ทางน้ำโค้งตวัด
จาก ChulaPedia
ทางน้ำโค้งตวัด (meander)
ลักษณะของลำน้ำที่โค้งไปโค้งมา แลดูคล้ายเส้นเชือกที่วางขดไว้เป็นหยักๆ เป็นลักษณะของลำน้ำที่มักพบอยู่ในบริเวณที่ธารน้ำไหลผ่านไปในพื้นที่ค่อนข้างราบ การกัดเซาะในทางลึกมีน้อยกว่าในทางข้าง กระแสน้ำที่ไหลมาปะทะตลิ่งด้านหนึ่งจะค่อยๆ กัดเซาะตลิ่งด้านนั้นให้พังทลายไปทีละน้อยๆ ในขณะเดียวกัน ตลิ่งด้านที่อยู่ตรงข้ามจะเกิดการทับถมงอกออกมา นานๆ เข้าทางน้ำจึงโค้งมากขึ้น บางครั้งก็โค้งตวัดจนเกือบจะประชิดกัน ซึ่งถ้าหากประชิดกันมาก กระแสน้ำอาจเซาะตรงส่วนคอดให้ขาดเป็นลำน้ำตัดตรงไป ส่วนที่โค้งอ้อมนั้นกลายเป็นบึงโค้งหรือทะเลสาบรูปแอก จากรูป หัวลูกศรจะแสดงให้เห็นตำแหน่งที่กระแสน้ำซึ่งมีความเร็วสูงสุดไหลมาปะทะตลิ่งด้านหนึ่ง จากนั้นจะค่อยๆ กัดเซาะให้ตลิ่งด้านนั้นพังทลายหายไป และในขณะเดียวกันตลิ่งด้านตรงกันข้ามจะเกิดการงอกออกมา เกิดเป็นภูมิประเทศที่เกิดจากการพอกตัวของตะกอน สำหรับประเทศไทยมีลักษณะทางน้ำโค้งตวัดอยู่หลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เช่น ที่บริเวณตำบลบางกระเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ที่มาข้อมูล กลุ่มอาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ