ที่มาของคำบุรุษสรรพนาม "ผม"
จาก ChulaPedia
ผู้วิจัย: นางสาวกนกวรรณ วารีเขตต์ อาจารย์ที่ปรึกษา: อาจารย์ ดร.วิภาส โพธิแพทย์
คำสรรพนามบุรุษที่ 1 “ผม” ที่ใช้เป็นคำแทนตัวผู้พูดเพศชาย เพื่อแสดงความสุภาพนั้น อาจสันนิษฐานได้ว่ามีที่มาจากคำนาม “ผม” ที่หมายถึง ‘เส้นผม หรือขนที่ขึ้นบนศีรษะ’
จากการศึกษาเชิงประวัติโดยใช้เอกสารสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2325 - 2555) พบว่า เริ่มแรกคำว่า “ผม” ปรากฏใช้เป็นคำนามก่อน ต่อมาคำนาม “ผม” ได้เกิดการขยายหน้าที่เป็นคำบุรุษสรรพนามในสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 และคำนามก็ได้ขยายหน้าที่เป็นส่วนของคำลงท้าย “ครับผม” ในสมัยรัชกาลที่ 6 – 8 โดยอาศัยปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ ประการที่หนึ่ง ปัจจัยทางวัฒนธรรม ในเรื่องของความอาวุโสหรือชั้นทางสังคม และความคิดที่ว่าศีรษะเป็นของสูง กล่าวคือ เป็นการรับเอาคำพูดของผู้อาวุโสหรือผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่ามาไว้เหนือศีรษะซึ่งถือว่าเป็นของสูง และประการที่สอง ปัจจัยทางภาษา (ปัจจัยนามนัย) กล่าวคือ ผู้ใช้ภาษาอาศัยการใกล้ชิดกันระหว่าง “ผม” กับ “ศีรษะ” ซึ่งถือเป็นของสูงและอยู่ใกล้ชิดกันไปใช้เป็นคำแทนตัวผู้พูด คือ สรรพนามบุรุษที่ 1 และใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำรับในภาษาสุภาพ (ชาย) “ขอรับผม” ซึ่งมีความหมายเป็นนัยว่า ‘ผู้พูดได้ยินและรับเอาถ้อยคำของผู้ที่อาวุโสหรือผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่ามาใส่ไว้ในผม’ ทำนองเดียวกับคำว่า “ขอรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม” เพื่อแสดงความอ่อนน้อมและให้เกียรติคู่สนทนาโดยการยกส่วนที่สูงที่สุดของร่างกายไปใช้ ซึ่งนอกจากคำว่า “ผม” แล้ว ในภาษาไทยยังมีคำบุรุษสรรพนาม “เกล้า” และ “กระหม่อม” ที่มีที่มาและคำอธิบายคล้ายกับคำว่า “ผม” เช่นกัน
คำบุรุษสรรพนาม “ผม” กลายมาจากคำนามโดยผ่านกระบวนการทางภาษาที่สำคัญ ได้แก่ กระบวนการสูญคุณสมบัติของหมวดคำเดิม “ผม” ที่ทำหน้าที่เป็นคำนามมีคุณสมบัติสำคัญ คือ มีคำคุณศัพท์มาขยายได้ เช่น ผมยาว แต่เมื่อ “ผม”กลายเป็นคำสรรพนามจะมีคำคุณศัพท์มาขยายไม่ได้ กระบวนการจางลงทางความหมาย และกระบวนการคงเค้าความหมายเดิม ทำให้ความหมายเจาะจงของคำนาม “ผม” ซึ่งหมายถึง ขนที่ขึ้นบนศีรษะ เป็นเส้น ๆ สามารถจับต้องได้หายไป เหลือเพียงเค้าความหมาย [+ อยู่สูงสุด] ที่ถูกทำให้มีความหมายแสดงความสุภาพ และมีความหมายบอกบุรุษที่ 1 เอกพจน์เพิ่มเข้ามาแทน ส่วนของคำลงท้าย “ครับผม” กลายมาจากคำนามโดยผ่านกระบวนการหลอมรวม จากคำว่า “ขอรับผม” มีการเปลี่ยนแปลงทางเสียงเกิดขึ้นคือ เสียงสระออและเสียงจัตวาในคำว่า “ขอ” กร่อนหายไป เหลือเพียง เสียง /ค/ ซึ่งไปหลอมรวมกับคำว่า “รับ” กลายเป็นคำว่า “ครับผม”
อ้างอิง
กนกวรรณ วารีเขตต์ และวิภาส โพธิแพทย์. การกลายเป็นคำไวยากรณ์ของคำนาม "ผม". วารสารวรรณวิทัศน์ 13 (พฤศจิกายน 2556): 196-212.