ภาพลักษณ์อาชีวะ

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

การวิเคราะห์ภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาตามทัศนะของนักเรียน

ภาพลักษณ์อาชีวศึกษา ในที่นี้หมายถึง ความคิดเห็นหรือทัศนคติของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ที่มีต่อสถาบันอาชีวศึกษาในด้านต่างๆ 8 ด้านซึ่งพบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาเห็นว่าภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาโดยรวมทั้ง 8 ด้านอยู่ในระดับพอใช้ทุกด้าน โดยเรียงจากด้านที่มีภาพลักษณ์ดีสุดไปต่ำสุดพบว่า ด้านหลักสูตรการศึกษามีภาพลักษณ์ดีที่สุด รองลงมาได้แก่ ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม ด้านความก้าวหน้าในอาชีพ ด้านสื่อการเรียนการสอน ด้านผู้บริหารและคณาจารย์ ด้านนักเรียนนักศึกษาและด้านการศึกษาต่อ นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีเพศ เกรดเฉลี่ย ระดับชั้น การศึกษา อาชีพและรายได้ของผู้ปกครองต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาในแต่ละด้านต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีประเภทของโรงเรียน ที่ตั้งของโรงเรียนและภูมิภาคต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาในแต่ละด้านต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นอกจากนี้เมื่อพิจารณาภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาในด้านดี พบว่า นักเรียนเห็นด้วยที่ว่า นักเรียนอาชีวะมีโอกาสฝึกประสบการณ์การทำงานจริงทั้งในและนอกสถาบัน มีอาคารเรียนทันสมัย เปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้ศึกษา มีกิจกรรมการเรียนที่หลากหลาย มีโอกาสหารายได้ระหว่างเรียน เป็นที่ต้องการของนายจ้าง มีสาขาให้เลือกเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ประเด็นด้านลบได้แก่ เสียเปรียบในเรื่องของภาษาอังกฤษสำหรับการเรียนและทำงาน มีตำราเรียนน้อย นักเรียนแต่งกายไม่ถูกระเบียบ สอดคล้องกับข้อมูลเชิงคุณภาพ คือ นักเรียนสายอาชีพเป็นที่ต้องการของนายจ้าง เพราะมีทักษะปฏิบัติเป็นที่ยอมรับ ได้รับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพมาแล้ว การสอบเข้าศึกษาต่อง่ายและไม่ต้องแข่งขันมาก มีอาคารเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และมีโอกาสได้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ส่วนประเด็นด้านลบ ได้แก่ นักเรียนส่วนใหญ่ที่เข้าไปเรียนยังมีพื้นฐานทางวิชาการไม่สูงมาก ส่วนใหญ่ไม่ตั้งใจเรียน ระบบดูแลนักเรียนไม่เข้มงวด โอกาสในการสอบเข้าเรียนต่อในสถาบันที่มีชื่อเสียงน้อยกว่าการเรียนสายมัธยม และความก้าวหน้า ความมั่นคงในอาชีพน้อยกว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี และพบว่า ภาพลักษณ์ด้านการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยประเภทเกษตรกรรมต่ำกว่าวิทยาลัยประเภทพาณิชยการและช่างอุตสาหกรรม ซึ่งอาจเกิดจากค่านิยมในปัจจุบัน ที่นักเรียนและผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจเข้าศึกษาต่อสายการเกษตร เนื่องจากงบประมาณที่จะนำลงไปพัฒนาสถานศึกษา คิดตามจำนวนนักเรียนที่ศึกษาอยู่ ทำให้วิทยาลัยประเภทเกษตรกรรมมีงบประมาณเพื่อการจัดการเรียนการสอนน้อยกว่าวิทยาลัยทั้ง 2 ประเภท จากการเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ข้อมูลที่ได้สอดคล้องกันกล่าวคือ นักเรียนมัธยมศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่า วิทยาลัยประเภทพาณิชยการและช่างอุตสาหกรรมมีอาคารเรียนที่ทันสมัย และมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรมากกว่าวิทยาลัยประเภทเกษตรกรรม ซึ่งจะเห็นว่าภาพลักษณ์ด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมและด้านการจัดการเรียนการสอน มีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าภาพลักษณ์ในด้านอื่น ๆ ซึ่งภาพลักษณ์ด้านดังกล่าว อาจจะมีอิทธิพลต่อการเลือกเข้าศึกษาต่อของนักเรียนอย่างมากก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ดีจากการศึกษาพบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาส่วนใหญ่เลือกเรียนต่อ ม.4 และมุ่งหวังเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย มากกว่าที่จะเรียนต่อสายอาชีพ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งเป้าหมายการเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีพระหว่างปี 2551-1561 ให้มีสัด ส่วนระหว่างอาชีวศึกษากับสายสามัญศึกษาเป็น 60:40 ให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรม เกษตร และบริการ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศและรับรองความต้องการแรงงานฝีมือในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

เครื่องมือส่วนตัว