รูปแบบคำศัพท์ในภาษาไทยปัจจุบันที่เป็นปฏิภาคกับกระบวนการสร้างคำในภาษาเขมร
จาก ChulaPedia
== รูปแบบคำศัพท์ในภาษาไทยปัจจุบันที่เป็นปฏิภาคกับกระบวนการสร้างคำในภาษาเขมร Lexical Patterns in Present Thai Corresponding to Morphological Processes in Khmer ==
ธัญวิทย์ ศรีจันทร์
พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์
การวิจัยครั้งนี้ศึกษาสถานภาพทางวิทยาหน่วยคำของรูปแบบคำศัพท์ในภาษาไทยปัจจุบันที่เป็นปฏิภาคกับกระบวนการเติมหน่วยคำเติมกลางในภาษาเขมร ซึ่งเรียกว่า การแผลงคำ โดยเปรียบเทียบความสัมพันธ์ทางเสียง หน้าที่ รวมถึงภาษาที่มาของคำศัพท์และคู่คำศัพท์ในภาษาไทยซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการเติมหน่วยคำเติมกลางในภาษาเขมร จากคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ ผลการวิจัยพบว่ารูปแบบการแผลงคำไม่มีลักษณะของกระบวนการทางหน่วยคำ (morphological process) นั่นคือ ไม่มีความสม่ำเสมอ (regularity) และไม่มีผลิตภาพ (productivity) ในแง่ความสม่ำเสมอไม่พบความสัมพันธ์ทางเสียงและหน้าที่ที่แน่นอน ส่วนในแง่ผลิตภาพนั้นคำที่แสดงรูปแบบคำศัพท์เป็นคำที่มาจากภาษาเขมร แสดงว่ารูปแบบคำศัพท์ไม่สามารถนำมาใช้สร้างคำใหม่ในภาษาไทยได้ จึงกล่าวได้รูปแบบคำศัพท์ในภาษาไทยที่เป็นปฏิภาคกับกระบวนการเติมหน่วยคำเติมกลางในภาษาเขมร ไม่ได้เป็นกระบวนทางหน่วยคำในภาษาไทย โดยไม่มีที่มาจากการยืมการสร้างคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมกลางจากภาษาเขมร และไม่ใช่การเทียบแบบ แต่เกิดจากการยืมคำศัพท์จากภาษาเขมรมาเป็นจำนวนมาก
This research examines the morphological status of the lexical patterns in present Thai that correspond to infixation processes in Khmer or the so-called “kaan phlaeng kham.” By comparing phonological and functional relations between words and word pairs showing lexical patterns resembling Khmer infixation, this study finds that the morphological status of the lexical patterns in the present do not show two important characteristics of morphological processes, namely regularity and productivity. With respect to regularity, no clear phonological and functional relations exist. As for productivity, vocabulary items showing the lexical patterns are from Khmer, indicating that the patterns cannot productively apply to words in Thai. Therefore, this study shows that the lexical patterns corresponding to Khmer infixation are not morphological processes in Thai, neither morphological borrowing from Khmer nor analogy in Thai. The patterns originated from plenty of Khmer lexical borrowing.
ภาษาเขมรจัดเป็นภาษาในกลุ่มภาษารูปคำติดต่อ (agglutinative language) ตามแบบลักษณ์ภาษา (typology) ซึ่งเป็นภาษาที่มีการเติมหน่วยคำเติม (affixation) มีทั้งการเติมหน่วยคำเติมหน้า (prefix) รวมถึงการเติมหน่วยคำเติมกลาง (infix) (กตัญญู ชูชื่น, 2543; อนันต์ อารีย์พงศ์, 2548; ศานติ ภักดีคำ, 2549; Jenner, 1980-1981; Jacob, 1993) การเติมหน่วยคำเติมกลางเป็นกระบวนการทางหน่วยคำของเขมรที่มีมาตั้งแต่ภาษาเขมรโบราณ กระบวนการทางหน่วยคำประเภทนี้ทำให้ภาษาเขมรมีรูปแบบคำศัพท์ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคำฐาน (base word) และคำที่มีการเติมหน่วยคำเติมกลางหรือคำแปลง (derived word) ทั้งทางเสียงและหน้าที่สอดคล้องกัน และมีผลต่อความหมายในทางไวยากรณ์ (Jacob, 1993) แตกต่างกับภาษาไทยซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษารูปคำโดด (isolating language) ภาษาในกลุ่มนี้จะไม่มีการสร้างคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมหน้า เติมหลัง หรือเติมกลาง นั่นคือไม่มีระบบหน่วยคำแปลง ดังเช่นภาษาเขมร (Jacob, 1968; Jenner, 1980-1981; Huffman, 1986; Seam and Blake, 1991; Jacob, 1993; Smyth, 1993) อย่างไรก็ตามพบว่ามีคำศัพท์บางคำและบางคู่ในภาษาไทยมีความคล้ายคลึงกับคำศัพท์และคู่คำศัพท์ที่เกิดจากการเติมหน่วยคำเติมกลางในภาษาเขมร ถ้ารูปแบบคำศัพท์ดังกล่าวเป็นกระบวนการทางหน่วยคำก็จะไม่สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด รูปแบบคำศัพท์ดังกล่าวนี้ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยมักเรียกว่า “คำแผลง” และมีงานเขียนทางวิชาการจำนวนมากที่ศึกษาคำแผลงในภาษาไทย (พระยาอนุมานราชธน, 2508; บรรจบ พันธุเมธา, 2514; เสาวรัตน์ ดาราวงษ์, 2517; อนันต์ อารีย์พงศ์, 2539; สุนันท์ อัญชลีนุกุล, 2546; Noss, 1964; Huffman, 1986) เมื่อพิจารณาที่มาของคำศัพท์ที่แสดงรูปแบบดังกล่าวพบว่าคำศัพท์จำนวนมากเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาเขมร ผู้ที่ศึกษา “การแผลงคำ” จึงมีคำอธิบายสถานภาพทางวิทยาหน่วยคำและที่มาของรูปแบบคำศัพท์ในภาษาไทยที่เป็นปฏิภาคกับกระบวนการสร้างคำในภาษาเขมรเป็น 2 แนวคิด ได้แก่ เป็นกระบวนการทางหน่วยคำที่ยืมมาจากภาษาเขมร ไม่เป็นระบบหน่วยคำในภาษาไทย รวมทั้งยังมีนักวิจัยจำนวนหนึ่งยังไม่ตัดสินแน่ชัดว่ามีสถานภาพและที่มาอย่างไร อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษากลุ่มคำแผลงโดยใช้เกณฑ์ทางภาษาศาสตร์ที่ชัดเจน
ผู้วิจัยต้องการพิสูจน์ว่ารูปแบบคำศัพท์ที่เป็นปฏิภาคกับกระบวนการสร้างคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมกลางในภาษาเขมรที่ปรากฏในภาษาไทยเป็นกระบวนการทางวิทยาหน่วยคำที่เกิดจากการที่ยืมมาจากภาษาเขมรมาหรือไม่ การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานภาพทางวิทยาหน่วยคำของรูปแบบคำศัพท์ในภาษาไทยปัจจุบันที่เป็นปฏิภาคกับกระบวนการเติมหน่วยคำเติมกลางในภาษาเขมร เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจคำศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย ผู้วิจัยได้ให้คำจำกัดความของคำศัพท์ดังนี้ คำฐาน หมายถึงคำศัพท์ก่อนผ่านกระบวนการทางหน่วยคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมกลางในภาษาเขมร ขณะที่ คำแปลง จะเป็นคำศัพท์ที่ผ่านกระบวนการทางหน่วยคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมกลางในภาษาเขมร และ การแปลง จะถือเป็นกระบวนการทางหน่วยคำที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำฐานและคำแปลง ในส่วนของภาษาไทย คำเดิม จะเป็นคำศัพท์ในภาษาไทยที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับคำฐาน ส่วน คำแผลง จะเป็นคำศัพท์ในภาษาไทยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับคำแปลง และ การแผลง เป็นรูปแบบแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำเดิมและคำแผลง
การสัมผัสภาษา การสัมผัสภาษาหมายถึงปรากฏการณ์ที่ผู้พูดของสองภาษาได้มีโอกาสมาติดต่อกัน มีการแลกเปลี่ยนทางภาษาทำให้สองภาษาได้มาสัมพันธ์กัน (Wolff, 1976; Crystal, 1988) รูปภาษาที่ภาษาหนึ่งยืมอีกภาษาหนึ่งไปถือเป็นที่มาของความรู้เกี่ยวกับการสัมผัสกันระหว่างภาษา เช่น รูปภาษาที่ยืมมาแสดงให้เราทราบถึงชาติพันธุ์ของผู้พูดภาษาที่ยืมมา ทราบถึงปริมาณ (amount) และอัตรา (degree) ของภาวะสองภาษาที่ใช้กันอยู่ (Wolff, 1976) การสัมผัสภาษาเป็นปรากฏการณ์ทางภาษาที่เกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ ได้แก่ความใกล้ชิดกันของกลุ่มสังคม และสังคมนี้เองที่ทำให้ภาษามีการสัมผัสซึ่งกันและกัน การสัมผัสภาษาอาจเกิดขึ้นในรูปของคำยืม รูปแบบการเปลี่ยนแปลงทางเสียง วากยสัมพันธ์ ทำให้เกิดการผสมผสานกันของภาษา (Crystal, 1988) Thomason and Kaufman (1988) กล่าวว่าการสัมผัสภาษาจะเกี่ยวข้องกับการยืม เช่น ยืมหรือรับวิธีการสร้างคำมาใช้ในภาษาของตน หรือเดิมพูดภาษาหนึ่งแล้วพูดอีกภาษาหนึ่ง จึงมีการใช้ภาษาปนกัน หรือเกิดการเปลี่ยนภาษา โดยสรุปผลจากการสัมผัสภาษา อาจอยู่ในรูปแบบของการธำรงภาษาแต่มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากการยืม ซึ่งการยืมจะอยู่ในระดับคำศัพท์ โครงสร้างทางเสียง ความหมาย ไวยากรณ์ หรือกระบวนการทางหน่วยคำ ต่างก็ขึ้นอยู่กับระดับภาวะสองภาษา ระยะเวลาการสัมผัสภาษา และความเข้มข้นของการสัมผัสภาษาอีกด้วย ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้การสัมผัสภาษาอยู่ในรูปการเปลี่ยนภาษาที่เป็นผลมาจากการแทรกแซงภาษาอีกด้วย นอกจากนี้การสัมผัสภาษาอาจทำให้เกิดภาษาใหม่ คือภาษาพิดจิ้นและภาษาคลีโอลต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความจำเป็นในการติดต่อสื่อสารนั่นเอง ดังนั้นงานวิจัยในครั้งนี้หากพบว่าภาษาไทยปัจจุบันมีการยืมการสร้างคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมกลางมาจากภาษาเขมร หรือยืมเฉพาะคำศัพท์จำนวนมาก ผลการวิจัยจะช่วยอธิบายลักษณะของการสัมผัสภาษา ระยะเวลาในการสัมผัสภาษา ชุมชนภาษา และความเข้มข้นของการสัมผัสภาษาได้อีกด้วย การยืมอาจเกิดได้ทั้งในระดับคำ ระดับเสียง หรือระดับไวยากรณ์เช่นกัน Thomason (2001) เชื่อว่า มีการยืมกฎจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง กล่าวคือเมื่อมีการสัมผัสภาษาโดยการยืมคำศัพท์ คำศัพท์จำนวนมากจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับคำอื่น ผู้ใช้ภาษาจึงนำความสัมพันธ์นั้นเป็นแนวเทียบสร้างคำใหม่ในภาษา ทำให้ภายหลังกลายเป็นกฎได้ เช่นการยืมกฎการสร้างคำในตระกูลภาษามายัน นอกจากนี้การยืมกฎเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องยืมคำศัพท์หรือหน่วยคำ (morpheme) จากภาษาหนึ่งมาก่อน อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากผู้ใช้ภาษานิยมรูปแบบซึ่งเป็นกฎในอีกภาษาหนึ่งมากกว่าภาษาตน จึงเกิดการยืมกฎมาใช้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดดั้งเดิมที่เชื่อว่าไม่มีการยืมกฎจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งหรือจากแนวคิดของ Thomason (2001) จะกล่าวได้ว่าการยืมกระบวนการทางหน่วยคำถือเป็นเรื่องยากและเป็นไปได้น้อยมาก
กระบวนการทางหน่วยคำ กระบวนการทางหน่วยคำ หมายถึงกระบวนการสร้างคำใหม่ในภาษาต่างๆ เพื่อให้เกิดเป็นคำที่มีเสียงแตกต่างไปจากเดิมหรือเป็นคำใหม่ที่มีความหมายใหม่ (Haspelmath, 2002) กระบวนการทางหน่วยคำจำแนกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การผันคำ (inflection) และการแปลงคำ (derivation) (Payne, 2006)ดังการเปรียบเทียบความแตกต่างของการผันคำและการแปลงคำ (ดัดแปลงจาก Payne, 2006)ดังนี้ การผันคำ การแปลงคำ ประเภทคำ ไม่เปลี่ยนแปลงประเภทคำ เปลี่ยนแปลงประเภทคำ ตำแหน่ง นอกหน่วยคำเติมคำแปลง ติดกับรากศัพท์ ความหมาย เปลี่ยนแปลงคำไวยากรณ์ เปลี่ยนแปลงความหมาย การใช้หน่วยคำเติม ปรากฏกับต้นเค้าศัพท์ ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏกับต้นเค้าศัพท์ ผลิตภาพ ส่วนใหญ่ไม่สร้างคำใหม่ สร้างคำใหม่
รูปแบบคำศัพท์ที่เกิดจากการผันคำจะเป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นในกลุ่มภาษาที่มีการผันคำหรือภาษาวิภัตติปัจจัยเท่านั้น เช่น book และ books ในภาษาอังกฤษ เป็นคำนามทั้งสองคำ มีความหมายพาดพึงไปถึง ‘หนังสือ’ โดย books มีหน่วยคำแสดงพหูพจน์ –s ทำให้เกิดรูปผันอีกรูปคำหนึ่ง (วิจินตน์ ภาณุพงศ์, 2528) ในขณะที่คำศัพท์ที่เกิดจากการแปลงคำจะเกิดเป็นคำใหม่ที่พบได้ทั้งในภาษา วิภัตติปัจจัย เช่น ภาษาอังกฤษ และภาษารูปคำติดต่อ เช่น ภาษาเขมร เมื่อพิจารณารูปแบบคำศัพท์คำฐานและคำแปลงในภาษาเขมร จะพบว่าเป็นส่วนของระบบหน่วยคำแปลง (derivational morphology) ซึ่งมีความสัมพันธ์ของคำฐาน และคำแปลงทั้งทางเสียงและหน้าที่ อย่างไรก็ตามการที่จะบอกได้ว่ารูปแบบที่พบเป็นกระบวนการทางหน่วยคำหรือไม่ สิ่งสำคัญซึ่งต้องแสดงลักษณะของกระบวนการทางหน่วยคำ (morphological process) นั่นคือ ความสม่ำเสมอ (regularity) และผลิตภาพ (productivity) (Trask, 1996; Haspelmath, 2002) การมีความสม่ำเสมอ (regularity) หมายถึงการที่รูปแบบในภาษามีความสัมพันธ์ในรูปแบบเดียวกันทั้งทางเสียงและหน้าที่กับทุกๆ คำ สำหรับการมีผลิตภาพ (productivity) คือการที่รูปแบบคำศัพท์สามารถสร้างเป็นคำใหม่ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป หรือมีคำศัพท์ใหม่ๆ ซึ่งอาจมีที่มาเป็นภาษาต่างประเทศ เมื่อรูปแบบคำศัพท์มีความสม่ำเสมอแล้วจะสามารถสร้างเป็นคำใหม่ที่เป็นไปตามกฎการสร้างคำนั้นๆ ได้สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ดังนั้นเมื่อต้องการวิเคราะห์รูปแบบคำศัพท์ว่าเป็นกระบวนการทางหน่วยคำหรือไม่จะต้องศึกษาความสม่ำเสมอและผลิตภาพควบคู่กัน ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่าคำแผลงในภาษาไทยอาจมีจำนวนคำที่ปรากฏในเอกสารแต่ละเล่มแตกต่างกัน เนื่องจากผู้แต่งแต่ละเล่มมีปริชาน ความรู้ รวมถึงความนิยมในการใช้คำแผลงแตกต่างกัน กล่าวคือ ผู้แต่งบางท่านอาจมีปริชานและความรู้เรื่องการเติมหน่วยคำเติมกลางในภาษาเขมรเป็นอย่างดี บางท่านนิยมใช้ คำแผลงเพื่อประโยชน์ในงานประพันธ์ จึงใช้คำแผลงในงานประพันธ์จำนวนมาก เมื่อวิเคราะห์รูปแบบคำศัพท์อาจจะแสดงความสม่ำเสมอและผลิตภาพของภาษาที่ผู้แต่งท่านนั้นใช้ ผลการวิเคราะห์ก็จะบอกได้ว่าผู้ใช้ภาษานั้นมีความรู้และใช้การเติมหน่วยคำเติมกลางได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการวิจัยครั้งนี้จะศึกษา คำแผลงในภาษาไทยปัจจุบันทั้งระบบ แต่ไม่ได้ศึกษาเฉพาะผู้ใช้ภาษาเป็นรายบุคคล ดังนั้นเอกสารที่ใช้ในการเก็บข้อมูลที่มีความหลากหลายไม่จำเพาะเจาะจงจะได้ผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นคำแผลงในภาษาทั้งระบบตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย
การดำเนินงานวิจัย สำหรับข้อมูลภาษาไทยปัจจุบันผู้วิจัยเลือกใช้เอกสารที่ปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 9 เท่านั้น ซึ่งเก็บข้อมูลจากคลังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.arts.chula.ac.th/ling/ThaiConc/ โดยคำศัพท์ที่ได้มาจากการสุ่มของโปรแกรม ซึ่งมีที่มาจากเอกสารมีความหลากหลายทั้งแหล่งข้อมูลและผู้แต่ง
เกณฑ์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ลักษณะทางหน้าที่ คำศัพท์ทางเสียง ทำให้เป็นนาม /-(a)mn-/, /-am-/ ทำให้เป็นกริยาก่อเหตุ /-(a)m-/ ทำเป็นเครื่องมือ /-(a)n-/
การวิจัยนี้มีเกณฑ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจำกัดเฉพาะคำศัพท์ในภาษาไทยที่แสดงรูปแบบที่เป็นปฏิภาคกับกระบวนการเติมหน่วยคำเติมกลางในภาษาเขมร ผู้วิจัยได้กำหนดเกณฑ์ซึ่งสามารถค้นคว้าได้จากคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ โดยเริ่มต้นจากการค้นหาคำแผลงทุกคำที่มีลักษณะทางเสียงตามเกณฑ์ จากนั้นจึงนำเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดรายการคำเดิมและค้นหาคำเดิม เมื่อได้ทั้งคำเดิมและคำแผลงแล้วจึงนำไปวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ทางเสียงและหน้าที่ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของหน้าที่คำเดิมและคำแผลง
ลักษณะทางหน้าที่ (Grammatical function) ทำให้เป็นนาม (Nominalization) คำกริยา คำนาม อาจ ‘สามารถ’ เป็น อำนาจ ‘ความสามารถ’ คำวิเศษณ์ คำนาม ครบ ‘เต็ม’ เป็น คำรบ ‘การมีครบ’ ทำให้เป็นกริยาก่อเหตุ(Causativization) คำกริยา คำกริยาก่อเหตุ จอง ‘ผูก, ติด’ เป็น จำนอง ‘ทำให้ผูกกัน’ คำวิเศษณ์ คำกริยาก่อเหตุ เถกิง ‘สูงศักดิ์’ เป็น ดำเกิง ‘ทำให้สูงขึ้น’ ทำเป็นเครื่องมือ(Instrumental) คำกริยา เครื่องมือ ตรา ‘บันทึกไว้’ เป็น ตำรา ‘สิ่งที่บันทึกไว้’
ตรวจ ‘นับ, พิจารณา’ เป็น ตำรวจ ‘ผู้ตรวจ’
ลักษณะทางหน้าที่จำแนกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ทำให้เป็นนาม เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคำเดิมที่เป็นได้ทั้งคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ กับคำแผลงที่เป็นคำนามซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับคำเดิม พิจารณาได้จากการเติม การ… ความ… นำหน้าคำเดิม 2) ทำให้เป็นกริยาก่อเหตุ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคำเดิมที่เป็นได้ทั้งคำกริยาและคำวิเศษณ์ กับคำแผลงที่เป็นคำกริยาก่อเหตุซึ่งมีความหมายสอดคล้องกัน พิจารณาได้จากการเติม ทำให้… นำหน้าคำเดิม และ 3) ทำเป็นเครื่องมือ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคำเดิมที่เป็นคำกริยา กับคำแผลงที่เป็นเครื่องมือ พิจารณาได้จากการเติม ผู้… สิ่ง… นำหน้าคำเดิม ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางหน้าที่ในงานวิจัยนี้ หากคู่คำศัพท์ที่วิเคราะห์สอดคล้องกับลักษณะทางหน้าที่ประเภทใดก็จะจัดให้อยู่ประเภทนั้น แต่ถ้าไม่สอดคล้องจะจัดให้อยู่ในประเภทมีความหมายเดียวกันหรือไม่มีความสัมพันธ์กัน ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางหน้าที่ของคำเดิมและคำแผลง เช่น ขจร ‘ฟุ้ง’ เป็น กำจร ‘ฟุ้งไป’ จัดให้อยู่ประเภทมีความหมายเดียวกัน และ ตัก ‘หน้าขา, ช้อน’ เป็น ตำหนัก ‘ที่อยู่’ จัดให้อยู่ประเภทไม่มีความสัมพันธ์กันทางหน้าที่ เป็นต้น
ในการวิเคราะห์ผลิตภาพ จะพิจารณาภาษาที่มาของคำแผลงและคู่คำเดิมในภาษาไทยเป็นหลัก โดยการค้นคว้าที่มาของคำศัพท์ที่ได้จากการเปิดพจนานุกรมที่บอกภาษาที่มาของคำ พจนานุกรมคำยืมภาษาต่างประเทศ รวมถึงพจนานุกรมภาษาต่างประเทศ ดังนี้ กาญจนา นาคสกุล . พจนานุกรมไทย-เขมร. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548. เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. พจนานุกรมไทย ฉบับใหม่. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2544. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมศัพท์ทับศัพท์จากภาษาต่างประเทศ พร้อมคำอธิบาย. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น, 2532. ศานติ ภักดีคำ. พจนานุกรมคำยืมภาษาเขมรในภาษาไทย. กรุงเทพ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2549.
การวิเคราะห์สถานภาพทางวิทยาหน่วยคำของรูปแบบคำแผลง ขั้นแรกผู้วิจัยได้วิเคราะห์คำศัพท์ทั้งหมดที่พบในภาษาไทยทำให้เห็นคู่คำเดิมและคำแผลง จากนั้นวิเคราะห์ว่ารูปแบบคำศัพท์และคู่คำศัพท์ดังกล่าวแสดงกระบวนการทางหน่วยคำหรือไม่ ผู้วิจัยได้แบ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลตามลักษณะของกระบวนการทางหน่วยคำ ได้แก่ ความสม่ำเสมอ และผลิตภาพ ทางด้านความสม่ำเสมอนั้นผู้วิจัยได้วิเคราะห์รูปแบบของคำศัพท์โดยจำแนกตามลักษณะความสัมพันธ์ทางเสียงและหน้าที่ของคำศัพท์และคู่คำศัพท์ ขณะที่การพิจารณาผลิตภาพจะวิเคราะห์ภาษาที่มาของคำศัพท์ที่พบทั้งหมด จากนั้นจึงใช้ผลการวิเคราะห์ตัดสินว่าการแผลงคำมีสถานภาพในระบบไวยากรณ์ภาษาไทยเป็นกระบวนการทางหน่วยคำ การเทียบแบบ หรือการยืมคำศัพท์ ที่จะต้องพิจารณาความสม่ำเสมอและผลิตภาพควบคู่กันไป โดยจะตัดสินว่า (1) เป็นกระบวนการทางหน่วยคำ เมื่อรูปแบบทางเสียงและหน้าที่มีความสม่ำเสมอ และรูปแบบมีผลิตภาพโดยที่คำแผลงและคู่คำเดิมส่วนใหญ่เป็นภาษาเขมรและภาษาอื่นในปริมาณไม่แตกต่างกัน (2) การเทียบแบบ เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบทางเสียงและหน้าที่มีความสม่ำเสมอ และมีผลิตภาพกับข้อมูลบางส่วนเมื่อพบคำแผลงและคู่คำเดิมส่วนใหญ่เป็นภาษาเขมร และบางส่วนเป็นภาษาอื่น (3) เป็นการยืมคำศัพท์ เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบทางเสียงและหน้าที่อาจมีหรือไม่มีความสม่ำเสมอ และพบคำแผลงและคู่คำเดิมทุกคำเป็นภาษาเขมรเท่านั้น
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล จากการรวบรวมข้อมูลคำศัพท์ พบคำเดิมและคำแผลงในภาษาไทยปัจจุบันที่จำแนกตามความสัมพันธ์ทางเสียงได้ 4 ประเภท คือ 1) เติม /-amn-/ ร้อยละ 46.48 ของคู่คำศัพท์ทั้งหมด 2) เติม /-am-/ ร้อยละ 49.73 ของคู่คำศัพท์ทั้งหมด 3) เติม /-an-/ ร้อยละ 1.22 ของคู่คำศัพท์ทั้งหมด และ 4) เติม /-aN-/ ร้อยละ 2.56 ของคู่คำศัพท์ทั้งหมด นอกจากนี้เมื่อรวบรวมข้อมูลครบทุกแหล่งข้อมูลแล้วพิจารณาการมีคู่คำศัพท์จะยังแบ่งรูปแบบคำเดิมและคำแผลงได้ 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) แบบที่ 1 คำแผลงที่พบคู่คำเดิม พบร้อยละ 31.74 ของคำศัพท์ทั้งหมด 194 คำ 2) แบบที่ 2 คำเดิมที่ไม่พบคู่คำแผลง พบร้อยละ 34.65 ของคำศัพท์ทั้งหมด 194 คำ 3) แบบที่ 3 คำแผลงที่ไม่พบคู่คำเดิม พบร้อยละ 33.61 ของคำศัพท์ทั้งหมด 194 คำ การที่พบคำศัพท์แบบที่ 2 และแบบที่ 3 แสดงถึงการไม่มีความสม่ำเสมอ เพราะถ้ามีความสม่ำเสมอจะต้องได้รูปแบบคำศัพท์แบบที่ 1 รูปแบบเดียวเท่านั้น ในการวิเคราะห์ความสม่ำเสมอของรูปแบบคำเดิมและคำแผลงในภาษาไทยปัจจุบัน ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นรูปแบบที่ไม่มีความสม่ำเสมอ เนื่องจากรูปแบบทางเสียงไม่สัมพันธ์อย่างเป็นระบบหรือไม่สัมพันธ์แบบ 1 ต่อ 1 กับรูปแบบทางหน้าที่ และมีหน้าที่เป็นได้หลากหลาย รวมถึงไม่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของกระบวนการทางหน่วยคำ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการไม่เป็นรูปแบบทางเสียงและหน้าที่ที่สอดคล้องกับภาษาเขมร กล่าวคือหากคำเดิมและคำแผลงในภาษาไทยมีที่มาจากการยืมวิธีการจากภาษาเขมรแล้ว คำเดิมและคำแผลงทุกคู่จะต้องมีความสัมพันธ์ทางเสียงและหน้าที่สอดคล้องกับเกณฑ์การสร้างคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมกลางในภาษาเขมร แต่ที่ปรากฏความสัมพันธ์ของคำเดิมและคำแผลงมีหลากหลายมาก ทำให้กล่าวได้ว่านอกจากรูปแบบคำศัพท์ที่พบไม่มีความสม่ำเสมอแล้ว ยังไม่ได้เกิดจากการยืมรูปแบบการสร้างคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมกลางมาจากภาษาเขมรด้วย
ผลการวิจัยพบว่ารูปแบบความสัมพันธ์ทางหน้าที่ของคู่คำศัพท์มีหน้าที่หลากหลาย ทั้งการทำให้เป็นนาม ทำให้เป็นกริยาก่อเหตุ ทำให้เป็นเครื่องมือ และมีหน้าที่เดียวกันหรือไม่มีความสัมพันธ์ แสดงให้เห็นถึงการไม่เป็นรูปแบบทางเสียงและหน้าที่แบบหนึ่งต่อหนึ่ง และอาจกล่าวได้ว่ารูปแบบคำศัพท์ที่พบนี้ ไม่มีความสม่ำเสมอ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่
ทำให้เป็นเครื่องมือ ตรวจ‘พิจารณา’ ตำรวจ ‘ผู้ตรวจ’ ทำให้เป็นกริยาก่อเหตุ เถกิง ‘สูงศักดิ์’ ดำเกิง ‘ยกให้สูง’ เป็นคำวิเศษณ์ที่มีความหมายเช่นเดียวกัน จรัส ‘สว่าง, รุ่งเรือง’ จำรัส ‘สว่าง, รุ่งเรือง’ ขจร ‘ฟุ้ง’ กำจร ‘ฟุ้งไป’ เป็นคำกริยาที่มีความหมายเดียวกัน ตรัส ‘พูด’ ดำรัส ‘พูด’ แสดง ‘ปรากฏ’ สำแดง ‘ปรากฏ’ ไม่มีความสัมพันธ์ กล ‘เป็นอุบาย' กำนล ‘เครื่องเซ่น’
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาว่าคำเดิมและคู่คำแผลงที่รวบรวมมาได้เป็นภาษาเขมรอย่างเดียวหรือไม่ หรือมีภาษาต่างประเทศ รวมถึงภาษาไทยเดิมปนอยู่ด้วยหรือไม่ เพื่อศึกษาเรื่องผลิตภาพ พบว่าข้อมูลมีที่มาของภาษาเป็น “ภาษาเขมร” ทั้งสิ้น ยกเว้น “เสียง” มาจากภาษาจีนโบราณ ถือว่าเป็นคำจากภาษาต่างประเทศที่ใช้ในภาษาไทย แต่อย่างไรก็ตามยังไม่พบว่ามีกลุ่มคำศัพท์อื่นที่แสดงภาษาที่มาเป็นภาษาต่างประเทศเช่นเดียวกับคำว่า “เสียง” ในปริมาณมาก ดังนั้นการพบภาษาที่มาของคำศัพท์เพียงคำเดียวเป็นคำยืมภาษาต่างประเทศ จากปริมาณคำศัพท์ทั้งหมด 194 คำ จะกล่าวไม่ได้ว่ารูปแบบคำเดิมและคำแผลงของภาษาไทยทั้งระบบแสดงผลิตภาพ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนนี้ชี้ให้เห็นว่าคำศัพท์ที่พบล้วนแล้วแต่มีที่มาจากการยืมคำศัพท์จากภาษาเขมรมา แสดงให้เห็นว่ารูปแบบคำเดิมและคำแผลงในภาษาไทยไม่มีความเป็นผลิตภาพ (productivity)ดังตัวอย่างต่อไปนี้
คู่คำเดิม เค้าศัพท์ ความหมาย คำแผลง เค้าศัพท์ ความหมาย ชาญ ฌาญ คล่องแคล่ว ชำนาญ ฌํนาญ คล่องแคล่ว เดิน เฎีร ก้าวไป ดำเนิน ฎํเณีร การก้าวไป ทาย ทาย คาดเดา ทำนาย ทํนาย คาดเดา เทียบ เทียบ ชิด ทำเนียบ ทํเนียบ ทำให้ชิด
สรุปและอภิปรายผลการวิจัย รูปแบบคำเดิมและคำแผลงในภาษาไทยปัจจุบันไม่มีลักษณะของกระบวนการทางหน่วยคำ ที่มีความสม่ำเสมอ (regularity) กล่าวคือไม่พบความสัมพันธ์ทางเสียงและหน้าที่ที่แน่นอน รูปแบบคำศัพท์มีทั้งสอดคล้องและไม่สอดคล้องกับกระบวนการเติมหน่วยคำเติมกลางในภาษาเขมร นอกจากนี้ยังไม่มีลักษณะที่แสดงผลิตภาพ (productivity) กล่าวคือคำศัพท์เป็นคำที่มาจากภาษาเขมรเท่านั้น ไม่มีคำศัพท์ที่แปลกออกไปที่แสดงว่ารูปแบบคำศัพท์เกิดจากการสร้างคำใหม่ขึ้นใช้ในภาษาไทย
อีกนัยหนึ่งจะกล่าวได้ว่าการแผลงคำในภาษาไทยไม่ใช่กระบวนการทางหน่วยคำ นั่นคือไม่เป็น การสร้างคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมกลาง รูปแบบดังกล่าวเป็นเพียงการอธิบายความสัมพันธ์ของคำเดิมและคำแผลงที่เกิดจากการยืมคำศัพท์มาจากภาษาเขมรจำนวนมากเข้ามาในภาษาไทยเท่านั้น ผู้วิจัยจึงมีความเห็นว่าไม่ควรจะจัดให้การแผลงคำเป็นการสร้างคำใหม่ในภาษาไทย ตามที่ พระยาอนุมานราชธน (2508)เปลื้อง ณ นคร (2516) เสาวรัตน์ ดาราวงษ์ (2517) Gehr (1951) และ Noss (1964) ได้กล่าวไว้ แต่น่าจะกล่าวเพียงว่าคำแผลงมีสถานภาพเป็นเพียงคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาเขมร โดยจัดให้อยู่ในประเภทเดียวกับคำยืมภาษาเขมรในภาษาไทย และการแผลงคำก็จัดเป็นการอธิบายความสัมพันธ์ของคำยืมจำนวนมากเหล่านั้นเท่านั้น นอกจากนี้ก็ไม่ควรจะกล่าวว่าเป็นการยืมกระบวนการแปลงคำมาจากภาษาเขมรอีกด้วย
การค้นพบว่า การแผลงคำในภาษาไทยไม่ใช่กระบวนการทางหน่วยคำ ยังช่วยอธิบายได้ว่า “คำแผลงในภาษาไทยไม่ใช่คำแปลง” เนื่องจากคำแปลงเป็นคำศัพท์ที่ผ่านกระบวนการทางหน่วยคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมกลาง แต่คำแผลงในภาษาไทยเป็นคำศัพท์ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการทางหน่วยคำใดๆ ดังนั้น อาจให้คำจำกัดความของคำแผลงได้ว่า “คำศัพท์ในภาษาไทยที่เกิดจากการยืมมาจากภาษาเขมร ซึ่งมีรูปแบบคล้ายคลึงกับคำแปลงในภาษาเขมร” ก็เป็นได้
ผลการวิจัยนี้ยืนยันได้ว่ารูปแบบคำเดิมและคำแผลงในภาษาไทยไม่ใช่กระบวนการทางหน่วยคำ สอดคล้องและสนับสนุนแนวคิดของกตัญญู ชูชื่น (2543) และสุนันท์ อัญชลีนุกุล (2546) ซึ่งเชื่อว่าการแผลงคำไม่ได้เป็นกระบวนการทางหน่วยคำในภาษาไทย เพราะไม่ได้เป็นลักษณะหลักในไวยากรณ์ไทย และไม่สามารถอธิบายด้วยลักษณะไวยากรณ์ไทย นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังช่วยอธิบายข้อสังเกตในงานวิจัยของอนันต์ อารีย์พงศ์ (2539) ซึ่งเห็นว่าคำแผลงในภาษาไทยสอดคล้องกับคำในภาษาเขมรจำนวนมาก และน่าจะเป็นคำยืม ผลการวิจัยในครั้งนี้ช่วยอธิบายเพิ่มเติมข้อสังเกตดังกล่าว และกล่าวได้ว่าคำแผลงในภาษาไทยเป็นคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาเขมรทั้งหมด
การวิจัยนี้นอกจากจะกล่าวได้ว่า การแผลงคำไม่ได้เป็นกระบวนทางหน่วยคำในภาษาไทย ไม่มีที่มาจากการยืมการสร้างคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมกลางจากภาษาเขมร แต่เกิดจากการยืมคำศัพท์จากภาษาเขมรมาเป็นจำนวนมากแล้ว ยังแสดงให้เห็นผลของการสัมผัสภาษาระหว่างภาษาไทยและภาษาเขมรตามแนวคิด Thomason and Kauffman (1988) ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ว่าการสัมผัสภาษาระหว่างภาษาไทยและภาษาเขมรน่าจะเป็นการยืม แต่ยังธำรงภาษาไทยไว้ การสัมผัสภาษาไทยและภาษาเขมรอยู่ในระดับการยืมคำศัพท์จำนวนมาก คือมีความเข้มข้นของการสัมผัสภาษามาก มีภาวะสองภาษามาก มีการยืมมากและนานทำให้มีการยืมคำศัพท์มากขึ้นตาม แต่ไม่ถึงระดับการยืมกระบวนการทางหน่วยคำ ซึ่งเกิดจากสถานการณ์การสัมผัสภาษาที่เกิดจากแรงกดดันทางวัฒนธรรมมากและระยะเวลานาน
สรุปได้ว่าภาษาไทยและภาษาเขมรมีการสัมผัสภาษากันมาอย่างช้านาน ภาษาไทยยืมคำศัพท์จำนวนมากมาจากภาษาเขมร แสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นของการสัมผัสภาษาระหว่างสองภาษาที่อยู่ในระดับมาก และชี้ให้เห็นว่ามีผู้รู้สองภาษาจำนวนมาก ผู้พูดภาษาไทยได้ยืมคำศัพท์จากภาษาเขมรมาจำนวนมากและเป็นเวลานาน แต่มีแรงกดดันทางวัฒนธรรมเขมรไม่มากนัก จึงทำให้การสัมผัสภาษาระหว่างสองภาษาไม่ถึงระดับการแทนที่ทางไวยากรณ์
กิตติกรรมประกาศ ผู้วิจัยขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์ ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ที่ทำให้ผู้วิจัยได้ศึกษาหัวข้อที่ตนเองสนใจและให้คำปรึกษาจนการวิจัยนี้บรรลุวัตถุประสงค์ ผู้วิจัยขอกราบขอบพระคุณ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ รองศาสตราจารย์ ดร.กิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา และ อาจารย์ ดร.ใกล้รุ่ง อามระดิษ ที่ให้ข้อแนะนำและข้อแก้ไขอันมีประโยชน์ และที่สำคัญผู้วิจัยขอกราบขอบพระคุณบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ให้ทุนอุดหนุนวิจัยสำหรับนิสิตในครั้งนี้
รายการอ้างอิง กตัญญู ชูชื่น. คำยืมภาษาต่างประเทศ ชุด ภาษาเขมรในภาษาไทย. กรุงเทพฯ: โอ เอส พริ้นติ้ง เฮ้าส์,2543. กาญจนา นาคสกุล. พจนานุกรมไทย-เขมร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548. ธัญวิทย์ ศรีจันทร์. รูปแบบคำศัพท์ในภาษาไทยที่เป็นปฏิภาคกับกระบวนการสร้างคำในภาษาเขมร: การศึกษาข้ามสมัย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555. บรรจบ พันธุเมธา. ลักษณะภาษาไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2514. เปลื้อง ณ นคร. ปัญหาภาษาไทย. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น, 2516. ภาควิชาภาษาศาสตร์. คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “Thai Concordance Online” (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.arts.chula.ac.th/ling/ThaiConc/ [มกราคม–กันยายน 2554] วิจินตน์ ภาณุพงศ์. ระบบหน่วยคำ: การศึกษาโครงสร้างภายในคำ. เอกสารประกอบการสอนวิชา ระบบหน่วยคำ. ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2528. สุนันท์ อัญชลีนุกูล. ระบบคำภาษาไทย. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546. ศานติ ภักดีคำ. พจนานุกรมคำยืมภาษาเขมรในภาษาไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2549. เสาวรัตน์ ดาราวงษ์. คำผสานและที่มาของหน่วยผสานในภาษาไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517. อนุมานราชธน, พระยา. “คำแผลงในภาษาไทยชนิดยืดเสียงคำเดิม”. ความรู้ทางอักษรศาสตร์. ราชบัณฑิตยสถาน, 2508. อนันต์ อารีย์พงศ์. ภาษาเขมรที่สัมพันธ์กับภาษาไทย. สงขลา, ภารกิจเอกสารและตำรา มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2548 อนันต์ อารีย์พงศ์. วิเคราะห์คำแผลงในตำราหลักภาษาไทย. ใน พินิจภาษาและวรรณกรรม, ที่ระลึกครบเกษียณอายุราชการศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, 2539. อรวรรณ บุญยฤทธิ์ และคณะ. ร่องรอยภาษาเขมรในภาษาไทย. โครงการตำราภาษา-จารึก ลำดับที่ 4 ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2553. Cystal, D. A Dictionary of Linguistics and Phonetics. Great Britain: Basil Blackwell in Association with Andre Deutch, 1988. Gehr, E. Affixion in Siamese, Journal of the Siam Society 39 (1951): 63-83. Haspelmath, M. Understanding Morphology. London: Oxford University press, 2002. Huffman, F. E. Khmer Loanwords in Thai. New Haven and London: Yale University press, 1986. Jacob, J. M. Introduction to Cambodian. London: Oxford University Press, 1968. Jacob, J. M. The Structure of The Word in Old Khmer, Cambodian Linguistics, Literature and History. School of Oriental and African Studies, University of London, 1993. Jenner, P. N. Mon-Khmer Studies IX-X. Honolulu: The University of Hawaii, 1980-1981. Noss R. B. Noss. Morphology and Syntax, in Thai Reference Grammar. Washington D. C.: U.S. Government Pringting Office, 1964. Payne, T. E. Exploring Language Structure: a Student’s Guide. Cambridge University, 2006. Pranee Kullavanijaya. A Historical study of in Thai. In Anthony Diller and Jerold A. Edmondson (eds). The Tai-Kadai Language, 1-28. London: Routledge Press. Seam, U. T. and Blake, N. F. Phonetics English-Khmer Dictionary. Bangkok: Seam & Blake Books, 1991. Smyth, D. A. Cambodian Linguistics, Liturature and History: collected articles. London: School of Orientel and African Studies, University of London, 1993. Thomason, S. G. Can Rules be borrowed? In press in a Festschrift. University of Michigan, 2001. Thomason, S. G. and Kauffman, T. Language Contact, creolization, and genetic linguistics. Berley; Los Angeles; Oxford: University of California press, 1988. Trask, R. L. Historical Linguistics. London: Arnold, 1996. Wolff, J. U. Malay Borrowing in Tagalog. In Cowan, C. D. and Walters, O. W. Southeast Asian History and Historiography Essays presented to D. G. E. Hall. U.S.A.: Cornell University press, 1976.