวกและลบ : อารมณ์หรือความรู้สึกเป็นศูนย์กลางของบทบาทในการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พยาบาลควรได้มีโอกาสแสดงออกถึงความรู้สึกทั้งทางบวกและทางลบ สำหรับปัจจัยการดูแลประการนี้จึงมุ่งไปที่ความรู้สึกของพยาบาล เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันพยาบาลมักมีพฤติกรรมปกป้องความรู้สึกของตนโดยเฉพาะความรู้สึกทางด้านลบ ซึ่งพยาบาลมักจะอำพรางไว้เพื่อก่อให้เกิดภาพพจน์ที่ดีกับตนเอง แต่พฤติกรรมดังกล่าวนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยแล้ว ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งของสัมพันธภาพระหว่างพยาบาลกับผู้ป่วย เพราะพฤติกรรมที่พยาบาลแสดงออกไม่ใช่ความจริง ขาดความจริงใจ แต่ถ้าพยาบาลสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกของตนเองตามที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือลบ พยาบาลจะค่อยๆ พัฒนาในการรู้จักตนเอง และยอมรับตนเองตามที่เป็นจริง พยาบาลที่สามารถยอมรับตนเองได้ทั้งทางบวกและลบจะมีใจเปิดกว้างในการยอมรับความรู้สึกของผู้ป่วยทั้งทางบวกและลบได้เช่นกัน

         ผู้ป่วยมักจะรู้สึกว่าสุขภาพของตนถูกคุกคาม ผู้ป่วยจะมีปฏิกิริยาตอบสองต่อความเจ็บป่วยที่ต่างๆ กัน  บางคนแสดงอารมณ์โกรธ  ฉุนเฉียว  ปฏิเสธ  ไม่ให้ความร่วมมือในการดูแลรักษา และตำหนิติเตียนบ่นว่าทีมสุขภาพ  ในขณะที่บางรายยอมรับว่าความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงมีสิทธิและมีความต้องการที่จะระบายความรู้สึกเหล่านั้นออกมาด้วย พยาบาลที่ไวต่อความรู้สึกของตนจะไวต่อความรู้สึกของผู้ป่วย และยอมรับการแสดงออกของผู้ป่วยได้อย่างจริงใจ  สามารถให้อภัยต่อการแสดงออกของผู้ป่วยและเข้าใจความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย  พฤติกรรมที่พยาบาลแสดงออก ได้แก่  ยอมรับการระบายความรู้สึกของผู้ป่วย  ไม่ตำหนิติเตียนหรือตัดสิน  ให้เวลาและโอกาสกับผู้ป่วยอยู่เป็นเพื่อน  ไม่ทอดทิ้งขณะที่ผู้ป่วยแสดงอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าว

6.ใช้วิธีการแก้ปัญหาและตัดสินใจอย่างเป็นระบบ เพื่อการตัดสินใจ / ใช้ตนเองและทุกวิถีแห่งความรู้ ให้เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของกระบวนการดูแล เชื่อมต่อกับความสามารถทางศิลปะแห่งการพยาบาลด้วยความรัก : การนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหาเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันพบว่ากระบวนการพยาบาลเป็นองค์ประกอบหลักของการศึกษาและการปฏิบัติการพยาบาล เพื่อแก้ปัญหาโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบและอย่างต่อเนื่อง การนำกระบวนการพยาบาลมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้องได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพ พยาบาลจำเป็นต้องอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific problem solving) มาช่วยในการตัดสินใจ เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเริ่มจากการประเมินปัญหา ทั้งทางด้านร่างกาย จิตสังคม และจิตวิญญาณ พยาบาลจึงต้องรู้จักประเมินโดยการถาม พูดคุย และสังเกต ทั้งจากตัวผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมทั้งองค์รวมของผู้ป่วย และนำมาวางแผนการพยาบาล โดยนำข้อมูลและปรากฏการณ์ต่างๆ มาใช้ในการวางแผน ให้มากที่สุด โดยเฉพาะข้อมูลด้านจิตสังคม ความเชื่อ และความผูกผันทางใจของผู้ป่วย ซึ่งเป็นแหล่งของความหวังและกำลังใจสำหรับผู้ป่วย เพราะการใช้ข้อมูลด้านร่างกายอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วย หลังจากนั้นจึงนำแผนที่ได้วางไว้มาปฏิบัติและประเมินผลตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้พยาบาลยังต้องทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์และสถานการณ์การพยาบาลต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) (Watson, 1988)

7. ส่งเสริมการเรียนการสอนที่เข้าถึงจิตใจผู้อื่น / ส่งเสริมการสอน การเรียนรู้ประสบการณ์ ซึ่งระหว่างกันของพยาบาลและผู้ป่วย ให้ความสนใจกับความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิตและความหมายแบบอัตวิสัย ให้ความใส่ใจและอยู่กับกรอบอ้างอิงของผู้อื่น : การให้ข้อมูลข่าวสารเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับพยาบาลในการกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้ แต่การเรียนรู้ยังมีอะไรที่มากไปกว่านั้น ประสบการณ์ของผู้ป่วยคือสิ่งสำคัญที่พยาบาลต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ พยาบาลจึงต้องอยู่ทั้งในบทบาทของผู้เรียนและผู้สอนเพื่อที่จะทราบปัญหาของผู้ป่วย ทั้งโดยการสังเกตและเรียนรู้จากผู้ป่วย โดยเฉพาะการสร้างความรู้สึกร่วมในสถานการณ์ของผู้ป่วย พยาบาลที่มีส่วนรับรู้ในความรู้สึกของผู้ป่วยจะทราบว่าควรสอนและบอกผู้ป่วยอย่างไร และเวลาใดที่จะเหมาะสม เพื่อลดความวิตกกังวลจากความไม่แน่นอนของโรคและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความสมดุล คือรับรู้ต่อเหตุการณ์ (Open awareness) สามารถประคับประคองสถานการณ์ และมีกลไกในการเผชิญกับปัญหา ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถเผชิญกับความเครียด อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยได้ได้ นอกจากนั้นพยาบาลไม่ควรปิดบังความจริงกับผู้ป่วย แม้การปิดบังความจริงอาจก่อให้เกิดประโยชน์ในผู้ป่วยบางรายและในบางเวลา แต่ถึงอย่างไรผู้ป่วยจะสามารถรับรู้ความจริงได้เอง จากการสังเกตพฤติกรรมของบุคคลรอบข้าง การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและวิธีการรักษา การไม่ปิดบังความจริงต่อกันทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสดำรงชีวิตตามแบบแผนที่ต้องการได้

               สิ่งที่พยาบาลควรปฏิบัติ ได้แก่  อธิบายความเป็นไปของโรคอย่างสม่ำเสมอ  ช่วยผู้ป่วยกำหนดเป้าหมายชีวิตตามสภาพที่เป็นจริง  ตอบคำถามของผู้ป่วยให้ชัดเจนไม่คลุมเครือในระดับที่ผู้ป่วยสามารถยอมรับได้  แสดงบทบาทผู้เรียนและผู้สอนโดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเข้ามีส่วนร่วมในประสบการณ์ของผู้ป่วย  ติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยอย่างเปิดเผย  ไม่หลีกเลี่ยงที่จะให้การดูแลหรือพูดคุยกับผู้ป่วย

8. ประคับประคอง สนับสนุน และแก้ไขสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ จิตสังคม และจิตวิญญาณ / สร้างสรรค์ สภาพแวดล้อมแห่งการบำบัด : สิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่ช่วยการป้องกัน ประคับประคอง แก้ไขปัญหาด้านกายภาพ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม และวิญญาณ พยาบาลต้องประเมินและเอื้ออำนวยความสามารถปรับตัวของผู้ป่วยเพื่อให้ประคับประคองความสมดุลของสุขภาพ ภายใต้สิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคม เป็นปัจจัยที่ทำหน้าที่ในส่วนภายนอกของบุคคลส่วนจิตใจและจิตวิญญาณเป็นปัจจัยที่ทำหน้าที่ภายในบุคคล สิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ป่วยทั้งภายในและภายนอก มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการดำรงชีวิตและการฟื้นหายของผู้ป่วย เช่น ประสบการณ์เกี่ยวกับการเจ็บป่วย สภาพแวดล้อมในหอผู้ป่วย ระบบสังคม ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม การสนับสนุนของผู้ดูแล ครอบครัว ญาติมิตร รวมทั้งบุคลากรในทีมสุขภาพ เป็นต้น การจัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบาย สะอาด ปลอดภัย และเป็นส่วนตัว มีอิทธิพลต่อความผาสุขของผู้ป่วย ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า มีอัตมโนทัศน์ในทางทีดีต่อตนเอง อันเนื่องมาจากการเอาใจใส่ประคับประคองดูแลของพยาบาล สิ่งที่พยาบาลควรปฏิบัติได้แก่ - ลดสิ่งรบกวนหรือสิ่งกระตุ้นภายนอก สนใจท่านอน ลักษณะของเตียง และการจัดสิ่งของให้ผู้ป่วยหยิบใช้สะดวก - บรรเทาความไม่สุขสบายต่างๆ เช่น การประคบร้อนเย็น การทำสมาธิ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ให้ยาบรรเทาปวด พาไปสัมผัสธรรมชาติ ฟังดนตรี สนทนากับผู้ป่วยอื่น เป็นต้น - จัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นสัดส่วน ให้เวลาและความเป็นส่วนตัวในการปฏิบัติศาสนกิจ ในการอยู่กับครอบครัว หรือในการผ่อนคลายอารมณ์ - ป้องกันและกำจัดสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นอันตรายกับผู้ป่วยทั้งด้านเทคนิค เครื่องมือเครื่องใช้และสภาพจิตใจ เช่น อุบัติเหตุจากอุปกรณ์การดูแลรักษา การติดเชื้อในโรงพยาบาล

-    จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาด  และสวยงามอยู่เสมอ  มีสีสันที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย

9.พึงพอใจที่จะช่วยเหลือเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลอื่น / ช่วยเหลือโดยมุ่งตอบสนองความต้องการของบุคคล : พยาบาลต้องตอบสนองความต้องการทุกด้าน โดยเริ่มจากความต้องการรดับพื้นฐานก่อน และค่อยๆเพิ่มความต้องการที่สูงขึ้น จากความต้องการทางชีวภาพ ทางกาย-จิต ทางจิต-สังคม และทางด้านสัมพันธภาพภายในระหว่างบุคคล ไปจนถึงความต้องการด้านการยอมรับ วัตสันอธิบายว่าความต้องการเป็นสิ่งที่คู่กับมนุษย์เสมอมาไม่มีที่สิ้นสุดตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เป็นแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ที่พยายามให้บรรลุถึงความต้องการนั้น ความต้องการของผู้ป่วยก็เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป จะแตกต่างกันบ้างก็ตรงที่ว่าผู้ป่วยต้องการการดูแลด้านจิตใจอย่างมาก และมีความต้องการด้านจิตวิญญาณสูง การให้ผู้ป่วยได้สมหวังในชีวิตโดยการตอบสนองความต้องการอย่างดีที่สุดในสิ่งที่เป็นไปได้ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความผาสุก และพัฒนาการเจริญเติบโตภายในให้มีความกลมกลืนกับผู้อื่น สิ่งแวดล้อม และจากไปอย่างสงบสิ่งที่พยาบาลควรปฏิบัติได้แก่ ตอบสนองความต้องการทางด้านชีวภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ตอบสนองความต้องการทางด้านจิตสรีร เพื่อให้ผู้ป่วยคงไว้ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของร่างกาย ตอบสนองความต้องการทางด้านจิตสังคมเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ตอบสนองความต้องการภายทั้งภายในบุคคลและความต้องหารที่ต้องหลมรวมกันของคนสองคน เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยมีพลังภายในตน โดยการตอบสนองความต้องการด้านจิตวิญญาณ การผูกพันทางใจกับโรคจักรวาลกับผู้อื่น และกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ

10. ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น-พลังที่มีอยู่ / เปิดรับพลังทางจิตวิญญาณ สิ่งลึกลับและยังไม่มีคำอธิบายอันเกี่ยวกับการมีชีวิต ความตาย : ปัจจัยการดูแลและกระบวนการปฏิบัติการด้วยความรักเพื่อการดูแลข้อนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญและเข้าใจยากที่สุด ทั้งนี้เพราะศาสตร์สมัยใหม่ไม่สามารถให้คำตอบได้ถึงความสำคัญของชีวิตและการเสียชีวิต เพราะการมีชีวิตไม่ใช่เพียงการอยู่และแก้ไขปัญหาหากแต่การมีชีวิตยังเป็นความลึกลับซับซ้อนที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อ ด้วยความมีสติแห่งวามรัก พยาบาลต้องยอมรับในปาฎิหารย์ (Allow for a miracle) (Watson, 2008) ผู้ป่วยมักจะมีความสับสน ว้าวุ่น วิตกกังวลต่อสภาพที่ต้องมีชีวิตอยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย ความเจ็บป่วยที่ประสบกับความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน ทำให้ผู้ป่วยไขว่คว้าที่จะค้นหาความหมายของชีวิต ถ้าหากไม่ได้รับการดูแลประคับประคองที่ดี ผู้ป่วยมักจะปกิเสธความเจ็บป่วย พลังจิตวิญญาณเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยให้บุคคลสามารถเข้าใจความหมายของชีวิตตามสถานภาพของการเป็นมนุษย์ที่ต้องมีเงื่อนไขและข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ว่ามนุษย์ทุกคนต้องประสบกับความตาย พยาบาลเป็นแหล่งที่มีคุณภาพและเป็นความแข็งแกร่งสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา พยาบาลจึงต้องค้นหาความหมายของชีวิตจากประสบการณ์ของตนในแต่ละวัน มีความเข้าใจในชีวิตและความเป็นไปของโลก มีพลังสติปัญญา พลังจิต และพลังกายที่ได้จากปรัชญา ความเชื่อ วัฒนธรรม การศึกษา และประสบการณ์ชีวิตของพยาบาล เพื่อถ่ายเทพลังนี้ให้กับผู้ป่วยและสนับสนุนช่วยเหลือผู้ป่วยในการเสริมสร้างพลังให้แก่ตนเอง เพื่อบำบัดเยียวยาตนเอง และพัฒนาแก่นที่อยู่ภายในตน (inner self) ให้แข็งแกร่ง สำหรับเผชิญกับภาวะของโรค ความทุกข์ทรมานและความตาย เพื่อรักษาความกลมกลืนทั้งภายในและภายนอกตนให้คงอยู่จวบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และได้จากไปอย่างสงบ สิ่งที่พยาบาลควรปฏิบัติ ได้แก่ ช่วยผู้ป่วยให้ค้นพบคุณค่าของประสบการณ์ในอดีต ความศรัทธาในศาสนา ปรัชญาและสิ่งที่ดีงาม โน้มนำให้ผู้ป่วยค้นหาแก่นของชีวิต เข้าใจชีวิต และกำหนดเป้าหมายชีวิตในระยะเวลาที่มีอยู่จำกัด แนะนำและให้โอกาสผู้ป่วยแสดงออกซึ่งความเชื่อทางศาสนา แสดงความรักและมีสัมพันธภาพกับครอบครัวหรือผู้ที่เป็นแหล่งของความหวังและกำลังใจ นำ ผู้ป่วยให้ค้นพบแหล่งพลังจิตวิญญาณของตน ค้นพบสัจธรรมของชีวิต และนำเข้าสู่การใช้ระยะเวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างมีคุณค่า

นอกจากปัจจัยการดูแล 10 ประการ (Ten Carative factor) และกระบวนการปฏิบัติการด้วยความรักเพื่อการดูแล (Clinical caritas process) แล้วนั้น กระบวนการดูแลที่มีลักษณะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบอัตวิสัย (Subjective) ที่วัตสันเรียกว่ารูปแบบการดูแลที่เข้าถึงจิตใจระหว่างคนสองคน (Transpersonal caring model) นั้น มีลักษณะเป็นกระบวนการดูแลที่มีองค์ประกอบสามส่วนที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ กระบวนการดูแลมนุษย์ (Human care process) การดูแลมนุษย์บนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Human care transaction) และผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ (possible outcomes) ภายใต้กระบวนการที่เชื่อมโยงกันนี้ประกอบไปด้วยมโนทัศน์ต่างๆ ที่ปรากฏในทฤษฎีการดูแลของวัตสัน เช่น ปัจจัยการดูแล (Carative factor) ความรัก (Caritas) แนวคิดศีลธรรม (Moral idea) สถานการณ์การดูแลที่เกิดขึ้นขณะนั้น (Actual caring occasion) การดูแลที่เข้าถึงจิตใจกันระหว่างคนสองคน (Transpersonal caring) และการฟื้นหาย (Healing) (Sourial, 1996; Watson, 2008; Quin, 2009)

การดูแลที่เกิดขึ้นภายใต้ทฤษฎีการดูแลของวัตสันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นด้วยสัมพันธภาพของคนสองคน และเป็นกระบวนการการดูแลที่เข้าถึงจิตใจระหว่างคนสองคน (Transpersonal caring model) โดยกระบวนการดูแลเริ่มขึ้นด้วยการที่พยาบาลใช้ปัจจัยการดูแล และกระบวนการปฏิบัติการด้วยความรักเพื่อการดูแลเป็นกรอบแนวคิดเพื่อการปฏิบัติการพยาบาล ผนวกกับแนวคิดศีลธรรม (Moral idea) และความรัก ซึ่งจะทำให้พยาบาลเข้าถึงและเข้าใจผู้ป่วยอย่างท่องแท้ ภายใต้ความคิดเห็นที่ตรงกัน จนก่อให้เกิดขั้นตอนต่อไปของกระบวนการดูแลคือการดูแลมนุษย์บนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Human care transaction) ที่พยาบาลจะรับรู้ถึงและแลสัมผัสถึงพลังแห่งการดูแล อันเป็นความรู้สึกตระหนักถึงการดูแลว่าได้เกิดขึ้นและส่งให้เกิดความรักความเข้าใจผู้อื่น ซึ่งวัตสันเรียกว่า “caring occasion” และนำไปสู่ การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างคนสองคนบนสนามปรากฏการณ์ (Phenomenal field) จนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นหลอมรวมจนเกิดการเข้าถึงจิตใจระหว่างคนสองคน (Transpersonal) ทำให้คนทั้งสองคนค้นพบความหมายของสิ่งต่างๆ ที่เป็นสาระสำคัญของชีวิต ได้แก่ ความเจ็บป่วย ความทุกข์ทรมาน และความตาย ตามสภาพความเป็นจริงของชีวิต เพื่อให้เกิดยอมรับในตนเอง และยอมรับผู้อื่น จนทั้งพยาบาลและผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้ร่วมกันต่างฝ่ายต่างอยู่เหนือความทุกข์ ปัญหาต่างๆ และเกิดสัมพันธภาพที่นำไปสู่การฟื้นหาย (Healing relationship) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีพลังในการคงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพ ดังแสดงในแผนภาพที่ 1 ประโยชน์และการนำไปใช้ทางการพยาบาล'ทำตัวหนา

              ทฤษฎีการดูแลระหว่างบุคคลของวัตสัน ชี้ให้เห็นองค์รวมของมนุษย์ที่มีความเป็นหนึ่งเดียว (Unitary) (Watson, 2008, 2009) ที่เกิดจากการหลอมรวมกันระหว่างร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ (วัตสันใช้คำว่า mind-body-spirit) และให้ความสำคัญอย่างมากในมิติจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของทฤษฎีนี้ ทำให้ทฤษฎีนี้มีความเฉพาะต่อการบำบัดและเยียวยา (Therapeutic intervention) ความทุกข์ ความทรมาน 

การสร้างความหวัง และประคับประคองความโศกเศร้า นอกจากนั้นแนวคิดทฤษฎีนี้ยังช่วยดำรงค์ไว้ซึ่งบทบาท “การดูแล” ด้วยความรักเพื่อนมนุษย์ บนพื้นฐานของความกรุณา (Compassion) ที่ไม่อาจทดแทนได้ด้วยเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์

                ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลได้ใน  2 ระดับคือ ระดับพื้นฐาน และการใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. การใช้ในระดับพื้นฐาน : โดยพยาบาลใช้ปัจจัยการดูแล 10 ประการ (Ten carative factors) มาเป็นแนวคิดพื้นฐาน เพื่อการดูแลผู้ป่วย ซึ่งก็คือการใช้เพื่อชี้นำการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อการดูแล เช่น พยาบาลคำนึงถึงการดูแลคนไข้ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ซึ่งต้องคำนึงถึงการตอบสนองความต้องการทุกด้าน การคำนึงถึงความหวังของผู้ป่วย ในบางองค์กรรับแนวคิดทฤษฎีการดูแลเป็นปรัชญาส่วนหนึ่งขององค์กรในการจัดบริการทางการพยาบาล

2. การใช้เพื่อการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง : คือการนำรูปแบบการดูแลที่เข้าถึงจิตใจกันระหว่างคนสองคน (Transpersonal caring) มาใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการฟื้นหาย (Healing) (Quinn, 2009; Jesse, 2010) โดยมีลักษณะการนำทฤษฎีการดูแลมาใช้ดังต่อไปนี้

            การนำทฤษฎีการพยาบาลมาใช้ใช้ในระดับนี้ ก็คือการใช้ช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสันเพื่อการปฏิบัติการพยาบาล ซึ่งหมายถึงการประติดประต่อหลักการ กลวิธีในการแก้ปัญหา ตามหลักและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาทางการพยาบาล ซึ่งหลักและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาทางการพยาบาลก็คือ “กระบวนการพยาบาล” นั่นเอง พยาบาลจึงสามารถนำกรอบแนวคิดของทฤษฎี มาใช้ในการพยาบาล โดยมีกระบวนการพยาบาลเป็นเครื่องมือสู่การปฏิบัติการพยาบาล โดยในแต่ละขั้นของกระบวนการพยาบาลต้องอาศัย Ten Carative Factor และ Clinical Caritas Process เป็นแกนกลางในการปฏิบัติการพยาบาลทุกขั้นตอนร่วมกับการประเมินความต้องการในด้านต่างๆ ที่มีเป้าหมายการเยียวยาและบำบัดที่ให้ความสำคัญของคุณค่าความเป็นมนุษย์ นอกจากนั้นพยาบาลผู้ใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน ซึ่งถือเป็นทฤษฎีระดับกว้าง (Grand theory) มาใช้เพื่อการปฏิบัติการพยาบาล พยาบาลต้องใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสันร่วมกับแนวคิดอื่นๆ เพื่ออธิบายปัญหาทางการพยาบาลเพื่ออธิบายปัญหาทางการพยาบาล  การใช้ทฤษฏีการดูแลของวัตสันในระดับนี้ พยาบาลยังต้องเข้าใจความหมายของการฟื้นหาย (Healing) ที่หมายถึงการหลอมรวมของ กาย จิต และวิญญาณ เป็นหนึ่งเดียวกัน เกิดขึ้นบนสัมพันธภาพแห่งการบำบัด (Quinn, 2009) จนเกิดความเข้าใจชีวิต เข้าใจความเจ็บป่วย ใช้ความเจ็บป่วย (และความทุกข์ชนิดอื่น ๆ รวมทั้งความตาย) มาเปิดใจให้เราลดละความเห็นแก่ตัว และนึกถึงประโยชน์สุขของสรรพชีวิต จนละวางความยึดติดถือมั่นในตัวตน อันเป็นหนทางสู่ความพ้นทุกข์ 
               พยาบาลผู้ที่จะใช้ทฤษฎีการดูแลในระดับการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงเพื่อให้เกิดการฟื้นหาย ยังต้องมีความรู้เข้าใจทฤษฎีการดูแลอย่างลึกซึ้ง มีความรู้เกี่ยวกับสนามพลัง (energy field) พลังแห่งจิตวิญญาณ เข้าใจเกี่ยวกับความกรุณา (compassion) ในความหมายเชิงศาสนา ที่มีพลังแห่งการเยียวยา ดังเช่น ความกรุณาซึ่งก็คือความรักในศาสนาคริส (Cartitas/Love) (Claire, 2009; Watson, 2008) หรือพลังแห่งกรุณา (compassion) ได้แก่ความเข้าชีวิตและการบรรเทาทุกข์ในศาสนาพุทธ (ลามะโซปะ ริมโปเช, 2553)

การใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสันในการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง สามารถเกิดขึ้นได้จริงในหลายหน่วยการดูแล ดังเช่น

             วัตสัน (2005) ได้นำเสนอการใช้ปัจจัยการดูแลสิบประการ ร่วมกับแนวคิดการบริหาร เพื่อเป็นแนวคุณธรรมในการบริหารและปฏิบัติการทางคลินิก เกิดเป็นรูปแบบการบริหารที่เน้นการดูแลอันเกิดประโยชน์ต่อผู้รับบริการ  

เบอร์นิก (2009) นำปัจจัยสิบประการ มาใช้เป็นกรอบในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการฟื้นหาย ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ความต้องการของผู้สูงอายุ มาเป็นองค์ความรู้ประกอบการใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน โรเซนเบอก (2006) นำปัจจัยการดูแลสิบประการมาเป็นกรอบสำหรับการบันทึกกิจกรรมและผลลัพธ์ทางการพยาบาลในสถานบริการ (อาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้แบบต่อยอดในข้อ 1) โดยใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขึ้นมารองรับการทำงานดังกล่าว ทำให้พยาบาลในสถานบริการสามารถใช้ทฤษฎีการดุแลของวัตสันในการปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างเป็นระบบ ติดตามและประเมินการพยาบาลได้ ราฟาเอล(2000) ใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสันเป็นกรอบแนวคิดในการปฏิบัติการพยาบาลในชุมชน และได้พัฒนาแนวการประเมินชุมชนเพื่อให้เกิดกระบวนการดูแลที่เข้าถึงจิตใจระหว่างพยาบาลและคนในชุมชน การใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสันเพื่อพัฒนาความรู้ทางการพยาบาลโดยการวิจัย

             สมิท (2004) ได้ทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการวิจัยที่ใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสันเป็นกรอบแนวคิด โดยสามารถจัดแบ่งลักษณะงานวิจัยออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 

1.การวิจัยที่เกี่ยวกับธรรมชาติของการดูของการพยาบาล : ข้อค้นพบของงานวิจัยลักษณะนี้ค้นพบข้อเท็จจริงในลักษณะของประเด็นที่ช่วยอธิบายถึงสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การดูแลสัมฤทธิ์ผล (Watson , 2008) ความมีเกียรติศักดิ์ศรี (Dignity) ความรัก (love) ความปลอดภัย (security) การมีตัวตน (Presence) การยอมรับ (Respect) (Beauchamp, 1993; Miller, Harber & B yrne, 1992) สเวนสัน (1991) ทำการวิจัย ธรรมชาติการดูแลมารดาในหอผู้ป่วยเด็กทารกวิกฤต และได้ข้อสรุปที่ต่อมาพัฒนาเป็นทฤษีการดูแลระดับเพื่อการดูแลมารมารดากลุ่มดังกล่าว เป็นต้น 2.การวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลของพยาบาลที่ผู้ป่วยรับรู้ : งานวิจัยในกลุ่มนี้มุ่งเน้นการวัดและประเมินการดูแล โดยอาศัยการประเมินจากสถานการณ์การดูแลที่เกิดขึ้นจริงผ่านการรับรู้ของผู้ป่วย และพยาบาล งานวิจัยในกลุ่มนี้ได้พัฒนาเครื่องมือวิจัยเพื่อใช้วัดประเมินการพยาบาลทางคลินิกหลายชิ้น (Watson, 2009) 3.การวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์ของมนุษย์และความต้องการการดูแล : ได้แก่งานวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์การเจ็บป่วยของผู้ป่วยโรคต่างๆ เช่น cystic fibrosis, depression, polycystic kidney disease ซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยอย่างลึกซึ้ง มากขึ้นเพิ่มเติมจากการประเมินสภาพของผู้ป่วยโดยใช้แนวคิดวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4.การวิจัยเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการดูแลในการปฏิบัติการพยาบาล และการศึกษา : งานวิจัยในกลุ่มนี้มุ่งเน้นการนำทฤษฎีการดูแลไปปฏิบัติการพยาบาลในระดับขององค์กรและมีการติดตามประเมินผลลัพธ์ของการปฏิบัติการพยาบาล การวิจัยทั้ง 4 กลุ่มครอบคลุมทั้งการวิจัยเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ โดยการวิจัยส่วนใหญ่จะให้ความสนใจเกี่ยวกับประสบการณ์แห่งการดูแล สัมพันธภาพแห่งการดูแล ซึ่งล้วนสลับสนุนความเชื่อของทฤษฎีการดูแลของวัตสัน ประเด็นที่น่าสนใจซึ่ง สมิท (2004) ค้นพบจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบก็คือ วิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไม่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการดูแลอย่างเข้าถึงจิตใจคนได้ และงานวิจัยตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมาเริ่มให้ความสนใจไปสู่ผลลัพธ์ของการปฏิบัติการพยาบาล คือการฟื้นหาย ที่มีกรอบแนวคิดจากทฤษฎีการดูแลของวัตสันมากขึ้น

ความท้าทายของการใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน แม้ว่าทฤษฎีการดูแลของวัตสัน ได้เผยแพร่และเป็นที่ยอมรับในวิชาชีพพยาบาลในวางกว้าง เพื่อการปฏิบัติการพยาบาล แต่การนำทฤษฎีนี้ไปใช้เพื่อการปฏิบัติการพยาบาล และการวิจัย ก็ยังมีความท้าทายอยู่มากเช่นกันทั้งนี้เพราะ 1. แกนหลักของทฤษฎีนี้คือ “การดูแล” ซึ่งวัตสันอธิบายว่าเป็นมโนธรรมและอุดมคติ (Watson, 2008) โดยมีปัจจัยการดูแลสิบประการเป็นแนวคิดหลัก ซึ่งทุกปัจจัยได้รับการยอมรับว่าสามารถนำไปสู่การดูแลได้ แต่วัตสันอธิบายรายละเอียดของแต่ละปัจจัยโดยใช้สิ่งที่มีความเป็นนามธรรม เช่น ความรัก ความศรัทธราความหวัง ทำให้การนำไปปฏิบัติไม่มีรูปแบบที่อธิบายเป็นขั้นตอนที่ตายตัว ทำให้การถ่ายทอดให้เป็นที่เข้าใจตรงกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก 2. พยาบาลผู้ที่จะนำทฤษฎีการดูแลของวัตสันไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลทุกระดับ รวมทั้งการวิจัย ต้องมีความเชื่อว่ามนุษย์คือความเป็นหนึ่งเดียว (Unitary) ที่หลอมรวมมาจากกาย จิต จิตวิญญาณ การพิจาณาให้เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษย์ ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับบุคคลเป็นที่ตั้ง ความรู้สึกและการถ่ายทอดเรื่องราวจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่พยาบาลต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง ความเชื่อในลักษณะนี้ถือเป็นความรู้ในเชิงศิลปะและสุนทรียศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงองค์ความรู้ของพยาบาลที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ต้องอาศัยการวัดประเมิน การพิสูจน์ การวินิจฉัยทางการแพทย์ร่วมไปด้วย พยาบาลจึงอาจเกิดความรู้สึกขัดแย้งในตนเอง อีกทั้งพยาบาลยังถูกฝึกให้ใช้ความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ การจะนำความรู้เชิงศิลปะและสุนทรียศาสตร์มาใช้จึงเป็นไปเพื่อสนับสนุนความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากกว่าการใช้ความรู้ทั้งสองส่วนอย่างผสมผสานกันนั้น 3. ในปัจจุบันวัตสัน ได้นำแนวคิดเกี่ยวกับการฝึกสมาธิ การบริหารจิต การสวดภาวนา มาใช้ร่วมกับปัจจัยการดูแลสิบประการ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ปรากฏอยู่ในคำสอนทางศาสนา ทำให้เกิดส่วนที่ทับซ้อนระหว่างทฤษฎีการดูแลกับศาสนาและความเชื่อ นั่นหมายความว่าพยาบาลต้องนำศาสนา (หรือความเชื่อ) เข้ามาสู่การปฏิบัติการพยาบาลใช่หรือไม่ และหากคำสอนทางศาสนาหรือความเชื่อถูกนำมาประยุกต์ร่วมกับทฤษฎีการดูแล ศาสนาและความเชื่อแต่ละแบบก็จะมีวิธีการสั่งสอน ทำความเข้าใจที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือแนวคิดเกี่ยวกับ “พลังกรุณา” ที่ถือเป็นการเยียวยานำไปสู่การฟื้นหาย โดย “พลังกรุณา” นั้นคือ ธรรม ในศาสนาพุทธ แต่ในอีกด้านหนึ่งความกรุณาก็คือ “ความรักในเพื่อนมนุษย์” ในศาสนาคริส (ลามะโซปะ ริมโปเช, 2553; Sitzman, 2002) ซึ่งทั้งสองแนวคิดจะมีแนวการสอน การปฏิบัติ เพื่อทำความเข้าใจที่แตกต่างกัน พยาบาลที่นับถือศาสนาหรือมีความเชื่อที่แตกต่างไปจากนี้จะปฏิบัติอย่างไร และทำความเข้าใจการฟื้นหายอย่างไรนั้น วัตสันไม่ได้ตอบคำถามนี้อย่างชัดเจน ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือ ประเด็นทางศาสนา ความเชื่อ แม้จะเป็นความจริงของมนุษย์ แต่ก็มีความเป็นนามธรรม และอาจยิ่งทำให้ทฤษฎีการดูแลของวัตสันมีความเป็นนามธรรมยิ่งขึ้นไปอีก 4. การนำรูปแบบการดูแลที่เข้าถึงจิตใจกันระหว่างคนสองคน (Transpersonal caring) มาใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการฟื้นหาย (Healing) นั้นไม่ใช่การหายจากโรค พยาบาลตั้งเป้าหมายการดูแลผู้ป่วยบางสถานการณ์อย่างไร เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากการฆ่าตัวตาย พยาบาลจะต้องเป้าหมายการฟื้นหายอย่างไร พยาบาลยังอาจเผชิญความยุ่งยากของการผสมผสานการดูแลทางการแพทย์แผนปัจจุบันเข้ากับแนวคิดเรื่องการฟื้นหายในทฤษฎีการดูแลของวัตสัน ฉนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่พยาบาลจะให้เกิดสมดุลระหว่างการฟื้นหายและการรักษาของแพทย์เกิดขึ้นไปพร้อมๆกัน จากประสบการณ์ทางคลินิกของผู้เขียนพบว่าความหมายของการฟื้นหาย (Healing) คือความหมายที่ผู้ป่วยเป็นผู้ให้กับตนเอง ผู้ป่วยต้องให้ความหมายของการฟื้นหายด้วยตัวของเขาเอง ภายใต้การดูแลของพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับข้อมูลและรับการบริการจากสหสาขา การฟื้นหายจึงเป็นได้ทั้งการฟื้นหายจากความเจ็บป่วย การบรรเทาอาการของโรคซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยศิลปะการดูแลร่วมกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ทีทันสมัย ไปจนถึงการฟื้นหายในแบบของการได้รับการเยียวยาทางจิตใจ ที่ทำให้จิตใจสงบและเกิดความสุขทางจิตใจ เกิดการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยได้ 5. ทฤษฎีการดูแลของวัตสันมีเป้าหมายสู่การดูแลเพื่อให้เกิดการฟื้นหาย การประเมินผลทางการพยาบาลจึงไม่ได้มาจากพยาบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นการประเมินการฟื้นหายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยด้วย ซึ่งวัตสันได้เสนอให้พยาบาลประเมินจากประสบการณ์ที่ผู้ป่วยถ่ายทอดออกมาให้พยาบาลได้รับรู้ รวมทั้งอารมณ์ ความรู้สึกของผู้ป่วยที่แสดงออกมา การประเมินในลักษณะนี้พยาบาลต้องอาศัยเวลาและความใส่ใจอย่างมาก ในบางสถานการณ์ของการปฏิบัติการพยาบาลจริงจึงอาจไม่สามารถประเมินสิ่งเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน 6. การใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน ในลักษณะของการปฏิบัติการพยาบาลขององค์กรมีความเป็นไปได้ หากแต่มีความท้าทายในประเด็นที่ว่า พยาบาลต้องมีความเข้าใจทฤษฎีนี้เป็นอย่างดี และมีระบบการพยาบาลที่มีปรัชญาพื้นฐานบนทฤษฎีนี้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการอบรม ระบบสนับสนุนที่สามารถประเมินผลทางการพยาบาลที่เฉพาะเจาะจง ( Rosenberg , 2009)

บทสรุป ทฤษฎีการดูแลของวัตสันถือเป็นทฤษฎีการพยาบาลระดับกว้าง ที่ได้รับการยอมรับทั้งในแง่ของการเป็นปรัชญาของการพยาบาล และการประยุกต์ใช้เพื่อการปฏิบัติการพยาบาล การวิจัยทางการพยาบาลศาสตร์ นอกจากนี้ทฤษฎีนี้ยังชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการดูแล ซึ่งก็คือการบรรเทาความทุกข์ทรมาน และการฟื้นหาย แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีการดูแลของวัตสันก็มีความเป็นนามธรรมค่อนข้างสูง ทำให้พยาบาลผู้ที่จะนำทฤษฎีนี้ไปใช้ ต้องทำความเข้าใจทฤษฎีและบริบทที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี จุดเน้นของการดูแลที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยอาศัยความรัก ความเอาใจใส่ ถือเป็นจุดเด่นของทฤษฎีการดูแลของวัตสันที่สะท้อนให้เห็นลักษณ์เฉพาะของวิชาชีพพยาบาล และองค์ความรู้ในเชิงศิลป์ของการพยาบาล

เอกสารแนะนำให้อ่านเพิ่มเติม 1. Sitzman, K. (2002). Interbeing and mindfulness : A bridge to understanding Jean Watson’s THEOTY OF HMAN CARING. Nursing Education Perspective, (May-June): 118-123. 2. Claire, C., & Ryder, E. (2009). Compassion and caring in nursing. New York : Radcliffe Publication. 3. Quinn, J.F. (2009). Transpersonal human caring and healing. In Doseey, B.M., & Keegan, L. (Eds.), Holistic nursing: A hand book for practice. Sudbury, Mass. : Jones and Bartlett Publishers. 4. Watson, J. (2008). Nursing : The philosophy and science of caring. Boulder, Cololado. : University Press of Colorado.

เอกสารอ้างอิง ลามะโซปะ ริมโปเช, ธีรเดช อุทัยวิทยารันต์ (แปล). (2553). พลังแห่งกรุณา คือการเยียวยาสูงสุด. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง Bernick, L. (2009). Caring for older adults: Practice guide by watson’s caring healing model. Nursing Science Quarterly, 17,2: 128-134. Beauchamp, C.J. (1993). The centrality of caring: A case study. In Munhall, P. L., & Boyd, C.O. (Eds.), Nursing research: A qualitative perspective (2 nd ed, pp. 338-358). New York: National League for Nursing. Claire, C., & Ryder, E. (2009). Compassion and caring in nursing. New York : Radcliffe Publication. Eriksson, K. (1994). Theory of caring as health. In Gaut, D.A., & Boykin, A (Eds.), Caring as healing: renewal through hope (pp.3-20). New York: National League for Nursing. Rosenberg, S. (2006). Utilizing the lanquage of Jean Watson’s caring theoty within a computerized clinical document system. Computer, Informatic, Nursing, 24,1; 53-56. Swanson, K.M. (1991). Empirical development of a middle range theory of caring. Nursing Research, 40(3), 161-166. Sitzman, K. (2002). Interbeing and mindfulness : A bridge to understanding Jean Watson’s THEOTY OF HMAN CARING. Nursing Education Perspective, (May-June): 118-123. Smith, M. (2004). Review of research related to watson’s theory of caring. Nursing Science Quarterly, 17,1: 13-15. Sourial, S. (1996). An analysis and evaluation of Watson's theory of human care. Journal of Advanced Nursing, 24: 400–404. Miller, B. K., Haber,J., & Byrne, M. W. (1992). The experience of caring in the acute care setting: Patient and nurse perspective. In Gaut, D. (Eds), The presence of caring in nursing (pp.137-155). New York: National League for Nursing. Jesse, E. (2006). Watson’s philosophy in nursing practice. In, Alligood, M.R., & Tommy ,A.M. (Eds.), Nursing theory : utilization and application (pp. 103-121).. St. Louis, Mo. : Elsevier Mosby. Parse, R. R. (1995). Again: What is nursing? Nursing Science Quarterly, 8: 143. Quinn, J.F. (2009). Transpersonal human caring and healing. In Doseey, B.M., & Keegan, L. (Eds.), Holistic nursing: A hand book for practice. Sudbury, Mass. : Jones and Bartlett Publishers. Rafsel, A. (2000). Watson’s philosophy, science, and theory of human caring as a conceptual framework of guiding community health nursing practice. Advanced Nursing science, 23(2): 34-39. Watson, J. (1985). Nursing : human science and human care : a theory of nursing. Norwalk : Connecticut, Appletion-Century-Crofts. Watson, J. (1999). Postmodern Nursing and Beyond. New York: Churchill Livingstone. Watson, J. (2008). Nursing : the philosophy and science of caring. Boulder, Cololado. : University Press of Colorado. Watson, J. (2005). Caring theory as ethical guide to administrative and clinical practices. Nursing Administration Quarterly, 12; 18-55. Watson, J. (2005). Caring science as sacred science. Philadelphia : F.A. Davis Co. Watson, J. (2009). Assessing and Measuring Caring in Nursing and Health Science. New York: Springer Publishing Company.

เครื่องมือส่วนตัว