ธรรมชาติของความจำ

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ธรรมชาติของความจำ

ความหมายของความจำ ความจำเป็นที่ที่บุคคลใช้เก็บรักษาข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่เขาได้รับจากการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก (Flavell, Miller, & Miller,2001)ซึ่งส่งผลให้บุคคลสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต เข้าใจสิ่งต่างๆ ในปัจจุบัน และคาดการณ์ไปยังอนาคตได้ (Baddeley, 1999; Galotti, 2008)

กระบวนการจำของมนุษย์ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1. กระบวนการใส่รหัสข้อมูล (Encoding) เป็นกระบวนการประมวลและให้ความหมายกับสิ่งที่รับรู้ เพื่อที่จะสร้างตัวแทนของสิ่งนั้นขึ้นมาเก็บไว้ในระบบความจำ 2. กระบวนการเก็บจำ (Storage) เป็นกระบวนการเก็บรักษาตัวแทนของข้อมูลที่ได้รับมาให้อยู่ในหน่วยความจำ 3. กระบวนการนำข้อมูลออกมาจากระบบการจำ (Retrieval) เป็นการดึงข้อมูลที่ถูกใส่รหัสและเก็บอยู่ในหน่วยความจำออกมาใช้

ธรรมชาติของความจำมนุษย์ หากได้ลองอ่านหนังสือหรือบทความรวมถึงงานวิจัยที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความจำของมนุษย์แล้วจะเห็นว่า ธรรมชาติของความจำมนุษย์ที่พบได้ทั่วไป มักครอบคลุมรายละเอียดดังต่อไปนี้

ความจำของมนุษย์มีการทำงานตลอดเวลา โดยปกติแล้ว ในการรับรู้และเข้าใจสิ่งเร้าที่ผ่านระบบรับสัมผัสเข้ามานั้นบุคคลจะตีความสิ่งเร้าและสร้างตัวแทนของสิ่งเร้าขึ้นมาในสมอง โดยอาศัยข้อมูลที่เก็บไว้ในความจำ อย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อที่จะให้บุคคลทำการดึงข้อมูลต่างๆ ที่เก็บบันทึกไว้ขึ้นมารวมกับข้อมูลจากการรับสัมผัส และประมวลข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อจะรับรู้สิ่งเร้านั้นๆ เมื่อระบบรับสัมผัสของเราทำงานตลอด ความจำของมนุษย์จึงทำงานตลอดเวลา และมีการปรับข้อมูลในหน่วยความจำอยู่เสมอตามข้อมูลที่ได้รับรู้ (Baddeley, 1999) โดยPiaget (as cited in Flavell et al., 2001)ได้กล่าวถึงการปรับทางปัญญา (Adaptation) ให้เข้ากันกับสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนมนุษย์ ไว้ว่า มนุษย์มีการจัดการกับข้อมูลผ่านกระบวนการ 2กระบวนการ ได้แก่ การดูดซึมเข้าสู่โครงสร้างทางปัญญา (Assimilation) และ การปรับโครงสร้างทางปัญญา (Accommodation)

ความจำของมนุษย์มีขีดจำกัด ความจำของมนุษย์มีขีดจำกัด คนเราไม่สามารถเก็บจำทุกอย่างที่รับรู้เข้ามาได้ และมีหลายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของความจำมนุษย์ งานวิจัยคลาสสิกงานหนื่ง คือการศึกษาของ George Miller (1956)ที่ได้เขียนบทความทางวิชาการเรื่อง The Magical number seven, plus or minus two: Some limits on our capacity for processing information และเสนอว่า มนุษย์เราสามารถเก็บจำข้อมูลในความจำระยะสั้นได้เพียง 5 – 9 Chunk เท่านั้น โดย Chunk ในที่นี้คือหน่วยพื้นฐานของความจำระยะสั้น ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มของข้อมูลก็ได้ ซึ่งหากจัดให้ Chunk เป็นกลุ่มของข้อมูล บุคคลก็มีแนวโน้มจดจำข้อมูลได้มากขึ้น แต่บุคคลก็ยังไม่สามารถให้จดจำสิ่งเร้าที่ผ่านเข้าสู่ระบบรับสัมผัสทั้งหมดได้ (Matlin, 2009)

ความจำของมนุษย์ในบางครั้ง ก็ไม่คงทนถาวร การจะรู้ว่ามนุษย์เราสามารถจำอะไรได้บ้างนั้น ดูได้จากข้อมูลหรือตัวแทนที่บุคคลนำกลับขึ้นมาจากระบบการจำ แม้ว่าจะเป็นสร้างข้อมูลขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หากมีข้อมูลใดที่บุคคลไม่สามารถนำกลับมาได้ บุคคลดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึง การลืม (forgetting) และการลืมนี้เอง คือสิ่งที่บ่งบอกว่า ความจำของมนุษย์จึงไม่คงทนถาวร (Matlin, 2009) Baddeley (1999) กล่าวว่า บุคคลแรกที่ทำการศึกษาเรื่องการลืมอย่างเป็นระบบ คือ Hermann Ebbinghausในช่วงทศวรรษที่ 1880Ebbinghausเห็นว่ามีทฤษฎีเกี่ยวกับความจำเกิดขึ้นมากมาย แต่ไม่แน่ใจว่าทฤษฎีใดสามารถอธิบายความจำได้ดีที่สุดจึงได้ทำการทดสอบการจำของตนเองโดยสร้างเครื่องมือซึ่งมีลักษณะเป็นพยางค์ที่ไร้ความหมาย (nonsense syllables) ให้เขาทำการเรียนรู้และจดบันทึกอย่างระมัดมะวังเขาพบว่า หากเขามีจำนวนครั้งของการทบทวนรายการของพยางค์ที่ไร้ความหมายในวันแรกของการเรียนรู้มากขึ้น เวลาที่เขาทำการเรียนรู้ซ้ำในวันที่สองจะลดลง และเขายังพบอีกว่า ในการเรียนรู้รายการพยางค์ที่ไร้ความหมายของเขาจะมีการลืมเกิดขึ้น โดยข้อมูลจะหายไปจากระบบความจำอย่างรวดเร็วในช่วงต้นของระยะเวลาการเก็บจำ แต่การหายไปของข้อมูลจะลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาการเก็บจำที่เพิ่มขึ้น จนถึงระดับหนึ่งและจะค่อนข้างคงที่ หลังจากการศึกษาของ Ebbinghausไปอีกหลายสิบปี ก็มีงานวิจัยคลาสสิกที่สนับสนุนผลการศึกษาของเขา ในช่วงปี 1958 – 1959 การศึกษาของ Brownนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ และ Peterson & Petersonนักจิตวิทยาชาวอเมริกาแสดงให้เห็นว่าข้อมูลที่อยู่ในระบบความจำน้อยกว่า 1 นาที โดยไม่ได้รับการทบทวนนั้น มักจะถูกลืม โดยความจำจะหายไปประมาณ 50 เปอร์เซนต์ภายในระยะเวลาเพียง 5 วินาทีเท่านั้น การศึกษาโดยใช้เทคนิคของ Brown/Peterson and Peterson ชี้ให้เห็นถึงความไม่คงทนของความจำสำหรับข้อมูลที่เข้ามาเพียงไม่กี่วินาที แต่ก็ยังมีการรบกวนการจำในรูปแบบอื่นที่แสดงให้เห็นว่าความจำของมนุษย์ไม่คงทนเช่นกัน (Matlin, 2009)

ความจำของมนุษย์โดยส่วนใหญ่มักจะถูกต้อง แต่ไม่เสมอไป โดยส่วนใหญ่แล้ว ความจำของมนุษย์มักจะเก็บจำข้อมูลที่ถูกต้อง แต่บางครั้งเราก็ได้แสดงความจำที่ผิดพลาดออกมาบ้าง ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลที่อยู่ในรอยความจำของมนุษย์นั้นแตกต่างไปจากข้อมูลของสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นจริง เช่นในการศึกษาคลาสสิกของ Bartlett (1932) ที่ให้ผู้รับการทดลองชาวอังกฤษอ่านตำนานพื้นบ้านของชาวอินเดียแดงเรื่อง the war of the ghost เขาพบว่าผู้รับการทดลองมีการละเลยรายละเอียดบางอย่างหรือเปลี่ยนคุณลักษณะของสิ่งของบางอย่างให้กลายเป็นสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยมากขึ้น นอกจากนี้ เขายังพบว่าผู้รับการทดลองมีการบิดเบือนรายละเอียดของตำนานให้เข้ากับความรู้หรือภูมิหลังของตนมากขึ้น และสิ่งที่บิดเบือนนี้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในการระลึกครั้งต่อๆ ไป ซึ่ง Bartlett (1932) ได้อธิบายผลการทดลองของเขาว่า ผู้รับการทดลองได้ใช้สกีมมาของตนในการสร้างความจำขึ้นมา ซึ่งสกีมมาของแต่ละบุคคลจะได้รับผ่านประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่ถูกจัดเก็บไว้ ดังนั้น หากเรื่องราวที่เขาได้อ่าน ไปตรงกับสกีมมาใดที่เขามีอยู่ เขาก็จะคาดคะเนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปตามสกีมมานั้น ทำให้เกิดการบิดเบือนเนื้อหาไปตามสกีมมานั้นๆ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกมากมายที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ใช้ประสบการณ์ ความรู้ต่างๆ ที่เก็บไว้ในความทรงจำในการตีความและเก็บจำข้อมูล (เช่นการศึกษาของ ณัฏฐารีย์ ศิริวิวัฒน์ (2553), Dewherst, Holmes, &Swannell(2008), Erskine, Markham, & Howie (2002)เป็นต้น) ทำให้มนุษย์ไม่ได้บันทึกข้อมูลทุกอย่างตามข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นการบันทึกข้อมูลที่ได้สร้างขึ้นผ่านกระบวนการสร้างข้อมูลขึ้นในความจำ (constructive process) และบุคคลก็ไม่ได้นำข้อมูลออกมาจากรอยความจำเสมือนการจำลองประสบการณ์นั้นขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการนำข้อมูลที่เรียกขึ้นมาจากรอยความจำได้มาสร้างข้อมูลขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้กลางเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์และเข้าใจได้ ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปหรือเมื่อมีการรับข้อมูลมาใหม่ ข้อมูลในรอยความจำอาจแตกต่างไปจากเดิมมากขึ้น ผ่านกระบวนการสร้างข้อมูลขึ้นมาอีกครั้ง (reconstructive process) (Alba & Hasher, 1993; Bartlett, 1932; Flavell, et. al., 2001; Lieberman, 2004; Schacter, 1999)ดังนั้นข้อมูลที่มีอยู่ในความจำของมนุษย์นั้น จึงอาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องตามเหตุการณ์จริง โดยที่บุคคลนั้นไม่รู้ตัวว่าตนเองได้บันทึกข้อมูลที่ผิดพลาดไว้ และแสดงความจำที่ผิดพลาดออกมา

กล่าวโดยสรุป ธรรมชาติความจำของมนุษย์จะกล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า ความจำของมนุษย์จะมีการทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเพื่อทำความเข้าใจข้อมูล หรือการปรับโครงสร้างของความรู้ที่มีอยู่ในความจำตามรายละเอียดของข้อมูลที่ได้รับรู้ นอกจากนี้ งานวิจัยมักจะแสดงให้เห็นว่าความสามารถในการจำของมนุษย์มีขีดจำกัด มากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป และบางครั้ง มนุษย์ก็มีการลืม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความจำของมนุษย์ ไม่ได้คงทนถาวรเสียทุกครั้งไป อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่แล้วความจำของมนุษย์มักจะถูกต้อง หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ผิดพลาดอย่างเป็นระบบ จนบางครั้งบุคคลดังกล่าวยังไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองได้จำพลาดไป

รายการอ้างอิง ณัฏฐารีย์ ศิริวิวัฒน์ (2553).ผลของการกระทำที่สอดคล้อง ไม่สอดคล้อง และไม่เกี่ยวข้องกับบท และ ระยะเวลาในการเก็บจำ ต่อความจำเหตุการณ์ที่มีบทเป็นพื้นฐานของเด็กอายุ 6–8 ปี. วิทยานิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย. Alba, J. W., & Hasher, L. (1983). Is memory schematic?.Psychological Bulletin, 93, 203–231. doi: 10.1037/0033-2909.93.2.203. Baddaley, A. D. (1999). Essentials of human memory.Hove: Psychology Press. Bartlett, F. C. (1932). Remembering: A study in experimental and social psychology. Cambridge: Cambridge University Press. Dewhurst, S. A., Holmes, S. J., &Swannell, E. R. (2008). Beyond the text: Illusion of recollection caused by script-based inferences. European Journal of Cognitive Psychology, 20(2), 367–386.doi:10.1080/09541440701482551. Erskine, A., Markham, R., and Howie, P. (2002). Children’s script-based inferences: Implications for eyewitness testimony. Cognitive Development, 16, 871–887.doi10.1016/S0885- 2014(01)00068-5 Flavell, H. A., Miller, P. H., & Miller, S. A. (2001) Cognitive development (4thed.). Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall. Galotti, K. M. (2008). Cognitive psychology: In and out of the laboratory (4th ed.). Belmont, CA: Wadsworth/Thomson. Lieberman, D. A. (2004). Learning and memory: An integrative approach. Belment, CA: Wadsworth. Matlin, M. W. (2009).Cognitive psychology (7th ed.). Hoboken, NJ: Wiley & Sons. Miller, G. A. (1956). The magical number seven, plus or minus two: Some limits on our capacity for processing information. Psychological Review, 63, 81 – 97.doi:10.1037/h0043158 Schacter, D.L. (1999). The seven sins of memory: Insights from psychology and cognitive neuroscience. American Psychologist, 54(3), 182–203.doi 10.1037//0003-066X.54.3.182.

อาจารย์ ณัฏฐารีย์ ศิริวัฒน์

เครื่องมือส่วนตัว